xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ฤาว่า ‘ทุนนิยม’ จะถูกทำลาย (2)

เผยแพร่:   โดย: ยุค ศรีอาริยะ

ในความเห็นของผมการกระตุ้นให้เศรษฐกิจจริงเคลื่อนตัว มีความสำคัญไม่น้อยกว่า การกระตุ้น หรือ อุ้ม สถาบันการเงิน และตลาดทุน (หุ้น) เสียอีกแต่คนทั่วไปมักคิดว่า วิกฤตครั้งนี้มีที่มาจากการแตกของตลาดอสังหาริมทรัพย์ จึงหันไปให้ความสนใจและแก้ปัญหาเฉพาะเรื่องฟองสบู่แตกเท่านั้น

ถ้าย้อนภาพประวัติศาสตร์ไปช่วงก่อนการแตกของฟองสบู่สักนิด เราจะเห็นสภาวะวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนี้ มีความสลับซับซ้อน และจะเห็นความสำคัญของระบบเศรษฐกิจจริง

ผมคิดว่า วิกฤตใหญ่ลูกนี้ไม่ได้ระเบิดขึ้นจากปัญหาซับไพรม์อย่างที่คนทั่วไปเข้าใจเท่านั้น แต่เริ่มจากการไหลขึ้นมาของราคาน้ำมัน ในช่วงปี 2005 ถึง 2007 วิกฤตน้ำมันนี้ส่งผลทำให้เกิดปัญหาเงินฝืดและเงินเฟ้อแพร่ระบาดไปทั่วโลก ต่อมาปัญหาเงินฝืดและเฟ้อนี้เองนำสู่การชะงักงันในการชำระหนี้ (อสังหาริมทรัพย์) ตามด้วยการพังพาบของตลาดอสังหาริมทรัพย์ทั้งในสหรัฐฯ และยุโรป

เพื่อนคนหนึ่งถามแซงขึ้นว่า

“ทำไมวิกฤตครั้งนี้รุนแรงมากๆ”

ผมอธิบายว่า

นอกจากจะเกิดจากสภาพวิกฤตที่สลับซับซ้อนแล้ว การปั่นฟองสบู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริการ้อนแรงอย่างยิ่ง

ที่อเมริกา หลังจากปี 2002 เป็นต้นมา เฟดได้ลดอัตราดอกเบี้ยลงอย่างต่อเนื่อง จากประมาณ 6 เปอร์เซ็นต์ ลดลงเหลือเกือบ 1 เปอร์เซ็นต์ จึงเปิดเงื่อนไขให้เกิดการปั่นราคาอสังหาริมทรัพย์กันอย่างหนัก ซึ่งส่งผลทำให้ราคาบ้านขยายตัวเพิ่มขึ้นประมาณ 12 ถึง 16 เปอร์เช็นต์ต่อปี เฉพาะที่รัฐ California ราคาบ้านเพิ่มขึ้นถึง 22 เปอร์เซ็นต์ ในปี 2004

กล่าวกันว่า บรรดานักปั่นกำไรช่วยหมุนเงินกันรอบแล้วรอบเล่าอย่างสนุกมือ และมีการระดมเงินเข้าสู่ตลาดอสังหาริมทรัพย์จากทุกทิศทุกทาง ที่สำคัญเพื่อลดความเสี่ยงที่ต้องแบกหนี้ที่เพิ่มขึ้น บรรดาสถาบันการเงินขนาดใหญ่ของอเมริกาจึงนำเอาหนี้มารวมเป็นก้อนๆ แล้วออกตราสารหนี้ประเภทต่างๆ อย่างเช่น CDS และ CDO เพื่อให้มีการระดมเงินเข้ามาร่วมลงทุนจากทั่วโลก และเพื่อสร้างความเชื่อมั่น ก็ได้ดึงเอาบรรษัทประกันขนาดใหญ่มาร่วมประกันด้วย

บรรดาตราสารหนี้ อย่างเช่น CDS หรือที่เรียกว่า The Credit Default Swap ได้กลายเป็นสินค้าที่ซื้อขายกันในตลาดโลกที่มีความร้อนแรงสุดๆ ก้อนไหนยิ่งมีความเสี่ยงสูงมาก ก็ยิ่งมีผลตอบแทนสูงมากตามกัน เมื่อตลาด CDS รวมทั้ง CDO ร้อนแรงขึ้นเรื่อยๆ ก็โป่งพองคล้ายฟองสบู่ ประมาณปี 2008 มูลค่าลงทุนจากทั่วโลกขยายตัวไปถึง 62 Trillion ดอลลาร์ (มากกว่ามูลค่ารวมของบรรดาหุ้นที่ซื้อขายกันในตลาดนิวยอร์กประมาณ 4 เท่า)

