xs
xsm
sm
md
lg

“เอดีบี” ฉายภาพ ศก.เอเชียปี 52 ศก.ไทยขยายตัวต่ำสุดในอาเซียน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


“เอดีบี” คาดการณ์ ศก.ไทย-มาเลย์-สิงคโปร์ หดตัวลงปีนี้ เนื่องจากพึ่งพาการส่งออก ซึ่งขึ้นอยู่กับการฟื้นตัวของ ศก.สหรัฐฯ แต่ในอนาคต การฟื้นตัวของเอเชีย จะขึ้นอยู่กับจีนและอินเดีย ผอ.เอดีบีในไทย แถลงปรับลดคาดการณ์ ศก.ไทย แม้จะผ่านจุดต่ำสุดแล้ว แต่ก็มีอัตราการขยายตัวทาง ศก.ต่ำสุดในอาเซียน และมีความเสี่ยงทางการเมือง แนะจับตาภาวะเงินเฟ้อในเอเชีย อยู่ที่ระดับเฉลี่ย 1.5% ในปีนี้ และในปีหน้าที่ระดับ 3.4%

ธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งเอเชีย (ADB) เผยคาดการณ์ทิศทางเศรษฐกิจเอเชีย โดยคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทย มาเลเซีย และสิงคโปร์ จะหดตัวลงในปีนี้ และฉุดการขยายตัวของเศรษฐกิจในภูมิภาคลงเหลือ 0.1% ในปีนี้ ขณะเดียวกัน ก็คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของประเทศในเอเชียตะวันออก อาทิ ไต้หวัน และฮ่องกง ก็จะหดตัวลงเช่นกัน

ดังนั้น การปรับโครงสร้างที่ไม่ควรพึ่งพาการส่งออกมากเกินไป จึงเป็นสิ่งที่ประเทศในเอเชียควรดำเนินการ โดยเฉพาะประเทศไทยที่มีการพึ่งพาการส่งออก 70% ก็ควรหันมาปรับระบบให้ดีที่สุด อย่างไรก็ตาม ไทยยังมีความโชคดีหลายด้านที่สามารถส่งออกสินค้าได้หลากหลาย และมีตลาดใหม่ในหลายประเทศ ประกอบกับมีพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่เหมาะสมโดยเฉพาะอยู่ระหว่างจีนและอินเดีย และมีประวัติศาสตร์ที่เชื่อมโยงกัน ดังนั้น ไทยจึงควรจะใช้ประโยชน์จากส่วนนี้ เพื่อนำมาพัฒนาเศรษฐกิจ

นายฌอง ปิแอร์ เวอร์บิสท์ ผู้อำนวยการสำนักงานผู้แทนธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) ประจำประเทศไทย แถลงปรับลดการประมาณการขยายตัวเศรษฐกิจไทยปีนี้ จากติดลบ 2% เป็นติดลบ 3.2% พร้อมคาดว่า เศรษฐกิจไทยในปีหน้าจะขยายตัวได้ 3% โดยจะเป็นลักษณะ V เชฟ เหมือนประเทศในเอเชีย แต่ประเทศไทยจะเติบโตค่อนข้างช้า

ซึ่งการคาดการณ์ดังกล่าว อยู่บนสมมติฐานไม่มีการสะดุด หยุดชะงักของรัฐบาล ทำให้แผนกระตุ้นเศรษฐกิจเดินหน้าตามแผน โดยเฉพาะโครงการไทยเข้มแข็งที่มีวงเงินลงทุนภาครัฐ 1.43 ล้านล้านบาท ในช่วงงบประมาณ 2553-2555 โดยจะเริ่มในเดือนตุลาคม 2552 นี้ ซึ่งแผนดังกล่าวคิดเป็นมูลค่า 5% ของจีดีพีแต่ละปี โดยรัฐบาลคาดการณ์ว่า โครงการทั้งหมดจะก่อให้เกิดการจ้างงาน 1.5 ล้านอัตรา ช่วยกระตุ้นการบริโภค การลงทุน และก่อให้เกิดการฟื้นตัวในภาคอุตสาหกรรม เช่น เหล็ก ปูนซีเมนต์ และวัสดุก่อสร้าง

