xs
xsm
sm
md
lg

ธรรมะแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ชนะอธรรมเสมอ

เผยแพร่:   โดย: ว.ร.ฤทธาคนี

คนไทยยุคดิจิตอลหรือกลุ่มชนที่ผ่านการศึกษาแผนปัจจุบันในห้วง 20 ปี ที่ผ่านมา จะมีความรู้ประวัติศาสตร์และตำนานชาติไทยไม่ว่าจะยุคใดค่อนข้างต่ำ จนเกือบจะไม่มีใครรู้ว่า พันท้ายนรสิงห์เป็นตัวแทนผู้ถือคำสัตย์ตามประวัติศาสตร์กรุงศรีอยุธยาอันเป็นบทเรียนให้เด็กไทยยุคกึ่งพุทธกาลได้ยึดถือ เมื่อได้ให้สัจจะแล้วต้องยึดถือสัจจะนั้นแม้ว่าตัวจะต้องตายก็ตาม

ดังนั้น เด็กไทยและคนไทยปัจจุบันส่วนใหญ่ไม่ได้ตระหนักถึงเหตุการณ์สำคัญๆ ในประวัติศาสตร์ ยกเว้นที่ได้อ่านพบหรือได้ยินได้ฟังประวัติเหตุการณ์ทางการเมืองยุคประชาธิปไตยเบ่งบาน โดยเฉพาะกรณีเหตุ 14 ตุลาคม 2516 เหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 หรือเหตุการณ์ 17 พฤษภาคม 2535 เป็นต้น แต่ความจริงแล้วประวัติศาสตร์ทุกยุคทุกสมัยมีเหตุการณ์ที่สามารถวิเคราะห์ได้ แล้วนำมาใช้เป็นบทเรียนที่สามารถชี้นำเพื่อหลีกเลี่ยงเหตุร้ายไม่ให้เกิดซ้ำอีก หรือในอดีตบรรพบุรุษแก้ไขอย่างไรเพื่อประโยชน์ของชนชั้นรุ่นเราๆ ให้ได้อยู่อย่างสงบสุข ไม่เป็นทาสใครไม่ต้องแบ่งแยกเป็นฝ่ายเหนือ-ฝ่ายใต้หรือฝ่ายตะวันตก-ฝ่ายตะวันออก

และในประวัติศาสตร์นั่นเอง ก็มีเรื่องราวของกลุ่มบุคคลที่ต้องสูญเสียประโยชน์ของตัวเองและกลุ่มตน จะด้วยเหตุใดก็ตาม แต่พวกเขาก็ยอมรับผลกรรมหรือการสูญเสียผลประโยชน์นั้นๆ เช่น กรณีนายทุนค้าทาสครั้งสมเด็จพระปิยมหาราช ทรงเลิกทาส นายทุนกลุ่มนี้ก็ย่อมต้องเสียผลประโยชน์จากการขายแรงงานคนถูกอย่างมหาศาล นักธุรกิจที่ค้าขายกับชาวเยอรมันในยุครัชกาลที่ 6 เมื่อประเทศไทยประกาศสงครามกับอักษะเยอรมนีก็ต้องขาดทุนย่อยยับหรือในครั้งสงครามโลกครั้งที่ 2 ใครค้าขายกับอังกฤษและฝรั่งเศสก็ขาดทุนย่อยยับเช่นกัน

หลังจากการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 มีเรื่องราวทางการเมืองที่ซับซ้อนมากขึ้น เพราะประชาชนได้เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องกับการบริหารปกครองประเทศ มีอำนาจสิทธิขาดในการตัดสินใจในเรื่องชาติบ้านเมือง และเป็นเรื่องสากลที่พระมหากษัตริย์ที่มีพระราชอำนาจแต่เดิมในการบริหารชาติบ้านเมืองอยู่ใต้รัฐธรรมนูญแต่จะยังคงใช้พระราชอำนาจต่างๆในการปกครองประเทศผ่านฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายตุลาการ แต่จะยังคงดำรงพระราชอำนาจในการให้คำแนะนำแก่รัฐบาลที่มาจากประชาชนไม่ว่าจะทางนิตินัยหรือพฤตินัย เพราะพระองค์ทรงอยู่เหนือระบบการเมืองสามัญแล้ว แต่ยังทรงไว้ซึ่งพระบรมเดชานุภาพ และพระราชอำนาจในการลงพระปรมาภิไธยตรากฎหมายเพื่อให้เกิดความเป็นสูงสุดแก่ปวงชนชาวไทยตามรัฐธรรมนูญ

เพื่อย่นย่อเหตุการณ์ประวัติศาสตร์จะหยิบยกเพียงเป็นอุทาหรณ์สำหรับเปรียบเทียบเหตุการณ์บ้านเมืองในปัจจุบันกับอดีต จึงจะกล่าวเฉพาะภายหลังจากการที่พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงสละราชสมบัติในวันที่ 2 มีนาคม พ.ศ. 2477

