xs
xsm
sm
md
lg

"วสันต์"แจงถูกบีบออกกมธ.วุฒิชี้การเมืองเอี่ยว

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"วสันต์” ยืนยันไม่ผิดสัญญาจ้างกรณีเสนอแผนธุรกิจ ย้ำอาจเป็นส่วนนหนึ่งของเหตุที่บอร์ดอ้างว่า "สไตล์การทำงานและความเห็นที่แตกต่างกัน” เผยผลงาน 9 เดือนแรกปีนี้ รายได้รวมเพิ่ม 12 % ส่วนกำไรพุ่งขึ้น 20 % ด้านสหภาพฯ ออกแถลงการณ์จี้บอร์ดต้องรับผิดชอบหากมีปัญหาและความเสียหายเกิดขึ้น เผยจันทร์นี้ (17 พ.ย.) สหภาพฯนัดพบบอร์ด ส่วน"วสันต์"ประชุมร่วมพนักงาน ด้านกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนฯ เล็งใช้ ม.46 เล่นงานนักการเมืองอยู่เบื้องหลังปลด"วสันต์" หากพบข้อมูลสาวถึงผู้บงการ เตรียมยื่นป.ป.ช.ทันที

นายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า การยุติบทบาทหน้าที่ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.อสมท ก่อนครบวาระเป็นไปตามที่ นายธงทอง จันทรางศุ กรรมการและโฆษกบอร์ดได้แถลงเอาไว้ว่า มีสไตล์การทำงานและความเห็นที่แตกต่างกัน

คาดแผนธุรกิจคือต้นเหตุ
อย่างไรก็ตาม นายวสันต์มองว่า ความเห็นที่แตกต่างกันนั้นในเรื่องของการเสนอแผนงาน ก็อาจจะเป็นส่วนหนึ่ง แต่ขอยืนยันว่า ตนเองไม่ได้ทำงานผิดสัญญาจ้างแต่อย่างใด โดยเฉพาะเรื่องของการเสนอแผนงาน
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า ก่อนหน้านี้ นายวสันต์ได้เสนอแผนงานให้แก่ทางบอร์ดอสมท พิจารณาเมื่อปลายปีที่แล้ว ทางบอร์ด โดยนายธงทอง จันทรางศุ มองว่า แผนที่เสนอมานั้นเป็นแผนวิสาหกิจ แต่นายวสันต์มองว่าเป็นแผนงานของตนเอง ซึ่งในที่สุด นายวสันต์ ก็ยอมกลับมาทำแผนงานเพื่อเสนอใหม่ในนามของแผนของกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ แต่ทางบอร์ดก็ยังอ้างและตีกลับมาว่า ไม่สมบูรณ์ ให้กลับไปแก้ใหม่ หลายครั้งจนในที่สุด ทุกฝ่ายก็เข้าใจตรงกันแล้วว่า น่าจะสรุปกันได้ไม่มีปัญหาแล้ว อีกทั้งบอร์ดชุดนี้ก็มีความพยายามที่จ้องจะปลดนายวสันต์ ออกจากตำแหน่งมาโดยตลอดอยู่แล้วด้วย
“ทำงานด้วยกันกับบอร์ดมา 5 เดือน บอร์ดสรุปอย่างนี้ เราคิดว่ามีความเห็นต่างกันเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ แต่องค์กรต้องเดินหน้าต่อไป ซึ่งก่อนหน้านี้ทั้งสองฝ่ายก็พร้อมที่จะทำงานร่วมกันต่อ แต่เมื่อมีข้อสรุปออกมาจากทางบอร์ดว่าเป็นเรื่องความแตกต่างกัน ก็เป็นเรื่องที่ยอมรับได้ ซึ่งทางบอร์ดเสนอมาให้ควรยุติบทบาทหน้าที่ ซึ่งที่ผ่านมาเราก็ตั้งใจทำงาน ซื่อสัตย์สุจริต ทุ่มเท คิดถึงผลประโยชน์ขององค์กร เต็มที่” นายวสันต์กล่าว
นายวสันต์ กล่าวว่า “เขา (ทางบอร์ด) อยากให้ได้คำตอบในที่ประชุมวันนั้นเลย (13 พ.ย. 51) และผมก็เพิ่งทราบเรื่องเมื่อวันนั้นเองด้วยว่าทางบอร์ดต้องการให้ยุติบทบาท ซึ่งวันนั้นจริงๆแล้วมีหลายวาระเช่น พิจารณาผลประกอบการ การทำงานช่วงพระราชพิธี ซึ่งทางบอร์ดคุยกันเองก่อนแล้วค่อยเชิญเราตอนหลัง”
นายวสันต์ ย้ำด้วยว่า การยุติบทบาทไม่ได้เป็นการผิดสัญญาจ้างงานแต่อย่างใด
ทั้งนี้ในวันจันทร์ที่ 17 พ.ย.นี้ ทางสหภาพฯ มีนัดประชุมร่วมกับทางบอร์ดในช่วงเช้า ขณะเดียวกันช่วงบ่ายทางนายวสันต์ ก็จะเรียกพนักงานมาประชุมร่วมกัน

