xs
xsm
sm
md
lg

ชี้ตลาดตราสารค้ำหนี้เน่าจวนวิกฤต-พาพังทั่วโลก (ตอนแรก)

เผยแพร่:   โดย: เอฟ วิลเลียม อิงดาห์ล

(จากเอเชียไทมส์ออนไลน์ www.atimes.com)

Next up – the credit default swap crisis
By F William Engdahl
11/06/2008

ขณะที่โลกเริ่มคลี่คลายจากความหวาดผวาต่อวิกฤตล้มละลายของตลาดซับไพร์มในสหรัฐเมริกา และเริ่มทำใจได้กับบรรดาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นต่อเนื่องจากวิกฤตดังกล่าว ซึ่งเคยเป็นภัยคุกคามรุนแรงต่อภาคการเงินของโลกเมื่อปีที่แล้วต่อเนื่องถึงต้นปีที่ผ่านมา ขณะนี้ วิกฤตใหม่ในอีกตลาดหนึ่งได้สะสมกำลังพร้อมจะปะทุออกมาให้ได้ระทึกกันอีกครั้ง โดยในครั้งนี้จะเป็นวิกฤตล้มละลายในตลาดสวอปหนี้ความเสี่ยงสูง ซึ่งเป็นตลาดที่มีมูลค่า 62 ล้านล้านดอลลาร์

*รายงานชิ้นนี้แบ่งเป็น 2 ตอน นี่คือตอนแรก *

ในขณะที่ผู้คนมุ่งความสนใจไปยังวิกฤตล้มละลายในตลาดซับไพร์ม อันเป็นส่วนหนึ่งอยู่ในตลาดสินเชื่อจดจำนองที่อยู่อาศัย แถมเป็นตลาดที่ค่อนข้างขนาดเล็กในสหรัฐฯ แต่น่ากลัวในจุดที่ว่ามันสามารถเป็นศูนย์แพร่กระจายความเสียหายออกสู่ตลาดการเงินและตลาดสินเชื่อของโลกแห่งการเงินการธนาคารทั้งทางฝั่งสหรัฐฯและฝั่งยุโรปนั้น ปัญหาที่สะสมตัวอยู่ในอีกตลาดหนึ่งซึ่งมีใหญ่กว่ากันมาก กำลังจะปะทุให้ได้เห็นกัน

สินเชื่อในตลาดซับไพร์มซึ่งเป็นสินเชื่อในประเภทการจดจำนองที่อยู่อาศัยแบบมีหลักทรัพย์ค้ำประกันแต่มีค่าความเสี่ยงสูง (CMOs) นับว่าเป็นแค่ปัญหาที่ปรากฏ ณ ปลายยอดของภูเขาน้ำแข็งขนาดใหญ่ยักษ์แห่งตลาดสินเชื่อที่แสนจะเจ้าเล่ห์และเริ่มจะย่ำแย่หนัก วิกฤตครั้งใหม่กำลังก่อตัวในตลาดสวอปหนี้ความเสี่ยงสูง ซึ่งเป็นตลาดซื้อขายตราสารอนุพันธ์สวอปประเภทที่เป็นการทำสัญญาคุ้มครองความเสียหายจากปัญหาหนี้เสีย โดยที่ว่าในกรณีที่ผู้ซื้อประสบปัญหาลูกหนี้ล้มละลายไม่สามารถชำระคืนหนี้ได้ ผู้ขายซึ่งเป็นผู้ออกตราสารดังกล่าวจะรับผิดชอบชดใช้แทน ตราสารดังกล่าวมีชื่อเรียกกันว่า Credit Default Swaps (CDS) ทั้งนี้ ตลาดซื้อขาย CDS มีขนาดใหญ่โตด้วยมูลค่าสูงถึง 62 ล้านล้านดอลลาร์

