xs
xsm
sm
md
lg

"เอดีบี" ชี้การเมืองเล่นสกปรก ปัจจัยเสี่ยงฉุด ศก.ไทยลงนรก

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"เอดีบี" ชี้ 2 ปัจจัยเสี่ยง ศก.ไทย เตือนการเมืองส่อเค้ารุนแรง กดดันรัฐบาลต้องเอาเวลาไปแก้ปัญหา ส่งผลให้การแก้วิกฤต ศก.ล่าช้า การตั้งงบกระตุ้น ศก.ไม่ได้ตามเป้า กระทบต่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานที่ได้ประกาศไว้ พร้อมแสดงความเป็นห่วงปัญหาการว่างงาน อาจกลายเป็นปัญหาใหญ่ หาก ศก.ชะลอตัวยาว แนะรัฐบาลไทยต้องมีโครงข่ายความปลอดภัยทางสังคม ทั้งระยะสั้น-ระยะยาว คาดแนวโน้ม "เอ็นพีแอล" จะเพิ่มขึ้น อาจจะกระทบฐานะสถาบันการเงิน

นายฌอง ปิแอร์ เวอร์เบียส ผู้อำนวยการสำนักงานผู้แทนธนาคารเพื่อการพัฒนาเอชีย (เอดีบี) เปิดเผยถึงรายงานการวิเคราะห์เศรษฐกิจเอเชียประจำปี 2552 โดยระบุว่า อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (จีดีพี) ในปีนี้ คาดว่าจะหดตัวร้อยละ 2 ซึ่งเป็นการมองในแง่ดี แต่เป็นการหดตัวครั้งแรกนับตั้งแต่หดตัวร้อยละ 10.5 ในช่วงวิกฤตปี 2541 ซึ่งผลจากการหดตัวของเศรษฐกิจครั้งนี้จะทำให้มีคนว่างงานเพิ่มขึ้นเกือบ 2 ล้านคน

อย่างไรก็ตาม ยังมีปัจจัยเสี่ยง 2 เรื่องที่จะทำให้อัตราการขยายตัวเศรษฐกิจไทยหดตัวมากกว่าที่ประเมินไว้ สำหรับปัจจัยแรก ได้แก่ ความไม่แน่นอนทางการเมือง ถือเป็นความเสี่ยงสำคัญที่สุด ซึ่งหากสถานการณ์การเมืองเลวร้ายลงทำให้รัฐบาลต้องเอาเวลาไปแก้ปัญหาการเมือง และทำให้การตัดสินแก้ปัญหาเศรษฐกิจล่าช้า เม็ดเงินงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจ 1.16 ล้านล้านบาท เบิกจ่ายไม่เป็นไปตามเป้าหมาย การลงทุนไม่เพิ่มขึ้นตามที่ประกาศไว้

ส่วนความเสี่ยง 2 ได้แก่ การส่งออก ที่อาจจะหดตัวมากกว่าร้อยละ 18 ในปีนี้ หากเศรษฐกิจประเทศอุตสาหกรรมถดถอยนาน ทั้งสองปัจจัยก็จะส่งผลกระทบทำให้จีดีพีปีนี้อาจจะติดลบร้อยละ 4-5 ซึ่งเอดีบีจะมีการประเมินอีกครั้งเดือนกันยายน 2552

ทั้งนี้ การขยายตัวทางเศรษฐกิจน่าจะดีขึ้นในปี 2553 โดยคาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 3 หากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวตามคาด รัฐบาลมีการลงทุนเพิ่มขึ้นตามเป้าหมายและการเมืองมีเสถียรภาพดีขึ้น

นายฌอง กล่าวว่า การส่งออกทั้งปีคาดว่าจะหดตัวร้อยละ 18 นำเข้าหดตัวร้อยละ 28 เนื่องจากการบริโภค การลงทุนภาคเอกชนหดตัว ผลผลิตภาคอุตสาหกรรมหดตัว ทำให้ดุลการค้าเกินดุลมากถึง 18,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณร้อยละ 8 ของจีดีพี ส่วนเงินเฟ้อ คาดว่าจะอยู่ประมาณร้อยละ 0.5 โดยบางเดือนเงินเฟ้ออาจจะติดลบ เพราะราคาน้ำมันและสินค้าเกษตรลดลง

อย่างไรก็ตาม เอดีบีเป็นห่วง 2 เรื่อง คือ ปัญหาการว่างงานที่จะกลายเป็นปัญหาใหญ่ หากเศรษฐกิจชะลอตัวยาว ดังนั้น จึงแนะนำรัฐบาลไทยจะต้องมีโครงข่ายความปลอดภัยทางสังคม ทั้งระยะสั้นและระยะยาว และห่วงเอ็นพีแอลที่จะเพิ่มขึ้นและอาจจะกระทบฐานะสถาบันการเงิน

ส่วนด้านเศรษฐกิจเอเชีย ปีนี้โตร้อยละ 3.4 ต่ำที่สุดตั้งแต่ปี 2540 และคาดว่าปีหน้าจะอยู่ที่ร้อยละ 6 หากเศรษฐกิจโลกฟื้นตัวระดับปานกลาง โดยยอมรับว่า เป็นห่วงภาวะเงินฝืด เพราะอัตราเงินเฟ้อลดลงอย่างต่อเนื่องอยู่ที่ร้อยละ 2.4 พร้อมแนะนำประเทศในเอเชียสร้างความสมดุล ลดพึ่งพิงการส่งออก และไม่ควรให้ดุลบัญชีเดินสะพัดของภูมิภาคสูงเกินไป
กำลังโหลดความคิดเห็น