xs
xsm
sm
md
lg

"โอบามา"มุ่งแก้กฎเกณฑ์คุมภาคการเงิน มรดกยุค"กรีนสแปน"ที่ให้เสรีจนหละหลวม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รอยเตอร์ - ว่าที่ประธานาธิบดีบารัค โอบามามีอำนาจมากพอ ที่จะแก้ไขระเบียบกฎเกณฑ์ทางการเงินที่ร่างขึ้นมาตั้งแต่สมัยอลัน กรีนสแปนเป็นประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ เนื่องเพราะได้รับการหนุนหลังจากพรรคเดโมแครตที่ครองเสียงข้างมากอย่างมั่นคงในสภา และจากชาวอเมริกันที่รู้สึกโกรธกริ้ววิกฤตการเงินครั้งร้ายแรงนี้
ผลของเอกซิตโพลระบุว่า ประเด็นเศรษฐกิจเป็นปัจจัยหลัก ที่ทำให้โอบามาได้รับชัยชนะอย่างถล่มทลายเหนือวุฒิสมาชิกจอห์น แมคเคนจากรีพับลิกัน ในการเลือกตั้งวันอังคาร(4) และก็ทำให้โอบามาสามารถที่จะเดินหน้านโยบายตามคำมั่นที่เขาให้ไว้กับชาวอเมริกันในช่วงการหาเสียงว่า จะช่วยเหลือให้พวกเขาพ้นจากบ่วงหนี้และปัญหาอื่น ๆ
"ในช่วงเวลาเช่นขณะนี้ เราไม่สามารถที่จะให้เวลาอีกสี่ปีเพื่อเพิ่มการใช้จ่ายเงินงบประมาณ หรือเพื่อการลดภาษีแบบที่จัดทำขึ้นอย่างย่ำแย่ หรือเพื่อการควบคุมภาคการเงินอย่างหละหลวมได้อีกต่อไปแล้ว แม้แต่อดีตประธานธนาคารกลางอลัน กรีนสแปน บัดนี้ก็ยังเชื่อว่าความหละหลวมเช่นนั้นเป็นความผิดพลาด" โอบามาเขียนลงในหน้าบทความของหนังสือพิมพ์วอลล์สตรีทเจอร์นัลเมื่อต้นสัปดาห์นี้
สำหรับวอลล์สตรีท ตลอดจนศูนย์กลางทางการเงินแห่งอื่นๆ ที่เดินตามการนำของนิวยอร์กแล้ว คำพูดเช่นนี้น่าจะหมายความว่า จะมีการออกกฎหมายใหม่ๆ ที่มุ่งปกป้องคุ้มครองพวกเจ้าของบ้านที่ติดจำนองและผู้กู้ยืมเงิน ขณะเดียวกันก็เพิ่มความเข้มงวดในการกำกับดูแลภาคการเงินการธนาคาร ตลอดจนผลิตภัณฑ์การลงทุนที่พวกเขานำออกมาเสนอขาย
โอบามายังได้เสนอให้ออกแผนกระตุ้นเศรษฐกิจฉบับใหม่ ที่จะมีมาตรการอย่างเช่น การให้เม็ดเงินสำหรับโครงการสาธารณูปโภคพื้นฐานต่าง ๆ นอกจากเขาก็เห็นด้วยกับการปฏิรูปกฏหมายล้มละลายเพื่อช่วยเจ้าของบ้านที่กำลังถูกบีบคั้นให้ขายบ้านใช้หนี้สินเชื่อเคหะ ตลอดจนทำให้การปรับโครงสร้างสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่มีปัญหา กระทำได้ง่ายขึ้น
กรีนสแปน ซึ่งเป็นผู้เชื่อมั่นในเรื่องตลาดเสรีอย่างแน่นแฟ้น ได้รับสมญานามยกย่องเป็น "เดอะ มาเอสโทร" ( ผู้ชำนาญล้ำเลิศทางศิลปะแขนงใดแขนงหนึ่ง) เนื่องจากช่วงเวลาแห่งการดำรงตำแหน่งประธานธนาคารกลางสหรัฐฯอย่างยาวนานของเขา เป็นช่วงเวลาที่เศรษฐกิจสหรัฐฯเติบโตเข้มแข็งอย่างยาวนานเช่นเดียวกัน
ทว่าหลังจากนั้นไม่นานเขาก็กลับถูกมองเป็นสัญลักษณ์ของการเปิดเสรีแบบปล่อยปละ และพวกนักวิจารณ์ก็ประณามเขาที่ปล่อยให้สถาบันการเงินขยายตัวโดยภาครัฐแทบไม่ได้เข้าไปกำกับดูแล
การล้มละลายและการขาดทุนสะสมมหาศาลที่ปะทุตัวออกมาทั่วโลกในเดือนตุลาคม ทำให้กรีนสแปนต้องออกมายอมรับว่าเขาพลาดไป "ในบางส่วน" ที่ไม่ยอมให้มีการกำกับดูแลหลักทรัพย์บางประเภทให้เข้มงวดมากขึ้น