CDS เพิ่งถูกสร้างขึ้นมาเมื่อสองสามปีนี้โดยบัญฑิตสาวน้อยสาขาคณิตศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ คือ ไบลธ์ มาสเตอร์ส ซึ่งเป็นพนักงานในเจพี มอร์แกน เชส แบงก์ สาขานิวยอร์ก โดยที่บัณฑิตหมาดๆ จากรั้วมหาวิทยาลัยนางนี้ สามารถกล่อมให้คณะเจ้านายยอมลงทุนพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่มีความเสี่ยงสูงประเภทใหม่เอี่ยมแหวกแนวอย่างที่สุด

CDS เป็นตราสารอนุพันธ์ที่อ้างอิงอยู่กับสินทรัพย์กลุ่มสินเชื่อ กล่าวคือสัญญาสวอปเป็นความตกลงระหว่างสองฝ่ายว่า ฝ่ายแรกจะชำระเงินให้อีกฝ่ายที่สองเป็นระยะๆ เพื่อแลกกับคำสัญญาว่าฝ่ายที่สองจะจ่ายเงินชดใช้ให้แก่ฝ่ายแรก หากลูกหนี้ของฝ่ายแรก (ซึ่งถือเป็นฝ่ายที่สาม) ประสบปัญหาล้มละลาย ในกติกานี้ ฝ่ายแรกจะถูกเรียกว่า ผู้ซื้อ โดยจะได้รับการคุ้มครองความเสี่ยงจากการมีลูกหนี้ ทั้งนี้ แนวคิดนี้จัดว่าเป็นการประกันภัยแบบหนึ่งนั่นเอง ส่วนฝ่ายที่สอง ซึ่งเรียกว่า ผู้ขาย ทำหน้าที่ให้การคุ้มครองสินเชื่อ ขณะที่ฝ่ายที่สามถูกเรียกว่า “หน่วยอ้างอิง” ถูกดึงเข้าไปเกี่ยวข้องด้วยเพราะมีแววว่าอาจล้มละลาย หรือตกอยู่ในภาวะหมดความสามารถที่จะชำระคืนหนี้ เท่าที่ผ่านมา ตราสารอนุพันธ์ CDS เฟื่องฟูได้รับการตอบรับอย่างมหาศาลในยามที่ปัญหาความเสี่ยงจากการเบี้ยวหนี้กำลังระอุไปทั่วระบบการเงินของสหรัฐฯ ในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา ในการนี้ พวกธนาคารพาณิชย์ชี้ว่า ตราสารอนุพันธ์ CDS ช่วยกระจายความเสี่ยงออกไปทั่วโลก

แม้จะมองกันว่า CDS ทำหน้าที่ละม้ายกรมธรรม์ประกันภัย และมีบทบาทในฐานะของเครื่องมือบริหารความเสี่ยง โดยที่ว่าการซื้อสวอป CDS ก็ละม้ายกับการที่เจ้าหนี้ทำประกันภัยไว้เผื่อว่าลูกหนี้เกิดมีปัญหาเบี้ยวหนี้ขึ้นมา อย่างไรก็ตาม ในเมื่อเงื่อนไขของตราสารประเภทนี้ไม่ได้กำหนดให้ต้องมีการถือสินทรัพย์กันจริงๆ อีกทั้งไม่ได้กำหนดว่าจะต้องเกิดความเสียหายขึ้นมาจริงๆ มันจึงถูกใช้ไปในเชิงเก็งกำไรกันอย่างกว้างขวาง

ในครั้งหนึ่ง วอร์เรน บัฟเฟต์ เคยกล่าวถึงตราสารอนุพันธ์ที่ถูกซื้อเพื่อเก็งกำไร ว่าเป็น “อาวุธทางการเงินที่มีอำนาจทำลายล้างอย่างมหาศาล” ทั้งนี้ ในรายงานประจำปีของเบิร์กไชร์ แฮธาเวย์ บัฟเฟต์เขียนว่า

