xs
xsm
sm
md
lg

ส่งออกปีหน้ายอดวูบแสนล. 3ตลาดหลักแย่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอัทธ์ พิศาลวานิช ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า วิกฤตเศรษฐกิจโลกจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทยอย่างรุนแรงในปีหน้า โดยเฉพาะในตลาดหลัก ได้แก่ สหรัฐฯ สหภาพยุโรป (อียู) และญี่ปุ่น ซึ่งมีสัดส่วน 36% ของยอดการส่งออกรวม จะมียอดส่งออกติดลบ 5.1% และทำให้มูลค่าการส่งออกสินค้าไทยไป 3 ตลาดนี้ลดลงจากปีนี้ถึง 112,562 ล้านบาท
ทั้งนี้ การส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ จะลดลง 8.9% คิดเป็นมูลค่า 62,802 ล้านบาท ภายใต้การเติบโตเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ติดลบ 0.7% ส่งออกไปอียูลดลง 4.3% มูลค่า 34,473 ล้านบาท จากเศรษฐกิจที่ติดลบ 0.5% และญี่ปุ่นส่งออกลดลง 2.1% มูลค่า 15,287 ล้านบาท จากเศรษฐกิจที่ติดลบ 0.2%
โดยสินค้าที่จะได้รับผลกระทบกลุ่มแรกได้แก่ อิเล็กทรอนิกส์ คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบรถยนต์ และส่วนประกอบแผงวงจร เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่ม อัญมณี เครื่องประดับ และรองเท้า เป็นต้น
“หากมองแง่ดี การส่งออกปีหน้าอาจเติบโตที่ 5% บนพื้นฐานอัตราแลกเปลี่ยน 34-35 บาทต่อเหรียญสหรัฐ ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก 60-70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล และจีดีพี 4% แต่หากปัจจัยต่างๆ เลวร้ายกว่านี้ ก็ทำให้การส่งออกชะลอตัวได้อีก โดยอาจโตสูงสุดไม่เกิน 5% จากปีนี้ที่คาดว่าจะโตสูงถึง 20%” นายอัทธ์กล่าว
ไอเอ็มเอฟได้ประเมินว่าเศรษฐกิจโลกปี 52 จะขยายตัว 2.2% ลดลงจากปีนี้ที่ขยายตัว 3.7% ทำให้อัตราการเศรษฐกิจสหรัฐฯ ลดลง 0.7% ญี่ปุ่น ลดลง 0.2% และสหภาพยุโรปลดลง 0.5% ถือว่ารุนแรงกว่าวิกฤตดอทคอมปี 2544 ที่ทำให้ยอดการส่งออกไทยติดลบเมื่อ 7 ปีก่อน เพราะวิกฤตการณ์ซับไพร์มครั้งนี้ขยายวงกว้างไปสู่สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น จนกระทบกำลังซื้อตลาดหลักของไทยทั้งหมด
นายอัทธ์ กล่าวว่า เอกชนต้องการให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พิจารณาปรับลดดอกเบี้ยลง 0.5-1% ลดภาษีเงินได้นิติบุคคล แก้ไขปัญหาสภาพคล่องของผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอี เพิ่มการเข้าถึงแหล่งเงินทุนมากขึ้น โดยเฉพาะการผ่อนผันเงื่อนไขหลักทรัพย์ค้ำประกันจากเดิมเป็นโฉนด ที่อาจผ่อนผันให้นำสินค้าคงคลังมาเป็นหลักประกันเงินกู้แทน และสนับสนุนการส่งออกไปตลาดใหม่ ส่วนภาคเอกชนควรพยายามใช้ประโยชน์จากการลดภาษีภายใต้กรอบความตกลงเปิดเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) มากขึ้น

"ธนาคารกลางทั่วโลกต่างลดดอกเบี้ยแล้ว จึงอยากให้แบงก์ชาติลดดอกเบี้ยบ้าง เพื่อลดรายจ่ายให้ภาคธุรกิจ ขณะเดียวกันรัฐบาลควรลดภาษีนิติบุคคลด้วย เพราะที่ผ่านมาไทยยังเก็บสูงกว่าประเทศอื่น ส่วนปัจจัยนอกประเทศ ต้องติดตามการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจของ 3 ตลาด โดยเฉพาะสหรัฐฯ ที่ บารัก โอบามา ประธานาธิบดีคนใหม่จะอัดเม็ดเงินพยุงธุรกิจยานยนต์ 4 แสนล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือไม่ หากทำได้จะส่งผลดีต่อการส่งออกไทย” นายอัทธ์กล่าว
นายชัยนันท์ อุโฆษกุล ประธานคณะอนุกรรมการการค้าระหว่างประเทศ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เอกชนมองว่าการส่งออกจะฟื้นได้อีกใน 2 ปีข้างหน้า เพราะยังมีบางตลาดที่อาจจะเริ่มเห็นผลกระทบในช่วงไตรมาส 2-3 ปี 52 แต่สิ่งที่เอกชนไทยเป็นห่วงคือ ปัญหาเรื่องสินเชื่อของเอสเอ็มอี ที่มีความเข้มงวดมากขึ้น เช่น ขอกู้ 100 ราย อาจจะได้รับอนุมัติเพียง 10 ราย นอกจากนี้ ยังมีปัญหาการปรับขึ้นค่าธรรมเนียมด้านการขนส่ง ที่ปรับขึ้นตามน้ำมัน แต่ขณะนี้น้ำมันลดลงแล้ว แต่ค่าธรรมเนียมต่างๆ ยังปรับลดลงไม่สอดคล้องกัน ซึ่งกระทรวงคมนาคมควรจะเข้ามาดูแล

