xs
xsm
sm
md
lg

ผลสอบ 7 ตุลาเลือดถึงมือ “ป.ป.ช.” ฟัน “ชาย-ตร.ชั่ว” ฆ่า-พยายามฆ่า

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

ภาพหลักฐานต่างๆที่คณะกรรมการสิทธิฯส่งไปให้ป.ป.ช.
คณะกรรมการสิทธิฯ ส่งสรุปผลสอบข้อเท็จจริงกรณีสลายชุมนุมวัน 7 ตุลาเลือด พร้อมแนบหนังสือ “นายกฯมาร์ค” ส่งถึง “เสน่ห์” ให้ดำเนินการลงโทษต่อผู้กระทำความผิด เปิดชื่อตำรวจในคราบผู้ร้าย ตั้งแต่ผู้บังคับหมู่ ยัน ผบ.ตร.“จงรัก-สุชาติ-นวย” หนักสุด ส่วน “ชายอำมหิต-จิ๋วหวานเจี๊ยบ” แจ้งข้อหาฆ่า และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน

วันนี้ (18 ธ.ค.) นายสุรสีห์ โกศลนาวิน ประธานคณะอนุกรรมการสิทธิมนุษยชน เปิดเผยว่า คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนได้ส่งสรุปผลการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีการสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช) พิจารณาแล้ว โดยมีจำนวน 117 หน้า มีผู้มาให้ถ้อยคำ 91 คน จาก 7 กลุ่ม ได้แก่ ผู้ให้ถ้อยคำฝ่ายการเมือง สื่อมวลชน กลุ่มผู้ร่วมชุมนุมและประชาชนที่ได้รับบาเจ็บ กลุ่มแกนนำและการ์ดพันธมิตรฯ กลุ่มเจ้าหน้าที่การแพทย์ กลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชและนิติวิทยาศาสตร์ และกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจ ซึ่งในเช้าวันพรุ่งนี้ 19 ธ.ค.จะเดินทางไปให้ปากคำเพิ่มเติมต่อ ป.ป.ช.อีกครั้ง

สำหรับเนื้อหาผลสรุปที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนส่งให้ ป.ป.ช.ดำเนินการเอาผิดกับผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สลายการชุมนุมที่หน้ารัฐสภา วัน 7 ตุลาทมิฬ คณะกรรมการสิทธิฯ ได้สรุปการให้ถ้อยคำของผู้ที่เกี่ยวข้องกับเหตุการณ์สลายการชุมนุม ได้แก่ กลุ่มแกนนำและการ์ดพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยโดยผู้ที่ให้ถ้อยคำสอดคล้องเชื่อมโยงกัน ว่า ระเบิดแก๊สน้ำตาที่เจ้าหน้าที่ตำรวจยิงมาจากแยกอู่ทองใน มีลักษณะการระเบิด 2 แบบ คือ
แบบแรกเป็นควันอย่างเดียว ระเบิดประเภทนี้ส่วนมากจะเป็นแบบแตกบนอากาศ และแบบที่ 2 คือ เป็นแบบระเบิดเปลวไฟ ระเบิดชนิดนี้เป็นแบบแตกบนพื้นดิน แล้วจึงมีเปลวไฟขึ้นมา ซึ่งมีจำนวนประมาณร้อยละ 70 ของระเบิดแก๊สน้ำตาที่ถูกยิงออกมา