"บรรดาพวกเราที่เชื่อว่ามันเป็นผลประโยชน์ของสถาบันผู้ให้กู้เองที่จะต้องช่วยปกป้องดูแลส่วนของผู้ถือหุ้นเอาไว้ โดยเฉพาะตัวผม ต่างก็อยู่ในภาวะตกตะลึงด้วยความไม่เชื่อตาตัวเองอย่างรุนแรง" กรีนสแปนกล่าวต่อคณะกรรมาธิการของรัฐสภา เมื่อไปให้ปากคำในกรณีวิกฤตการเงินที่เกิดขึ้นกับสหรัฐฯ
โอบามาจะไม่มีช่วง "ฮันนีมูน" แต่อย่างใด เนื่องเพราะทุกคนประจักษ์กันแล้วว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯกำลังดิ่งลงสู่ภาวะชะลอตัวสาหัส และอาจจะย่ำแย่ยิ่งกว่าช่วงทศวรรษที่ 1970 ในขณะเดียวกันเศรษฐกิจโลกก็อยู่ความเสี่ยงของขาลงเป็นครั้งแรกในรอบ 7 ปี
บรรดาผู้นำโลกต่าง ๆจะไม่รอคอยพิธีสาบานตัวเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯคนที่ 44 ที่จะมีขึ้นในเดือนมกราคมปีหน้า เพราะพวกเขาจะเข้าประชุมระดับผู้นำของกลุ่มจี20 ตามคำเชิญของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุช ในวันที่ 15 นี้แล้ว โดยที่คาดหมายกันว่าโอบามาคงจะไม่เข้าร่วมด้วย
อย่างไรก็ตาม นักลงทุนต่างเชื่อว่า จะต้องมีระเบียบกฎเกณฑ์ที่เพิ่มความเข้มงวดในการกำกับดูแลตลาดเงินและตลาดทุน ออกมาในเร็ววันแน่นอน
"คนที่อยู่ในแวดวงอุตสาหกรรมบริการทางการเงิน น่าจะเข้าใจแล้วว่าโอบามาได้ส่งสัญญาณอันชัดเจนว่า เมื่อเขาเป็นประธานาธิบดีแล้ว เขาตั้งใจที่จะเดินหน้านโยบายแบบนักแอคติวิสต์ " เป็นความเห็นของ วิลเลียม โดโนแวน จากบริษัทกฏหมายเวนาเบิล ในกรุงวอชิงตัน และเป็นอดีตที่ปรึกษาใหญ่ด้านกฎหมายของสมาคมสหกรณ์ออมทรัพย์ทั่วสหรัฐฯ
"การที่รัฐบาลจะเข้าไปปรับโครงสร้างภาคบริการทางการเงิน, การนำกิจการประเภทใกล้เคียงกันมาจัดรวมเข้าด้วยกัน, การตั้งเงื่อนไขเรื่องสภาพคล่องและการสำรองเงินทุนที่สูงขึ้นกว่าเดิม, การปฏิรูปเรื่องการล้มละลายและบัตรเครดิต เหล่านี้ล้วนแต่กำลังจะถูกวางแบอยู่บนโต๊ะแล้ว" เขากล่าว
อย่างไรก็ดี โอบามากำลังต้องแบกรับภารกิจรับมือกับเศรษฐกิจถดถอย โดยที่งบประมาณอยู่ในสภาพขาดดุลหนักอยู่แล้วจากค่าใช้จ่ายทำสงครามอิรัก ตลอดจนแผนการช่วยชีวิตภาคการเงินมูลค่า 700,000 ล้านดอลลาร์ที่เพิ่งผ่านรัฐสภาเมื่อเร็วๆ นี้
"มันไม่ใช่เวลาที่ดีเลยสำหรับคนที่ได้รับเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีในขณะนี้ เมื่อคิดถึงปัญหาต่างๆ ที่รออยู่" เป็นความเห็นของ ร็อบ เฮนเดอร์สัน ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐศาสตร์การตลาด แห่งธนาคารเนชั่นแนล ออสเตรเลีย "เขาจะต้องถูกกดดันตั้งแต่วันแรกที่รับตำแหน่งทีเดียว ว่าจะต้องเร่งฟื้นฟูชุบชีวิตเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันก็จะต้องจัดการกับการขาดทุนงบประมาณที่มหาศาลอยู่แล้ว"
กำลังโหลดความคิดเห็น