xs
xsm
sm
md
lg

แบงก์ชาติส่งซิกลดดอกเบี้ย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน – คณะกรรมการแก้ไขวิกฤตเศรษฐกิจสหรัฐจแถลง "ควบคุมได้-ไม่พบผลกระทบเพิ่ม" ขณะที่นโยบายแบงก์ชาติได้เวลาปรับรับมือสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลง ส่งสัญญาณดอกเบี้ยเข้าสู่ขาลงหลังราคาน้ำมันลดหมดแรงกดดันเงินเฟ้อ "อัจนา" เผยเตรียมผ่อนปรนนโยบายการเงิน หันไปให้น้ำหนักความเสี่ยงด้านการขยายเศรษฐกิจ ปลัดคลังสั่งสรรพากรเร่งสรุปเพิ่มวงเงินลดหย่อน RMF-LTF

นายศุภรัตน์ ควัฒน์กุล ปลัดกระทรวงการคลัง ในฐานะประธานคณะกรรมการติดตามประสานงานแก้ไขเศรษฐกิจในภาวะฉุกเฉิน เปิดเผยภายหลังหารือร่วมกัน 5 หน่วยงานว่า การเฝ้าติดตามสถานการณ์วิกฤตสถาบันการเงินในสหรัฐในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมายังไม่พบว่ามีผลเสียหายเกิดขึ้นต่อสถาบันการเงิน ตลาดทุนและธุรกิจประกันชีวิตเพิ่มขึ้นแต่อย่างใด เนื่องจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
โดยที่ประชุมได้นำข้อเสนอแนะจากหน่วยงานต่างๆ ที่เห็นว่ามีประโยชน์เข้ามาพิจารณาประกอบด้วยเพื่อให้การทำงานร่วมกันสามารถเห็นผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้โดยเร็ว เช่น ในส่วนของตลาดทุนได้มีการกระตุ้นเศรษฐกิจโดยจัดงานตลาดนัดกองทุนรวมขึ้นเพื่อให้มีการลงทุนในตลาดหลักทรัพย์เพิ่มและร่วมมือกับบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) เพื่อตั้งกองทุนร่วมลงทุนในช่วงที่ดัชนีหุ้นปรับลดลงมาก

***ธปท.ส่งสัญญาณดอกเบี้ยขาลง
นางอัจจนา ไวความดี รองผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า จะการติดตามประเมินผลกระทบต่างจากปัญหาสถาบันการเงินในประเทศสหรัฐ ยังไม่ได้ผลกระทบกับสภาพคล่องในระบบสถาบันการเงินประเทศไทย เนื่องจากยังมีอยู่มาก เงินทุนไหลเข้าออกยังอยู่ในภาวะปกติสอดคล้องกับภูมิภาค อย่างไรก็ตาม ธปท. จะดูแลนโยบายด้านการเงินอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนให้เหมาะสมกับภาวะในปัจจุบันที่ความเสี่ยงของอัตราเงินเฟ้อลดลง แต่ความเสี่ยงของการขยายตัวเศรษฐกิจมีสูงขึ้น เป็นผลจากปัญหาภาวะเศรษฐกิจของโลก
"ธปท.ต้องมองภาวะเศรษฐกิจการเงินโลกที่จะมีผลต่อเศรษฐกิจไทยในอนาคต ผ่านภาคการส่งออก การท่องเที่ยว และเงินทุนที่จะไหลเข้าออก ก็จะนำมาประเมินทั้งหมด โดยต้องชั่งน้ำหนักให้ดี ระหว่างการความเสี่ยงของอัตราเงินเฟ้อและความเสี่ยงของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ" นางอัจนากล่าว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า แม้ทิศทางนโยบายการเงินมีความชัดเจนว่าจะปรับตามตามภาวะเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป แต่ปัญหาที่ยังไม่มีทางออกก็คือคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ซึ่งมีหน้าที่ดำเนินนโยบายยังไม่มีการแต่งตั้งหลังหมดวาระลง (ตาม พ.ร.บ.ธนาคารแห่งประเทศไทย ฉบับใหม่) เมื่อสิ้นเดือนสิงหาคม เนื่องจากยังไม่มีบอร์ด ธปท.ที่จะมาตั้ง กนง. โดยนายพรชัย นุชสุวรรณ อดีตที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีและจำเลยคดีหวยบนดิน ที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่งตั้งให้เป็นประธานบอร์ดฯ ยังไม่ได้รับการโปรดเกล้า