ตำรวจสั่งกระหน่ำยิงแก๊สน้ำตา

ส่วนที่ 2 จะเป็นการให้ถ้อยคำของกลุ่มผู้ร่วมชุมนุมและประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บ โดยได้ให้ถ้อยคำตรงกันว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจได้กระหน่ำยิงแก๊สน้ำตาอย่างต่อเนื่อง พร้อมกับตำรวจได้ถือเครื่องขยายเสียงพูดขึ้นว่า “มันอยู่ได้ ให้มันอยู่ไป ยิงเข้าไปๆ เดินเข้าไป ลุยเข้าไป” โดยพูดซ้ำแล้วซ้ำอีก พร้อมกับมีเสียงระเบิดดังอยู่ตลอดเวลา ซึ่งประชาชนให้ถ้อยคำว่าขณะนั้นได้พูดว่า “ยอมแพ้แล้วๆ ไม่มีอาวุธ” แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจคนเดิมที่ถือเครื่องขยายเสียงพูดขึ้นว่า “นายตำรวจ คุณมีหน้าที่เคลียร์ถนน ปล่อยทุกอย่าง วางทุกอย่าง และเคลียร์ถนน” พร้อมย้ำ “นายตำรวจ คุณมีหน้าที่เคลียร์ถนน อยากลองกับผมหรือ” ส่วนที่ 3 จะเป็นการให้ถ้อยคำของสื่อมวลชน ส่วนที่ 4 การให้ถ้อยคำของเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ ส่วนที่ 5 การให้ถ้อยคำของกลุ่มของผู้เชี่ยวชาญด้านนิติเวชและนิติวิทยาศาสตร์

“สมชาย-จิ๋ว” ลอยตัวให้ถ้อยคำ

ส่วนที่ 6 การให้ถ้อยคำของกลุ่มนักการเมือง โดยคนแรกที่ได้ให้ถ้อยคำต่อคณะอนุกรรมการสิทธิฯ ได้แก่ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ให้ถ้อยคำเกี่ยวกับวันเวลาที่ดำรงตำแหน่ง เล่าถึงว่า ได้รับรายงานมีกลุ่มผู้ชุมนุมไปปิดล้อมสภาในวันแถงนโยบายของรัฐบาล 7 ตุลาคม 2551 ได้เล่าว่าหลังแถลงนโยบายเสร็จสิ้นเจ้าหน้าที่พาออกจากรัฐสภาอย่างไร

จากนั้นเป็นการให้ถ้อยคำของ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ โดยได้เล่าสถานการณ์ตามที่ได้รับรายงานจากเจ้าหน้าที่ตำรวจทั้งหมด จากนั้นเป็นการให้ถ้อยคำจากนายชัย ชิดชอบ ประธานรัฐสภา ตามมาด้วยการให้ถ้อยคำจาก นางสาวรสนา โตสิตระกูล สมาชิกวุฒิสภา และนายประสงค์ นุรักษ์ สมาชิกวุฒิสภา ประเภทสรรหา

“พัชรวาท” เปิดชื่อฝ่ายการเมือง

ส่วนที่ 7 เป็นการให้ถ้อยคำจากกลุ่มเจ้าหน้าที่ตำรวจ นำโดย พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร.โดยได้เล่าสถานการณ์ตั้งแต่คืนวันที่ 6 ต.ค.2551 เวลาประมาณ 23.00 น.ว่า ได้ประชุมร่วมกับฝ่ายการเมือง โดยระบุชื่อนักการเมืองที่เข้าร่วมประชุมทุกคน ได้แก่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก พล.ต.อ.โกวิท วัฒนะ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายวราวุธ ศิลปอาชา บุตรชายของนายบรรหาร ศิลปอาชา และบุคคลอื่นๆ ที่ผู้ให้ถ้อยคำจำไม่ได้ทั้งหมด และไล่เรียงผู้ให้ถ้อยคำไปตามลำดับ อาทิ พล.ต.อ.วิโรจน์ พหลเวชช์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (งานความมั่นคงและกิจการพิเศษ) พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ผู้บัญชาการตรวจนครบาล พล.ต.ต.อนันต์ ศรีหิรัญ ผู้บังคับการกองบังคับการตำรวจนครบาล 1 พล.ต.ต.ภูวดล วุฑฒกนก ผู้บังคับการกองพลาธิการและสรรพาวุธ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ พ.ต.ต.ชัยฎิภูมิ อำนวยชัย ผู้บังคับกองร้อยที่ 5 กองกำกับการ 2 กองบังคับการตำรวจปฏิบัติการพิเศษ ร.ต.ต.เกรียงไกร กิ่งสามี ด.ต.ณัฐนนท์ ศุภมงคลเจริญ ผู้บังคับหมู่ ร้อย 1 กองกำกับการ 2 กองบังคับการตำรวจปฏิบัติการพิเศษ เป็นต้น

