xs
xsm
sm
md
lg

วิกฤตแฮมเบอร์เกอร์ ฤาว่า ‘ทุนนิยม’ จะถูกทำลาย(5)

เผยแพร่:   โดย: ยุค ศรีอาริยะ

อ่านวิกฤตโลก : ผ่านมุมมองทางการเมือง และวัฒนธรรม

เวลาเกิดวิกฤต ในเครื่องหมายคำพูดว่า วิกฤตการเงิน หรือ เศรษฐกิจ คนทั่วไปจะเข้าใจว่า นี่คือเรื่องทางเศรษฐกิจ เท่านั้น ก็เที่ยวไปลากนักเศรษฐศาสตร์มาช่วยอภิปรายกัน โดยไม่มีใครคิดเลยว่า การจะเข้าใจวิกฤตได้จริงๆ เราต้องเข้าใจ ‘โลกแบบองค์รวม หรือแบบบูรณาการ’ ก่อน

มีหลายครั้งที่ผมเองก็ถูกลากเข้าไปนั่งแลกเปลี่ยนสนทนากับบรรดานักเศรษฐศาสตร์

ผมอดคิดไม่ได้ว่า นี่น่าจะเป็นกรรมเวรของผม ต้องแลกเปลี่ยนกับผู้คนที่มีความคิด วิธีคิด และตำรา รวมทั้งความรับรู้พื้นฐานแตกต่างกันอย่างยิ่ง

เขาก็เสนอแบบเขา ผมก็เสนอแบบผม เรียกได้ว่า ‘คนละเรื่องเดียวกัน’

ผมเองก็ถูกลากให้ต้องพูดเฉพาะเรื่องเศรษฐกิจไปด้วย เพราะประเด็นเรื่องก็มุ่งเฉพาะแต่เรื่องเศรษฐกิจเท่านั้น

ผมเลยต้องไปนั่งจำตัวเลขแบบเศรษฐศาสตร์

ใช้ตัวเลขเยอะๆ จึงจะดูขลัง เขาถึงจะยกย่องว่า ‘รู้จริง’

สิ่งที่น่าแปลกก็คือ แม้ระบบเศรษฐกิจโลกจะฉิบหายและพังพินาศ ด้วยฝีมือของบรรดาเกจิผู้ยิ่งใหญ่ทางเศรษฐศาสตร์ อย่างเช่น อลัน กรีนสแปน แต่เวลาเกิดวิกฤตเศรษฐกิจเข้าจริงๆ กลับต้องไปลากนักเศรษฐศาสตร์ที่มีส่วนทำให้เกิดความฉิบหายมาถามว่า “แล้วจะแก้ปัญหากันอย่างไรดี”

นี่สะท้อนถึงความอับจนทางปัญญาของชนชั้นนำที่สหรัฐอเมริกา

และที่แปลกยิ่งกว่าคือ บรรดานักเศรษฐศาสตร์เหล่านี้ล้วนหน้าด้าน และหน้าหนามากกว่านักการเมืองเสียอีก เศรษฐกิจอเมริกาพังก็ถือว่าไม่ใช่ความผิดของพวกฉัน ไม่ต้องรับผิดชอบ หรือแม้แต่ลาออก

ครั้งหนึ่งในการอภิปรายเรื่อง “เศรษฐกิจโลก” ผมโชคดีมาก มีผู้ฟังคนหนึ่งถามขึ้นว่า

“วิกฤตฟองสบู่ได้นำหายนะมาสู่ระบบโลกหลายครั้งแล้ว ทำไมชนชั้นนำของประเทศสหรัฐอเมริกาจึงสกัดฟองสบู่ไม่ได้ ทั้งๆ ที่มีนักเศรษฐศาสตร์ที่มีชื่อสียงระดับโลกมากมาย อย่างเช่น อลัน กรีนสแปน และคนอื่นๆ จนกล่าวได้ว่า มีนักวิชาการเศรษฐศาสตร์ที่เก่งกาจมากที่สุดในโลกก็ว่าได้”

เขาหยุดพักหนึ่ง และกล่าวต่อว่า

“ผมคิดว่า มันน่าจะแปลกนะ”

