xs
xsm
sm
md
lg

หน้าตำรา (จบ)

เผยแพร่:   โดย: ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน

สังคม

ในอุดมคติภายใต้ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย มนุษย์ต้องมีความเสมอภาคกัน แต่ในความเป็นจริงมนุษย์ไม่สามารถเสมอภาคกันได้ ตั้งแต่ความแตกต่างของกายภาพ สมอง จิตใจ ความรู้ความสามารถ ความขยันขันแข็ง การจะให้คนซึ่งทำงานวันละ 10 ชั่วโมงมีรายได้เท่ากับคนทำงานวันละ 2 ชั่วโมงซึ่งเป็นงานชนิดเดียวกัน ย่อมขัดต่อความเป็นจริง หมอผ่าตัดมือดีซึ่งทำรายได้มากกว่ากรรมกรสร้างอาคาร ก็เป็นเรื่องปกติ จะให้หมอได้รายได้เท่ากับกรรมกรนั้นย่อมขัดต่อความเป็นจริงและสามัญสำนึก การกล่าวถึงความเสมอภาคโดยไม่คำนึงถึงความเป็นจริงเป็นการถูกครอบงำโดยอุดมการณ์อย่างผิดๆ แต่มนุษย์ต้องมีความเสมอภาคในด้านต่างๆ ดังต่อไปนี้ คือ

1. มนุษย์ทุกคนเป็นชีวภาพที่ถือว่าเป็นสัตว์ประเสริฐเหนือกว่าสัตว์เดรัจฉาน ทางคริสเตียนถือว่าเป็นบุตรแห่งพระผู้เป็นเจ้า มนุษย์จึงต้องมีความเป็นคนเท่ากันไม่ว่าจะรวยหรือจน

2. มนุษย์ทุกคนต้องได้รับการปฏิบัติอย่างมีศักดิ์ศรีคนมีอำนาจหรือคนร่ำรวยไม่มีสิทธิ์ปฏิบัติต่อมนุษย์อื่นอย่างไม่มีศักดิ์ศรี เช่น ใช้งานเป็นทาส พูดจาดูถูกเหยียดหยามว่าเป็นคนชั้นต่ำ

3. มนุษย์ต้องเสมอภาคกันต่อหน้ากฎหมายไม่ว่าคนรวยคนจนจะต้องเสมอภาคกัน คนรวยไม่มีสิทธิทำร้ายคนจนตามอำเภอใจ เมื่อขึ้นศาลจะต้องถูกลงโทษด้วยกฎหมายบทเดียวกันที่ใช้กับคนจน หรือผู้อื่น

4. มนุษย์ต้องมีความเสมอภาคกันในทางการเมืองหนึ่งคนหนึ่งเสียง จะให้คนรวยมีเสียงมากกว่าคนจนเป็นเรื่องที่ขัดต่อความเสมอภาค แต่การถ่วงดุลอำนาจเพื่อไม่ให้มีการใช้เสียงข้างมากกลายเป็นเผด็จการเสียงข้างมาก (Tyranny of the Majority) เป็นสิ่งที่อาจรับได้แต่ต้องไม่ขัดกับความเสมอภาคในขั้นพื้นฐาน

5. มนุษย์ต้องมีความเสมอภาคในโอกาสของการว่าจ้างแรงงานการเลือกปฏิบัติอันใดเนื่องจากความแตกต่างทางสังคม การเมือง กายภาพ ฯลฯ เป็นสิ่งที่ไม่ควรให้เกิดขึ้น

มงเตสกิเออเคยกล่าวว่า ในสภาพธรรมชาติเมื่อเด็กเกิดมาสองคนมีความเสมอภาคกัน แต่ความไม่เสมอภาคเกิดจากที่เด็กทั้งสองคนอยู่ภายใต้สังคมที่มีกฎเกณฑ์กำหนดความไม่เสมอภาคขึ้น เช่น เด็กคนหนึ่งเป็นลูกหมอ อีกคนหนึ่งเป็นลูกกรรมกร จึงเป็นหน้าที่ของกฎหมายที่จะประกันความเสมอภาคดังกล่าว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่ามนุษย์จะไม่มีความแตกต่างกันในเรื่องรายได้ เกียรติยศ ตำแหน่งการงาน อันเนื่องจากความแตกต่างกันในเรื่องความรู้ความสามารถ ความขยันขันแข็ง ฯลฯ แต่ในท่ามกลางความแตกต่างนั้นก็ยังมีความเสมอภาคพื้นฐาน 5 ข้อที่ละเมิดไม่ได้ดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น นี่คือการมองภาพสังคมโดยการมองความเป็นจริง

