xs
xsm
sm
md
lg

รู้ทัน การเงิน:เศรษฐกิจไทยจะรุ่งหรือร่วงในปี 2551

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สวัสดีปี 2551 แด่ผู้อ่านทุกท่านครับ

ปีใหม่เป็นธรรมเนียมของผมและนักเศรษฐศาสตร์หลายคนที่จะเขียนถึงภาวะเศรษฐกิจเป็นบทความแรกของปี ในปีที่ผ่านมาผมเริ่มต้นปีด้วยความหวังว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2550 จะดีขึ้นกว่าปี 2549 จากการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ ทว่าจากปัญหาบางประการรวมทั้งภาวะการเมืองทำให้อุปสงค์ในประเทศไม่ฟื้นตัวแต่กลับทรุดตัวลง แต่ก็โชคดีที่ว่าการส่งออกขยายตัวในอัตราที่สูง เศรษฐกิจไทยจึงยังขยายตัวในอัตราที่ไม่ต่ำเกินไปนักที่ร้อยละ 4.0-4.5 สำหรับปีนี้ผมคงไม่ตั้งความหวังกับเศรษฐกิจไว้สูงนัก เนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจในต่างประเทศมีแนวโน้มจะทรุดตัวลง ขณะที่สภาวะการณ์ในประเทศก็ไม่ดีขึ้นเท่าใดนัก แม้เราจะมีรัฐบาลจากการเลือกตั้งแล้วก็ตาม

ในการคาดการณ์เศรษฐกิจปีนี้ ผมขออ้างถึงผลการวิเคราะห์ของสำนักวิจัย ธนาคารไทยธนาคาร จำกัด (สำนักวิจัย) เป็นหลัก ซึ่งมีข้อสรุปที่สำคัญว่า ปีนี้ปัจจัยต่างประเทศจะเป็นตัวฉุดเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวในอัตราที่ค่อนข้างต่ำโดยผ่านผลของการชะลอตัวของการส่งออกที่เคยเป็นตัวผลักดันเศรษฐกิจไทยในปีที่ผ่านมา

เศรษฐกิจหลักๆของโลกมีแนวโน้มที่จะขยายตัวลดลงในปี 2551 นี้ โดยเฉพาะเศรษฐกิจสหรัฐฯที่กำลังเผชิญภาวะสินเชื่อตึงตัวในระบบการเงินจากปัญหาสินเชื่อที่อยู่อาศัยประเภท Sub-prime แม้ว่าสถานการณ์จะผ่อนคลายขึ้นบ้างจากมาตรการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) และธนาคารกลางของประเทศอื่นๆ แต่ปัญหาดังกล่าวยังรุนแรงและจะส่งผลต่อเนื่องทำให้การลงทุนในที่อยู่อาศัยของสหรัฐฯ ทรุดตัวลงต่อไปอีกอย่างน้อยในครึ่งแรกของปีนี้ นอกจากนี้ ยังจะส่งผลไปยังการบริโภคตลอดจนการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรซึ่งอาจจะชะลอตัวหรือหดตัวได้ในปี 2551 จากข้อมูลล่าสุด ดัชนีชี้นำเศรษฐกิจของสหรัฐฯแสดงถึงภาวะเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง ทั้งด้านการบริโภค จากการที่ความมั่นใจของผู้บริโภคยังอยู่ในระดับต่ำ ยอดค้าปลีกที่ชะลอตัวลงอย่างมาก และตลาดแรงงานที่ทรุดตัวลงอย่างต่อเนื่อง และด้านการลงทุนที่คำสั่งซื้อสินค้าคงทนชะลอตัวลงอย่างมากและต่อเนื่อง ทำให้คาดได้ว่าการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรคงจะทรุดตัวลงเร็วๆ นี้ ซึ่งปัญหาทั้งหมดจะส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐฯ ชะลอตัวหรือหดตัวในปี 2551

ในขณะที่เศรษฐกิจหลักของโลกอีก 2 แห่งได้แก่ ยุโรปและญี่ปุ่น ก็มีทิศทางที่จะชะลอตัวอย่างชัดเจนเช่นเดียวกับสหรัฐฯ จากปัญหาสินเชื่อตึงตัวในสหรัฐฯ ที่ลุกลามไปถึงยุโรป ประกอบกับการมีค่าเงินและอัตราดอกเบี้ยที่สูง ส่งผลให้เศรษฐกิจยุโรปชะลอตัวลง ดัชนีชี้นำทางเศรษฐกิจของเยอรมนี อังกฤษและสหภาพยุโรปโดยรวมก็ชี้ทิศทางการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจทั้งของประเทศหลักในยุโรปและยุโรปโดยรวมแทบทั้งสิ้น

