xs
xsm
sm
md
lg

ยุบสภาฯ หรือลาออก : ทางเลือกรัฐบาล

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

ถ้ายอมรับว่าปัญหาการเมืองต้องแก้ด้วยการเมือง รัฐบาลที่เกิดขึ้นและดำรงอยู่ในการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยที่ประสบปัญหาวิกฤตศรัทธา เนื่องจากประชาชนไม่ยอมรับและออกมาแสดงการต่อต้านตามครรลองการปกครองในระบอบประชาธิปไตยในกรอบแห่งกฎหมายรัฐธรรมนูญที่เปิดช่องให้กระทำได้ มีทางดำเนินการแก้ไขวิกฤตศรัทธาที่ว่านี้อยู่ 3 แนวทาง คือ

1. ปรับคณะรัฐมนตรี โดยการนำรัฐมนตรีที่ประชาชนไม่ยอมรับ จะด้วยขาดความรู้ ความสามารถ หรือมีความรู้ ความสามารถแต่ขาดคุณธรรม หรือทั้งสองประการรวมกันในบุคคลเดียวออกไป และนำเอาบุคคลที่ได้รับการยอมรับเข้ามารับใช้ปวงชน

2. นายกรัฐมนตรีลาออก เปิดโอกาสให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสรรหาบุคลากรเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ และมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่เพื่อสนองความต้องการของปวงชน

3. ยุบสภาฯ เพื่อคืนอำนาจให้แก่ประชาชน และจัดให้มีการเลือกตั้ง ส.ส.กันใหม่

ทางออกทั้ง 3 ประการดังกล่าวข้างต้น ถือได้ว่าเป็นการแก้ปัญหาการเมืองตามครรลองแห่งการเมืองที่นานาประเทศที่เจริญแล้วทั้งหลายถือปฏิบัติกัน

แต่ถ้าไม่ใช้วิธีใดวิธีหนึ่งใน 3 ประการดังกล่าว ก็จะมีการแก้ปัญหาการเมืองด้วยวิธีที่มิใช่ครรลองแห่งการปกครองในระบอบประชาธิปไตย และเป็นวิธีที่ถือปฏิบัติกันดาษดื่นในประเทศที่ด้อยพัฒนา หรือแม้กระทั่งประเทศที่กำลังพัฒนาทั้งหลาย รวมทั้งประเทศไทยในอดีตที่ผ่านมาด้วย วิธีที่ว่านี้ก็คือการปฏิวัติรัฐประหาร โดยใช้กำลังจากกองทัพเข้ามาดำเนินการโค่นล้มรัฐบาล

รัฐบาลไทยภายใต้การนำของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ณ วันนี้และเวลานี้กำลังประสบปัญหาวิกฤตศรัทธาอย่างรุนแรง ถึงขั้นที่เรียกได้ว่าไม่มีความชอบธรรมที่จะได้รับความไว้ใจจากปวงชนให้เป็นผู้บริหารประเทศได้อีกต่อไป หลังจากที่เกิดเหตุการณ์นองเลือดหน้ารัฐสภา ในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ดังที่ปรากฏเป็นข่าวไปทั่วโลกแล้ว

แต่ในขณะที่มีกระแสการเรียกร้องหาผู้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์นองเลือด อันเป็นผลงานการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ทำให้มีผู้บาดเจ็บ และล้มตายโดยการเรียกร้องให้ผู้นำรัฐบาลแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออก อันเป็นความรับผิดชอบทางการเมืองที่ผู้นำประเทศในระบบการปกครองตามระบอบประชาธิปไตยควรจะต้องกระทำในทันทีที่เกิดการฆ่าประชาชนเจ้าของอำนาจอธิปไตย โดยเจ้าหน้าที่รัฐไม่ว่าจะเป็นหน่วยใด และด้วยอาวุธประเภทไหน ไม่ต้องรอการสอบสวนหาสาเหตุแห่งการตาย และผู้ที่เป็นต้นเหตุแห่งการตายดังที่รัฐบาลภายใต้การนำของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ กำลังดำเนินการอยู่ด้วยการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนข้อเท็จจริง ทั้งนี้ด้วยเหตุผลในเชิงตรรกะดังต่อไปนี้

1. ถ้ามองในทางหลักการบริหารที่มีโครงสร้างเป็นรูปสามเหลี่ยมหน้าจั่ว หรือที่เรียกในภาษาอังกฤษว่า Military Organization ที่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้บริหารสูงสุดในการกำหนดนโยบาย และสั่งการในรูปของมติ ครม.ทุกเรื่องที่เกิดขึ้นภายในกรอบหน้าที่ และความรับผิดชอบในการสั่งการหรือมอบหมายให้ใครรับผิดชอบในการสั่งการ นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้นำฝ่ายบริหารจะปฏิเสธความรับผิดชอบไม่ได้

2. สาเหตุที่ต้องมีการสลายการชุมนุมก็คือ รัฐบาลจะจัดให้มีการประชุมสภาฯ เพื่อแถลงนโยบายและเข้าบริหารประเทศให้ทันตามเวลาที่กฎหมายกำหนด

ดังนั้นจะเป็นใครอื่นไม่ได้ที่จะต้องมีการสั่งการให้มีการสลายการชุมนุมที่ปิดกั้นมิให้ ส.ส.และ ครม.เข้าประชุมในวันนั้นนอกจากรัฐบาล ส่วนว่าจะเป็นใครคนไหน มีตำแหน่งอะไรในรัฐบาลนั้น มิใช่ความจริงที่จะต้องมีการสอบสวนในทางการเมืองเพื่อจะนำมาเป็นเหตุอ้างในการแสดงความรับผิดชอบในทางการเมือง