**อุตฯอาหารส่งออกปี’52วูบ4หมื่นล.
นายยุทธศักดิ์ ศุภสร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร เปิดเผยว่า จากวิกฤติการเงินโลกส่งผลให้เศรษฐกิจสหรัฐ ญี่ปุ่น และยุโรป ที่เป็นคู่ค้าสำคัญชะลอตัวคาดว่าจะส่งผลให้การส่งออกอุตสาหกรรมอาหารของไทยปี 52 มูลค่าส่งออกจะอยู่ที่ 7.6 แสนล้านบาท เมื่อเทียบกับปี 50 ที่คาดว่าการส่งออกรวมจะอยู่ที่ 8 แสนล้านบาท หรือลดลง 5% คิดเป็นมูลค่าประมาณ 4 หมื่นล้านบาท
สำหรับอุตสาหกรรมที่ส่งผลให้การส่งออกรวมลดลงในปีหน้าที่สำคัญคือ กลุ่มเกษตรวัตถุดิบอาหารที่การส่งออกคิดเป็นรูปของเงินบาทจะลดมากสุดถึง 28.9% เช่น ข้าว มันสำปะหลัง เนื่องจากความต้องการที่ลดลงและราคาตกต่ำ ขณะที่อาหารสำเร็จรูป โดยเฉพาะอาหารกระป๋องยังได้รับความนิยม เพราะมีราคาไม่แพง และเก็บรักษาไว้ได้นาน เช่น ไก่แปรรูป ทูน่ากระป๋อง ฯลฯ

**ส่งออกข้าวปี 52 ลดเหลือ8.5ล้านตัน
นายชูเกียรติ โอภาสวงศ์ นายกสมาคมผู้ส่งข้าวออกต่างประเทศ กล่าวว่า การส่งออกข้าวไทยปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 10 ล้านตัน แต่ปี 52 คาดว่าจะลดเหลือ 8-8.5 ล้านตัน เนื่องจากการผลิตข้าวของโลกมีเพิ่มขึ้น แต่การค้าระดับโลกปีหน้าจะลดลงตามกำลัง โดยตลาดข้าวทั่วโลกจะลดลงจาก30 ล้านตันต่อปีในปี 51 เหลือประมาณ 28-28.5 ล้านตัน ในปี 52 ผู้ส่งออกข้าวไทยจึงได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะข้าวไทยมีต้นทุนสูง เป็นผลสืบเนื่องจากการรับจำนำข้าวราคาสูงมาก
“ ขณะนี้ข้าวไทยมีราคาแพงกว่าข้าวเวียดนาม โดยเวียดนามถูกกว่า 100 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน ข้าวไทยที่ขายได้เฉพาะข้าวนึ่ง ส่วนข้าวหอมมีแนวโน้มส่งออกลดลง เพราะมีสินค้าทดแทนเป็นพันธุ์ข้าวหอมจากจีน จากสาเหตุทั้งหมดจึงส่งผลกระทบทำให้ยอดส่งออกข้าวไทย ปี 52 ลดลง”นายชูเกียรติกล่าว

**ส่งออกไก่ลด 5%
น.พ.อนันต์ ศิริมงคลเกษม นายกสมาคมผู้ผลิตไก่เพื่อส่งออก กล่าวว่า แนวโน้มการส่งออกไก่ปี 52 น่าจะลดลง เนื่องจากตลาดหลักของไทยได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจ โดยไก่สุก จะส่งออกได้ 350,000 ตัน และไก่สดอีก 10,000 ตัน รวมมูลค่า 44,000 ล้านบาท ลดลง 5% จากที่ปีนี้ยอดส่งออกคาดว่าจะอยู่ที่ 384,000 ตัน คิดเป็นมูลค่าส่งออก 50,000 ล้านบาท
กำลังโหลดความคิดเห็น