เห็นตำรวจยิงประชาชน


อย่างไรก็ตาม จากการให้ถ้อยคำของผู้ที่เกี่ยวข้องและผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์สลายการชุมนุมบริเวณหน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาลและบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า จำนวนหลายรายให้ถ้อยคำว่า เห็นเจ้าหน้าที่ตำรวจที่อยู่บนอาคาร ต้นไม้ และกำแพงด้านในกองบัญชาการตำรวจนครบาล โดยยิงเข้าใส่ประชาชนที่เดินผ่านถนนศรีอยุธยาด้านหน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาลเพื่อไปยังลานพระบรมรูปทรงม้า และที่เดินผ่านถนนราชดำเนินด้านข้างกองบัญชาการ ตำรวจนครบาลทั้งที่มุ่งหน้าไปยังลานพระบรมรูปทรงม้า และระหว่างการเดินกลับไปยังสะพานมัฆวานฯ รวมทั้งประชาชนที่ยืนจับกลุ่มพูดคุยกันอยู่บนถนนดังกล่าว

ส่ง ป.ป.ช.เชือดตำรวจโหด

จากการรวบรวมพยานหลักฐานทางด้านนิติเวช ยืนยันว่า ประชาชนได้รับบาดเจ็บ และบาดเจ็บสาหัส มีบาดแผลเกิดจากแรงอัดอากาศ หรือแรงระเบิดที่สามารถทำลายเนื้อเยื่อกระดูก และอวัยวะภายในได้อย่างรุนแรงในรายงานตรวจสอบข้อเท็จจริงวันที่ 7 ต.ค.2551 ที่คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน นำเสนอต่อ ป.ป.ช.ระบุว่า บุคคลที่จะต้องรับผิดชอบต่อการสลายการชุมนุมจนเป็นเหตุให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตในส่วนของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ได้แก่ 1. พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร. 2.พล.ต.อ.ปานศิริ ประภาวัตร รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลด้านการปฏิบัติการ 3.พล.ต.อ.วิโรจน์ พหลเวชช์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ที่ได้รับมอบหมายให้ดูแลรับผิดชอบตามแผนกรกฎ/48 4.พล.ต.อ.จงรักษ์ จุฑานนท์ รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาตที่อยู่ด้วยในการประชุมวางแผนทั้งที่ทำเนียบรัฐบาล (ดอนเมือง) และกองบัญชาการตำรวจนครบาล 5.พล.ต.ท.สุชาติ เหมือนแก้ว ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล/ผู้บัญชาการ เหตุการณ์ 6.พล.ต.ต.วิบูลย์ บางท่าไม้ รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล/รองผู้บัญชาการเหตุการณ์ในวันที่ 6 ตุลาคม 2551 ระหว่างเวลา 08.01-20.00 น.แต่ได้รับคำสั่งให้อยู่ปฏิบัติหน้าที่ต่อไปจนกว่าจะมีคำสั่งเปลี่ยนแปลง 7.พล.ต.ต.ลิขิต กลิ่นอวล รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล/รองผู้บัญชาการเหตุการณ์ในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ระหว่างเวลา 20.00-08.00 น.และได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ควบคุม

การปฏิบัติตามภารกิจในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 เวลา 06.15 น.8. พล.ต.ต.เอกรัตน์ มีปรีชา รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล/ รองผู้บัญชาการเหตุการณ์ในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ระหว่างเวลา 08.00-20.00 น.และได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ควบคุมการปฏิบัติภารกิจ โดยเริ่มปฏิบัติการในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ตั้งแต่เวลา 15.00 น.เป็นต้นไป จนกว่าจะเสร็จภารกิจ 9.พล.ต.ต.จักรทิพย์ ชัยจินดา รองผู้บัญชาการตำรวจนครบาล/รองผู้บัญชาการเหตุการณ์ในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 ระหว่างเวลา 20.00-08.00 น.ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ช่วยผู้ควบคุมการปฏิบัติการตามภารกิจของ พล.ต.ต.เอกรัฐ ด้วย 10.พล.ต.ต.ศรีวราห์ รังสิพราหมณกุล ผู้บังคับการตำรวจปฏิบัติการพิเศษ ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ช่วยผู้ควบคุมพื้นที่ 11.พ.ต.อ.ลือชัย สุดยอด ผู้บังคับการตำรวจปฏิบัติการพิเศษ ได้รับมอบหมายให้เป็นผู้ช่วยผู้กำกับดูแลฯ ซึ่งเป็นผู้ขว้างระเบิดแก๊สน้ำตาเข้าใส่ประชาชนเป็นจำนวนมาก ทั้งที่เป็นผู้ที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญด้านการควบคุมฝูงชน ย่อมทราบวิธีการควบคุมฝูงชนและการใช้ระเบิดแก๊สน้ำตาเป็นอย่างดี

