ศ.ดร.ลิขิต ธีรเวคิน ราชบัณฑิต
คำว่า “หน้าตำรา” หมายถึงบุคคลซึ่งอ้างอิงคัมภีร์ตำรับตำรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งทฤษฎีโดยไม่มีวิจารณญาณถึงความเป็นจริงและข้อยกเว้น ส่วนใหญ่จะมุ่งไปที่กฎโดยลืมข้อยกเว้น
บุคคลหน้าตำราในคติของวัฒนธรรมจีนบอกว่า เป็นคนที่เรียนรู้แบบตาย กล่าวคือ ท่องจำแบบตายตัว เชื่อโดยไม่คิดวิเคราะห์ ตำราว่าอย่างใดก็เอาอย่างนั้นไม่สามารถแตกแขนงความคิดของตัวเอง ใช้ท่องจำเป็นพื้น ระบบความคิดดังกล่าวนี้ซึ่งมีลักษณะเถรตรงจนไม่คำนึงถึงสภาวะของกาลเทศะ และเงื่อนไขอื่นๆ คติคนจีนเรียกคนเช่นนี้ว่าเป็นพวกหัวสี่เหลี่ยม คือไม่สามารถจะกลิ้งพลิกแพลง ได้ตำราว่าอย่างใดก็ว่าอย่างนั้น มีลักษณะแข็งกระด้างตายตัว
ปัญหาของนักวิชาการบางคนก็คือ การเป็นผู้เชี่ยวชาญจากการศึกษาหาความรู้จากตำรับตำรา จนถือว่าเป็นทฤษฎีสูตรสำเร็จ เป็นสัจธรรมอันศักดิ์สิทธิ์เสมือนหนึ่งคำสอนทางศาสนาซึ่งจะละเมิดไม่ได้ นักวิชาการจำนวนไม่น้อยไม่ต่างจากพราหมณ์ปุโรหิตสมัยโบราณที่ยึดถือในกฎเกณฑ์อย่างเคร่งครัดในการตีความสถานการณ์ทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และการเสนอทางออก โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างของสภาพภูมิศาสตร์ สภาพสังคม สภาพเศรษฐกิจ สภาพการเมือง วัฒนธรรม จิตวิทยาสังคมของคน
ประชาธิปไตย
ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยมีหลักที่สำคัญที่สุดก็คือ ประชาชนส่วนใหญ่ของสังคมต้องมีวัฒนธรรมสังคม ที่สอดคล้องกับการพัฒนาวัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตย เช่น จะต้องมีความเป็นตัวของตัวเอง หรือมีอาตมันปัจเจกภาพ (Selfhood) มีเหตุมีผลในการวิเคราะห์ปัญหา มีความศรัทธาในมนุษย์และเชื่อว่าสามารถพูดจาด้วยเหตุด้วยผลกันได้ เชื่อในความเสมอภาค เชื่อในสิทธิเสรีภาพ พร้อมที่จะต่อสู้เพื่อป้องกันสิทธิของตัวเองและป้องกันสิทธิของผู้อื่น มีศรัทธาในการใช้เสียงข้างมากในการแก้ปัญหาข้อขัดแย้ง ขณะเดียวกันก็เคารพสิทธิของเสียงข้างน้อย อดทนอดกลั้นต่อความคิดเห็นที่แตกต่าง มีศรัทธาและจิตวิญญาณที่เป็นประชาธิปไตย
ดังนั้น การนำระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยมาใช้ฉับพลันในสังคมซึ่งมีวัฒนธรรมการเมืองไม่สอดคล้องกับระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยจึงเกิดปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำทางการเมืองที่ไม่มีศรัทธาในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย หากแต่ฉกฉวยความอ่อนแอของคนในสังคม ใช้พิธีกรรมทางการเมืองอันได้แก่การเลือกตั้งมาอ้างเป็นอาณัติและความชอบธรรม อดีตนายกรัฐมนตรีผู้หนึ่งเคยกล่าวว่า ประชาธิปไตยเป็นเพียงวิธีการ (Means) ระบบการเมืองเช่นนั้นจึงเป็นประชาธิปไตยแปลกปลอม
