xs
xsm
sm
md
lg

คสศ.จ้องดันเส้นทางล้านนาตะวันออก ผนวก GMS เชื่อมจีน-ไทย/ผุดรถไฟสายใหม่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายพัฒนา สิทธิสมบัติ
เชียงราย – เตรียมเสนอเส้นทางล้านนาตะวันออกเข้ากรอบ GMS เพิ่ม พร้อมดันแจ้งเกิดการขนส่งระบบราง กระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากกรอบการพัฒนาไทย พม่า ลาว จีน ลงพื้นที่ภาคเหนืออย่างทั่วถึง พร้อมเดินหน้าเปิดมิติการลงทุนใน สปป.ลาว รับ R3a ระดมตัวแทนรัฐไทย-ลาว พร้อมยักษ์ทุนไทยในลาวแชร์ประสบการณ์การลงทุนกลางเดือนหน้า

นายพัฒนา สิทธิสมบัติ ประธานคณะกรรมการเพื่อโครงการสี่เหลี่ยมเศรษฐกิจหอการค้า 10 จังหวัดภาคเหนือ (คสศ.) และประธานหอการค้า จ.เชียงราย เปิดเผยว่า คสศ.มีกำหนดจัดการประชุมคณะกรรมการและประธานหอการค้า 10 จังหวัดภาคเหนือ ครั้งที่ 3 ประจำปี 2551 ณ โรงแรมโกลเด้นปายรีสอร์ท อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน ในวันที่ 21 พฤศจิกายน ซึ่งการประชุมครั้งนี้ถือเป็นการสานต่อความพยายามในการรวมตัวกันของภาคเอกชนในภาคเหนือให้มีความเข้มแข็ง ดังนั้นในการประชุมครั้งนี้ คสศ.จะหารือเพื่อผลักดันอย่างต่อเนื่องให้เกิดเส้นทางรถไฟสายล้านนาตะวันออกระหว่าง จ.แพร่ น่าน พะเยาและเชียงราย ให้ได้

หลังจากก่อนหน้านี้เชียงราย เรียกร้องและผลักดันเรื่องนี้ฝ่ายเดียวเป็นระยะเวลากว่า 40 ปีแล้วยังไม่สำเร็จ ทั้งนี้การเรียกร้องใหม่จะยึดประโยชน์ของทุกจังหวัดเป็นหลักเพราะตามแบบที่การรถไฟแห่งประเทศไทย ออกแบบรถไฟสายเด่นชัย-เชียงราย เอาไว้นานแล้วกำหนดให้มีสถานีจอดถึง 16 แห่งตามจังหวัดต่างๆ ด้วย

นายพัฒนา กล่าวว่า ปัจจุบันการขนส่งสินค้ามีการแข่งขันกันสูงมากและรถไฟ ก็ถือเป็นระบบการขนส่งที่ใช้ต้นทุนต่ำที่สุด - ขนได้มาก ขณะที่ไทยมีเส้นทางรถไฟสายใต้ สายตะวันออกเฉียงเหนือ และสายภาคเหนือตะวันตกหรือทาง จ.ตาก แต่ทางด้านล้านนาตะวันออก ซึ่งถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญของการพัฒนาเศรษฐกิจเหนือ-ใต้ ของไทย – กลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขงหรือจีเอ็มเอส กลับไม่มีเส้นทางรถไฟเลย ดังนั้นในครั้งนี้ คสศ.จะพยายามรวมทุกจังหวัดให้ร่วมกันผลักดัน โดยเฉพาะในส่วนของ 4 จังหวัดที่เกี่ยวข้อง คือ เชียงราย แพร่ น่าน พะเยา ก็จะมุ่งให้ความสำคัญกับภาคการเมืองท้องถิ่นหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) เพื่อให้ร่วมกันผลักดันในฟากของภาคการเมืองด้วย

นายพัฒนา กล่าวอีกว่า เมื่อมีเส้นทางรถไฟสายล้านนาตะวันออกจะเกิดประโยชน์ทั้งในเรื่องการขนส่งสินค้าภาคเกษตร เช่น ข้าว ข้าวโพด ฯลฯ ที่เป็นปัญหาไปสู่แหล่งรับซื้อหรือขนส่งได้เร็วขึ้นโดยเฉพาะในภาคกลางและท่าเรือทางทะเล ซึ่งจะสามารถลดปัญหาผลผลิตทางการเกษตรราคาตกต่ำ จนประชาชนต้องออกมาประท้วงปิดถนนกันหลายครั้งได้ในระดับหนึ่ง

ขณะเดียวกันสามารถใช้เป็นระบบขนส่งสินค้าไปยังประเทศในกลุ่มจีเอ็มเอส โดยเฉพาะตลาดในมณฑลหยุนหนัน(ยูนนาน) ประเทศจีน ได้ เนื่องจากในปัจจุบันประเทศจีนเองก็มีแผนสร้างเส้นทางรถไฟรางคู่จากมณฑลหยุนหนัน -คุนหมิง-สปป.ลาว-ประเทศไทย อยู่แล้ว แต่ไทยยังไม่มีแผนการดำเนินการใดๆ ที่เป็นรูปธรรมเลย
เส้นทางคมนาคม ที่คสศ.เชื่อว่า หากมีการพัฒนาได้สำเร็จ จะเอื้อประโยชน์ทางการค้าและการขนส่งในภูมิภาคนี้มากยิ่งขึ้น
“เสร็จการประชุมแล้วคงจะมีการนำข้อสรุปแจ้งให้การรถไฟฯ และสำนักนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เพื่อพิจารณาดำเนินการต่อไปทันที”