“อำนวย” ผิดหนักบิดเบือนข้อมูล

12.พล.ต.ต.อำนวย นิ่มมะโน รอง ผบช.น.ได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนในลักษณะบิดเบือนข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น เช่น ผู้ชุมนุมที่ขาขาด เป็นระเบิดปิงปองของตัวเองหรือพวกตัวเอง เพราะไม่เห็นกับตาบ้าง หรือเป็นเพราะเดินสะดุดรั้วลวดหนามบ้าง แต่ยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ไม่มีอาวุธดังกล่าวแน่นอนเพราะผู้บัญชาการตำรวจนครบาล และผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ กำชับชัดเจนให้ใช้เพียงโล่ และกระบองเสริมเท่านั้น ซึ่งจากภาพที่ปรากฎตามสื่อมวลชนหาใช่ตามที่ พล.ต.ต.อำนวย แถลงแต่ประการใดไม่ เพราะมีทั้งระเบิดแก๊สน้ำตาชนิดยิงและชนิดขว้าง ปืนลูกซอง ปืนพกสั้น และอาวุธปืน MP5 ที่ใช้ในราชการสงคราม การให้ข้อมูลต่อสาธารณชนในลักษณะบิดเบือนข้อเท็จจริงเช่นนี้ ก่อให้เกิดการเข้าใจผิดในหมู่สาธารณชน อาจเข้าข่ายเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ กระทำด้วยประการใดๆ เพื่อช่วยเหลือเจ้าหน้าที่ตำรวจที่กระทำผิดมิให้ต้องรับโทษทางอาญา และเพื่อเป็นการกลั่นแกล้งบุคคลใดให้ได้รับโทษทางอาญา

13.ผู้ควบคุมกำลังหน่วยที่มีระเบิดแก๊สน้ำตา ได้แก่หน่วยกองบังคับการตำรวจปฏิบัติการพิเศษ(บก.ตปพ.) กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน (บช.ตชด.) และกองบังคับการปราบปราม(บก.ป.)

วันที่ 6 ตุลาคม 2551 (20.00-08.00 น.) บก.ตปพ. ได้แก่ พ.ต.ท.มนตรี ศรีทอง และ พ.ต.ท.วิวัฒน์ บุญชัยศรี บช.ตชด.ได้แก่ พ.ต.ท.ฉัตรมงคล พ้นภัย และร.ต.อ.เกษม เวียงนาค บก.ป. ได้แก่ พ.ต.ท.สุริยา อยู่แพทย์

วันที่ 7 ตุลาคม 2551 (08.00-20.00 น.) บก.ตปพ. ได้แก่ พ.ต.อ.สมชาย ภัทรอินโต, พ.ต.ท.ชัยพร บุญชม, พ.ต.ท.สมชาย สวนฐิตะปัญญา และพ.ต.ต.เอกชัย ยืนยาว บช.ตชด. ได้แก่ พ.ต.อ.ณัฐ สิงห์อุดม (อยู่ภายในรัฐสภา)

วันที่ 7 ตุลาคม 2551 (20.00-08.00 น.)บก.ตปพ. ได้แก่ พ.ต.ท.มนตรี ศรีทอง และพ.ต.ท. วิวัฒน์ บุญชัยศรี บช.ตชด.ได้แก่ พ.ต.ท.เชน ทรงเดช และ ร.ต.อ.พิษณุวัชร์ ใจการภ.7 (ตำรวจภูธรภาค 7) พ.ต.อ.ศิรเมศร พันธมณี และพ.ต.ต.ชินโชติ โชติศิริ ที่ได้รับมอบหมายภารกิจดูแลแนวรั้วภายใน กองบัญชาการตำรวจนครบาล