สำหรับเศรษฐกิจญี่ปุ่นที่ชะลอตัวลงจากการหดตัวของการลงทุนในการก่อสร้างและการชะลอตัวของการบริโภคตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา และก็มีสัญญาณชัดเจนว่าจะชะลอตัวต่อเนื่อง จากการขยายตัวของการส่งออกที่เริ่มลดลงและคาดว่าจะลดลงอีกในปีนี้ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ประกอบกับการบริโภคที่ชะลอตัวลงไปก่อนหน้านี้ ทำให้คาดว่าการลงทุนในเครื่องมือเครื่องจักรจะชะลอตัวลงตามไปด้วย ด้วยเหตุนี้สำนักวิจัยจึงคาดว่า เศรษฐกิจญี่ปุ่นจะทรุดตัวลงไปอีกหรืออาจจะถดถอยได้ในปี 2551 เพราะกลไกในการขับเคลื่อนการขยายตัวของเศรษฐกิจอ่อนกำลังลง

การชะลอตัวลงอย่างมากของเศรษฐกิจสหรัฐฯ ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป จะส่งผลต่อเนื่องเป็นปฏิกิริยาลูกโซ่ไปถึงเศรษฐกิจจีนและประเทศคู่ค้าของไทยอื่นๆในครึ่งหลังของปี 2551 การชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าหลักส่งผลทางตรงโดยเป็นการชะลอการส่งออกของไทยไปประเทศเหล่านี้ซึ่งเป็นตลาดดั้งเดิมของไทย และผลทางอ้อมคือการชะลอตัวของการส่งออกของไทยไปประเทศคู่ค้าอื่นๆที่มีตลาดสำคัญอยู่ที่ประเทศเหล่านั้น ผลโดยรวมคาดว่าจะกระทบเศรษฐกิจไทยในครึ่งหลังของปี 2551 ซึ่งจะทำให้การส่งออกชะลอตัวลงอย่างมาก

นอกจากนี้แล้ว สำนักวิจัยยังคาดว่า นอกจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจคู่ค้าแล้วยังมีปัจจัยอื่นคือ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ และราคาน้ำมันที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงอีก ด้านค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ แม้ว่านักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่า Fed จะลด Fed Funds Rate อีกประมาณร้อยละ 0.75 ในปี 2551 นี้ โดยคาดว่าสิ้นปี Fed Funds Rate จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3.50 แต่สำนักวิจัยคาดว่า Fed จะลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมากกว่านี้ โดย Fed Funds Rate จะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 3.00 ในสิ้นปีนี้ และอาจจะลดลงต่อจนอยู่ที่ประมาณร้อยละ 2.00-2.50 ในปี 2552 การที่ Fed Funds Rate ลดลงมากกว่าที่คาดไว้จะส่งผลให้ดอลลาร์สหรัฐฯอ่อนค่าลงไปอีก การลดลงของค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ประกอบกับแรงกดดันเงินเฟ้อจากราคาน้ำมันที่สูงขึ้น สำนักวิจัยจึงคาดว่า ค่าเงินบาทโดยเฉลี่ยในปี 2551 จะอยู่ที่ประมาณ 30.00-33.00 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่ราคาน้ำมันจะอยู่ในระดับสูงในครึ่งแรกของปี 2551 และจะลดลงได้ในครึ่งหลัง

สำหรับสถานการณ์การเมืองในประเทศนั้น แม้ว่าการเลือกตั้งจะทำให้ความขัดแย้งในสังคมลดลงบ้างแต่ก็ยังไม่หมดไป ประกอบกับแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง และอัตราดอกเบี้ยไทยที่จะยังคงอยู่ระดับเดิมในครึ่งแรกของปี 2551 จึงคาดว่าอุปสงค์ภาคเอกชนจะฟื้นตัวเพียงเล็กน้อยจากปี 2550 และจะค่อนข้างซบเซาต่อไป ขณะที่นโยบายการคลังจะเป็นแรงกระตุ้นเศรษฐกิจเพียงอย่างเดียวในปีนี้

การชะลอตัวของการส่งออกและภาวะซบเซาของอุปสงค์ในประเทศ ประกอบกับทิศทางอัตราดอกเบี้ยของเศรษฐกิจหลักของโลกยังอยู่ในขาลง อีกทั้งราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มจะลดลงได้ในครึ่งหลัง สำนักวิจัยจึงคาดการณ์ว่ามีความเป็นไปได้สูงที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทยจะลดลงอีกประมาณร้อยละ 0.50 ในครึ่งหลังของปี 2551

จากภาพรวมของเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศดังที่กล่าว สำนักวิจัยไทยธนาคาร คาดว่า เศรษฐกิจในปีชวดนี้จะขยายตัวเพียงประมาณร้อยละ 3.5 - 4.5 โดยอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณร้อยละ 2.5-3.5 จากราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม ถ้าไม่มีเหตุการณ์แทรกซ้อนที่ทำให้เศรษฐกิจไทยทรุดตัวลงไปอีก ก็คาดว่า เศรษฐกิจไทยน่าจะฟื้นตัวเข้าสู่ภาวะปกติและขยายตัวได้ประมาณร้อยละ 6-7 ในปี 2552
กำลังโหลดความคิดเห็น