***เร่งเพิ่มวงเงินลดหย่อน RMF-LTF
นายศุภรัตน์ กล่าวว่า คณะกรรมการได้ติดตามมาตรการที่จะดำเนินการ เพื่อดูแลเศรษฐกิจ ซึ่งในส่วนของกระทรวงการคลังได้ให้กรมสรรพากรไปดูเรื่องการขยายวงเงินซื้อกองทุนระยะยาวเพื่อการเลี้ยงชีพ (อาร์เอ็มเอฟ) และกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (แอลทีเอฟ) เพื่อนำมาหักลดหย่อนภาษีได้เพิ่มขึ้น โดยหลังจากรัฐบาลแถลงนโยบายจะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบทันที นอกจากนี้ ให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ประสานงานด้านข้อมูลกับหน่วยงานต่างๆ เพื่อทำเอกสารเผยแพร่ให้กับหน่วยงานต่างๆ
นายประเวช องอาจสิทธิชัย ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กล่าวว่า ก.ล.ต.ได้ติดตามเชิงรุกของฐานะกองทุนต่างๆ ของไทยที่ไปลงทุนในต่างประเทศ ซึ่งพบว่ามีผลกระทบที่ได้รับน้อยและยังมีฐานะที่มั่นคง
นางนงราม วงษ์วานิช รองกรรมการผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ต.ล.ท.) กล่าวว่า จากการติดตามซื้อขายหุ้นของกองทุนต่างประเทศพบว่า กองทุนที่ลงทุนระยะยาวยังมีการลงทุนปกติไม่ได้ขายหุ้นทิ้ง ส่วนกองทุนที่ขายหุ้นเป็นกองทุนระยะสั้น นอกจากนี้ การดำเนินการตั้งกองทุนร่วมลงทุนขณะนี้ได้วงเงินประมาณ 2 พันล้านบาท ที่พร้อมจะดำเนินการ

***พอใจสหรัฐเคาะ 7 แสนล้านดอลล์
นายสมชัย สัจจพงษ์ รักษาการผู้อำนวยการ สศค. กล่าวว่า ที่ประชุมได้มอบหมายให้สศค.ใช้สถาบันเฉพาะกิจดูแลสภาพคล่องโดยการที่วุฒิสภาของสหรัฐ อนุมัติแผนแก้ปัญหาการเงินโดยอัดฉีดสภาพคล่องจำนวน 7 แสนล้านเหรียญสหรัฐ ถือเป็นสัญญาณที่ดีต่อเศรษฐกิจไทย ฟื้นความเชื่อมั่นได้ระดับหนึ่ง ผลกระทบเศรษฐกิจโลกและต่อเศรษฐกิจไทยก็น้อยลง
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่ารัฐบาลสหรัฐจะต้องออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติม เพราะปัญหาการเงินที่เกิดขึ้นจะยืดเยื้อลุกลามต่อไป ซึ่งไทยก็มีการเตรียมความพร้อมตลอดเวลา เพราะทันทีที่เกิดวิกฤตสถาบันการเงินในสหรัฐ รัฐบาลก็มีการตั้งคณะทำงานติดตามเศรษฐกิจในภาวะฉุกเฉินขึ้นทันที เพื่อดูแลสถานการณ์
การเสนอแผนกลับไปที่สมาชิกสภาผู้แทนสหรัฐพิจารณา คงไม่มีปัญหา เพราะสภาผู้แทนมีแรงกดดันเพิ่มขึ้นจากการที่สมาชิกวุฒิสภาเห็นชอบไปแล้ว ซึ่งมีการปรับปรุงแผนให้เหมาะสมมากขึ้น ทั้งการขยายวงเงินค้ำประกันเงินฝากจาก 1 แสนเป็น 2.5 แสนเหรียญสหรัฐ มีมาตรการทางภาษีต่างๆ 2 ปี และเปลี่ยนการบันทึกบัญชีหลักประกันตามมูลค่าตลาด เป็นการบันทึกบัญชีตามกระแสเงินสด ซึ่งทำให้ผลประกอบการของสถาบันการเงินในสหรัฐดีขึ้น
นายฌอง-ปิแอร์ เอ เวอร์บีสท์ ผู้อำนวยการสำนักงานผู้แทนประเทศไทยธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) กล่าวว่า คาดว่าอัตราผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของไทยในปี 2552 จะขยายตัวได้ 4.5% หรือต่ำกว่า 5% เนื่องจากสถานการณ์การเงินในสหรัฐที่ส่งผลกระทบกับไทย ด้านความเชื่อมั่นของนักลงทุน ทำให้สภาพคล่องในไทยลดลง เงินไหลเข้าน้อยลง ส่วนปัญหาการเมืองไทยไม่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยมากนัก.
กำลังโหลดความคิดเห็น