“ถ้าการทำสัญญาของตราสารอนุพันธ์ยังไม่มีการใช้หลักทรัพย์ค้ำประกันหรือการค้ำประกันอื่นๆ มูลค่าแท้จริงของมันย่อมต้องขึ้นอยู่กับความน่าเชื่อถือของคู่สัญญา กระนั้นก็ตาม ในระหว่างที่สัญญายังไม่สิ้นสุดลง คู่สัญญาจะบันทึกยอดกำไรและขาดทุน (ซึ่งมักเป็นตัวเลขมหาศาล) ไว้ในงบกำไรขาดทุนโดยที่มิได้มีเม็ดเงินผ่านมือจริงแม้สักหนึ่งสตางค์ ขอบเขตแท้จริงของการทำสัญญาในตราสารอนุพันธ์จึงนับได้ว่าจะยืดขยายไปตามจินตนาการของคนกลุ่มหนึ่ง (ซึ่งบางคราว ก็ดูเสมือนจะเป็นคนบ้ากลุ่มหนึ่ง)”

โดยทั่วไป สัญญาภาระผูกพันหนี้ด้วยหลักทรัพย์ค้ำประกัน (CDO) ประเภท 5 ปีฉบับหนึ่งๆ ก็เหมือนผลิตภัณฑ์การเงินอื่นๆ อีกมากในข้อที่ว่า มันจะซับซ้อน แต่ทำกำไรได้ดีในยามที่ตลาดมีสภาพคล่องสูงและมีสถานการณ์สินเชื่อที่เคลื่อนไหลคล่อง แต่ครั้นเมื่อสถานการณ์ของตลาดพลิกผันแบบที่เกิดขึ้นมานับจากเมื่อเดือนสิงหาคม 2007 มันจะไปเร่งขยายความเสี่ยงได้อย่างใหญ่หลวง

ณ บัดนี้ ปัญหาความเสี่ยงที่ตลาดจะล่มสลายได้คืบคลานไปปะทุเพิ่มในตลาด CDS มูลค่ากว่า 62 ล้านล้านดอลลาร์ โดยเป็นผลจากการล้มละลายของจังก์บอนด์ซึ่งทวีจำนวนขึ้นอย่างมากมายในยามที่ภาคธุรกิจของสหรัฐฯ ต้องตกอยู่ในแรงกระทบจากการถดถอยทางเศรษฐกิจหนักข้อขึ้นเรื่อยๆ ทั้งนี้ มีประมาณการกันว่า ภายในมูลค่าตราสารที่ยังไม่ถึงกำหนดเคลียร์เงินกันราว 62 ล้านล้านดอลลาร์นั้น มีตราสารมูลค่าราว 1.2 ล้านล้านดอลลาร์ที่มีความเสี่ยงสูงว่าจะเข้าสู่ภาวะล้มละลาย ดังนั้น หากสถานการณ์ร้ายแรงอุบัติขึ้นจริง ขนาดความเสียหายจากตลาดนี้จะอเนกอนันต์กว่ากรณีวิกฤตล้มละลายของตลาดซับไพร์ม

**ขาดการกำกับดูแล **

ปฏิกิริยาลูกโซ่แห่งการล้มระเนนในตลาด CDS สามารถจุดระเบิดขึ้นเป็นวิกฤตการเงินโลกครั้งใหม่ได้ไม่ยาก ในเมื่อตลาดแห่งนี้ขาดการกำกับดูแลอย่างสิ้นเชิง และเป็นตลาดที่ไม่มีการบันทึกโดยหน่วยงานภาครัฐว่า ผู้ขายมีสินทรัพย์ที่จะนำมาชดใช้ให้จริงหากเกิดการเบี้ยวหนี้ที่อิงอยู่กับตราสาร ความเสี่ยงจากสิ่งที่เรียกว่าความเสี่ยงของ“ผู้มีส่วนร่วม”นับว่าเป็นระเบิดเวลาร้อนรอวันระเบิดโดยแท้ ธนาคารกลางแห่งสหรัฐอเมริกา (เฟด) ภายใต้การนำของอลัน กรีนสแปน อดีตประธานเฟดผู้ปล่อยเสรีแก่ตลาดการเงินอย่างสุดโต่ง ได้ปล่อยปละให้ตลาด CDS พัฒนาขึ้นมาโดยปราศจากการกำกับดูแลอย่างแท้จริง ในการนี้ กรีนสแปนให้ปากคำแก่สมาชิกสภาที่ตั้งข้อสงสัยในเรื่องนี้ครั้งแล้วครั้งเล่าว่า พวกสถาบันการเงินด้วยกันย่อมจะเป็นผู้กำกับดูแลความเสี่ยงได้ดีกว่าเจ้าหน้าที่ภาครัฐ