ผมตอบท่านนั้นว่า

“คุณตั้งประเด็นคำถามได้ดีมาก จะตอบคำถามนี้ได้ ไม่ง่ายนัก”

จุดอ่อนของนักเศรษฐศาสตร์ทั่วไปอยู่ที่พวกเขาศึกษาโลกเฉพาะทางเศรษฐกิจเป็นสำคัญ นอกจากนี้ พวกนักเศรษฐศาสตร์อเมริกันมักจะเชื่อมั่น พลังตลาด หรือ มือที่มองไม่เห็น ว่ามีพลวัตที่ปรับแก้ตัวเองได้

อย่างเช่น กฎว่าด้วยอุปสงค์และอุปทาน (Demand & Supply)ที่จะสามารถปรับกลับสู่สมดุลได้ด้วยตัวเอง

นักเศรษฐศาสตร์จึงมักมองข้ามความเป็นไปได้ที่ระบบเศรษฐกิจจะพลิกผันแบบก้าวเกินดุล หรือก้าวสู่วิกฤตขนาดใหญ่ๆ มากๆ ได้

ที่สำคัญ นักเศรษฐศาสตร์จะไม่สนใจหรือให้ค่ามิติอื่นๆ อย่างเช่น เรื่องมายาคติ และความโลภ ซึ่งถือเป็นมิติในด้านจิตวิญญาณ


ผมคิดว่า กระแสโลกาภิวัตน์มีทั้งด้านของระบบเศรษฐกิจ การเมือง และด้านของจิตวิญญาณในเวลาเดียวกัน

ในแง่จิตวิญญาณ ผมขอเรียกกระแสนี้ว่า ‘โลภาวิวัตน์ หรือความโลภเป็นใหญ่’ กระแสนี้จะก่อตัวขึ้นจากมายาคติชุดหนึ่งที่สนับสนุนลัทธิความโลภอย่างยิ่ง

มายาคติ และ ความโลภ มักจะแสดงบทบาทร่วมกัน ส่งเสริมซึ่งกันและกัน

ในช่วงต้นๆ ของงานนี้ ผมกล่าวถึงเรื่อง มายาคติ มาบ้างแล้ว เช่น ความเชื่อเรื่องพลังอำนาจของตลาด ความเชื่อเรื่องการปั่นหนี้และการสร้างหนี้ โดยไม่ต้องคิดว่า ต้องออมเงินไว้สำหรับอนาคต เป็นต้น

นักวิชาการตะวันตกมักจะมองข้ามความสำคัญของมายาคติเหล่านี้ คิดว่าไม่สำคัญเลย

พุทธมักจะเตือนเราเสมอว่า

รากของวิกฤต คือ การคิดผิด หรือเรียกว่า อวิชชา

รากของอวิชชาครั้งนี้ คือ ลัทธิตลาดเสรี กับ ความหลงคลั่งทำกำไรแบบฟองสบู่ ด้วยการปั่นหนี้ และใช้เงินอนาคต จนเรียกว่า ยิ่งหนี้สะสมหนี้เพิ่มพูนขึ้นเรื่อยๆ ก็จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัว และสามารถทำกำไรเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ได้ โดยไม่ต้องทำการผลิตจริงแม้แต่น้อย

มรรควิธีสำคัญ คือ การปั่นเงินให้มากรอบ หมุนให้เกิดรอบแล้วรอบเล่า ให้ไวที่สุด ยิ่งไวยิ่งดี

นี่เองทำให้ระบบทุนนิยมอเมริกาทั้งระบบแปรเปลี่ยน กลายเป็น ‘ทุนนิยมฟองสบู่’ ที่มีชีวิตคงอยู่ได้ด้วยการปั่นหนี้ ปั่นกำไร รวมทั้งรัฐอเมริกาก็มีชีวิตอยู่ได้ด้วยการขยายหนี้สิน จนเกิดปรากฏการณ์ที่ผมเรียกว่าEmpire of Dept

ทั้งชนชั้นนำและประชาชนอเมริกันจึงหลงเสพติดหนี้ ยิ่งเพิ่มหนี้ ยิ่งเพิ่มกำไร

คำว่าเสพติด คำนี้บ่งบอกถึงการติดหลง หรือทั้งโลภและทั้งหลง ไม่ใช่แค่ โลภ-หลงแบบธรรมดา แต่เป็นแบบสุดๆ