ตำรวจผิดฆ่า-พยายามฆ่า

ผู้ให้ถ้อยคำทั้งประชาชนและสื่อมวลชนหลายคนยืนยันว่า มีการลอบยิง/ซุ่มยิงออกมาจากรั้วภายในกองบัญชาการตำรวจนครบาลเจ้าหน้าที่ตำรวจดังกล่าวต้องรับผิดชอบในการละเมิดสิทธิมนุษยชนดังกล่าว รวมทั้งการละเมิดต่อกฎหมายที่อาจเข้าข่ายเป็นความผิด ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติและ/หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส ฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 295, 297, 288, 289, 83

“สมชาย” โบ้ย “จิ๋ว” คนสั่งการ


ในส่วนของฝ่ายการเมือง ได้แก่ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี โดยในสรุปได้ระบุว่า นายสมชาย ให้ถ้อยคำว่า ก่อนเข้าไปแถลงนโยบายที่รัฐสภาวันที่ 7 ต.ค.ได้ตกลงกันไว้แล้วว่าถ้ามีความจำเป็นต้องเลื่อนการประชุมจะได้รับแจ้งจากประธานสภาได้นัดแล้วควรเป็นไปตามกำหนด หากจะเลื่อนควรแจ้งให้ท่านทราบล่วงหน้า ที่ประชุมตกลงว่าให้ไปประชุมที่รัฐสภาก่อน หากเข้าไปไม่ได้ให้ประธานรัฐสภาสั่งการภายหลัง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ อาสาจะเข้าไปดูแลเรื่องการชุมนุม โดย พล.อ.ชวลิต ได้แจ้งว่าคุยกับฝ่ายตำรวจเรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะกำกับดูแลและบัญชาการเจ้าหน้าที่ตำรวจเอง ขอให้ตำรวจที่รอชี้แจงกับไปทำหน้าที่ดูแลสถานการณ์ นายสมชาย จึงไม่ได้พูดคุยหรือสั่งการเจ้าหน้าที่ฝ่ายตำรวจแต่อย่างใด และไม่ทราบว่า พล.อ.ชวลิต ได้สั่งการอย่างไรไปบ้าง แต่ในเรื่องนี้ พล.อ.ชวลิต รองนายกรัฐมนตรี ได้ให้ถ้อยคำต่อคณะอนุกรรมาธิการฯ วุฒิสภาว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งให้ พล.อ.ชวลิต รับผิดชอบ ซึ่ง พล.อ.ชวลิต ก็มิได้ว่าอะไรในตอนนั้น ก็ให้ไปดูแลอารักขาไม่ให้รัฐสภาถูกเผา แล้วก็ให้มีการประชุมให้มีการผลักดันออกไปให้มีการประชุมให้ได้ในวันรุ่งขึ้น จากนั้น พล.อ.ชวลิต ได้ไปที่ บช.น.มีผู้ติดตามหลายคน เมื่อเดินทางไปถึงก็ประชุม พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ ผบ.ตร.ก็อยู่ด้วย

“จิ๋ว” สั่งสลายก่อน 05.00 น.

อย่างไรก็ตาม คณะอนุกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน เห็นว่า ทั้ง พล.ต.อ.พัชรวาท พล.ต.อ.วิโรจน์ และ พล.ต.ท.สุชาติ ต่างให้ถ้อยคำสอดคล้องต้องกันยืนยันว่า เป็นมติคณะรัฐมนตรี เมื่อคืนวันที่ 6 ตุลาคม 2551 ว่า จะต้องประชุมรัฐสภาให้ได้ในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 โดยมอบหมายแล้วเมื่อ พล.อ.ชวลิต ไปเป็นประธานในการประชุมที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล พล.อ.ชวลิต ก็ได้สั่งการและแจ้งที่ประชุมด้วยว่า คณะรัฐมนตรีมีมติว่า พรุ่งนี้จะต้องไปประชุมเพื่อแถลงนโยบายที่รัฐสภาให้ได้ กับสั่งการให้ดำเนินการใสห้เสร็จสิ้นภายในเวลา 05.00 น.จึงเชื่อว่านายกรัฐมนตรีในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ได้สั่งการให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติรับผิดชอบ ดำเนินการผลักดันประชาชนผู้ร่วมชุมนุมที่ปิดล้อมรัฐสภาออกไป เพื่อให้มีการประชุมแถลงนโยบายในวันที่ 7 ตุลาคม 2551 สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดย พล.ต.อ.พัชรวาท ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ จำต้องปฏิบัติตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรี โดยมี พล.อ.ชวลิต รองนายกรัฐมนตรี เป็นผู้รับผิดชอบ

