เอเอฟพี/เอเจนซี - อลัน กรีนสแปน อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) บอกกับรัฐสภาอเมริกันเมื่อวันพฤหัสบดี (23) ว่า สหรัฐฯถูกพัดถล่มด้วยคลื่นยักษ์สึนามิการเงินลูกใหญ่ที่สุดในรอบศตวรรษ ซึ่งจะส่งผลกระทบการใช้จ่ายของผู้บริโภคและการจ้างงานก็จะลดต่ำ นอกจากนั้นเขาบอกด้วยว่า รู้สึก "ช็อก" ต่อการพังทลายของตลาดสินเชื่อสหรัฐฯ รวมทั้งยอมรับว่าตัวเองผิดพลาด "เป็นบางส่วน"ที่เคยต่อต้านไม่ให้จัดระเบียบเข้ากำกับตรวจสอบหลักทรัพย์บางประเภท
ระหว่างการเข้าตอบกระทู้ถามในที่ประชุมคณะกรรมาธิการกำกับดูแลและปฏิรูปรัฐบาลของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ กรีนสแปน เน้นย้ำว่า วิกฤตการณ์ครั้งนี้ก่อให้เกิดผลกระทบรุนแรงและกว้างขวางมาก
"จากความเสียหายด้านการเงิน ณ เวลานี้ ยังมองไม่เห็นหนทางใดที่จะหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการเลิกจ้างงานครั้งใหญ่และอัตราการว่างงานที่จะพุ่งสูงขึ้นได้" อดีตประธานเฟดกล่าว และว่า ชาวอเมริกันทั่วประเทศจะต้องพยายามปรับตัวรับสถานการณ์อย่างสุดความสามารถ ในการเผชิญหน้ากับภาวะสินเชื่อตึงตัว ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อกองทุนเงินบำนาญ ขณะที่ความมั่นคงในตำแหน่งงานก็จะสั่นคลอน
กรีนสแปนดำรงตำแหน่งประธานเฟดต่อเนื่องยาวนานถึง 18 ปี ได้ลาออกจากตำแหน่งเมื่อเดือนมกราคา 2549 ก่อนภาวะฟองสบู่แตกในตลาดบ้านอาศัยของสหรัฐฯ จะปะทุขึ้นเพียงไม่กี่เดือน
นักวิจารณ์หลายคน กล่าวหาว่า นโยบายของกรีนสแปน ซึ่งสนับสนุนการขยายสินเชื่อและไม่เข้มงวดในการควบคุมการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงิน มีส่วนสำคัญในการก่อให้เกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินที่แพร่ขยายไปทั่วโลกในขณะนี้
อย่างไรก็ตาม อดีตประธานเฟดได้โต้แย้งคำวิพากษ์วิจารณ์ดังกล่าวว่า เขาเคยเตือนถึงความหละหลวมในการควบคุมการปล่อยสินเชื่อของสถาบันการเงินมาตั้งแต่ 3 ปีก่อนหน้านี้แล้ว โดยเฉพาะการไม่ให้ความสำคัญเท่าที่ควรต่อการประเมินความเสี่ยง
กรีนสแปน กล่าวว่า วิกฤตการณ์แผ่ขยายออกไปในวงกว้างเกินกว่าที่เขาเคยคาดการณ์ไว้ สถานการณ์พัฒนาไปสู่ความเลวร้ายรุนแรงเกินความคาดหมาย จากปัญหาสภาพคล่องตึงตัวในเบื้องต้นกลายเป็นความแตกตื่นกลัวว่าสถาบันการเงินจะล้มละลายไปแล้วในขณะนี้
อดีตประธานเฟด กล่าวว่า การแปลงสินเชื่อเป็นสินทรัพย์ โดยเฉพาะการรวมเอาสินเชื่อซับไพรม์และสินเชื่อจำนองอย่างอื่นเข้าด้วยกันเพื่อใช้เป็นหลักประกันในการสร้างเครื่องมือทางการเงิน ถือเป็นชนวนสำคัญที่ก่อให้เกิดวิกฤตการณ์รุนแรงขึ้น
เขากล่าวว่า ตราสารในรูปแบบดังกล่าว ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางทั่วโลก เพราะความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนของนักลงทุน ที่คิดว่าได้ผลตอบแทนสูงและมีความเสี่ยงต่ำ ทั้งนี้เนื่องจากองค์กรที่จัดอันดับความน่าเชื่อถือให้แก่ตราสารเหล่านั้น ไม่ได้มองถึงความเสี่ยงที่แท้จริง
กรีนสแปน กล่าวด้วยว่า ตัวเขาเองและนักเศรษฐศาสตร์จำนวนมากต่างรู้สึก "ช็อค" กับวิธีการดำเนินธุรกิจของสถาบันการเงิน ซึ่งเห็นได้ชัดว่าไม่ได้พยายามรักษาผลประโยชน์ของผู้ถือหุ้นแม้แต่น้อย ทั้งที่มันเป็นรากฐานสำคัญของการรักษาเสถียรภาพของตลาดการเงิน
"บรรดาพวกเรา โดยเฉพาะอย่างยิ่งตัวผมเอง ซึ่งตั้งความหวังเอาไว้ว่าการรักษาผลประโยชน์ตัวเองของพวกสถาบันการเงินทั้งหลาย จะสามารถเป็นตัวพิทักษ์คุ้มครองส่วนของผู้ถือหุ้นได้นั้น ตอนนี้ต่างกำลังอยู่ในอาการช็อกด้วยความไม่เชื่อว่าจะเป็นอย่างนี้ไปได้" เขาบอก
อดีตประธานเฟดแสดงความเห็นด้วยกับการปฏิรูปเพิ่มความเข้มงวดในระบบการกำกับดูแลสถาบันการเงินและตลาดเงิน แต่ก็ไม่เชื่อว่าจะป้องกันปัญหาได้ทั้งหมด หากไม่ได้รับความร่วมมือจากสถาบันการเงินและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพราะผู้กำกับดูแลไม่สามารถคาดการณ์ปัญหาล่วงหน้าได้ทั้งหมด
ระหว่างช่วงที่เฮนรี แวกซ์แมน ประธานคณะกรรมาธิการชุดนี้ซึ่งเป็น ส.ส.พรรคเดโมแครต ซักถามเขา กรีนสแปนยังได้ยอมรับว่า เขากระทำความผิดพลาด "บางส่วน" จากความเชื่อของเขาที่ว่า ตราสารเครื่องมือทางการเงินที่ซื้อขายกันอยู่นั้น บางประเภทไม่จำเป็นต้องมีการกำกับตรวจสอบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของ ตราสารสว็อปประกันภัยสินเชื่อ (credit default swap) ซึ่งเป็นเครื่องมือทางการเงินอันซับซ้อนที่มุ่งจะทำหน้าที่รับประกันแก่ผู้ซื้อว่า ตราสารหนี้ที่ผู้ซื้อมาทำประกันภัยไว้จะไม่มีการผิดนัดชำระหนี้