นอกเหนือจากนั้นความเสมอภาคดังกล่าวยังต้องอยู่ภายใต้กฎเกณฑ์การจัดองค์กรของสังคม เช่น องค์กรทหารจะต้องใช้บุคคลซึ่งมีกำลังแข็งแรงในการรบทัพจับศึก จึงอาจจะมีการเลือกปฏิบัติต่อการคัดตัวบุคคลที่ต้องมีร่างกายแข็งแรง เป็นเพศชาย เป็นต้น หรือในองค์กรที่ต้องใช้ความชำนัญการพิเศษ เช่น การเป็นผู้พิพากษา อัยการ ก็ต้องมีความรู้เฉพาะทางไม่สามารถจะเปิดกว้างให้คนทั่วไปเข้ามาทำหน้าที่ได้ ข้อยกเว้นดังกล่าวนี้ย่อมไม่กระทบต่อความเสมอภาค 5 ประการดังที่กล่าวมาแล้วเบื้องต้นเมื่อเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับความเป็นมนุษย์ สิทธิทางการเมือง สิทธิในการว่าจ้างแรงงานที่อยู่ในขอบข่ายที่เป็นไปได้ ฯลฯ

กล่าวโดยสรุป การมองปัญหาแบบหน้าตำราจะนำไปสู่ผลเสียอย่างมากดังต่อไปนี้ คือ

ประการแรกการวิเคราะห์ปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมนั้นจะวิเคราะห์ผิดประเด็น ให้น้ำหนักตัวแปรผิดที่ ทำให้การเข้าใจประเด็นปัญหาต่างๆ ไม่สมบูรณ์ บิดเบือน และผิดพลาดได้ ตัวอย่างเช่น ความเชื่อที่ว่ากลไกตลาดจะแก้ปัญหาได้ด้วยตนเอง

ประการที่สองถ้าความเชื่อตำราดังกล่าวนั้นกลายเป็นลักษณะเสมือนคำสอนทางศาสนา หรือเป็นคัมภีร์ หรือเป็นอุดมการณ์ ยิ่งจะทำให้การมองปัญหาผิดพลาดยิ่งขึ้น เช่น จีนสมัยเหมา เจ๋อตุง เชื่อว่าทุกอย่างนั้นเป็นการต่อสู้และความขัดแย้งของชนชั้น ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงคือการแย่งอำนาจทางการเมืองระหว่างกลุ่มหลิว เส้าฉี เติ้ง เสี่ยวผิง และเหมา เจ๋อตุง และแก๊งทั้งสี่

ประการที่สามเมื่อวิเคราะห์แบบหน้าตำรา หรือ “บ้าทฤษฎี” ซึ่งนำไปสู่การมองประเด็นปัญหาที่ผิดๆ การเสนอนโยบายแก้ไขก็ย่อมจะผิดไปด้วย ความหายนะที่เกิดขึ้นอาจจะส่งผลกว้างไกล เช่น นโยบายก้าวกระโดดของเหมา เจ๋อตุง ที่ให้มีการถลุงเหล็กในสวนหลังบ้าน ก่อให้เกิดความเสียหายกลายเป็นเศษเหล็กจำนวนมหาศาล และนำไปสู่ผลผลิตทางการเกษตรที่ตกต่ำจนเกิดความอดอยากไปทั่ว

ประการที่สี่ปัญหาที่เกิดในข้อสามเมื่อทวีความรุนแรงขึ้นอาจจะทำให้ระบบการเมือง สังคมและเศรษฐกิจ ล่มสลายได้ ที่เลวกว่านั้นคือส่งผลกระทบเป็นคลื่นใหญ่เหมือนคลึ่นสึนามิไปทั่วภูมิภาคหรือทั่วโลก เช่น ความล้มเหลวของสถาบันการเงินในสหรัฐอเมริกาขณะนี้ฉุดเศรษฐกิจอเมริกาลงไป ส่งผลกระทบต่อยุโรปและส่วนอื่นๆ ของโลก ผลสุดท้ายก็จะส่งผลกระทบถึงประเทศเล็กใหญ่ รวมทั้งประเทศไทยด้วย

ความเสียหายที่เกิดขึ้นในสหรัฐอเมริกามีส่วนมาจากความเชื่ออย่างงมงายในกลไกตลาด ซึ่งอลัน กรีนสแปน ก็ยอมรับว่ามีส่วนที่เป็นต้นเหตุ แต่สาเหตุที่สำคัญอีกสาเหตุหนึ่งคือ คนอเมริกันนั้นโชคไม่ดีที่ได้ผู้นำที่ไร้ความสามารถ ก่อสงคราม บีฑากรรมอิรัก ต่างจึงรอผลการเลือกตั้งในวันที่ 4 พฤศจิกายนนี้ โดยหวังว่าจะได้ผู้นำที่สามารถนำสหรัฐอเมริกาไปสู่ความไพบูลย์อีกครั้งหนึ่ง แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้วางนโยบายของมหาอำนาจ เช่น อเมริกา คงต้องถอดจากการเป็นหน้าตำรา หรือคลั่งคัมภีร์เศรษฐกิจทุนนิยมเสรีเต็มที่ และต้องแก้ไขประชาธิปไตยที่ไม่มีเสรีภาพอย่างไร้ขอบเขต ออกจากตำรับและกระบวนการของการวางนโยบายและแก้ปัญหา
กำลังโหลดความคิดเห็น