เมื่อเงินไหลสะพัดเข้ามาจากทุกสารทิศ ราคาบ้าน และราคาที่ดินก็ทะยานขึ้นเรื่อยๆ การปั่นกำไรทำได้ง่ายขึ้น

ตัวอย่างเช่น บางมลรัฐในประเทศอเมริกา ผู้ซื้อบ้านไม่ต้องมีเงินวางดาวน์ ก็สามารถซื้อบ้านได้ หรือที่เขากล่าวกันว่า “ขอให้ทำงานล้างกระจกหน้าต่างได้ ก็มีสิทธิซื้อบ้านราคาแพงๆ และหรูๆ ได้แล้ว” มีคนจำนวนมากซื้อบ้านราคาแพงเพื่อเอาเงินจำนอง หรือหาเงินก้อนจากการขายต่อ และใช้เงินดังกล่าวไปจ่ายหนี้บรรดาบัตรเครดิตเก่าๆ ที่ค้างชำระ โดยไม่คิดแม้แต่จะเข้าไปอยู่อาศัย

เมื่อฟองสบู่อสังหาริมทรัพย์แตก บรรดาผู้คน บรรษัทประกัน รวมถึงสถาบันการเงิน สถาบันการลงทุน และธนาคารที่เกี่ยวข้องทั้งหมดก็ตกอยู่ในภาวะล้มละลาย นอกจากนี้ กิจการมากมายที่เกี่ยวเนื่องทั้งหมด ไม่ว่าการก่อสร้าง การทำเฟอร์นิเจอร์ การตกแต่งบ้าน การปลูกต้นไม้ และอื่นๆ ก็พลอยพังพาบตาม

มีการประเมินกันว่า ในช่วงที่อสังหาริมทรัพย์ขยายตัว (2002 ถึง 2007) ได้ก่อให้เกิดการจ้างงานใหม่แก่เศรษฐกิจอเมริกาเกือบประมาณ 40 ถึง 50 เปอร์เซ็นต์ของการจ้างงานทั่วประเทศ

คิดเพียงช่วงแค่ประมาณ 9 เดือนหลังฟองสบู่แตก ผู้คนตกงานเพิ่มขึ้นถึง 760,000 คน ถ้าคิดรวมทั้งหมด ตัวเลขทั้งหมดในช่วงปีที่ผ่านมาจำนวนผู้ตกงานทั้งประเทศเพิ่มจาก 7.3 ล้าน ขึ้นถึง 9.5 ล้านคน

พอคนตกงาน ก็ไม่มีเงินไปผ่อนบ้านต่อ จะกู้เงินต่อก็ไม่ได้เพราะแบงก์ไม่กล้าปล่อยเงินกู้อีก แม้แต่การกู้เงินผ่านธนาคารก็พลอยชะงัก ส่งผลเกิดภาวะเงินฝืดขึ้นอย่างฉับพลัน ในขณะเดียวกันที่ราคาอสังหาริมทรัพย์ตกต่ำลงเรื่อยๆ และเริ่มขายไม่ออก บรรดาธนาคารและบรรษัทประกันต้องรับภาระอุ้มหนี้เน่าที่เพิ่มขยายขึ้นทุกวัน

เมื่อธนาคารและบรรษัทประกันทรุดตัว ตลาดหุ้นได้ทรุดหนักตาม ตลาดการบริโภคก็พลอยทรุดตามอีก จำนวนคนตกงานก็เพิ่มมากขึ้นอีก คล้ายเกิดปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ‘ผีซ้ำด้ำพลอย’

เมื่อตลาดหุ้นทรุดทั่วโลก ตลาดสินค้าอื่นๆ ก็พลอยเกิดการหดตัวอย่างแรง ส่งผลทำให้บรรดาราคาสินค้าอื่นๆ ไม่ว่า น้ำมัน เหล็ก ราคาพืชผล ทอง และอื่นๆ พลอยทรุดตัวตามไปด้วย รวมทั้งกิจการที่เกี่ยวเนื่องกับการท่องเที่ยวและการเดินทางก็ซบเซาตาม

