xs
xsm
sm
md
lg

‘รสนา’ชี้สว.อย่าเป็นตรายางมาร์กจวกรบ.กลับกรอกสสร.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

"อภิสิทธิ์" จวกรัฐบาลกลับกลอกเดิมบอกจะให้คนอื่นเป็นเจ้าภาพแก้ รธน. แต่วันนี้กลับกำหนดกรอบทั้งหมดเองเรียบร้อย "สุเทพ" เชื่อมีพิมพ์เขียว เพื่อประโยชน์ตัวเองเรียบร้อยแล้ว เพียงแต่ตั้งองค์กรมาเพื่ออ้างความชอบธรรมเท่านั้น แนะจับตาประมูลโครงการยักษ์ใช้เป็นทุนในการเลือกตั้ง ด้าน "รสนา" แนะ ส.ว.ไม่ควรเอาตัวไปประทับตราให้รัฐบาล เตรียมนำเข้าถกในที่ประชุมวุฒิฯศุกร์นี้ "นิคม" โผลแจงวิปวุฒิฯผลประชุม 4 ฝ่าย มั่นใจ ส.ว.ส่วนใหญ่หนุนแก้ม. 291แน่ ขณะที่ "สุขุมพงษ์"เถียงคอเป็นเอ็นลดเวลา ส.ส.ร.ไม่เกี่ยวเพื่อให้ทันคดียุบพรรค ส่วนวิปรัฐบาลแบไต๋ ไม่ร่าง รธน.ทั้งหมด แต่จะแก้บางมาตราที่มีปัญหา

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่าการลดเวลา การร่างรัฐธรรมนูญของ ส.ส.ร.เหลือ 120 วันเชื่อว่าเป็นความเห็นส่วนตัวของนายกรัฐมนตรี ซึ่งเดิมที่รัฐบาลเคยพูดว่าการตั้ง ส.ส.ร.ให้เป็นหน้าที่ของคนอื่นเป็นเจ้าภาพ และรัฐบาลให้การสนับสนุน แต่ตอนนี้ดูเหมือนว่าข้อเสนอทั้งหมดมาจากรัฐบาล จึงไม่ใช่ส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาวิกฤต เพราะเมื่อเป็นเรื่องของรัฐบาลฝ่ายเดียวกํไม่สามารถแก้วิกฤตได้

"สุเทพ"ชี้รัฐบาลมีพิมพ์เชียวรธน.แล้ว
นายสุเทพ เทือกสุบรรณ เลขาธิการพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การลดเวลา การทำงานของ ส.ส.ร.เหลือ 120 วันนั้นไม่ใช้สาระสำคัญ เพราะตนเชื่อว่าความจริงรัฐบาลมีสูตรของตัวเองอยู่แล้ว จะให้เหลือ 20 วันก็ได้ เพราะว่ามีพิมพ์เขียว มีร่างมีแนวทางของตัวเองไว้แล้วว่าในใจต้องการอะไร เพียงแต่ว่าหาองค์กรที่รัฐบาลจะอ้างความชอบธรรมให้ได้เป็นคนดำเนินการ
"ส.ส.ร.3 ที่รัฐบาลจะตั้งขึ้นนั้นผมไม่เชื่อถือ เพราะในที่สุดด้วยอิทธิพลของ ฝ่ายรัฐบาลก็พยามยามที่จะผลักดันแนวทางของตัวเอง ผมคิดว่าประชาชนจำนวนหนึ่ง มีความกังวลอยู่ลึกๆว่า ในที่สุดรัฐบาลมุ่งที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อประโยชน์ของตัวเองของพวกพ้องตัวเอง เพื่อให้ได้เปรียบทางการเมืองเท่านั้น"
ผู้สื่อข่าวถามว่า มองหรือไม่ว่าอาจจะเร่งรัดเพื่อต้องการจะหลีกหนีคดียุบพรรค ที่กำลังจะเข้าสู่การพิจารณาคดีของศาล นายสุเทพ กล่าวว่า ตนก็มองว่าเป็นไปในลักษณะอย่างนั้น เพราะเมื่อรัฐบาลตั้งเป้าว่า ต้องการให้รัฐธรรมนูญเป็นประโยชน์กับตัวเองมากที่สุด จึงพยามยามเลือกจังหวะเวลาว่าช่วงเวลาไหนเป็นประโยชน์กับตัวเองมากที่สุด