ข้อสรุปที่ว่า ประชาธิปไตยคือการเลือกตั้งโดยไม่คำนึงถึงการมีระบบที่มีการตรวจสอบและการถ่วงดุลอำนาจ ย่อมไม่ใช่ระบบประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกตั้งที่มิได้ตัดสินใจด้วยตนเองบนข้อมูลที่พร้อมและความรู้ที่เพียงพอต่อการเลือกผู้สมัคร ไม่ใช่การเลือกตั้งในความหมายที่แท้จริง หากแต่เป็นพิธีกรรมของการหย่อนบัตร การกล่าวอ้างที่ว่าการเลือกตั้งคือประชาธิปไตย การมาจากการเลือกตั้งย่อมได้รับความชอบธรรม จึงเป็นการกล่าวอ้างเพื่อผลทางการเมือง ถ้าเป็นความเชื่อก็เป็นความเชื่อของคนหัวสี่เหลี่ยม หรือหน้าตำรา
และนี่เป็นเหตุสำคัญที่นำไปสู่การไม่สามารถพูดจากันด้วยเหตุด้วยผล เพราะวัฒนธรรมสังคมที่จะนำไปสู่วัฒนธรรมการเมืองในการพูดจาหาข้อยุติขัดแย้งอย่างสันติวิธีขาดหายไป การอ้างระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่นำมาทั้งดุ้นจากตำราของชาวตะวันตกซึ่งมีวัฒนธรรมที่ต่างกัน และมีวัฒนธรรมประชาธิปไตยที่มากกว่า จึงไร้ผลในทางปฏิบัติ แต่ก็ยังมีนักวิชาการถกเถียงแบบดันทุรังหัวชนฝาโดยไม่คำนึงถึงความเป็นจริงทางสังคม
เศรษฐกิจ
บนความเชื่อที่ว่าระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโดยอาศัยกลไกของตลาด จะแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจได้เองโดยอัตโนมัติ อันเนื่องมาจากกลไกสำคัญของระบบเศรษฐกิจเสรี นั่นคือ มือที่มองไม่เห็น ซึ่งหมายถึง หลักของอุปสงค์อุปทานที่จะเป็นตัวกำหนดราคา จากความต้องการสินค้าและจากจำนวนการผลิตของสินค้านั้น นอกจากนี้ยังมีฐานของความเชื่อที่ว่า ผู้บริโภคคือกษัตริย์ (Consumer is King) หมายความว่าลูกค้าจะเป็นผู้ซึ่งกำหนดการตัดสินใจของเจ้าของปัจจัยการผลิต เพราะลูกค้ามีสิทธิที่จะเลือกสินค้าที่ต้องการได้
ความผิดพลาดของการเชื่อและศรัทธาจนเกินเลยในระบบกลไกตลาด มือที่มองไม่เห็น ลูกค้าเป็นกษัตริย์ นำไปสู่คำสรุปที่ผิดพลาดของนักเศรษฐศาสตร์บางคน เมื่อเศรษฐกิจฟองสบู่แตกนั้นมาเลเซียกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนตายตัวไม่ปล่อยให้ลอยไปตามกลไกของตลาด นักเศรษฐศาสตร์ผู้นั้นกล่าวว่ามาเลเซียต้องล้มภายใน 6 เดือน ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นก็คือ ทั้งมาเลเซียและจีนซึ่งมีมาตรการการควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนเช่นเดียวกัน กลับกลายเป็นประเทศที่มีความจำเริญทางเศรษฐกิจอย่างมากมาย ส่วนประเทศไทยที่ต้องปล่อยลอยค่าเงินบาทเนื่องจากความจำเป็น ต้องใช้เวลานานในการฟื้นตัว
ความเชื่อตามตำราฝรั่งที่ให้กลไกตลาดเป็นตัวกำหนดนั้นนำไปสู่ความเสียหายอย่างหนักของเศรษฐกิจอเมริกาในปัจจุบัน แม้กระทั่งนายอลัน กรีนสแปน ซึ่งมีฐานะเทียบเคียงกับผู้ว่าการธนาคารชาติก็ยังยอมรับว่าความเชื่อดังกล่าวเป็นความผิดพลาด และยอมรับว่าตนเองมีส่วนทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาที่เป็นอยู่ขณะนี้ นักเศรษฐศาสตร์หน้าตำราที่ไม่ดูสภาพความเป็นจริงมักจะอ้างจากทฤษฎีที่เรียนมาตอนเรียนปริญญาโทและปริญญาเอก