ทั้งนี้ นอกจากการหดตัวของเศษฐกิจโลกแล้ว เอดีบี มองว่า สถานการณ์ทางการเมืองไทยได้เพิ่มแรงกดดันต่อความเชื่อมั่นภาคธุรกิจ และการบริโภคลดลง ถึงแม้ว่ามีสัญญาณว่าเศรษฐกิจไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดแล้วก็ตาม ทำให้ขณะนี้ไทยมีอัตราการขยายตัวต่ำที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

“เดิมคาดการณ์ไว้เดือนเมษายน 2552 ติดลบ 2% ซึ่งเป็นผลมาจากเศรษฐกิจโลกที่กระทบต่อการส่งออก และปัญหาการเมืองในเมืองไทยที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจมากกว่าคาดการณ์เดิม”

สำหรับการคาดการณ์เศรษฐกิจปีหน้าที่จะเติบโตได้ 3% นั้น เอดีบี มองว่า แผนไทยเข้มแข็งมีส่วนกระตุ้นการลงทุนภาคเอกชน บริโภคภาคเอกชน คาดว่า จะดีขึ้นจากการจ้างงานที่ดีขึ้นและราคาสินค้าเกษตรที่คาดว่าจะปรับตัวดีขึ้น รวมถึงเศรษฐกิจโลกดีขึ้น คาดว่า จะส่งผลทำให้การส่งออกของไทยดีขึ้น เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า สินค้าภาคการเกษตร จากการที่ส่งออกจะหดตัว 18% ในปี 2552 ก็คาดว่าจะกลับมาขยายตัว 15% ในปี 2553

ขณะที่การนำเข้าจะขยายตัวเช่นกัน โดยคาดว่า ปี 2553 จะขยายตัวถึง 28% ขณะที่การบริการคาดการณ์ว่า การท่องเที่ยวจะปรับตัวดีขึ้น แต่ขึ้นอยู่กับเศรษฐกิจโลกและการป้องกันไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ใหม่ 2009 โดยปีนี้คาดว่าไตรมาส 4 เศรษฐกิจไทยจะกลับมาเป็นบวก และทั้งปีอัตราเงินเฟ้อของไทยจะเฉลี่ยติดลบ 0.5%

ส่วนปีหน้าเงินเฟ้อจะอยู่ที่ประมาณ 2% ซึ่งมีสมมติฐานบนการฟื้นตัวของอุปสงค์ภายในประเทศและราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม อัตราเงินเฟ้ออาจต่ำกว่านี้หากรัฐบาลขยายมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพออกไปอีกในปีหน้า

ขณะที่อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น หลังจากที่ประเทศไทย โดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งสุดท้ายเมื่อเดือนเมษายน 2552 ไปอยู่ที่ร้อยละ 1.25 ซึ่งดอกเบี้ยที่ต่ำนี้ในเอเชียรวมถึงไทยต้องระมัดระวังการลงทุนภาคอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งอาจจะสูงเกินไปจนอาจส่งผลกระทบจนเป็นการกลับมาของปัญหาฟองสบู่อีกครั้ง

“เศรษฐกิจไทยจะเป็นไปตามแผนหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการดำเนินการเรื่องของไทยเข้มแข็งว่าจะเดินหน้าไปตามแผนหรือไม่ หากการลงทุนไม่เป็นไปตามกำหนด เนื่องจากเปลี่ยนแปลงรัฐบาลบ่อยครั้ง มีความตึงเครียดทางการเมือง หรือเกิดเหตุไม่สงบ ก็จะกระทบต่อความเชื่อมั่นทุกด้านและกระทบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่จะต่ำกว่าคาดการณ์”

นายฌอง ปิแอร์ เตือนว่า แม้การกู้เงินเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของไทยจะทำให้อัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีเพิ่มเป็น 58% ในปี 2555 จากระดับ 37.4% ในปี 2551 แต่ไม่น่าเป็นห่วง เพราะไทยยังมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือ การกระจุกตัวของการใช้หนี้คืน โดยเฉพาะการออกพันธบัตรเพื่อกู้ยืมเงิน ซึ่งหากมีระยะเวลาการคืนหนี้ใกล้เคียงกัน เช่น 5 หรือ 7 ปี ก็จะเกิดปัญหาต่อภาครัฐได้