แต่ถ้าจะต้องทำก็เพื่อหาผู้กระทำผิดมาลงโทษทางกฎหมายในระดับต่ำกว่านโยบาย เช่น ถ้าข้อเท็จจริงปรากฏว่านักการเมืองคนไหน และเจ้าหน้าที่รัฐคนใดมีการสั่งการให้นำแก๊สน้ำตามาเป็นเครื่องมือในการสลายการชุมนุม และไม่ศึกษาถึงรายละเอียดของการใช้เครื่องมือแต่ละประเภท เพื่อใช้ให้ถูกต้องตามหลักสากล หรือรู้แล้วแต่จงใจใช้เพื่อหวังผลให้ประชาชนเกิดความหวาดกลัว นักการเมืองหรือเจ้าหน้าที่รัฐในระดับสั่งการ และรู้รายละเอียดนี้จะต้องได้รับโทษทางอาญา

ส่วนผู้นำรัฐบาลถึงแม้ว่าจะไม่ลงลึกไปถึงรายละเอียดของการใช้เครื่องมือ และมิได้หวังผลใดๆ กับสิ่งที่เกิดขึ้นตามมาถึงขั้นให้คนบาดเจ็บ และเกิดความหวาดกลัวแล้วมีการสลายการชุมนุมก็คงหนีไม่พ้นที่จะต้องรับผิดชอบด้วยการขอโทษประชาชน และประกาศลาออกเพื่อเปิดโอกาสให้คนใหม่เข้ามาสอบสวน และสั่งการเพื่อหาผู้กระทำผิดมาลงโทษ

ด้วยเหตุปัจจัยในเชิงตรรกะ 2 ประการดังกล่าวมาแล้ว นายกฯ สมชาย วงศ์สวัสดิ์ จะต้องลาออก

แต่จนถึงบัดนี้เวลาได้ล่วงเลยมาแล้ว 10 กว่าวันยังไม่มีท่าทีใดๆ ที่แสดงให้เห็นว่าจะมีการลาออก และที่ยิ่งกว่านี้ยังได้มีความพยายามจะซื้อเวลา และมีขบวนการหาแพะมารับบาปแทนการลาออกของตัวเองด้วยการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาสอบสวนข้อเท็จจริง ทั้งๆ ที่ถ้ามองในแง่ของตรรกศาสตร์ในทฤษฎีเหตุและผลแล้วไม่ต้องมีการสอบสวน เพราะผลปรากฏชัดแล้วว่ามีการใช้เครื่องมืออันเป็นอันตรายต่อชีวิตสลายการชุมนุมจริง และมีคนบาดเจ็บและล้มตายจริง จึงเท่ากับว่าผลเกิดขึ้นแล้วอย่างสมบูรณ์ ถ้าจะมีการสอบสวนก็เพียงเพื่อให้รู้ว่าใช้อาวุธประเภทใด และใครเป็นคนสั่งให้ใครทำ ซึ่งเป็นการหาความจริงในระดับปฏิบัติการ และหวังผลเพื่อนำผู้กระทำผิดมาลงโทษทางอาญาเท่านั้น

ส่วนความผิดทางการเมืองที่ผู้อยู่ในระดับนโยบายได้เกิดขึ้นแล้ว และมีผู้รับผิดชอบปรากฏแล้วตั้งแต่มีการกำหนดว่าจะมีการประชุมสภาฯ และจะต้องมีการสลายการชุมนุมก่อนจึงจะเข้าสภาฯ ได้ ความรับผิดชอบในส่วนนี้ผู้นำรัฐบาลหนีไม่พ้นที่จะต้องออกมาขอโทษประชาชนแล้วประกาศลาออกจากตำแหน่งในทันที

เมื่อผู้นำรัฐบาลละเลยความรับผิดชอบในส่วนนี้จึงถือได้ว่าไม่มีสปิริตทางการเมือง และควรอย่างยิ่งที่พรรคร่วมรัฐบาลจะต้องหันมามองตัวเอง และถามหาสปิริตในทางการเมืองเป็นลำดับต่อไป

ถ้าทั้งพรรคแกนนำและพรรคร่วมรัฐบาลลงเรือลำเดียวกัน คือเป็นนักการเมืองไร้อุดมการณ์ และเล่นการเมืองเพื่อตนเองและพวกพ้องเพียงอย่างเดียว เห็นทีจะหนีไม่พ้นการถูกโค่นล้มจากประชาชน โดยมีกำลังจากข้าราชการให้การสนับสนุนอยู่ข้างหลัง จะด้วยการใช้อารยะขัดขืนหรือเดินเข้ามาร่วมกับประชาชนผู้คัดค้านเป็นการรวมพลังกันขับไล่รัฐบาลในที่สุด

ส่วนว่าจะเป็นวันไหนและเมื่อไหร่นั้น ถ้าจะให้คาดเดาก็จะต้องอาศัยโหราศาสตร์มาคาดเดา โดยดูจากดาวพฤหัสฯ ที่กำลังจะเข้าสู่ราศีมังกร และมีตำแหน่งเป็นนิจประมาณต้นเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้ และนำมาประกอบกับดาวอังคารที่ร่วมอาทิตย์เล็งลัคนาแล้ว เชื่อว่าคงจะเริ่มตั้งแต่ 17 ต.ค.นี้ และอย่างช้าไม่เกิน 4 ธ.ค.
กำลังโหลดความคิดเห็น