ไม่ได้คำนึงถึงความเป็นจริงว่าสิ่งที่ปรากฏในตำราย่อมแตกต่างจากสิ่งที่ปรากฏในความเป็นจริง ซึ่งจะเห็นได้จากหนังสือที่เขียนว่า “สิ่งที่เขาไม่ได้สอนในคณะนิติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด” “สิ่งที่เขาไม่ได้สอนในคณะบริหารธุรกิจที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด” อันหมายถึงความแตกต่างระหว่างทฤษฎี ตำรา และการปฏิบัติการที่เป็นจริง
นักวิชาการไทยยังเชื่อว่าการประกอบธุรกิจของสหรัฐอเมริกามีการควบคุมด้วยกฎหมายและบรรษัทภิบาล หรือจริยธรรมขององค์กร เรียกว่าเป็นกำแพงเมืองจีนที่แข็งแกร่ง ปิดกั้นต่อการกระทำการที่ผิดกฎหมาย คำกล่าวนั้นได้มีการยกขึ้นมาสมัยที่มี ปรส. แต่หลังจากนั้นไม่นานเอ็นรอนและเวิลด์คอมซึ่งเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ก็ล้มละลาย มาในปัจจุบันการปล่อยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้วยความโลภ เพื่อผลประโยชน์ของผู้บริหาร และมีทีท่าว่าอาจทุจริตนั้นกำลังถูกสอบสวนอยู่ ความเชื่ออย่างไม่ลืมหูลืมตาเป็นการมองระบบในอุดมคติ (Ideal Type) ซึ่งแตกต่างจากความเป็นจริง ความไร้เดียงสาของนักวิชาการเหล่านี้มีส่วนอย่างยิ่งในการทำให้นโยบายบิดเบือน เพราะมีศาสตร์แต่ไม่มีศิลป์ ซึ่งเกิดจากประสบการณ์ สามัญสำนึก การตัดสินใจที่ถูกต้อง การปกครองบริหารประเทศก็ดี การจัดการเศรษฐกิจก็ดี การจัดการสังคมก็ดี เป็นทั้งศาสตร์ (Science) และศิลป์ (Art) (ยังมีต่อ)
คำว่า “หน้าตำรา” หมายถึงบุคคลซึ่งอ้างอิงคัมภีร์ตำรับตำรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งทฤษฎีโดยไม่มีวิจารณญาณถึงความเป็นจริงและข้อยกเว้น ส่วนใหญ่จะมุ่งไปที่กฎโดยลืมข้อยกเว้น
บุคคลหน้าตำราในคติของวัฒนธรรมจีนบอกว่า เป็นคนที่เรียนรู้แบบตาย กล่าวคือ ท่องจำแบบตายตัว เชื่อโดยไม่คิดวิเคราะห์ ตำราว่าอย่างใดก็เอาอย่างนั้นไม่สามารถแตกแขนงความคิดของตัวเอง ใช้ท่องจำเป็นพื้น ระบบความคิดดังกล่าวนี้ซึ่งมีลักษณะเถรตรงจนไม่คำนึงถึงสภาวะของกาลเทศะ และเงื่อนไขอื่นๆ คติคนจีนเรียกคนเช่นนี้ว่าเป็นพวกหัวสี่เหลี่ยม คือไม่สามารถจะกลิ้งพลิกแพลง ได้ตำราว่าอย่างใดก็ว่าอย่างนั้น มีลักษณะแข็งกระด้างตายตัว
ปัญหาของนักวิชาการบางคนก็คือ การเป็นผู้เชี่ยวชาญจากการศึกษาหาความรู้จากตำรับตำรา จนถือว่าเป็นทฤษฎีสูตรสำเร็จ เป็นสัจธรรมอันศักดิ์สิทธิ์เสมือนหนึ่งคำสอนทางศาสนาซึ่งจะละเมิดไม่ได้ นักวิชาการจำนวนไม่น้อยไม่ต่างจากพราหมณ์ปุโรหิตสมัยโบราณที่ยึดถือในกฎเกณฑ์อย่างเคร่งครัดในการตีความสถานการณ์ทางสังคม การเมือง เศรษฐกิจ และการเสนอทางออก โดยไม่คำนึงถึงความแตกต่างของสภาพภูมิศาสตร์ สภาพสังคม สภาพเศรษฐกิจ สภาพการเมือง วัฒนธรรม จิตวิทยาสังคมของคน
ประชาธิปไตย
ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยมีหลักที่สำคัญที่สุดก็คือ ประชาชนส่วนใหญ่ของสังคมต้องมีวัฒนธรรมสังคม ที่สอดคล้องกับการพัฒนาวัฒนธรรมการเมืองแบบประชาธิปไตย เช่น จะต้องมีความเป็นตัวของตัวเอง หรือมีอาตมันปัจเจกภาพ (Selfhood) มีเหตุมีผลในการวิเคราะห์ปัญหา มีความศรัทธาในมนุษย์และเชื่อว่าสามารถพูดจาด้วยเหตุด้วยผลกันได้ เชื่อในความเสมอภาค เชื่อในสิทธิเสรีภาพ พร้อมที่จะต่อสู้เพื่อป้องกันสิทธิของตัวเองและป้องกันสิทธิของผู้อื่น มีศรัทธาในการใช้เสียงข้างมากในการแก้ปัญหาข้อขัดแย้ง ขณะเดียวกันก็เคารพสิทธิของเสียงข้างน้อย อดทนอดกลั้นต่อความคิดเห็นที่แตกต่าง มีศรัทธาและจิตวิญญาณที่เป็นประชาธิปไตย
ดังนั้น การนำระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยมาใช้ฉับพลันในสังคมซึ่งมีวัฒนธรรมการเมืองไม่สอดคล้องกับระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยจึงเกิดปัญหา โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำทางการเมืองที่ไม่มีศรัทธาในระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย หากแต่ฉกฉวยความอ่อนแอของคนในสังคม ใช้พิธีกรรมทางการเมืองอันได้แก่การเลือกตั้งมาอ้างเป็นอาณัติและความชอบธรรม อดีตนายกรัฐมนตรีผู้หนึ่งเคยกล่าวว่า ประชาธิปไตยเป็นเพียงวิธีการ (Means) ระบบการเมืองเช่นนั้นจึงเป็นประชาธิปไตยแปลกปลอม
ข้อสรุปที่ว่า ประชาธิปไตยคือการเลือกตั้งโดยไม่คำนึงถึงการมีระบบที่มีการตรวจสอบและการถ่วงดุลอำนาจ ย่อมไม่ใช่ระบบประชาธิปไตย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเลือกตั้งที่มิได้ตัดสินใจด้วยตนเองบนข้อมูลที่พร้อมและความรู้ที่เพียงพอต่อการเลือกผู้สมัคร ไม่ใช่การเลือกตั้งในความหมายที่แท้จริง หากแต่เป็นพิธีกรรมของการหย่อนบัตร การกล่าวอ้างที่ว่าการเลือกตั้งคือประชาธิปไตย การมาจากการเลือกตั้งย่อมได้รับความชอบธรรม จึงเป็นการกล่าวอ้างเพื่อผลทางการเมือง ถ้าเป็นความเชื่อก็เป็นความเชื่อของคนหัวสี่เหลี่ยม หรือหน้าตำรา
และนี่เป็นเหตุสำคัญที่นำไปสู่การไม่สามารถพูดจากันด้วยเหตุด้วยผล เพราะวัฒนธรรมสังคมที่จะนำไปสู่วัฒนธรรมการเมืองในการพูดจาหาข้อยุติขัดแย้งอย่างสันติวิธีขาดหายไป การอ้างระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยที่นำมาทั้งดุ้นจากตำราของชาวตะวันตกซึ่งมีวัฒนธรรมที่ต่างกัน และมีวัฒนธรรมประชาธิปไตยที่มากกว่า จึงไร้ผลในทางปฏิบัติ แต่ก็ยังมีนักวิชาการถกเถียงแบบดันทุรังหัวชนฝาโดยไม่คำนึงถึงความเป็นจริงทางสังคม
เศรษฐกิจ
บนความเชื่อที่ว่าระบบเศรษฐกิจทุนนิยมโดยอาศัยกลไกของตลาด จะแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจได้เองโดยอัตโนมัติ อันเนื่องมาจากกลไกสำคัญของระบบเศรษฐกิจเสรี นั่นคือ มือที่มองไม่เห็น ซึ่งหมายถึง หลักของอุปสงค์อุปทานที่จะเป็นตัวกำหนดราคา จากความต้องการสินค้าและจากจำนวนการผลิตของสินค้านั้น นอกจากนี้ยังมีฐานของความเชื่อที่ว่า ผู้บริโภคคือกษัตริย์ (Consumer is King) หมายความว่าลูกค้าจะเป็นผู้ซึ่งกำหนดการตัดสินใจของเจ้าของปัจจัยการผลิต เพราะลูกค้ามีสิทธิที่จะเลือกสินค้าที่ต้องการได้
