xs
xsm
sm
md
lg

ราชประชาสมาสัย

เผยแพร่:   โดย: ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน

คำว่า ราชประชาสมาสัย ได้ถูกนำมากล่าวในวันที่ 1 พฤศจิกายน 2551 ในการชุมนุมของ นปช. ซึ่งมีการตีความเป็นนัยเกี่ยวกับการขอพระราชทานอภัยโทษ แต่ศัพท์เรื่องราชประชาสมาสัยมีความเป็นมาและมีความหมายแตกต่างจากที่เข้าใจทั้งโดยเนื้อหาและหลักการ ส่วนจะมีการตีความให้เอนเอียงไปในความต้องการของผู้พูดได้หรือไม่นั้น ย่อมขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของผู้อ่าน

ในเบื้องต้น ต้องทราบว่าความชอบธรรมหรือการยอมรับในการครองราชย์ของพระมหากษัตริย์ไทยนั้นขึ้นอยู่กับคติหรืออุดมการณ์ในแต่ละยุคซึ่งต่างกัน ในสมัยสุโขทัยนั้นกษัตริย์เหมือนบิดา ประชาชนเหมือนลูกหลาน บางคนก็เรียกว่าการปกครองแบบพ่อลูก ในสมัยพระเจ้าลิไทก็มีความคิดเรื่องธรรมราชาขึ้น กษัตริย์นอกจากจะเปรียบเสมือนบิดาของประชาชนแล้วยังต้องมีคุณลักษณะเป็นพระโพธิสัตว์หรือพระพุทธเจ้าโดยมีธรรมะในการปกครอง มุ่งเน้นที่ความเมตตากรุณาที่มีต่อพสกนิกร ในยุคกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี ความชอบธรรมของพระมหากษัตริย์อยู่ที่ลัทธิไศเลนทร์ หรือลัทธิเทวราชาซึ่งได้มาจากเขมร

อย่างไรก็ตาม ความเป็นมาจนถึงกรุงรัตนโกสินทร์นั้น พระมหากษัตริย์ไทยจะมีลักษณะผสม 3 อย่างด้วยกัน มีทั้งเป็นพ่อของแผ่นดิน ปกครองด้วยธรรมะหรือธรรมราชา และมีพิธีกรรมซึ่งได้มาจากศาสนาพราหมณ์ มีการเป่าสังข์เคาะบัณเฑาะว์ องค์กษัตริย์เป็นเสมือนสมมติเทพหรือจักรวาทิน

พระมหากษัตริย์ไทยจะทรงไว้ซึ่งทศพิธราชธรรมซึ่งมาจากราชนีติข้อ 131 นอกจากนั้นยังมีราชสังคหวัตถุ และจักรวรรดิวัตร พระนามของพระมหากษัตริย์ไทยจึงผสมผสานระหว่างพุทธ เช่น พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ขณะเดียวกันก็มีพระนามออกมาในทางลัทธิพราหมณ์ เช่น พระรามาธิบดี

แต่ประเด็นที่สำคัญก็คือ ในยุคกรุงรัตนโกสินทร์นั้นได้มีการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญยิ่ง นั่นคือความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดระหว่างผู้ที่จะครองราชย์กับประชาชน อันได้แก่ พสกนิกรของพระองค์ นอกเหนือจากนั้นพระมหากษัตริย์ยังต้องมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับเจ้า ขุนนาง และมหาเถรผู้ใหญ่ ซึ่งจะมีบทบาทสูงในการครองราชบัลลังก์ของพระมหากษัตริย์ ความชอบธรรมในยุคใหม่นี้จะมองในแง่ความสัมพันธ์ถ้อยทีถ้อยอาศัยกันอย่างสนิทระหว่างพระมหากษัตริย์และประชาชน จึงเกิดศัพท์ที่ว่า “เอนกชนนิกรสโมสรสมมติ” ซึ่งหมายความว่า พระมหากษัตริย์และประชาชนนั้นเป็นหนึ่งเดียวกัน ต่างคนต่างทำหน้าที่เกื้อกูลซึ่งกันและกัน เป็นการประสานระหว่างฟ้าและดิน หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ได้ทำการเปลี่ยนแปลงศัพท์ดังกล่าวเพื่อให้เกิดความเข้าใจดีขึ้น ใช้ศัพท์คำว่า “ราชประชาสมาสัย” โดยให้คำอธิบายในคอลัมน์ประจำวันในหนังสือพิมพ์สยามรัฐ เมื่อวันที่ 11 ธันวาคม 2514 ไว้ว่า

“การปกครองแบบราชประชาสมาสัยให้พระมหากษัตริย์กับประชาชนร่วมกันปกครองแผ่นดิน ให้พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชอำนาจในการปกครองมากขึ้นกว่าในระบอบประชาธิปไตย และให้ประชาชนมีอำนาจในการปกครองมากขึ้นกว่าในระบอบประชาธิปไตยของไทยที่แล้วมา” พระมหากษัตริย์กับประชาชนในเมืองไทยนั้นไม่เป็นภัยต่อกัน มีแต่ความรักต่อกัน และมีความอนุเคราะห์เกื้อกูลต่อกันและกันมาโดยตลอด ถ้าหากว่า “พระมหากษัตริย์กับประชาชนของพระองค์ได้ร่วมกันปกครองแผ่นดินด้วยความรัก และอนุเคราะห์เกื้อกูลกัน ดังที่ได้มีมาแล้วโดยตลอดนั้น ผู้เขียนก็มีความหวังว่าแผ่นดินไทยของเรานี้จะเป็นแผ่นดินแห่งความสันติและความเจริญในทุกทางดังที่คนทั่วไปปรารถนา”

