xs
xsm
sm
md
lg

ธุรกิจUSรอ"เปลี่ยนแปลง"หลังเลือกตั้ง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รอยเตอร์ - ในขณะที่ บารัค โอบามา ผู้เข้าชิงตำแหน่งประธานาธิบดีของพรรคเดโมแครต กำลังมีคะแนนนำตัวแทนจากรีพับลิกัน จอห์น แมคเคนอยู่นี้ ภาคธุรกิจแห่งอเมริกาก็กำลังเฝ้ารอว่าจะมีความเปลี่ยนแปลงอะไรบ้างหลังได้ผู้ชนะแล้ว
หลังจากการเลือกตั้งในวันอังคาร(4) หลายภาคส่วนของเศรษฐกิจสหรัฐฯจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างกว้างขวางไม่ว่าใครจะชนะก็ตาม และยิ่งหากโอบามาได้เป็นประธานาธิบดี รวมทั้งเดโมแครตได้เป็นเสียงข้างมากเด็ดขาดในรัฐสภา ก็ยิ่งจะเร่งความเปลี่ยนแปลงมากขึ้น เพราะจะทำให้เดโมแครตอยู่ในฐานะที่จะปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างขนานใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นภาคการธนาคาร ประกันภัย อุตสาหกรรมยา เรื่อยไปจนถึงภาคสื่อสาร
ถึงแม้การเปลี่ยนแปลงใด ๆที่จะเกิดขึ้นนี้ อาจถูกหน่วงรั้งด้วยเงื่อนไขการขาดดุลงบประมาณ เศรษฐกิจที่อ่อนแอ และล้อบบียิสต์ของธุรกิจต่าง ๆที่คงต้องออกคัดค้านอย่างสุดแรงเกิดหากว่าการปฏิรูปทำให้ภาคธุรกิจต้องสูญเสียผลประโยชน์ไป
อย่างไรก็ตาม ปฏิเสธไม่ได้ว่าจะต้องเกิดความเปลี่ยนแปลง กระทั่งหากแมคเคนชนะ และรีพับลิกันยังสามารถรักษาจำนวนเสียงข้างน้อยในวุฒิสภาที่มากพอจะขัดขวางเดโมแครตได้ ภาคธุรกิจต่าง ๆก็ต้องเผชิญหน้ากับความเปลี่ยนแปลงอยู่ดี
"เราเชื่อว่าในการเลือกตั้งประธานาธิบดีปี 2008 นี้ รวมทั้งการจัดขั้วอำนาจใหม่ที่อาจเกิดขึ้นในรัฐสภา จะมีความหมายมากขึ้นสำหรับนักลงทุนมากกว่าครั้งการปฏิรูปใหญ่ในสมัยของ (โรนัลด์) เรแกนช่วงทศวรรษ 1980 เสียอีก" แอนดริว พาร์เมนทิเอร์ นักวิเคราะห์นโยบายของเอฟบีอาร์ แคปปิตอลมาร์เกตส์กล่าว
ความเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจที่คาดหมายว่าจะเกิดขึ้นหลังการเลือกตั้งครั้งนี้ ได้แก่
**ภาคการเงิน**
อาจจะการออกระเบียบกฎเกณฑ์ในตลาดที่มุ่งกำจัดพวกตราสารค้ำประกันการเบี้ยวหนี้ (เครดิต ดีฟอลต์ สวอป) ตลอดจนตราสารที่พัวพันกับสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งจะมีการปรับโครงสร้างหน่วยงานที่กำกับดูแลทั้งธนาคารและกิจการด้านการเงินในวอลล์สตรีท อย่างเช่น โกลด์แมนแซคส์ และมอร์แกนสแตนลีย์ ให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นอกจากนี้ก็อาจมีความเป็นไปได้ที่จะปรับประสิทธิภาพของหน่วยงานกำกับดูแลบริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อภาคเอกชน เช่น มูดี้ส์ และ สแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส ให้ทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมามากขึ้น
การระดมเม็ดเงินสำหรับสินเชื่อที่อยู่อาศัยก็จะเปลี่ยนไปอย่างถอนรากถอนโคน โดยมีบทเรียนอันเจ็บปวดของแฟนนี เม และเฟรดดี แมคเป็นตัวอย่าง
กระแสการควบรวมกิจการระหว่างธนาคารต่าง ๆ ที่น่าจะเพิ่มมากขึ้น ก็อาจดึงดูดความสนใจของหน่วยงานต่อต้านการผูกขาดทั้งหลาย
ความเข้มข้นที่เพิ่มขึ้นของการสอดส่องจากทางการ อาจส่งผลให้เกิดหน่วยงานทำหน้าที่กำกับดูแลธุรกิจประกันภัยในระดับทั่วประเทศขึ้นเป็นครั้งแรก
**สื่อสารโทรคมนาคม**
ในนโยบายเกี่ยวกับอินเทอร์เน็ตนั้น โอบามานิยม "การทำให้เน็ตเป็นกลาง" ในขณะที่แมคเคนต่อต้านแนวคิดนี้