ความผิดพลาดของการเชื่อและศรัทธาจนเกินเลยในระบบกลไกตลาด มือที่มองไม่เห็น ลูกค้าเป็นกษัตริย์ นำไปสู่คำสรุปที่ผิดพลาดของนักเศรษฐศาสตร์บางคน เมื่อเศรษฐกิจฟองสบู่แตกนั้นมาเลเซียกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนตายตัวไม่ปล่อยให้ลอยไปตามกลไกของตลาด นักเศรษฐศาสตร์ผู้นั้นกล่าวว่ามาเลเซียต้องล้มภายใน 6 เดือน ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นก็คือ ทั้งมาเลเซียและจีนซึ่งมีมาตรการการควบคุมอัตราแลกเปลี่ยนเช่นเดียวกัน กลับกลายเป็นประเทศที่มีความจำเริญทางเศรษฐกิจอย่างมากมาย ส่วนประเทศไทยที่ต้องปล่อยลอยค่าเงินบาทเนื่องจากความจำเป็น ต้องใช้เวลานานในการฟื้นตัว
ความเชื่อตามตำราฝรั่งที่ให้กลไกตลาดเป็นตัวกำหนดนั้นนำไปสู่ความเสียหายอย่างหนักของเศรษฐกิจอเมริกาในปัจจุบัน แม้กระทั่งนายอลัน กรีนสแปน ซึ่งมีฐานะเทียบเคียงกับผู้ว่าการธนาคารชาติก็ยังยอมรับว่าความเชื่อดังกล่าวเป็นความผิดพลาด และยอมรับว่าตนเองมีส่วนทำให้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาที่เป็นอยู่ขณะนี้ นักเศรษฐศาสตร์หน้าตำราที่ไม่ดูสภาพความเป็นจริงมักจะอ้างจากทฤษฎีที่เรียนมาตอนเรียนปริญญาโทและปริญญาเอก ไม่ได้คำนึงถึงความเป็นจริงว่าสิ่งที่ปรากฏในตำราย่อมแตกต่างจากสิ่งที่ปรากฏในความเป็นจริง ซึ่งจะเห็นได้จากหนังสือที่เขียนว่า “สิ่งที่เขาไม่ได้สอนในคณะนิติศาสตร์ที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด” “สิ่งที่เขาไม่ได้สอนในคณะบริหารธุรกิจที่มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด” อันหมายถึงความแตกต่างระหว่างทฤษฎี ตำรา และการปฏิบัติการที่เป็นจริง
นักวิชาการไทยยังเชื่อว่าการประกอบธุรกิจของสหรัฐอเมริกามีการควบคุมด้วยกฎหมายและบรรษัทภิบาล หรือจริยธรรมขององค์กร เรียกว่าเป็นกำแพงเมืองจีนที่แข็งแกร่ง ปิดกั้นต่อการกระทำการที่ผิดกฎหมาย คำกล่าวนั้นได้มีการยกขึ้นมาสมัยที่มี ปรส. แต่หลังจากนั้นไม่นานเอ็นรอนและเวิลด์คอมซึ่งเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ก็ล้มละลาย มาในปัจจุบันการปล่อยสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้วยความโลภ เพื่อผลประโยชน์ของผู้บริหาร และมีทีท่าว่าอาจทุจริตนั้นกำลังถูกสอบสวนอยู่ ความเชื่ออย่างไม่ลืมหูลืมตาเป็นการมองระบบในอุดมคติ (Ideal Type) ซึ่งแตกต่างจากความเป็นจริง ความไร้เดียงสาของนักวิชาการเหล่านี้มีส่วนอย่างยิ่งในการทำให้นโยบายบิดเบือน เพราะมีศาสตร์แต่ไม่มีศิลป์ ซึ่งเกิดจากประสบการณ์ สามัญสำนึก การตัดสินใจที่ถูกต้อง การปกครองบริหารประเทศก็ดี การจัดการเศรษฐกิจก็ดี การจัดการสังคมก็ดี เป็นทั้งศาสตร์ (Science) และศิลป์ (Art) (ยังมีต่อ)