การที่เฟดช่วยกอบกู้วิกฤตล้มละลายของแบร์ สเทิร์น เมื่อวันที่ 17 มีนาคมปีนี้ โดยส่วนหนึ่งแล้วจัดได้ว่ามีปัจจัยขับเคลื่อนจากความปรารถนาที่จะประคองไม่ให้บรรดาความเสี่ยงจาก CDS ของสถาบันการเงิน ไปจุดระเบิดปฏิกิริยาลูกโซ่ที่อาจลากให้ระบบการเงินทั่วโลกต้องพังครืนลงมาทั้งยวง ความหวาดกลัวของเฟดมีอยู่ในข้อที่ว่า เนื่องจากมิได้สอดส่องติดตามความเสี่ยงใน “ผู้มีส่วนร่วม” ของ CDS ของแบร์ สเทิร์น อย่างเพียงพอ เฟดจึงมองไม่ออกว่าอะไรบ้างที่จะเกิดขึ้น ในการนี้ หนึ่งในผู้มีส่วนร่วมดังกล่าว ได้แก่ เจพีมอร์แกน เชส ซึ่งเป็นผู้ซื้อและผู้ขาย CDS รายใหญ่ที่สุด

เฟดมิได้มีการกำกับดูแลเพื่อที่จะเข้าควบคุมการที่วานิชธนากรหนึ่งๆ หรือเฮดจ์ฟันด์หนึ่งๆ จะเข้าไปถือความเสี่ยงเกี่ยวกับตราสาร CDS แม้ทั้งสองกลุ่มนี้ล้วนเป็นตัวเอ้ในการออกตราสาร CDS ทั้งนี้ คาดกันว่ากลุ่มเฮดจ์ฟันด์เป็นผู้ออกตราสาร CDS เพื่อคุ้มครองความเสียหายจากหนี้ล้มละลาย สูงถึง 31%

เท่าที่ผ่านมา ตลาดซื้อขายตราสารอนุพันธ์ CDS ยังไม่เคยถูกทดสอบความแข็งแกร่งเลยจวบกระทั่งปัจจุบัน มูลค่าตลาด CDS ณ เดือนมกราคม 2002 อยู่ที่ระดับ1.5 ล้านล้านดอลลาร์ โดยที่อัตราลูกหนี้ล้มละลายในเวลานั้นอยู่ที่ระดับ 10.7% ตามข้อมูลของมูดีส์ อินเวสเตอร์ส เซอร์วิส ขณะที่ฟิตช์ เรตติ้งส์ รายงานเมื่อเดือนกรกฎาคม 2007 ว่า 40% ของความคุ้มครองโดยตราสารอนุพันธ์ CDS ที่ซื้อขายอยู่ทั่วโลกนั้น อิงอยู่กับบริษัทธุรกิจ/หลักทรัพย์ที่ถูกจัดชั้นไว้ต่ำกว่าเกรดที่น่าเข้าไปลงทุน ตัวเลขดังกล่าวนี้พุ่งสูงจากระดับ 8% ของเมื่อปี 2002

เอฟ วิลเลียม อิงดาห์ล เขียนหนังสือเรื่อง A Century of War: Anglo-American Oil Politics and the New World Order (หนึ่งศตวรรษแห่งการสู้รบระหว่างการเมืองน้ำมันแองโกล-อเมริกันและระเบียบโลกใหม่) โดยสำนักพิมพ์พลูโต เพรส
อ่านงานของเอฟ วิลเลียม เองดาห์ล เพิ่มเติมที่เว็บไซต์ของเขาคือ www.engdahl.oilgeopolitics.net


(อ่านต่อตอน 2 ซึ่งเป็นตอนจบ)

  • ชี้ตลาดตราสารค้ำหนี้เน่าจวนวิกฤต-พาพังทั่วโลก(ตอนจบ)
  • กำลังโหลดความคิดเห็น