9เดือนแรกปี51 กำไรพุ่ง 20%
นายวสันต์ กล่าวถึงผลประกอบการของ บมจ.อสมท ว่า ในไตรมาสที่สาม ปี 2551 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปี 2550 พบว่า มีรายได้รวม 1,073 ล้านบาท ลดลง 1% จากเดิมที่มี 1,082 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้โทรทัศน์ 636 ล้านบาท ลดลง 5% จากเดิม 668 ล้านบาท รายได้วิทยุ 209 ล้านบาท ลดลง 3% จากเดิม 216 ล้านบาท รายได้อื่นๆ 228 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15% จากเดิม 198 ล้านบาท โดยมีค่าใช้จ่ายรวม 683 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% จากเดิม 669 ล้านบาท ขณะที่กำไรสุทธิ 284 ล้านบาท ลดลง 6% จากเดิม 302 ล้านบาท
ขณะที่ผลประกอบการงวด 9 เดือนแรกปี 2551 (ม.ค.-ก.ย.) เทียบกับงวดเดียวกันปี 2550 พบว่า มีรายได้รวม 3,203 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 12% จากเดิมงวดเดียวกันปีที่แล้วที่มี 2,850 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นรายได้วิทยุ 601 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2% จากเดิมที่มีรายได้ 592 ล้านบาท รายได้อื่นๆ 674 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% จากเดิมที่มี 618 ล้านบาท ส่วนค่าใช้จ่ายรวม 1,943 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 9% จากเดิม 1,788 ล้านบาท โดยมีกำไรสุทธิ 926 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20% จากเดิม 773 ล้านบาท

สหภาพฯจี้บอร์ดรับผิดชอบ
นางอรวรรณ ชูดี ประธานสหภาพแรงงานรัฐวิสาหกิจบริษัท อสมท จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากมติของการประชุมบอร์ดอสมท เมื่อวันที่ 13 พ.ย. ให้ยุติบทบาทหน้าที่การทำงานกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ของนายวสันต์ ภายใน 30 วัน ว่า เป็นเรื่องของการทำงานที่แนวทางไม่ตรงกัน ซึ่งทางสหภาพฯมองว่า เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นอาจจะถูกมองจากบุคคลภายนอกว่า มีความสมประโยชน์เกิดขึ้นทั้งบอร์ดกับกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ เพราะบอร์ดสามารถเปลี่ยนตัวกรรมการผู้อำนวยการใหญ่คนใหม่ได้ ขณะที่นายวสันต์ไม่เสียชื่อเสียงเมื่อพ้นจากตำแหน่งโดยไม่มีความผิดใดๆ
โดยทางสหภาพฯขอเรียกร้องดังนี้ 1.ให้บอร์ดตระหนักและปกป้อง อสมท จากการแทรกแซงของการเมืองภายนอกรวม ทั้งขอให้มีการชี้แจงถึงเหตุผลที่แท้จริงเรื่องนี้ต่อพนักงานและผู้ถือหุ้น 2. ให้กระบวนการสรรหากรรมการผู้อำนวยการใหญ่คนใหม่ จะต้องเป็นไปด้วยความโปร่งใสและรวดเร็ว 3.การดำเนินการใดๆที่จะเกิดขึ้นจากนี้จะต้องไม่สร้างความเสียหายหรือเป็นการซ้ำเติมองค์กรในช่วงของการเปลี่ยนผ่าน 4.ระหว่างการเปลี่ยนแปลงผู้บริหารสูงสุดของอสมทครั้งนี้ หากเกิดความเสียหายใดๆขึ้นกับองค์กรแห่งนี้ทั้งปัจจุบันและอนาคต บอร์ดอสมทต้องรับผิดชอบ
"การทำงานของอสมท จากนี้ต้องชะงัก ไม่รู้ว่าอีก 1 เดือนจากนี้อย่างน้อยจะเป็นอย่างไร ไม่ต่างกับสภาพที่เรียกว่า เป็ดง่อย เพราะคนที่มารักษาการ ก็เป็นรองระดับคนที่อาวุโสสูงสุดก็บอกว่าจะเกษียณปีหน้าแล้ว ไม่อยากจะเจออะไรหนักๆ”
มีการตั้งข้อสังเกตจากผู้สื่อข่าวว่า เหตุการณ์ครั้งนี้ถือเป็นการคุกคามสื่อหรือไม่ “ยังบอกไม่ได้ว่าเป็นการคุกคามสื่อหรือไม่ เพราะที่ผ่านมายังไม่ปรากฎชัดเจน แต่ว่าหลังจากนี้ไม่ทราบ” นางอรวรรณกล่าว