จับตาประมูลงานยักษ์เป็นทุนเลือกตั้ง
ผู้สื่อข่าวถามว่า บางคนมองว่าสถานการณ์ทางการเมืองในขณะนี้ ส.ส.ร.3 อาจเดินหน้าไม่ได้ นายสุเทพ กล่าวว่า ไม่ทราบ เพราะว่าเหตุการณ์ทางการเมือง สามารถพลิกผันได้หลายอย่าง แต่คิดว่ารัฐบาลคงรอว่าให้มีการประมูลงานโครงการ ต่างๆ ที่ได้ตั้งงบประมาณเอาไว้เสียก่อน เพราะมีคนมาบอกกับตนว่าให้ระวังนะรัฐบาลจะอาศัยเอากระบวนการการประมูลจ้างงาน มาเป็นวิธีการในการหาทุนมาใช้จ่าย เลื่อกตั้งครั้งต่อไป ซึ่งอาจจะเป็นจังหวะเวลาพอดีกับรัฐธรรมนูญที่แก้เสร็จ ตนก็จะติดตามดู
นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย ประธานวิปฝ่ายค้าน กล่าวว่าการลดเวลา ส.ส.ร. เหลือ 120 วัน มีความผิดปกติชัดเจนเป็นความพยายามผลักดัน ส.ส.ร. โดยไม่ยอมฟังเสียงของสังคม จึงเป็นเรื่องที่ต้องถูกตรวจสอบอย่างเข้มข้น เพราะการลดแลก แจกแถมเช่นนี้ จึงมีความผิดปกติ เพราะที่สุดแล้วการตั้งส.ส.ร. ไม่สามารถแก้วิกฤตบ้านเมืองได้

เตือนยังร่าง"เหวง"เข้าสภารุนแรงแน่
ผู้สื่อข่าวถามว่าในสัปดาห์หน้าจะมีการบรรจุวาระการประชุมเรื่องการแก้ไข มาตรา 291 เปิดช่องให้มีการตั้งส.ส.ร. ฝ่ายค้านจะมีจุดยืนอย่างไร นายสาทิตย์ กล่าวว่า เท่าที่ตรวจสอบยังไม่มีการยื่นเข้ามา มีแต่วาระการพิจารณากรอบการเจรจา ไทย-กัมพูชา แต่ที่น่าแปลกใจในระเบียบวาระการประชุมยังคงมีร่างรัฐธรรมนูญฉบับคณะกรรมการประชาชนเพื่อการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับ 2550 (คปพร.) ซึ่งมี นพ.เหวง โตจิราการ เป็นแกนนำค้างอยู่ ตนจึงอยากได้ความชัดเจนว่าที่ประธานสภาฯ เคยรับปากว่าจะไม่เอาร่างดังกล่าว สุดท้ายแล้วคำตอบเป็นอย่างไร
อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าถ้ารัฐบาลดึงดันที่จะตั้ง ส.ส.ร. แต่กลับคงค้างร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับ คปพร. ก็จะเป็นชนวนให้เกิดความรุนแรงให้มากยิ่งขึ้น
"ทั้งรัฐบาลและพรรคพลังประชาชนต้องเลือกระหว่างการตั้ง ส.ส.ร. 3 หรือจะถอนร่างของ คปพร. เพราะไม่เช่นนั้นสงครามประชาชนที่ส.ส.พรรคพลังประชาชน เคยขู่เอาไว้ก็อาจจะเกิดขึ้นจริง และสิ่งที่พรรคประชาธิปัตย์อยากเรียกร้องคือ ให้ยุติการแก้มาตรา 291 ก่อน และกลับไปสู่การรับผิดชอบต่อเหตุการณ์วันที่ 7 ตุลาคม เสียก่อน จากนั้นค่อยยุบสภาเพื่อคืนอำนาจให้กับประชาชน"