ประธาน คสศ.และหอการค้า จ.เชียงราย กล่าวด้วยว่า นอกจากเรื่องรถไฟแล้วยังจะมีการเสนอไปยังกรมทางหลวงและสภาการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เพื่อให้เป็นเจ้าภาพในการผลักดันให้ขยายโครงข่ายของถนนอาร์สามเอที่ก่อสร้างใน สปป.ลาว แล้วเสร็จแล้ว และในปัจจุบันธนาคารพัฒนาเอเชียหรือเอดีบี กำลังอยู่ในขั้นตอนกำหนดให้มีการใช้เพื่อการขนส่งสินค้าในกลุ่มจีเอ็มเอส 6 ประเทศ โดยใช้ระบบควบคุมการขนส่งผ่านดาวเทียมหรือจีพีเอส เพื่อไม่ให้รถที่ขออนุญาตขนส่งออกนอกเส้นทางหรือขนส่ง นอกเหนือจากข้อตกลงด้านการค้าตามปกติ

ปัจจุบันได้มีการกำหนดเส้นทางผ่านภาคเหนือของไทยว่า ให้ใช้เส้นทางขนส่งระหว่างประเทศผ่าน จ.เชียงราย พะเยา ลำปาง ตาก กำแพงเพชร นครสวรรค์ ซึ่งในอนาคตอาจจะมีศูนย์กระจายสินค้าที่ใดที่หนึ่งในแต่ละจังหวัดก็ได้นั้น คสศ.จะเสนอให้มีการเพิ่มเส้นทางไปทาง จ.เชียงราย-แพร่-พิษณุโลก ด้วยเพื่อให้พิษณุโลกได้ใช้ยุทธศาสตร์การเป็นสี่เหลี่ยมอินโดจีนได้อย่างเต็มที่ และอนาคตอาจจะมีศูนย์กระจายสินค้าที่ จ.พิษณุโลก ซึ่งก็จะสร้างผลดีต่อการเกษตรของประเทศไทยต่อไป

รายงานข่าวแจ้งว่าปัจจุบันการรถไฟฯ มีโครงการขยายเส้นทางรถไฟสู่ จ.เชียงราย โดยเชื่อมจาก อ.เด่นชัย จ.แพร่ ซึ่งเป็นแผนที่มีมาตั้งแต่ปี 2503 กระทั่งปี 2539-2541 ได้สำรวจออกแบบรวมระยะทาง 246 กิโลเมตร ในปี 2544 คำนวณราคาก่อสร้างทั้งหมดได้ 21,343 ล้านบาทโดยรวมค่าเวนคืนที่ดิน 7,794 ไร่เอาไว้ด้วย ตั้งเป้าเวนคืนที่ดิน 2 ปี ดำเนินการ 5 ปี รวม 7 ปี แต่โครงการหยุดชะงัก เพราะมติคณะรัฐมนตรีปี 2544 ให้กลับไปศึกษาความคุ้มทุนใหม่ ต่อมาเมื่อนายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี ได้ให้เปลี่ยนระบบรางรถไฟในประเทศไทยจากขนาด 1 เมตร เป็น 1.435 เมตร เพื่อให้สอดคล้องกับการขยายรถไฟลงใต้ของประเทศจีน ยิ่งทำให้การศึกษาขยายระยะเวลาออกไปอีก

ขณะที่สะพานข้ามแม่น้ำโขงที่ อ.เชียงของ จ.เชียงราย ซึ่งจะเชื่อมถนนอาร์สามเอ กับถนนในประเทศไทย ปัจจุบันทางกรมทางหลวงออกแบบสะพานโดยให้มีเสาตอม่อกลางแม่น้ำโขง 4 ต้น แต่ละต้นห่างกัน 110 เมตร บนสะพานมี 4 ช่องจราจร ช่อง ละ 7 เมตร มีไหล่ทางข้างละ 2.50 เมตร และมีเกาะกลางถนนกว้าง 4.20 เมตร เพื่อเตรียมสำหรับใช้สร้างเส้นทางรถไฟดังกล่าว

นอกจากนี้ได้กันที่ดินกว้าง 300 เมตร ยาว 1 กิโลเมตรในฝั่งไทยเพื่อสร้างอาคารศุลกากรและศูนย์สนับสนุนระบบลอจิสติกส์ที่ใหญ่กว่าที่ จ.หนองคาย จ.มุกดาหาร ทั้งหมดจะใช้งบประมาณราว 31 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,000 ล้านบาท ซึ่งมติคณะรัฐมนตรีเมื่อ 21 ธันวาคม 2549 ให้ประเทศไทยและจีน ช่วยกันประเทศละ 50% คาดว่าฝั่งไทยจะมีการจัดรับฟังความเห็นจากประชาชนให้แล้วเสร็จภายในปี 2551 เพื่อก่อสร้างในปี 2552 และให้แล้วเสร็จในปี 2554-2555 ต่อไป

รวมทั้งมีมติให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เป็นหน่วยงานประสานงานหลักในระดับนโยบาย และให้กรมทางหลวงเป็นหน่วยงานปฏิบัติ ด้วยการจัดสรรงบประมาณสำรองฉุกเฉินปีงบประมาณ 2550 จำนวน 35 ล้านบาท เป็นค่าจ้างที่ปรึกษาออกแบบรายละเอียดโครงการ ฯ ให้ตรงกับหลักการร่างบันทึกความเข้าใจไทย-จีน ดังกล่าวด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น