กมธ.สิทธิฯชี้นักการเมืองมีเอี่ยว
นายสมชาย แสวงการ ส.ว.สรรหา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชน สิทธิเสรีภาพ และคุ้มครองผู้บริโภค วุฒิสภา กล่าวถึงกรณีที่ บอร์ดอสมท.ปลดนายวสันต์ ภัยหลีกลี้ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ อสมท. ออกจากตำแหน่งภายใน 30 วันว่า เป็นเรื่องการเมือง ที่ดำเนินการมาตั้งแต่รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ที่มีนายจักรภพ เพ็ญแข อดีตรัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ เป็นผู้ดูแล และมีการให้สัมภาษณ์หลายครั้งว่า ไม่พอใจในการทำงานของนายวสันต์ แต่ตนเห็นว่าตลอดการทำงานของนายวสันต์ ไม่ได้ให้การเมืองเข้าไปแทรกแซงการทำงานเลย เพราะอสมทเป็นองค์กรของรัฐ ไม่ใช่ของรัฐบาล จึงไม่ควรจะเอาประโยชน์ให้กับการเมืองได้ ตลอดการทำงานของนายวสันต์ได้เปลี่ยนรูปลักษ์ของ อสมทจากบันเทิงมาเป็นรายการที่มีสาระมากขึ้น จึงอาจเป็นปัจจัยหนึ่งของการถูกปลด
"ผมอยากเรียกร้องให้นายวสันต์ ออกมาแถลงข่าว เพราะเกรงว่าสังคมจะเข้าใจว่ามีการเกี้ยเซียะกัน ทั้งๆที่นายวสันต์ไม่รู้เรื่อง แต่ถูกเรียกให้ร่วมประชุม โดยไม่มีวาระการประชุมเลย หลังจากนั้นก็มีการเชิญสื่อมาทำข่าว ก่อนเวลาแถลงเพียง 2 ชั่วโมง ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าแปลกมาก เหมือนมีการเตรียมการกันไว้เพื่อที่จะบีบนายวสันต์ นอกจากนี้นายวสันต์ จะต้องออกมาปกป้องสิทธิของตนเอง เพราะ อสมทไม่ใช่ของพนักงานเพียงอย่างเดียว แต่อสมทเป็นของประชาชนด้วย" นายสมชายกล่าว
นายสมชาย กล่าวด้วยว่า ที่ผ่านมาของรัฐบาลของพ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร ก็พยายามที่จะเข้าไปกุมสื่อ โดยการพยายามเข้าไปซื้อหุ้น ไม่ว่าจะเป็นของ เครือมติชน หรือเครือเนชั่น แต่พอหลังรัฐประหาร มีรัฐบาลนายสมัคร เข้ามาบริหารประเทศ ก็เป็นเหมือนเดิมไม่แตกต่างจากรัฐบาลของพ.ต.ท. ทักษิณ เลย เพราะรัฐบาลก็เข้าไปกุมสื่อของรัฐ อาทิ สถานีโทรทัศน์ เอ็นบีที และกรมประชาสัมพันธ์
ผู้สื่อข่าวถามว่ากรรมาธิการสิทธิมนุษชนฯ จะเคลื่อนไหวอย่างไรต่อไป นายสมชาย กล่าวว่า ถ้ากรรมาธิการได้ข้อมูลเกี่ยวกับม.46 ว่ามีนักการเมือง ส่อว่าการกระทำใดๆที่ขัดขวาง การแทรกแซงสื่อหรือไม่ ถ้าหากมีข้อมูลจริง เราก็จะต้องดำเนินการต่อ โดยการยื่นต่อคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)ให้ดำเนินการ
กำลังโหลดความคิดเห็น