ซัดรัฐบาลปฏิวัติล้มรธน.หนียุบพรรค
น.ส. รสนา โตสิตระกูล ส.ว.กทม. กล่าวว่าการลดเวลา ส.ส.ร.เหลือ 120 วัน และยังมีการให้สัมภาษณ์ด้วยว่าจะเร่งใช้เวลาเพียง 30 วัน ถือเป็นการปฏิวัติล้มเลิกรัฐธรรมนูญโดยอาศัยระบบรัฐสภา เป็นการแก้ไลโดยอ้างการแก้รัฐธรรมนูญที่มาจากรัฐประหาร จึงอดคิดไม่ได้ว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้เพื่อปลดล็อคการยุบ พรรรคการเมือง 3 พรรคที่จ่อคิดอยู่เวลานี้หรือไม่
น.ส.รสนา กล่าวว่าการแก้รัฐธรรมนูญควรอยู่ในช่วงเวลาที่เหมาะสม แต่เวลานี้ ไม่ใช่ การทำเช่นนี้ก็เพื่อผลประโยชน์ทับซ้อน โดยนำเอา ส.ส.ร. 3 มาอำพลางหรือไม่ อีกทั้งเป็นการใช้ระยะเวลาที่น้อยมาก จึงเป็นสิ่งที่ชัดเจนว่า เป็นการฟอกกระบวนการ ที่ต้องการปลดล็อคปัญหาของตัวเอง ทำให้บ้านเมืองเกิดวิกฤติการณ์ที่รุนแรง
"เรื่องนี้เป็นสิ่งที่วุฒิสภา ไม่ควรเอาตัวไปเกี่ยวข้อง โดยประเด็นนี้ก็ได้มีการ พูดคุยกันในกรรมาธิการกิจการวุฒิสภาฯ สมาชิกหลายคนก็เห็นตรงกันว่า เรื่องนี้ควรจะนำไปอภิปรายในการประชุมวุฒิสภา ในวันศุกร์ที่ 24 ต.ค.นี้"
ผู้สื่อข่าวถามว่ายังยืนยันหรือไม่ว่า การประชุมร่วม 4 ฝ่าย โดยมีนายนิคม ไวยรัชวานิช รองประธานวุฒิสภา คนที่ 1 เป็นในนามส่วนตัว น.ส.รสนา กล่าวว่า ประเด็นนี้ก็มีการถูกหยิบยกมาพูดคุยกัน ว่า ท่านรองฯ ได้ถูกมอบหมายมาร่วมประชุม หรือไม่ ขอเรียนว่า วุฒิสภา ไม่ใช่พรรคการเมือง ที่จะให้มีวิปฯ เพื่อกำหนดให้เดินซ้ายหันขวาหันได้ ฉะนั้นประเด็นนี้จึงถูกท้วงติง ถึงแม้ท่านจะไปเสนอ แต่ท่านเป็นรองประธานวุฒิสภาคนที่ 1ภาพพจน์ ก็จะกลายเป็นว่าวุฒิสภา รับรอง ในการจัดตั้งส.ส.ร. 3 ยอมรับว่า ต่อไป อาจเกิดปัญหาความแตกแยกมากขึ้น ทั้งนี้ วันศุกร์ ที่ 24 ต.ค.ในการประชุมวุฒิสภา คงต้องนำเรื่องนี้ไปพูดคุยด้วย

"นิคม"มั่นใจ ส.ว.ส่วนใหญ่หนุนส.ส.ร.
นายนิคม ไวยรัชพานิช รองประธานวุฒิสภา ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ วิสามัญกิจการวุฒิสภา(วิปวุฒิสภา) กล่าวภายหลังการประชุมว่า ได้แจ้งให้ที่ประชุมทราบถึงผลการประชุม 4 ฝ่าย รวมถึงการดำเนินการยกร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อให้มีการตั้ง ส.ส.ร.3 ซึ่งในที่ประชุมวิปวุฒิสภามีทั้งผู้เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งในการประชุมวุฒิสภาวันศุกร์ที่ 24 ต.ค.นี้ จะนำเรื่องดังกล่าวแจ้งต่อที่ประชุมถึงการดำเนินการดังกล่าวด้วย เพื่อให้ส.ว.ทั้ง 149 คนได้รับทราบและแสดงความคิดเห็น และสอบถามจุดยืนของประธานวุฒิสภา แต่จะไม่มีการลงมติ เพราะเป็นเอกสิทธิ์ของสมาชิกแต่ละคนว่าจะเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย
ส่วนที่ส.ว.กลุ่มหนึ่ง ดำเนินการรวบรวมรายชื่อส.ว. เพื่อสนับสนุนการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นนายนิคมกล่าวว่า ทราบมาว่าขณะนี้รวบรวมรายชื่อได้แล้ว 20-30 คน ความจริงใช้เสียงสมาชิกรัฐสภาเพียง 1 ใน 5 คือ 126 คนเท่านั้นก็ได้แล้ว แต่อยากให้เสียงเป็นเอกฉันท์ ซึ่งใจตนคิดว่ารวบรวมได้ 60-70 คนก็เพียงพอแล้ว เพื่อให้เห็นว่าฝ่ายนิติบัญญัติก็เป็นที่แก้ปัญหาได้ เดี๋ยวจะกล่าวหาว่าใช้กำลังข่มขืนกัน หรือ บางกลุ่มที่อยากจะเห็นการเมืองใหม่หรือต้องการนายกฯพระราชทานก็สามารถใช้เวที ส.ส.ร.ได้
นายนิคม มั่นใจว่า ส.ว.ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับการแก้ไข มาตรา 291 ตนยังเชื่อว่าเสียงของวุฒิสภาจะเป็นเอกฉันท์ถึงจะมีบางกลุ่มไม่เห็นด้วยก็ตาม ถึงแม้ช่องทางนี้จะเห็นแสงริบหรี่ แต่ก็ดีกว่าไม่เห็นแสงอะไรเลย