ดังนั้น เมื่อรัฐบาลจำเป็นต้องกู้ยืมเงินก็ควรจะมีการจัดสรรอันดับให้ดี ซึ่งน่าจะมีการประสมประสานทั้งการกู้เงินในประเทศและต่างประเทศ โดยในส่วนของธนาคารระหว่างประเทศก็พร้อมให้กู้แก่รัฐบาล ซึ่งขณะนี้มีการเจรจาในการกู้เพื่อนำไปใช้สำหรับโครงการที่จำเป็นต้องใช้สินค้าจากต่างประเทศ ไม่ว่าระบบสาธารณสุข หรือระบบรถไฟฟ้า โดยในส่วนของเอดีบีนั้นอยู่ระหว่างเจรจากับกระทรวงการคลังในการกู้ยืมเงิน เพื่อสนับสนุนงบประมาณในปี 2553 วงเงิน 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในขณะที่มีการเจรจาก่อนหน้านี้แล้วว่าจะมีการกู้ยืมเงิน 77.1 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อสร้างเส้นทางของกรมทางหลวงที่จะมีการเชื่อมต่อระหว่างประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง

สำหรับเศรษฐกิจในภูมิภาคเอเชียในปีนี้ ทางเอดีบีประเมินว่า จะขยายตัวได้ 3.4% ตามการฟื้นตัวของจีน และอินเดีย เป็นสำคัญ พร้อมระบุว่า สถานการณ์การล้มละลายของสถาบันการเงินรายใหญ่ของโลกรวมถึงเลห์แมน บราเธอร์ส โฮลดิ้งส์ ตลอดจนการลดมูลค่าสินทรัพย์และการขาดทุนประมาณ 1.6 ล้านล้านดอลลาร์ นับตั้งแต่ต้นปี 2550 แต่ระบบการธนาคารของเอเชียก็ไม่ได้ล้มลงหรือตกอยู่ภายใต้กระแสความตึงเครียดของวิกฤตความเชื่อมั่น และตอนนี้ก็มีสัญญาณการปล่อยกู้ที่กำลังฟื้นตัวขึ้นแล้ว

นอกจากนี้ เอดีบี ยังระบุว่า การฟื้นตัวของเอเชียจะขึ้นอยู่กับการกลับมาขยายตัวของเศรษฐกิจในยุโรปและสหรัฐฯ เนื่องจากปัจจัยดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศที่พุ่งพาการส่งออก ขณะที่ นายเบน เบอร์นานเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) กล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า ภาวะถดถอยในสหรัฐฯ อาจจะสิ้นสุดลงแล้ว

สำหรับทิศทางเงินเฟ้อของเอเชีย เอดีบี คาดการณ์ว่า อัตราเงินเฟ้อในเอเชียจะอยู่ที่ระดับเฉลี่ยที่ 1.5% ในปีนี้ เมื่อเปรียบเทียบกับการคาดการณ์เมื่อเดือนมีนาคม 2552 ที่ระดับ 2.4% และคาดว่า เงินเฟ้อจะสูงขึ้นกว่านี้ในปีหน้าที่ 3.4% เนื่องจากการขยายตัวสูงขึ้น

สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจที่เป็นไปอย่างชะลอตัวในประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำอาจจะทำให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในเอเชียไปสู่อัตราการขยายตัวในระยะยาวนั้นชะลอตัวลง

เอดีบี ยังระบุในรายงานว่า ธนาคารกลางในประเทศต่างๆ ในภูมิภาคจำเป็นต้องจับตานโยบายการเงินอย่างเข้มงวด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดภาวะฟองสบู่สินทรัพย์ที่อาจจะทำให้ราคาปรับตัวสูงขึ้นจนไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐาน

ธนาคารกลางเกาหลีใต้เปิดเผยเมื่อช่วงต้นเดือนนี้ ว่า จะคุมเข้มการควบคุมการปล่อยสินเชื่อเพื่อการจำนองแก่ผู้ซื้อบ้านในเมืองและรอบนอก เพื่อชะลอยอดการปล่อยกู้ที่สูงขึ้น โดยยอดการปล่อยเงินกู้แก่ครัวเรือนเมื่อเดือน ส.ค.นั้นสูงขึ้น 3 ล้านล้านวอน หรือ 2.4 พันล้านดอลลาร์ แตะ 405.1 ล้านล้านวอน
กำลังโหลดความคิดเห็น