xs
xsm
sm
md
lg

เฟด’คงดบ.ไม่ส่งผลต่อธุรกิจบลจ. หลายค่ายยึดแผนออกกองทุนบอนด์ตามเดิม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

บลจ.ไม่แปลกใจเฟดคงอัตราดอกเบี้ย ชี้เป็นไปตามคาดการณ์ ที่มีสัญญาณบ่งชี้ว่าวิกฤตซับไพรม์ยังไม่มีที่ท่ายุติ พร้อมคงแผนธุรกิจประเภทกองทุนตราสารหนี้ โดยมุ่งเน้นการออกกองระยะสั้นตามเดิม หวังรองรับความต้องการลูกค้าที่ไม่มั่นใจต่อสภาวะเศรษฐกิจ และการลงทุนในตลาดหุ้นช่วงนี้ อีกทั้งเพื่อช่วยขยายเม็ดเงินภายใต้การบริหาร

นายวรรธนะ วงศ์สีนิล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ฟิลลิป กล่าวถึงการที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ประกาศคงดอกเบี้ยดอกเบี้ยไว้ที่ 2% ว่า น่าจะมาจากสถาบันการเงินหลายแห่งในสหรัฐยังขาดสภาพคล่อง ดังนั้นถ้าเฟดไม่คงอัตราดอกเบี้ย อาจจะให้บริษัทเหล่านี้ล้มได้ แต่เมื่อเฟด คงอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ จะทำให้บริษัทเหล่านี้สามารถไปกู้ยืมเงินเพื่อรักษาสภาพคล่องของตัวเองไว้ได้

เช่นเดียวกับ นาย บุญชัย เกียริธนาวิทย์ กรรมการผู้จัดการ บลจ. ธนชาต จำกัด กล่าวว่า ที่เฟดคงอัตราดอกเบี้ย นั้นเกิดมาจากปัญหาภายในของสหรัฐ โดยเฉพาะปัญหาสินเชื่อด้อยคุณภาพ และอัตราดอกเงินเฟ้อที่เพิ่มสูงขึ้น และยังไม่มีท่าทีปรับตัวลดลง ทำให้เฟดยังคงอัตราดอกเบี้ย เพื่อเสริมสภาพคล่องภายในประเทศ อย่างไรก็ยาม ส่วนตัวมั่นใจว่าเรื่องนี้จะไม่มีผลกระทบต่อแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยในประเทศไทย และในอีกหลายประเทศเท่าใด เพราะได้มีการคาดการณ์ออกมาก่อนหน้าแล้วว่า เฟดจะประกาศคงอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้

ทั้งนี้ บรรดาผู้จัดการกองทุนจาก บลจ.หลายราย ให้ความเห็นตรงกันว่า ปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ (ซับไพรม์) ยังไม่มีสัญญาณยุติลงไป เห็นจากสถานบันการเงินหลายแห่งออกมาประกาศผลประกอบการขาดทุนเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีปัญหาในการตั้งสำรองครั้งแรกที่น้องเกินไป ดังนั้นจึงทำให้มีโอกาสที่น้อยมากหากเฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย อีกครั้งการประชุมที่ผ่านเป็นช่วงเวลาที่ใกล้การเลือกตั้งประธานาธบดีสหรัฐคนใหม่ ซึ่งตามธรรมเนียมแล้วเฟดจะไม่มีการปรับขึ้นหรือลดอัตราดอกเบี้ยลง เพื่อเปิดโอกาสให้ทีมงานประธานาธบดีคนใหม่ดำเนินนโยบายของตน และอีกเหตุผลถ้าปรับขึ้นดอกเบี้ยในตอนนี้ก็เหมือนกับยิ่งซ้ำเติมปัญหาเศรษฐกิจสหรัฐที่กำลังเผชิญอยู่ให้มีผลกระทบมากยิ่งขึ้น

ขณะเดียวกันจากสถานการณ์ดังกล่าว จะยิ่งส่งผลให้กองทุนทุนตราสารหนี้ระยะสั้น 3 – 6 เดือนได้รับความจากนักลงทุนเพิ่มขึ้น เพราะเป็นการลงทุนที่สามารถป้องกันความผันผวนจากอัตราดอกเบี้ยได้ดีกว่าการลงทุนในพันธบัตรระยะยาว อีกทั้งจากสถานการณ์ภาวะตลาดหลักทรัพย์ในประเทศมีความผันผวนสูง ยิ่งช่วยกระตุ้นให้มีเม็ดเงินมาสู่กองทุนตราสารหนี้ระยะสั้นเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในตราสารหนี้ หรือพันธบัตรทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งแล้วนโยบายและการดำเนินธุรกิจของแต่ละบริษัทจัดการ