อ้างปธ.วุฒิฯก็เอาด้วยแต่ถูกกดดัน
ผู้สื่อข่าวถามว่าจะขัดต่อท่าที่ของประธานวุฒิสภาที่ถอนตัวหรือไม่ นายนิคม กล่าวว่า จุดยืนของประธานวุฒิสภาก็เห็นด้วยตั้งแต่แรก แม้ตอนนี้จะมีปัจจัยมาทำให้ ท่าทีของท่านเปลี่ยนแปลงไป แต่ก็ไม่เป็นผลอะไร เพราะเสียงจากทุกฝ่ายเห็นด้วย ยกเว้นแค่พรรคประชาธิปัตย์และ ส.ว.กลุ่มเดียวเท่านั้น
"ผมก็ถูกพาดพิงว่าการเข้าร่วมยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ไปสร้าง ความชอบธรรมให้กับรัฐบาล รู้ดีว่าตกเป็นเป้า แต่ข้อเท็จจริงแล้วไปทำหน้าที่เพราะได้รับมอบหมายจากประธานวุฒิสภา เมื่อที่ประชุม 4 ฝ่ายมีมติตามนั้น แล้วยังไม่มีใคร บอกยกเลิก ผมก็ต้องเดินหน้าต่อ การ่เปิดให้ผู้ที่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองเป็น ส.ส.ร. ได้นั้นเป็นการเปิดกว้างๆ เท่านั้นเพราะเราต้องส่งเสริมประชาธิปไตย แต่สามารถ ทบทวนขั้นแปรญัตติได้ แต่จะให้ปลอดจาการเมืองร้อยเปอร์เซ็นต์คงเป็นไปไม่ได้"

ปัดลดอายุส.ส.ร.ไม่เกี่ยวยุบพรรค
นายสุขุมพงศ์ โง่นคำ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงการลด กรอบระยะเวลาการทำงานของส.ส.ร.3 ให้เหลือ 120 วันว่า ไม่เกี่ยวกับการจะให้เสร็จทันเวลาที่ศาลรัฐธรรมนูญจะตัดสินคดียุบพรรคพลังประชาชนเลย คดียุบพรรค มีกฎหมายเลือกตั้ง กฎหมายพรรคการเมืองอยู่แล้ว อย่างไรก็ไม่สามารถร่างรัฐธรรมนูญได้ทันกับคดียุบพรรคแน่นอน แต่คงต้องการแก้ปัญหาบ้านเมืองให้เร็วเท่านั้น จึงได้ลดกรอบเวลาลง ไม่ได้มีปัจจัยทางการเมืองใดๆ เป็นพิเศษ
ผู้สื่อข่าวถามว่า แสดงว่ารัฐบาลมีร่างเตรียมไว้แล้วหรือไม่ เพราะเวลา 120 วัน คงจะไม่เพียงพอ นายสุขุมพงศ์ กล่าวว่า ไม่ใช่ กระบวนการสรรหาส.ส.ร.3 ก็มีระยะเวลาไว้ 60 วัน และระยะเวลาที่ส.ส.ร.3 จะยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาอีก 120 วัน รวมเป็น 180 วัน ต้องไปดูว่าจะทำได้หรือไม่ ซึ่งจะต้องประชุมกัน เพราะจากเดิม เสนอไป 240 วันจะลดลงเหลือ 120 วัน จะเหมาะสมเพียงใด ต้อรอดูข้อเท็จจริง อย่างไรก็ตาม ร่างนี้เป็นร่างแรก ในชั้นกรรมาธิการ (กมธ.) ของรัฐสภา ก็ต้องไปดูรายละเอียดอีกทีว่าตรงไหนจะเหมาะสม