หากจะทำความเข้าใจเรื่องนี้ให้เห็นอย่างเป็นรูปธรรม คงต้องย้อนภาพไปก่อนที่ฟองสบู่แตกปี40 ในช่วงที่ฟองสบู่ขยายตัวสุดๆ คนไทยจำนวนมากพากันหลงใหลการหากำไรแบบฟองสบู่ ติดหลงความโลภจนกลายเป็นแมงเม่า บินเข้ากองไฟ

ผมจำได้ว่า เพื่อนคนหนึ่งเคยอ่านงานที่ผมเขียนสมัยก่อนจะเกิดฟองสบู่แตก ตอนนั้น ผมเตือนว่า จะเกิดฟองสบู่แตก แต่เขาเล่าว่า เขาเห็นด้วยว่าน่าจะเป็นไปได้ แต่เขากลับห้ามใจตนเองไม่อยู่ เพราะความอยากรวย

วันนี้ คนอเมริกัน และคนยุโรป ก็ถูกลากไปด้วยคลื่นพลังแห่งความอยากรวย หรือโลภและหลงอย่างยิ่ง ไม่ต่างกัน และพวกเขากำลังจะต้องเผชิญหายนะ ซึ่งน่าจะรุนแรงกว่าวิกฤตปี 40 หลายเท่า

แต่วิชาเศรษฐศาสตร์แบบทุนนิยมกลับเชื่อว่า การสร้างความร่ำรวย และการสะสมความมั่งคั่งคือ ความเจริญ

ในทางเศรษฐศาสตร์ การแสวงหาความมั่งคั่ง (ไม่ว่าโดยวิธีใด) จะนำสู่การเร่งขยายการผลิตและการบริโภค การขยายตัวดังกล่าวจึงกลายเป็นพลังผลักดันไปสู่ความเจริญเติบโตของประเทศ

ผู้คนที่จะทำหน้าที่สะสมความมั่งคั่งจึงต้องมีความโลภเป็นเรื่องธรรมดา

การยกย่องความโลภและความรวยนี้เองมีส่วนทำให้นักเศรษฐศาสตร์ส่วนใหญ่มองข้ามอันตรายของความโลภ

เมื่อมองข้ามความสำคัญในด้านจิตวิญญาณไป เวลาเกิดวิกฤต คนในโลกตะวันตกก็จะมองที่ตัวระบบเศรษฐกิจเอง และมองหาว่า มีจุดบกพร่องอยู่ตรงไหน ก็หาทางแก้ที่ตรงนั้น

อย่างเช่น การโทษเรื่องซับไพรม์ หรือ ตราสารหนี้ที่เรียกว่า CDS และ CDO ราวกับว่า ถ้าไม่มี 2 เรื่องนี้แล้ว ระบบเศรษฐกิจอเมริกาก็น่าจะไม่มีปัญหา

เมื่อนักวิชาการตะวันตกมัวหลงมองปัญหาที่เฉพาะจุดก่อให้เกิดปัญหาเท่านั้น ทำให้เขาคิดว่า ปัญหาทั้งหลายล้วนมาจากความผิดพลาดเล็กๆ เท่านั้น สามารถแก้ได้ และควบคุมจัดการได้โดยไม่ยากนัก

แต่เอาเข้าจริง ปัญหาที่เขาเผชิญกลับใหญ่เกินกว่าที่คาดคิดมาก ‘ใหญ่มาก’ จน อลัน กรีนสแปน ต้องออกมายอมรับว่า ตัวเขาเองตกใจมาก และคาดไม่ถึงว่าจะเกิดวิกฤตใหญ่ขนาดนี้

กรีนสแปน เริ่มสงสัยว่า แนวคิดทางปรัชญา (เศรษฐกิจ) ที่เขาเชื่อมาตลอด น่าจะมีอะไรบางอย่างบกพร่อง

นอกจากปัญหามายาคติทางเศรษฐศาสตร์แล้ว ยังเกิดมายาคติทางการเมืองขึ้นด้วย (ยังมีต่อ)
กำลังโหลดความคิดเห็น