แหล่งข่าวผู้จัดการกองทุนรายหนึ่ง กล่าวว่า เรื่องการคงอัตราดอกเบี้ยของเฟดครั้งล่าสุดไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับผู้จัดการกองทุน ดังนั้นนโยบายและแผนการดำเนินงานของแต่ละบลจ.โดยเฉพาะในด้านธุรกิจกองทุนตราสารหนี้จะยังเป็นไปตามแผนเดิมที่กำหนดไว้ก่อนหน้านี้ เนื่องจากได้มองถึงทิศทางการประกาศคงอัตราดอกเบี้ย หรือปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดไว้ก่อนแล้ว แต่เรื่องที่สำคัญกว่าตอนนี้คือการปรับพอร์ตการลงทุนในหุ้น เนื่องจากที่ผ่านมาผลตอบแทนกองทุนหุ้นเกือบ 100% มีอยู่ในตลาดมีผลตอบแทนติดลบ แต่จากดัชนีตลาดหลักทรัพย์ที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้หลายบริษัทมองเห็นโอกาสและจังหวะในการเข้าเก็บหุ้นราคาถูก ไว้ในพอร์ต หรือทำการขายหุ้นบางตัวออกมาในลักษณะเก็งกำไรรับดัชนีปรับตัว

นอกจากนี้ อาจมีบางบริษัทหันมาออกกองทุนตราสารหนี้เพิ่มมากขึ้น เพื่อหวังจะเป็นตัวช่วยขยายหรือคงมูลค่าสินทรัพย์ภายใต้การบริหาร (AUM) และเป็นทางเลือกให้กับลูกค้าที่ยังไม่มั่นใจกับการลงทุนในหุ้น อีกทั้งยังเป็นการออกมารองรับพ.ร.บ.สถาบันคุ้มครองเงินฝากซึ่งมีผลบังคับใช้แล้ว เนื่องจากกองทุนประเภทนี้มีความเสี่ยงต่ำกว่าการลงทุนประเภทอื่น โดยกองทุนคุ้มครองเงินต้น

อย่างไรก็ตาม ผู้จัดการกองทุนยังมองว่านโยบายการปรับดอกเบี้ยของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นไปค่อนข้างช้า ผิดกับอัตราดอกเบี้ยในตลาดที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นไปล่วงหน้าแล้ว ดังนั้นในการประชุมของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ในครั้งหน้านี้ ไม่ว่ากนง.จะมีการขึ้นดอกเบี้ยอีก 0.25% หรือคงไว้ที่ระดับเดิมก็ไม่มีความแตกต่างกันหรือมีผลต่อตลาดมากนัก

เมื่อเร็วๆนี้ นายอลัน กรีนสแปน อดีตประธานธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (เฟด) แสดงความเห็นเกี่ยวกับสถานการณ์วิกฤติสินเชื่อบ้านด้อยคุณภาพหรือซับไพรม์ว่า สถานการณ์ยังไม่น่าไว้วางใจ ทั้งยังอาจมีธนาคารและสถาบันการเงินอีกหลายแห่งที่รอให้รัฐบาลยื่นมือเข้าไปช่วยเหลือก่อนที่วิกฤติสินเชื่อจะยุติลง เช่นเดียวกับกรณีธนาคารนอร์ธเทิร์น ร็อคในประเทศอังกฤษ และแบร์ สเติร์นส์ในสหรัฐฯ และมองว่า วิกฤติการล้มละลายจะสิ้นสุดลงก็ต่อเมื่อราคาบ้านในสหรัฐฯ กลับมามีเสถียรภาพมากขึ้น ซึ่งจะช่วยหนุนหลักทรัพย์ที่อิงกับสินเชื่อบ้านให้กลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง

“รัฐบาลทั่วโลกกำลังเผชิญแรงท้าทายจากปัญหาเงินเฟ้อ ซึ่งอาจพยายามคุมสถานการณ์ด้วยการใช้มาตรการทางเศรษฐกิจที่เข้มงวดขึ้น แต่การเพิ่มกฎระเบียบควบคุมตลาดให้เข้มงวดอาจไม่ใช่คำตอบในการจัดการกับวิกฤติ แต่ในทางกลับกันยังอาจส่งผลร้ายมากกว่าผลดี โดยเฉพาะเมื่อเศรษฐกิจโลกผูกโยงใยกันภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ จึงเห็นว่าการใช้นโยบายแบบยืดหยุ่นผ่อนปรนน่าจะเหมาะสมมากกว่า” นายอลัน กล่าว

โดยเมื่อวันที่ 5 สิงหาคมที่ผ่านมา เฟดมีมติคงอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ไว้ที่ 2% ดังเดิม พร้อมกับแสดงความกังวลทั้งต่อสภาพการเติบโตขยายตัวของเศรษฐกิจ และอัตราเงินเฟ้อ อีกทั้งบ่งชี้ว่ายังไม่เร่งรีบที่จะผลักดันอัตราดอกเบี้ย อันเป็นต้นทุนการกู้ยืมเงินของธุรกิจต่างๆ ให้สูงขึ้นเร็ววัน ซึ่งก่อนหน้านั้น เฟดได้ทยอยลดอัตราดอกเบี้ยตัวนี้อย่างต่อเนื่องระลอกใหญ่ นับตั้งแต่เดือนกันยายนที่ผ่านมา รวมแล้วก็ลดลงมาถึง 3.25% เพื่อตอบโต้กับการที่ราคาบ้านร่วงลงอย่างรุนแรง รวมทั้งวิกฤตที่เกิดขึ้นในตลาดสินเชื่อด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น