ยกร่างใหม่หรือแก้บางมาตราอยู่ส.ส.ร.
ส่วนส.ส.ร.3 จะแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งร่างหรือจะแก้บางประเด็นนั้น นายสุขุมพงศ์ กล่าวว่า หลักการคือทำขึ้นใหม่ ส่วนจะแก้มากแก้น้อยจากเดิมอย่างไร เป็นเรื่องของส.ส.ร.ไม่ได้เกี่ยวกับรัฐบาลหรือพรรคร่วมเลย เมื่อถามว่ายืนยันได้หรือไม่ว่าจะไม่มีการแก้ไขมาตราอื่น เช่น มาตรา 190 หรือมาตรา 309 นายสุขุมพงศ์ กล่าวว่า รัฐบาลไม่เกี่ยวเขาจะไปแก้ที่ไหนก็แล้วแต่ รัฐบาลมีหน้าที่เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบเท่านั้น
ผู้สื่อข่าวถามว่า การเปิดให้สมาชิกพรรคการเมืองได้มีส่วนร่วมเป็นส.ส.ร.3 จะยืนยันได้หรือไม่ว่าจะไม่มีการแทรกแซงจากการเมือง นายสุขุมพงศ์ กล่าวว่า คนที่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองมีกว่า 30 ล้านคนของผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง เราไปจำกัดสิทธิ์เขาคงเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ในอดีตตนคัดค้านมาตลอดตั้งแต่ส.ส.ร. 2 ที่ไปห้ามสมาชิกพรรคการเมือง นอกจากนั้น ยังไปห้ามผู้ที่เคยเป็นสมาชิก พรรคการเมืองไม่น้อยกว่า 2 ปี กันคนส่วนใหญ่ที่มีสิทธิ์เลือกตั้งไม่ให้มาเกี่ยวข้องเป็นรื่องไม่ถูกต้อง ซึ่งเราต้องให้สิทธิ์ ผู้มีสิทธิ์เลือกตั้ง

ยันไม่ส่งคนของรัฐบาลไปอยู่ในส.ส.ร.
ผู้สื่อข่าวแย้งว่าแต่เป้าหมายคือต้องการความเป็นกลาง ไม่ถูกครอบงำจาก ฝ่ายการเมือง นายสุขุมพงศ์ กล่าวว่า การเป็นสมาชิกพรรคไม่ใช่ว่าจะถูกครอบงำ ข้าราชการก็เป็นสมาชิกพรรคการเมืองได้ ดังนั้น คนกลุ่มนี้มีจำนวนมากไปกันเขาออกก็ไม่ถูก ซึ่งในอดีตการร่างรัฐธรรมนูญ ปี 40 ไม่ได้กันสมาชิกพรรคการเมือง ก็ร่างออกมาได้ดี แต่รัฐธรรมนูญปี 50 กันสมาชิกพรรคการเมืองออกเหลือแค่สรรหารัฐธรรมนูญ ปี 50 ก็มีปัญหา
ต่อข้อถามว่าขณะนี้บ้านเมืองอยู่ในสถานการณ์ความไม่ไว้วางใจสูง แต่ไม่สามารถยืนยันว่าจะไม่ถูกแทรกแซงได้ จะเป็นสาเหตุให้การร่างรัฐธรรมนูญมีปัญหาในภายหลังหรือไม่ นายสุขุมพงศ์ กล่าวว่า ยืนยันว่าไม่มีฝ่ายการเมือง เข้าไปแทรกแซง เมื่อถามย้ำว่าเมื่อรัฐบาลเป็นผู้ออกแบบระบบมามันก็ยังไม่มีตรงไหน เป็นหลักประกันได้ นายสุขุมพงศ์ กล่าวว่า เป็นความเข้าใจในหลักการมาตรา 291 เมื่อร่างเสร็จแล้วก็จะเป็นหลักประกันได้ รัฐธรรมนูญปี 40 ก็ยืนยันได้ว่า ไม่มีการแทรกแซง
ผู้สื่อข่าวถามย้ำว่า มั่นใจได้อย่างไรว่ารัฐบาลจะไม่ส่งคนของตัวเองเข้าไปเป็น ส.ส.ร.3 นายสุขุมพงศ์ กล่าวว่า มั่นใจว่าไม่มีการส่งคนเข้าไปแน่นอน ที่มั่นใจเพราะ ไม่เคยคิดจะส่ง เมื่อถามว่าไม่คิดจะชะลอเรื่องนี้ออกไปก่อนหรือ เพราะมีหลายฝ่ายคัดค้าน นายสุขุมพงศ์ กล่าวว่า ไม่คิดๆ
นายสุขุมพงศ์ยังกล่าวถึงกรณีที่ฝ่ายค้านจะไม่เข้าร่วมส.ส.ร.3 เป็นที่แน่นอน แล้วว่า ก็เป็นสิทธิ์ของฝ่ายค้าน ยืนยันว่าเราทำได้ แต่ถ้าหากฝ่ายค้านมาร่วมด้วยก็ดี แต่ถ้าไม่ร่วมก็เป็นเหตุสุดวิสัย ซึ่งเราก็ต้องดำเนินการต่อไป