สั่งยิงแก๊สน้ำตาตาย-เจ็บ

เมื่อมีการปฏิบัติการสลายการชุมนุมโดยใช้ระเบิดแก๊งน้ำตาจากประเทศจีน จนเป็นเหตุให้มีประชาชนได้รับบาดเจ็บ และบาดเจ็บสาหัสเป็นจำนวนมากในช่วงเช้า ทั้งๆ ที่เป็นที่ประจักษ์ชัดอยู่แล้วว่าการสลายการชุมนุมในช่วงเช้าเป็นเหตุให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บและบาดเจ็บสาหัส นายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล แทนที่จะออกคำสั่งห้ามการใช้ระเบิดแก๊สน้ำตาเข้าสลายฝูงชน แต่หาได้กระทำเช่นนั้นไม่ ยังคงปล่อยให้มีการใช้กำลังและยิงระเบิดแก๊สน้ำตาเข้าสลายการชุมนุมอีก เพื่อเปิดทางให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภาและคณะรัฐมนตรีเดินทางอกจากรัฐสภาภายหลังเสร็จสิ้นการแถลงนโยบายต่อรัฐสภาแล้ว แม้การแถลงนโยบายเสร็จสิ้นแล้ว ก็ยังคงปล่อยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจระดมยิงและขว้างระเบิดแก๊สน้ำตาเข้าใส่ประชาชนที่กำลังจะเดินทางเข้าไปช่วยประชาชนที่ถูกล้อมอยู่ที่บริเวณรัฐสภา และที่กำลังเดินทางกลับไปยังสะพานมัฆวานฯ จนเป็นเหตุให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก และเสียชีวิตด้วยที่บริเวณหน้ากองบัญชาการตำรวจนครบาล และลานพระบรมรูปทรงม้า

“สมชาย” ทำเมิน “รสนา” ประท้วง

ที่ นายสมชาย กล่าวอ้างว่า ได้เข้าไปรัฐสภาโดยใช้ประตูด้านข้างเมื่อเวลาประมาณ 09.30 น. ขณะนั้นไม่มีเหตุการณ์รุนแรงแต่อย่างใด ในขณะที่แถลงนโยบาย ผู้ให้ถ้อยคำได้ยิน สมาชิกวุฒิสภาพูดประท้วง แต่เป็นการตะโกนโดยไม่ได้ทำตามระเบียบของรัฐสภา จับความไม่ได้ว่าสมาชิกวุฒิสภาพูดประท้วงแต่เป็นการตะโกนโดยไม่ได้ทำตามระเบียบของรัฐสภา จับความไม่ได้ว่าสมาชิกวุฒิสภา ผู้นั้นประท้วงเรื่องใดบ้าง ผู้ให้ถอยคำแถลงนโยบายเสร็จ เวลา 11.30 น.ระหว่างนั้นนั้นไม่ได้ยินเสียงระเบิดแต่อย่างใด เมื่อแถลงเสร็จแล้วจึงมีผู้มารายงานให้ทราบนั้น เห็นว่าขณะที่นายสมชาย เดินทางเข้าไปในรัฐสภาแม้จะไม่มีเหตุการณ์รุนแรงอย่างใดแล้วก็ตาม แต่หากสังเกตสภาพพื้นถนน ก็ย่อมจะพบร่องรอยของการสลายการชุมนุมที่พื้นถนนเต็มไปด้วยขวดน้ำตกเกลื่อนกลาดเต็มไปหมด และน่าจะทราบว่าเกิดอะไรขึ้น หรือหากไม่ทราบ ก็สามารถสั่งการให้ผู้มีหน้าที่เกี่ยวข้องรายงาน นอกจากนั้นในระหว่างการแถลงนโยบายของรัฐบาล นางสาวรสนา โตสิตระกูล และ นายประสงค์ นุรักษ์ สมาชิกวุฒิสภา ลุกขึ้นประท้วง โดย นายประสงค์ แถลงว่า ไม่เห็นด้วยที่นายกรัฐมนตรีแถลงว่าจะให้ประชาชนมีส่วนร่วม เพราะข้างนอกรัฐสภามีประชาชนจำนวนมากได้รับบาดเจ็บจากการประท้วงและถูกปิดไมโครโฟน น.ส.รสนา จึงยกมือขออนุญาตประธานสภาแล้วแถลงว่า “ดิฉันคิดว่านายกรัฐมนตรีมาแถลงนโยบายในวันนี้ไม่ถูกต้อง เพราะข้างนอกมีประชาชนได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก นโยบายของท่านเป็นกระดาษแต่คนบาดเจ็บข้างนอกป็นของจริง ท่านจะให้สภาเป็นตรายาง รับรองรัฐบาลเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง” แล้วก็ถูกปิดไมโครโฟนเช่นกัน แต่ น.ส.รสนา ยังคงพูดต่อไปแม้ถูกปิดไมโครโฟน

