xs
xsm
sm
md
lg

ประชุมผู้นำ "จี 20" เผชิญ "งานหิน" US-EU มองต่างมุมวิธีการสู้วิกฤต

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

การประชุมจี 20 ในเมืองเซาเปาลูของบราซิล
เอเอฟพี - การประชุมระดับผู้นำของกลุ่มจี 20 ที่จะจัดขึ้นในสุดสัปดาห์นี้ ได้รับการคาดหวังว่า จะต้องสามารถตกลงกันได้เกี่ยวกับแผนการเพื่อฟื้นฟูระบบการเงินโลก รวมทั้งป้องกันมิให้เกิดวิกฤตเช่นนี้ขึ้นอีกในอนาคต อย่างไรก็ดี หลายฝ่ายออกมาให้ความเห็นว่าเอาเข้าจริงแล้ว ยังไม่น่าถึงขั้นที่จะมีมาตรการซึ่งเป็นรูปธรรมออกมา

เนื่องจากในการประชุมสุดยอดของประเทศพัฒนาแล้วและชาติกำลังพัฒนาขนาดใหญ่ 20 ชาติคราวนี้ พวกผู้เข้าร่วมหารือยังมีความไม่ลงรอยกันในหลายด้าน จึงอาจไม่สามารถบรรลุข้อตกลงในมาตรการเป็นรูปธรรมเพื่อแก้ไขปัญหาต่างๆ แม้ว่าทุกฝ่ายจะมีความกังวลในเศรษฐกิจโลกที่กำลังชะลอตัวลงเหมือนๆ กันก็ตาม

สหภาพยุโรป ซึ่งนำโดยฝรั่งเศส รวมทั้งอีกบางประเทศในกลุ่มจี 20 ต้องการระเบียบใหม่ที่สามารถกำกับดูแลระบบการเงินโลกได้ดีกว่าเดิม โดยประสงค์ให้ออกมาในรูปแบบของการปฎิรูปสนธิสัญญาเบรตตันวูด ปี 1944 กันใหม่ทั้งหมด ทั้งนี้สนธิสัญญาฉบับนี้ ได้ใช้เป็นรากฐานของระบบการเงินโลกมาตั้งแต่สิ้นสุดสงครามโลกครั้งที่ 2

อย่างไรก็ตามประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ซึ่งเป็นผู้ริเริ่มให้มีการประชุมครั้งนี้ต้องการให้มีการริเริ่มเปลี่ยนแปลงต่างๆ ที่น้อยกว่านี้มาก รวมทั้งไม่เห็นด้วยกับการก่อตั้งหน่วยงานกำกับดูแลการเงินระหว่างประเทศ ที่มีอำนาจมหาศาล

สหรัฐฯ และยุโรปต่างเห็นความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงความโปร่งใสในตลาดการเงินโลกตลอดจนในการบริหารจัดการความเสี่ยงให้ดีขึ้นกว่าเดิม,เพิ่มความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานคุมกฎระดับชาติต่างๆ และปรับระเบียบด้านการบัญชีและการใช้ประโยชน์จากทุน ให้มีความเป็นเอกภาพมากขึ้น

สิ่งที่คณะรัฐบาลประธานาธิบดีบุช อยากได้จากการประชุมระดับผู้นำในคราวนี้ ก็คือ "แผนปฏิบัติการ" ซึ่งจะเป็นแนวทางการปฏิบัติที่บอกว่าประเทศหนึ่งๆ ควรจะทำอะไรบ้างหรือมีทางเลือกอะไรบ้างเพื่อต่อสู้กับวิกฤต

แต่หลายฝ่าย เห็นว่า แม้กระทั่งแผนปฏิบัติการที่ไม่ได้พูดถึงเรื่องการเปลี่ยนแปลงระบบการเงินโลกใดๆ ก็อาจจะยังยากที่จะให้ประเทศต่างๆ บรรลุข้อตกลงกันได้ เพราะว่าสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้นำการประชุมครั้งนี้จะต้องเปลี่ยนแปลงตัวประธานาธิบดีในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า และคณะรัฐบาลของประธานาธิบดีบารัค โอบามาซึ่งเป็นเดโมแครตก็อาจจะไม่สนใจนำเอาสิ่งที่ตกลงกันไว้ในการประชุมครั้งนี้ไปปฏิบัติก็ได้

"สิ่งที่บุชไปตกลงเอาไว้ไม่สามารถผูกมัดให้โอบามาปฏิบัติตามได้ และนี่แหละเป็นจุดอ่อนของการประชุมครั้งนี้" ราล์ฟ ไบรอันต์ นักวิจัยอาวุโสของสถาบันบรูกกิ้งส์กล่าว