นี่คือ สภาวะลูกคลื่นวิกฤตที่ต่อเชื่อมเป็นลูกโซ่แบบขยายตัวไปทุกทิศทุกทาง นอกจากนี้ คลื่นวิกฤตได้ขยายจากอเมริกาไปยุโรปเพราะบรรดาประเทศในยุโรปก็มีการปั่นอสังหาริมทรัพย์ และบรรดาธนาคารใหญ่ๆ เข้าลงทุนปั่นอสังหาริมทรัพย์ในอเมริกาด้วย แต่พอประเทศในย่านยุโรปเกิดวิกฤตใหญ่ สภาวะวิกฤตได้ตีกลับมาที่ประเทศสหรัฐอเมริกา

ถึงแม้บรรดารัฐบาลประเทศต่างๆ จะทุ่มเงินมหาศาลแก้ไข แต่ปัจจุบัน ระบบเศรษฐกิจจริงก็ยังไม่สามารถฟื้นกลับ ความเชื่อมั่นของนักลงทุนในตลาดจึงลดลง

เพื่อนคนหนึ่งถามว่า

“ทำไมใช้เงินมหาศาลแล้วยังเอาไม่อยู่”

ผมตอบว่า

“ผมคิดว่า น่าจะมีจากหลายสาเหตุ”
สาเหตุแรก มาจากปฏิกิริยาลูกโซ่แบบวิกฤตที่แพร่ขยายไปทุกทาง ซึ่งทำให้สภาวะวิกฤตซ้อนวิกฤตรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ

ปรากฏการณ์นี้ส่งผลให้บรรดานักลงทุนโดยทั่วไปขาดความเชื่อมั่นและเกิดตื่นกลัว บรรดานักลงทุนจึงคิดที่จะเอาตัวรอด หรือคิดจะถอนทุนให้เร็วที่สุด หรือไม่ก็หยุดทุกอย่างไว้ก่อน

อีกสาเหตุหนึ่ง เนื่องจากเวลาที่เกิดวิกฤตใหญ่จะเกิดปรากฏการณ์แบบสวิงตัว ราวกับลูกคลื่นสึนามิ ที่สวิงตัวซัดไป-มา จากอเมริกาไปยุโรปและสวิงกลับ หรือปัจจุบัน กำลังสวิงจากตะวันตกสู่ตะวันออก และจากตะวันออกสู่ตะวันตก


ปัจจุบัน การทรุดตัวเศรษฐกิจฟองสบู่กำลังก่อให้เกิดสึนามิ ซึ่งนำสู่การทรุดใหญ่ของเศรษฐกิจจริงในอนาคต และจากการทรุดตัวของเศรษฐกิจจริงจะสวิงกลับ สู่การทรุดตัวของฟองสบู่อีกครั้งหนึ่ง

ลักษณะการสวิงตัวแบบกระแทกไปมานี้เองจะส่งผลทำให้สภาวะวิกฤตนี้ร้อนแรงขึ้น และไม่สามารถสงบลงได้อย่างง่ายๆ

เพื่อนอีกคนหนึ่งถามผมว่า

“แล้วจะแก้ปัญหาอย่างไร”

ผมตอบว่า

“มันไม่ได้ขึ้นกับการคิดของเราหรือของผม แต่ขึ้นกับการคิดและการตัดสินใจของชนชั้นนำที่มีอำนาจในระบบโลกปัจจุบัน

ผมเองคิดว่า มรรควิถีการแก้ปัญหาสำคัญมาก เพราะถ้าแก้ผิด ปัญหาก็มีแต่จะขยายตัว”

ปัญหาหลักที่ต้องตัดสินใจให้ถูกคือ จะอุ้มตลาดหุ้นและบรรดาธนาคารต่างๆ หรือที่เราพูดกันว่า อุ้มคนรวย หรือว่า จะกระตุ้นเศรษฐกิจจริง

แนวโน้มปัจจุบัน จากกรณีทั้งอเมริกาและยุโรปคือ วางแผนแก้ที่ตลาดทุน และธนาคาร หรือ อุ้มคนรวยก่อน ผมเองคิดว่า เส้นทางนี้ดูดีแต่แก้ไม่ตรงกับปัญหาที่แท้จริง

นอกจากนี้ก่อนจะแก้ปัญหา เราต้องหารากของปัญหาให้พบก่อน

ประเด็นสำคัญ ชนชั้นนำที่สหรัฐอเมริกาและยุโรปกลับเข้าใจรากที่มาของวิกฤตต่างกัน
(ยังมีต่อ)
กำลังโหลดความคิดเห็น