เชื่อ “สมชาย” รู้เหตุการณ์หน้าสภา

จากนั้น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรพรรครัฐบาลโห่แสดงความไม่พอใจ และมีสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหลายคนกรูเข้ามาแสดงความไม่พอใจ และชี้หน้าด่า ว่า “คุณหยุดการทำชั่วเดี๋ยวนี้ คุณมันเลว คุณมันหนักแผ่นดิน" เชื่อว่า นายสมชาย จะต้องได้ยินการลุกขึ้นประท้วงของนายประสงค์ และ น.ส.รสนา เพราะการโห่แสดงความพอใจนั้นเกิดขึ้นภายหลังที่ นายประสงค์ และ น.ส.รสนา ลุกขึ้นประท้วงแล้ว แต่อย่างไรก็ตามเมื่อนายสมชาย ให้ถ้อยคำว่า เมื่อแถลงเสร็จแล้วจึงมีการมารายงานให้ทราบ ก็อนุมานได้ว่า นายสมชาย ทราบดีแล้วว่าเกิดเหตุการณ์ใดขึ้นในช่วงเช้า ประกอบกับ พล.อ.ชวลิต ได้ขอลาออกจากตำแหน่ง เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจากการสลายการชุมนุมในช่วงเช้าด้วยแล้ว เชื่อว่า นายสมชาย ต้องทราบเหตุการณ์และความเสียหายที่เกิดขึ้นจาก

แจ้งข้อหา ครม.ชาย “ฆ่า-พยายามฆ่า”

การสลายการชุมนุมในช่วงเช้า ฉะนั้น นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้สั่งการให้มีการสลายการชุมนุม และ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี ที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบในการสลายการชุมนุมและสั่งการให้มีการสลายการชุมนุม รวมทั้งรัฐมนตรีที่อยู่ด้วยในการประชุมคณะรัฐมนตรี แต่มิได้คัดค้านการใช้กำลังและระเบิดแก๊สน้ำตาเข้าสลายการชุมนุม ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นในการสลายการชุมนุม ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิต่อมนุษยชนและละเมิดต่อกฎหมาย เมื่อ นายสมชาย นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรีทราบว่า ผลของการสลายการชุมนุมในช่วงเช้าเป็นเช่นใดแล้ว กลับปล่อยให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังและระเบิดแก๊สน้ำตาเข้าสลายการชุมนุมอีกในช่วงบ่าย ช่วงเย็น และช่วงกลางคืน จนเป็นเหตุให้มีประชาชนได้รับบาดเจ็บ บาดเจ็บสาหัสจำนวนมาก และมีผู้เสียชีวิตด้วย โดยมิได้ห้ามปรามหรือมีมติหรือคำสั่งระงับยับยั้งการกระทำของเจ้าหน้าที่ตำรวจที่ได้กระทำเกิดกว่าความจำเป็น การกระทำของ นายสมชาย และ พล.อ.ชวลิต รวมทั้งรัฐมนตรีที่อยู่ด้วยในการประชุมคณะรัฐมนตรี แต่มิได้คัดค้านการใช้กำลังและระเบิดแก๊สน้ำตาเข้าสลายการชุมนุ เข้าข่ายเป็นการปฏิบัติและหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด เมื่อปรากฎว่ามีประชาชนได้รับบาดเจ็บ บาดเจ็บสาหัสเป็นจำนวนมาก และมีผู้เสียชีวิตด้วยจากกการกระทำที่เกินความจำเป็นของเจ้าหน้าที่ตำรวจดังกล่าว ซึ่งถือเป็นการละเมิดกฎหมายการกระทำของนายสมชาย นายกรัฐมนตรี พล.อ.ชวลิต รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่อยู่ด้วยในการประชุมคณะรัฐมนตรี แต่มิได้คัดค้านการสลายการชุมนุม เข้าข่ายเป็นความผิดฐานเป็นผู้ใช้ให้บุคคลอื่นกระทำความผิดฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส, ฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157, 295, 297, 288, 84