สิ่งซึ่งสนับสนุนความเห็นของหม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ก็คือการครองราชย์ของมหาราชผู้ยิ่งใหญ่อันได้แก่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่ทรงมีพระปรีชาสามารถและสายพระเนตรอันยาวไกล นำประเทศสยามให้พ้นจากลัทธิล่าอาณานิคม และยังทรงพระเมตตาประกาศเลิกทาส พัฒนาประเทศให้เจริญรุ่งเรืองเพื่อความผาสุกของประชาชน จนราษฎรถวายพระสมัญญานามว่า พระปิยมหาราช อันหมายถึงมหาราชผู้ยิ่งใหญ่ อันเป็นที่รักของประชาราษฎร

เหตุการณ์ที่สะท้อนให้เห็นถึงราชประชาสมาสัย หรือความเกื้อกูลกันระหว่างพระมหากษัตริย์และราษฎรนั้น เห็นได้จากเมื่อองค์พระประมุของค์ปัจจุบันเสด็จฯ นิวัติพระนครและกำลังจะเสด็จฯ กลับไปยังต่างประเทศนั้น ท่ามกลางฝูงชนอันล้นหลามได้มีคำตะโกนเข้าพระกรรณว่า “ในหลวงอย่าทิ้งประชาชน” ในขณะนั้นทรงนึกตอบในพระทัยว่า “ถ้าประชาชนไม่ทิ้งข้าพเจ้า แล้วข้าพเจ้าจะทิ้งประชาชนได้อย่างไร”

และด้วยเหตุนี้ความสัมพันธ์ระหว่างพระมหากษัตริย์และประชาชน รวมตลอดทั้งสถานะของการเป็นพระมหากษัตริย์นั้นจึงสอดคล้องกับคติที่ว่า เอนกชนนิกรสโมสรสมมติ หรือราชประชาสมาสัย

นอกเหนือจากนี้ สถานะของพระมหากษัตริย์ยังมีบัญญัติในรัฐธรรมนูญมาตรา 3 อันบ่งชี้ถึงความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจอธิปไตยของปวงชนและการทรงใช้อำนาจนั้นโดยพระมหากษัตริย์ โดยมาตรา 3 ระบุว่า

“อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นประมุข ทรงใช้อำนาจนั้นทางรัฐสภา คณะรัฐมนตรี และศาล ตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญนี้ การปฏิบัติหน้าที่ของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานของรัฐ ต้องเป็นไปตามหลักนิติธรรม”

พระราชอำนาจขององค์พระมหากษัตริย์และประชาชน สอดคล้องกับสิ่งที่นักสังคมวิทยานามอุโฆษชาวเยอรมันชื่อ แมกซ์ เวเบอร์ (Max Weber) ได้กล่าวถึงอำนาจไว้ว่ามี 3 อย่างคือ 1) Traditional authority 2) Legal-rational authority และ 3) Charismatic authority (อำนาจจากบุญญาธิการ) สำหรับองค์พระประมุขปัจจุบันมีพระราชอำนาจจากประเพณียาวนานมาถึง 700 ปี คือ ข้อ 1) ของแมกซ์ เวเบอร์ และยังมีพระราชอำนาจตามรัฐธรรมนูญคือมาตรา 2 และ 3 ของรัฐธรรมนูญ คือข้อ 2 ของแมกซ์ เวเบอร์ พระองค์ท่านยังทรงไว้ซึ่งบารมี ซึ่งเป็นพลังที่มีน้ำหนักมากกว่า charisma เสียอีก (คำว่า charisma และบารมี มีความหมายไม่เหมือนกัน)

ประการสุดท้าย บทบาทของพระมหากษัตริย์ในระบบของอังกฤษเองนั้น นาย Walter Bagchot ได้กล่าวถึงพระราชอำนาจ 3 ประการ อันได้แก่ the right to be consulted, the right to encourage, the right to warn ซึ่งในกรณีขององค์พระประมุขนั้นได้ทรงมีพระราชกรณียกิจเกี่ยวกับปัญหาบ้านเมืองในลักษณะดังกล่าวเสมอ ด้วยการพระราชทานพระบรมราโชวาทเกี่ยวกับการปฏิบัติและการแก้ไขปัญหาเมื่อนายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีเข้าปรึกษาข้อราชการ

สถานะของพระมหากษัตริย์ไทยและความสัมพันธ์กับประชาชน จึงสอดคล้องกับคำว่า ราชประชาสมาสัย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นการผดุงไว้ซึ่งหลักนิติธรรมและความถูกต้อง ซึ่งปรากฏอยู่ในทศพิธราชธรรม ราชสังคหวัตถุ และจักรวรรดิวัตร รวมทั้งรัฐธรรมนูญมาตรา 3 วรรคท้ายนั้น ยังคงธำรงไว้อย่างสมบูรณ์ การใดที่ขัดต่อหลักนิติธรรม หรือการใดที่ขัดต่อหลักปรัชญาการปกครองบริหารดังกล่าวมาเบื้องต้น ไม่น่าจะเข้าข่ายคติอันสำคัญที่กล่าวมาเบื้องต้นที่แสดงถึงสถานะของพระมหากษัตริย์ และความสัมพันธ์อันใกล้ชิดของพระองค์ท่านกับประชาชน อัครมหากษัตริย์ที่ประชาชนพร้อมใจกันถวายพระสมัญญานามว่า พระภัทรมหาราช
กำลังโหลดความคิดเห็น