วิปรัฐบาลแย้มแก้รธน.บางมาตรา
นายวิทยา บุรณศิริ ประธาน วิปรัฐบาล กล่าวว่า วิปรัฐบาลได้นัดหมาย กลุ่มผู้ประสานงานพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อมอบรายละเอียดของเนื้อหาที่คณะกรรมการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ยกร่างมาแล้วให้พรรคร่วมรัฐบาลกลับไปศึกษา โดยในสัปดาห์หน้าจะเชิญนายสุขุมพงษ์ โง่นคำ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการยกร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291มาชี้แจงต่อคณะกรรมการผู้ประสานงาน
ส่วนที่นายกรัฐมนตรีเห็นควรให้กรอบการทำงานของ ส.ส.ร.เหลือ 120 วันนั้น วิปรัฐบาลต้องพิจารณากันอีกครั้ง อย่างไรก็ตามแม้การคาดหวังว่า ส.ส.ร.จะเป็นทางออกของประเทศ เพื่อยุติปัญหาและนำไปสู่สิ่งที่ประชาชนต้องการ ซึ่งเชื่อว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญคงไม่มีประเด็นมากมาย อีกทั้งสมาชิกรัฐสภาทราบดีอยู่แล้วว่าปัญหาการบังคับใช้รัฐธรรมนูญอยู่ที่ไหนบ้าง
ผู้สื่อข่าวถามว่า ความเห็นของประธานชมรมสสร. 50 ที่เห็นว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญบางมาตราถือเป็นการตั้งธงไว้ก่อนว่าจะแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตราใดบ้าง นายวิทยา กล่าวว่า ขณะที่ส.ส.ร.ยังไม่เกิดไม่ควรไปคิดเองถึงขนาดนั้น การพิจารณา ของ ส.ส.ร.จะเป็นอย่างไรยังไม่มีใครทราบ
ส่วนที่หลายฝ่ายกลัวว่าประเด็นดังกล่าวจะเป็นชนวนทำให้เกิดความขัดแย้ง นายวิทยา กล่าวว่า ควรกลัวทำให้เกิดความเสื่อม ทุกคนต้องทำหน้าที่ เมื่อมีหน้าที่ ก็ต้องทำ เราคงหลีกเลี่ยงความเป็นของประชาชนไปไม่ได้ ประชาชนต้องมีส่วนร่วม ในเรื่องนี้มากๆ ด้วย
ผู้สื่อข่าวถามว่าเมื่อเทียบปัญหาของรัฐธรรมนูญกับกรอบเวลาที่นายกรัฐมนตรี เสนอถือว่ามีความเหมาะสมกันหรือไม่ ประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า ตนไม่คิดขนาดนั้น หลายคนที่สัมผัสค่อนข้างเห็นด้วยเป็นส่วนใหญ่ กฏเกณฑ์เป็นสิ่งที่เราสร้างขึ้น เพื่อให้ทุกคนยอมรับ ในสังคมประชาธิปไตยหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะให้ประชาชนแสดงความคิดเห็น
กำลังโหลดความคิดเห็น