แนบหนังสือ “อภิสิทธิ์” เร่งรัดสอบ


นอกจากนี้ ในรายงานผลสรุปการตรวจสอบข้อเท็จจริงการสลายชุมนุมวันที่ 7 ต.ค.2551 คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ได้แนบหนังสือลงนามโดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ลงวันที่ 9 ต.ค.2551 เรื่อง ขอให้สอบสวนเหตุการณ์การสลายการชุมนุมวันที่ 7 ต.ค.2551 เรียน ศาสตราจารย์เสน่ห์ จามริก ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ที่ส่งถึงคณะกรรมการสิทธิฯ ส่งแนบท้ายผลสรุปดังกล่าวให้ ป.ป.ช.พิจารณาด้วย ซึ่งหนังสือมีเนื้อหาว่า สืบเนื่องจากเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นจากการที่เจ้าหน้าที่สลายการชุมนุมของประชาชนบริเวณรอบอาคารรัฐสภา และพื้นใกล้เคียงจนเป็นเหตุให้มีประชาชนได้รับบาดเจ็บกว่า 400 คน ความทั้งเจ้าหน้าที่และประชาชนผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตจำนวนหนึ่งเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 พรรคประชาธิปัตย์เห็นว่าเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดจาการสั่งการและปฏิบัติการที่รุนแรงเกินกว่าเหตุตั้งแต่ช่วงเช้าจนถึงยามวิกาลทำให้เกิดการบาดเจ็บล้มตายจำนวนมากถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎหมายและละเมิดต่อสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรงสมควรที่จะต้องสอบสวนหาข้อเท็จจริงเพื่อดำเนินการลงโทษต่อผู้กระทำความผิดต่อไปอาศัยความตามพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.2542 มาตรา 15 ข้อ2 ว่าด้วยอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ในการตรวจสอบและรายงานการกระทำหรือการละเลยการกระทำอันเป็นการละเมิดสิทธิมนุษญชนหรืออันไม่เป็นไปตามพันธกรณีระหว่างประเทศเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนที่ประเทศไทยเป็นภาคี และเสนอมาตรการการแก้ไขที่เหมาะสมต่อบุคคลหรือหน่วยงานที่กระทำหรือละเลยการกระทำดังกล่าวเพื่อดำเนินการในกรณีที่ปรากฏว่า ไม่มีการดำเนินการตามที่เสนอให้รายงานต่อรัฐสภาเพื่อดำเนินการต่อไป

พรรคประชาธิปัตย์ จึงขอให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติดำเนินการสอบสวนเบื้องหน้าเบื้องหลังอันเป็นต้นเหตุของเหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นตามอำนาจหน้าที่เป็นการเร่งด่วนเพื่อลงโทษผู้กระทำผิดต่อไป จึงเรียนมาเพื่อโปรดพิจารณา







ภาพหลักฐานต่างๆที่คณะกรรมการสิทธิฯส่งไปให้ป.ป.ช.











กำลังโหลดความคิดเห็น