ผู้ที่สนับสนุนแนวคิดการทำให้เป็นกลางก็เช่น กูเกิล และ ไมโครซอฟท์ ซึ่งเห็นว่าบรรดาผู้ให้บริการโครงข่ายทั้งหลายไม่ว่าจะเป็น เอทีแอนด์ที หรือ คอมแคสท์ ควรจะถูกห้ามมิให้คิดค่าบริการบางอย่างแพงเกินไป อย่างเช่น บริการดาวน์โหลดภาพยนตร์ที่ต้องการแบนด์วิธเพิ่มขึ้น บริษัททั้งสองยังเห็นว่าผู้ให้บริการโครงข่ายไม่ควรจะปฏิเสธผู้ใช้มิให้เข้าถึงสาระต่าง ๆในอินเตอร์เน็ตที่ไม่ผิดกฏหมาย ส่วนความคิดของแมคเคนเป็นไปรูปที่ปล่อยให้หนทางของตลาดแก้ไขปัญหาของมันเอง แทนที่รัฐบาลจะเข้าไปกำกับดูแล
แมคเคนสนับสนุนข้อเสนอที่ให้บริษัทเคเบิลสามารถขายช่องรายการให้แก่ลูกค้าแต่ละราย ในแบบที่เรียกว่า อะ ลา คาร์ต หรือจัดตามความประสงค์ของลูกค้า โดยลูกค้าสามารถดูรายการที่ต้องการได้โดยไม่ต้องทนดูสิ่งที่ไม่พึงประสงค์แต่ผู้ประกอบการจัดมาให้อีกต่อไป ทว่าแนวคิดนี้ได้รับการต่อต้านจากอุตสาหกรรมเคเบิลอย่างมาก
**อุตสาหกรรมยา**
ผู้ผลิตยาอาจจะต้องพบกับความเปลี่ยนแปลงอย่างมากหากว่าเดโมแครตชนะถล่มทลาย เพราะเดโมแครตนั้นสนับสนุนให้มีการต่อรองเพื่อลดราคายาในโครงการ"เมดิแคร์" นอกจากนี้ยังจะอนุมัติให้ใช้ยาชื่อสามัญทางยา แทนยาแบรนด์เนมราคาแพงที่ผลิตโดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพทั้งหลาย ซึ่งจะทำให้สามารถหาซื้อยาชนิดเดียวกันแต่ราคาถูกลงได้ รวมทั้งเดโมแครตเห็นว่าควรจะขยายการดูแลสุขภาพ ให้ครอบคลุมชาวอเมริกันที่ไม่มีกรมธรรม์ประกันสุขภาพด้วย
การขยายความคุ้มครองเช่นนี้อาจะส่งผลกระทบต่อยอดขายยาที่ต้องมีใบสั่งแพทย์ โดยแม้ว่าจำนวนผู้ที่เข้ารับการรักษาจะเพิ่มขึ้น แต่บริษัทอาจจะต้องเผชิญกับแรงกดดันให้ลดราคายาลงมา
แมคเคนวิพากษ์วิจารณ์บริษัทยาไว้ไม่น้อยในช่วงหาเสียง ทั้งเขาและโอบามาหนุนให้โครงการประกันสุขภาพเมดิแคร์ต่อราคาให้ได้ยาที่ถูกลง ซึ่งเป็นสิ่งที่อุตสาหกรรมยาต่อต้านมาตลาด นอกจากนี้ผู้สมัครทั้งสองยังได้สนับสนุนการใช้ยาที่ไม่มีสิทธิบัตรคุ้มครองมากขึ้น รวมทั้งการนำเข้ายาราคาถูกจากประเทศอื่นด้วย
**อุตสาหกรรมด้านกลาโหม**
ทั้งโอบามาและแมคเคนต่างหาเสียงว่า จะเข้าไปดูค่าใช้จ่ายในโครงการด้านการทหารให้มากขึ้น เพราะในสมัยรัฐบาลบุช งบประมาณทหารของสหรัฐฯเพิ่มขึ้นมากกว่า 60% หรือมากกว่า 612,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯในช่วงปีงบประมาณ 2009
บรรดากองทัพสหรัฐฯก็พยายามที่จะต่อสู้เพื่อคงโครงการผลิตอาวุธราคาแพงเอาไว้ แม้ว่าเศรษฐกิจจะอ่อนตัวลง และรัฐบาลสหรัฐฯต้องใช้จ่ายเงินมหาศาลเพื่อประคองสถานการณ์ภาคการเงินเอาไว้ก็ตาม แต่นักวิเคราะห์ก็เชื่อว่าเพนตากอนคงจะชนะต่อไป และทำให้พวกบริษัทที่ทำสัญญากับกองทัพอย่าง ล็อคฮีด มาร์ติน, โบอิ้ง, และนอร์ธรอป กรัมแมน ได้ประโยชน์ต่อไป
**บรรษัทภิบาล**
เดโมแครตต้องการจะให้ผู้ถือหุ้นมีอำนาจมากขึ้นในการกำหนดทิศทางของบริษัท รวมทั้งมีส่วนในการกำหนดค่าตอบแทนของฝ่ายบริหารด้วย ก่อนหน้านี้รัฐสภาก็ได้อนุมัติแผนการฟื้นฟูภาคการเงินที่ประกอบด้วยระเบียบกำหนดเพดานค่าตอบแทนของฝ่ายบริหารของธนาคารซึ่งยอมรับเม็ดเงินจากธนาคารกลางสหรัฐฯ อันนับเป็นก้าวแรกของควบคุมเงินเดือนฝ่ายบริหารที่เคยพุ่งทะลุฟ้าในช่วงก่อนหน้านี้

??

??

??

??

1
กำลังโหลดความคิดเห็น