จากพระราชหัตถเลขาในหนังสือการสละพระราชสมบัตินั้น ทรงยอมเสียสละพระราชอำนาจอย่างแท้จริง เพราะทรงเห็นว่า หากพระองค์ยังทรงราชสมบัติต่อไป อาจจะเกิดสงครามกลางเมืองขึ้นอีก เช่น กรณีกบฏบวรเดช อีกทั้งพระองค์ทรงประชวรด้วยโรคเกี่ยวกับพระเนตร จึงเป็นอุปสรรคในการที่จะทรงทุ่มเทพระวรกายแก้ไขปัญหาบ้านเมืองได้อย่างเต็มพระกำลัง แต่ยังทรงใช้พระราชอำนาจอย่างเต็มที่ตามนิติการปกครอง และรัฐธรรมนูญให้มีการสืบสันติวงศ์ต่อไป โดยทรงยอมให้มีการใช้รัฐธรรมนูญขณะนั้น ตามมาตรา 9 ซึ่งได้บัญญัติให้เป็นไปตามกฎมณเฑียรบาล ว่าด้วยการสืบราชสันติวงศ์ พ.ศ. 2467

หากจะคิดอย่างเราๆ แล้วก็เหมือนกับว่า พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงเชื่อมั่นในธรรมะแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ที่จะชนะอธรรมแล้วนำพาประเทศชาติกลับสู่ปกติ ถึงแม้ว่าจะมีวิบากกรรมตามหลักอนิจจังก็ตาม

มีหนังสือเล่มหนึ่งชื่อ รัตนโกสินทร์ 10 ยุค เรียบเรียงโดย ปรเมศวร์ วัชรปาน พ.ศ. 2535 บรรยายถึงเหตุการณ์เชิงการทำนาย และวิเคราะห์ตามหลักโหราศาสตร์ถึงเหตุการณ์บ้านเมืองยุครัตนโกสินทร์ 10 ยุค ซึ่งตำนานนี้ไม่มีใครรู้ว่าผู้เขียนตำนานนี้เป็นใคร บางคนก็กล่าวเป็นคำทำนายของเจ้าประคุณสมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต)

ท่านปรเมศวร์ วัชรปาน ซึ่งเรียบเรียงจากการค้นคว้าของบิดา พ.อ.ประจวบ วัชรปาน และอาจารย์เทพ สาริกบุตร ให้รายละเอียดพฤติกรรมการเมืองไทยยุคหลังเปลี่ยนแปลงการปกครองค่อนข้างจะละเอียด โดยเฉพาะในยุคประชาธิปไตยเฟื่องฟู

มีเหตุการณ์ร้ายแรงเกิดขึ้นในห้วง 75 ปีมากมาย เช่น กบฏบวรเดช พ.ศ. 2476 กบฏนายสิบ พ.ศ. 2478 การกวาดล้างกลุ่มผู้คิดลอบสังหารจอมพล ป. พิบูลสงคราม พ.ศ. 2482 สงครามโลกครั้งที่ 2 กรณีสวรรคตของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล พ.ศ. 2489 กบฏเสนาธิการ พ.ศ. 2491 กบฏแมนฮัตตัน พ.ศ. 2494 กบฏสันติภาพ พ.ศ. 2495 วันมหาวิปโยค 14 ตุลาคม 2516 กรณีจลาจล 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 กรณีจลาจลที่สถานีตำรวจพลับพลาไชย พ.ศ. 2517 กบฏ 26 มีนาคม พ.ศ. 2520 เหตุการณ์ 23 มิถุนายน พ.ศ. 2523 ทหารต่างชาติบุกยึดบ้านโนนหมากมุ่น อำเภอตาพระยา จังหวัดสระแก้ว และมีเหตุการณ์ทางการเมืองเกิดขึ้นไม่แตกต่างกับเหตุการณ์ในปัจจุบันมากนัก เพียงแต่ตัวละครเปลี่ยนไป ฉากละครเปลี่ยนไป เทคโนโลยีทันสมัยขึ้น

แต่สิ่งที่คงที่คือ ความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของคนไทยด้วยกันมากมาย แต่ความศักดิ์สิทธิ์แห่งธรรมะ และพระบารมีพระมหากษัตริย์เจ้าแห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ที่ยังคงทำให้บ้านเมืองฝ่าวิบากกรรมจากเหตุร้ายกลายเป็นดีเสมอมา จนเสมือนหนึ่งมีเทพปกปักรักษาตามคตินี้ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเรียกเทพองค์ว่า พระสยามเทวาธิราชที่ปกป้องชาติไทยจากภัยฝรั่ง ภัยญี่ปุ่นและภัยศึกกลางเมืองห้วง พ.ศ. 2508-2525

การประกาศสงครามสารสนเทศเพื่อตัวเองของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ด้วยการโฟนอินและจะกระทำการเปิดโปงกลุ่มบุคคลที่อยู่เบื้องหลังการโค่นล้มอำนาจของเขา จึงเป็นการท้าทายอำนาจความศักดิ์สิทธิ์แห่งแผ่นดินนี้ แต่ก็เป็นวิถีที่เขาจะทำได้ไม่มีใครว่าอะไรเพราะไม่ได้อยู่ในประเทศไทย

หาก พ.ต.ท.ทักษิณ ศึกษาประวัติศาสตร์การเมืองเพียงแค่ 75 ปีที่ผ่านมา จะรู้ว่าผู้เสียสละอำนาจและเงินตราที่ไม่ใช่ของตัวเอง ย่อมมีสุขในบั้นปลายชีวิตเสมอ เช่น การเสียสละของท่านปรีดี พนมยงค์ จอมพล ป. พิบูลสงคราม หรือแม้กระทั่งกลุ่มอำนาจจอมพลถนอม- จอมพลประภาส หรือกลุ่มอำนาจ จปร. 7 หรือกลุ่มอำนาจ รสช.หรือกลุ่มอำนาจอื่นๆ ที่เสียสละมาก่อนหน้านี้แล้ว
กำลังโหลดความคิดเห็น