วช.-นักวิจัยไทยเก่ง พัฒนาการตรวจและจำแนกชนิดของเชื้อมาเลเรียของลิงด้วยปฏิกิริยาลูกโซ่โพลิเมอร์เรส ช่วยลดต้นทุนการวิจัยแต่คงประสิทธิภาพสูง พร้อมระบุลิงค่างดำไทยและยุงก้นปล่องเสี่ยงต่อการเป็นรังโรคถ่ายทอดเชื้อมาเลเรียสู่คนได้
ศ.ดร.อานนท์ บุญรัตเวช เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันพบว่า มีคนไทยป่วยด้วยโรคมาเลเรียจำนวนมาก วช.จึงได้สนับสนุนงบประมาณวิจัยและศึกษาโครงการระบาดวิทยาเชิงบูรณาการแนวทางควบคุมโรคมาเลเรียในประเทศไทย แก่นายสมชาย จงวุฒิเวศย์ และคณะจากภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เพื่อศึกษาการควบคุมโรคมาเลเรียที่ยังขาดความชัดเจนและต้องศึกษาอย่างเร่งด่วน
ในการศึกษาได้ศึกษาข้อมูลทางด้านระบาดวิทยาที่ถูกต้องและเชื่อมโยงกันอย่างครบวงจร ทั้งด้านประชากรที่มีเชื้อมาเลเรียในร่างกาย เชื้อมาเลเรีย ยุงพาหะนำโรค สภาวะของรังโรคในธรรมชาติ และปัญหานำเชื้อมาเลเรียจากชาวต่างชาติที่อาศัยอยู่ตามพรมแดนติดกับประเทศไทย รวมทั้งโรคมาเลเรียที่มีลิงเป็นรังโรคซึ่งยังไม่เคยศึกษามาก่อนในประเทศไทย แม้ว่าจะเคยพบรายงานการติดเชื้อมาเลเรียชนิดที่มีลิงเป็นรังโรคในหมู่เกาะบอร์เนียวตอนเหนือของมาเลเซียมาแล้ว
เลขาธิการ วช.กล่าวว่า นักวิจัยได้พัฒนาวิธีการตรวจและจำแนกชนิดของเชื้อมาเลเรียของลิง และของคนด้วยวิธีใช้ปฏิกิริยาลูกโซ่โพลิเมอร์เรส (พีซีอาร์) อันเป็นเทคนิคการสังเคราะห์ดีเอ็นเอสายใหม่จากดีเอ็นเอต้นแบบในหลอดทดลองภายในระยะเวลาอันสั้น และพัฒนาวิธีการตรวจดีเอ็นเอต้นแบบจากแผ่นฟิล์มโลหิตที่ผ่านการย้อมสีตลอดจนกระดาษหรือวัสดุอื่นๆ พร้อมสุ่มตัวอย่างจากเชื้อมาเลเรียจากเขตปรากฏโรคที่มีอัตราการตรวจพบเชื้อสูงตามชายแดนไทยในช่วงเวลาต่างๆ ตลอดปีรวมถึงการวินิจฉัยชนิดของยุงก้นปล่อง และตรวจหาเชื้อมาเลเรียในยุงโดยวิธีพีซีอาร์
ผลการวิจัยพบว่า การพัฒนาวิธีการตรวจหาเชื้อและแยกชนิดของเชื้อมาเลเรียที่มีการติดเชื้อในลิงชนิดที่สามารถก่อโรคในมนุษย์ โดยการใช้ปฏิกิริยาลูกโซ่โพลิเมอร์เรสมีความรวดเร็ว และลดค่าใช้จ่าย แต่ยังคงประสิทธิภาพในการจำแนกชนิดของเชื้อมาเลเรียได้อย่างแม่นยำ นอกจากนี้พบว่าแผ่นฟิล์มโลหิตที่ผ่านการย้อมสีแล้ว ใช้เป็นตัวอย่างในการเตรียมดีเอ็นเอได้ผลทัดเทียมกับการสกัดดีเอ็นเอจากตัวอย่างเชื้อมาเลเรียในเลือดในปริมาณที่เท่ากัน และยังพบว่าการใช้กระดาษชำระเก็บรักษาตัวอย่างเลือดได้ผลทัดเทียมกับกระดาษกรอง (3MM CHR Whatman) แต่มีราคาถูกกว่า100 เท่า
ส่วนการศึกษาระบาดวิทยาในระดับโมเลกุลของการติดเชื้อมาเลเรียในผู้ป่วยในประเทศไทย ชนิดที่ก่อโรคในมนุษย์และเชื้อมาเลเรียของลิงยังไม่พบผู้ป่วยรายใดมีการติดเชื้อ ดังนั้น การติดเชื้อมาเลเรียจากลิงในประเทศไทยจึงไม่มีดังเช่นที่พบในเกาะบอร์เนียว ส่วนการประเมินสภาวะของการเป็นรังโรคในการถ่ายทอดเชื้อมาเลเรียสู่คน ในกลุ่มลิงกัง (Macaque) และค่างดำในประเทศไทย พบอัตราการติดเชื้อในค่างดำมากที่สุด รองลงมาได้แก่ลิงกัง และลิงแสม
นอกจากนี้ คณะผู้วิจัยได้ทำการศึกษาความเชื่อมโยงเกี่ยวกับการคงอยู่ของโรคมาเลเรียกับยุงก้นปล่องพาหะนำโรคในจังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงใหม่ ตาก กาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และสุราษฏร์ธานี โดยการตรวจดีเอ็นเอของเชื้อมาลาเรียโดยวิธีพีซีอาร์ในยุงก้นปล่องพบว่ามียุงก้นปล่อง "อะโนฟีลีส มินิมุส" (Anophelse minimus) ชนิดเดียวเท่านั้นที่มีเชื้อมาลาเรีย
"ดังนั้นคณะผู้วิจัยได้เสนอให้นำวิธีพีซีอาร์ที่พัฒนาขึ้นนำไปใช้ในการวินิจฉัยการระบาดวิทยาเพื่อควบคุมโรคมาเลเรียในภาพรวมของประเทศไทย เนื่องจากมีราคาถูก แต่มีประสิทธิภาพสูง นอกจากจะทำให้ได้ข้อมูลที่ถูกต้องทางระบาดวิทยาเกี่ยวกับการติดเชื้อมาลาเรียแล้ว ยังทำให้ทราบถึงปัญหาและสามารถวางแนวทางมาตรการแก้ไขที่ถูกต้อง และลดการสูญเสียทางเศรษฐกิจอีกด้วย"เลขาธิการ วช.กล่าว