ประธานาธิบดีบุชนั้นก็มีชะนักติดหลังอยู่ เพราะว่าเขาเป็นผู้สนับสนุนให้มีการผ่อนคลายกฏระเบียบทางการเงินต่างๆ ทำให้เขาตกเป็นเป้าการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงว่าเป็นต้นเหตุของปัญหาทั้งปวง

ไบรอันต์ บอกว่า คนกำลังหนีหน้าไปจากทั้งบุชและกรีนสแปน สำหรับแนวทางการกำกับดูแลภาคการเงิน เพราะว่าในช่วงที่อลัน กรีนสแปนเป็นประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ นั้นเขาได้ผ่อนคลายการควบคุมตลาดสินเชื่ออย่างต่อเนื่อง และได้รับการสนับสนุนจากประธานาธิบดีบุชตลอดมา

กรีนสแปนเกษียณอายุตัวเองในช่วงต้นปี 2006 อันเป็นช่วงที่ภาคอสังหาริมทรัพย์ของสหรัฐฯ ผ่านพ้นช่วงบูมสุดขีดไปแล้วและกำลังพังทลายลงทีละน้อย ก่อให้เกิดการล้มครืนลงของตลาดตราสารซับไพรม์และลุกลามกลายเป็นวิกฤตการเงินครั้งร้ายแรงที่สุดนับตั้งแต่เศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่หรือที่เรียกกันว่าเกรท ดีเพรสชั่นในช่วงทศวรรษ 1930

"ผลิตภัณฑ์การเงินหลายตัวไม่ได้มีการกำกับดูแลเท่าที่ควร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เครดิต ดีฟอลต์ สวอป รวมทั้งตราสารอนุพันธ์ตัวอื่นๆ ซึ่งไม่มีการเปิดเผยรายละเอียด ไร้ความโปร่งใส และไม่มีการสำรองเผื่อให้สำหรับสถานการณ์ฉุกเฉินเลย พวกเฮดจ์ฟันด์นั้นเป็นธุรกิจที่มีการกำกับดูแลบางเบาที่สุด" ไบรอันต์กล่าว

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ระดับสูงคนหนึ่งของรัฐบาลบุช แสดงความเชื่อมั่นว่า จะต้องมีข้อตกลงเป็นรูปธรรมบางอย่างเกิดขึ้นในการประชุมสุดยอดนี้อย่างแน่นอน "ที่แน่ๆ ก็คือน่าจะข้อตกลงทั่วๆ ไปเกิดขึ้นในเบื้องต้น เพราะว่าพวกเราทุกๆ คนต่างก็มีความเห็นว่าผลิตภัณฑ์การเงินต่างๆ รวมทั้งสถาบันการเงินควรจะได้รับการกำกับดูแลและตรวจสอบอย่างเหมาะสม"

ส่วนนักการทูตยุโรปก็เห็นว่า ข้อตกลงที่เกิดขึ้นน่าจะมีสาระเกี่ยวกับการกำกับดูแลตลาดเครดิต ดีฟอลต์ สวอป ซึ่งเป็นใจกลางของปัญหาที่ลากเอาเอไอจีจนเกือบจะล้มละลายมาแล้ว

ก่อนหน้าที่จะเกิดวิกฤต ทั้งสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ ก็ได้เคยร่วมมือกันเพื่อหาทางเพิ่มการสอดส่องดูแลตลาดการเงินให้ดีขึ้น

"แต่ทางการสหรัฐฯ จะอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงมากเท่าใดนั้นไม่มีใครแน่ใจนัก แม้ว่าจะมีกระแสเอนเอียงไปทางเพิ่มการกำกับดูแลและปรับให้มีระเบียบเข้มงวดมากขึ้น แต่ว่าสหรัฐฯก็คงไม่ตัดสินใจอะไรในตอนนี้" ไบรอันต์กล่าว

นอกจากนี้ก็มีความเป็นไปได้น้อยมากที่ทางการวอชิงตันจะยอมให้มีสถาบันการเงินระหว่างประเทศใดที่มีอำนาจเหนือสถาบันการเงินในสหรัฐฯ

"การประชุมสุดยอดครั้งนี้รวมทั้งขั้นตอนต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น ไม่น่าจะเกี่ยวกับการเปลี่ยนหลักการของตลาดเสียใหม่และมุ่งหน้าไปสู่สถาบันกำกับดูแลระหว่างประเทศที่มีอำนาจมากเพียงหนึ่งเดียว" เจ้าหน้าที่ของสหรัฐฯ กล่าว "เราเชื่อมั่นว่ายุโรปและประเทศอื่นๆ ก็จะไม่ให้การสนับสนุนแก่การก่อตั้งหน่วยงานกำกับดูแลที่มีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบตลาดการเงินทั้งโลกอย่างแน่นอน"
กำลังโหลดความคิดเห็น