xs
xsm
sm
md
lg

กก.สิทธิฯ สรุปชัด 7 ตุลาฆ่าโดยไตร่ตรอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน ออกแถลงการณ์ สรุปชัดเหตุการณ์7 ตุลาเลือด เจ้าหน้าที่รัฐ ร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย หรือจิตใจ ทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตราย สาหัส ฆ่า และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 295,297,288, 289 , 83

เมื่อวานนี้ (19 ธ.ค.) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้ออกแถลงการณ์ สรุปเรื่อง ความรุนแรง สูญเสียจากกรณีการสลายการชุมนุม เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2551 โดยระบุว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กำลังและอาวุธ แก๊สน้ำตาเข้าสลายฝูงชนที่ชุมนุมอยู่ที่บริเวณถนนราชวิถี และถนนอู่ทองใน รอบๆรัฐสภา ตั้งแต่ช่วงเช้าวันที่ 7 ต.ค. เวลาประมาณ 6 นาฬิกาเศษ รวมทั้งการสลายฝูงชนบริเวณลานพระบรมรูปทรงม้า และบริเวณถนน ศรีอยุธยา ด้านกองบัญชาการตำรวจนครบาล ในช่วงบ่ายและเย็นตามลำดับ จนเป็นเหตุให้มีประชาชนและเจ้าหน้าที่ตำรวจได้รับบาดเจ็บ บาดเจ็บสาหัส นอกจากนั้นยังมีประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมเสียชีวิตด้วย

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ได้พิจารณาตรวจสอบจากเอกสาร และคำชี้แจงของผู้ที่เกี่ยวข้องในเรื่องดังกล่าว โดยอาศัยหลักการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550 ตลอดจนพ.ร.บ. คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน กติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง รวมทั้งประมวลหลักการประพฤติปฏิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย และหลักการพื้นฐานในการใช้กำลังและอาวุธโดยเจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมายแห่งสหประชาชาติ

คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติได้กำหนดประเด็นการตรวจสอบดังนี้

ประเด็นที่ 1
การบาดเจ็บและเสียชีวิตของประชาชนและเจ้าหน้าที่ตำรวจ เป็นผลโดยตรงมาจากการใช้ระเบิดแก๊สน้ำตา เข้าสลายการชุมนุมหรือไม่

เห็นว่า ประชาชนที่ได้รับบาดเจ็บและบาดเจ็บสาหัสส่วนใหญ่ให้ถ้อยคำยืนยันว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจบางคนได้ใช้อาวุธระดมยิงระเบิดแก๊สน้ำตา และขว้างระเบิดแก๊สน้ำตาเข้าใส่ประชาชนโดยตรง โดยมีหลักฐานปรากฏตามวัตถุพยานที่เป็นทั้งภาพนิ่ง และภาพเคลื่อนไหวจำนวนมากที่แสดงให้เห็นถึงการใช้อาวุธปืนยิงระเบิดแก๊สน้ำตาในระยะใกล้ โดยยิงในแนวราบที่มีเป้าหมายคือ ประชาชนที่มาร่วมชุมนุม หรือแม้การยิงในวิถีโค้งจากพื้นสู่อากาศ และตกลงสู่พื้นดิน แต่ก็ยังเป็นการยิงในระยะใกล้ โดยผู้เชี่ยวชาญด้านอาวุธปืน และวัตถุระเบิดของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ยืนยันว่า การเสียชีวิตและบาดเจ็บดังกล่าวเกิดจากการถูกยิง หรือถูกขว้างด้วยระเบิดแก๊สน้ำตาที่ผลิตจากประเทศจีน ซึ่งมีจุดระเบิดจุดชนวนถ่วงเวลา และช่วยขยายการระเบิด ระเบิดแบบนี้จะมีอันตรายต่อชีวิต ดังนั้น ปฏิบัติการสลายการชุมนุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจ จึงเป็นเหตุให้เกิดการบาดเจ็บสาหัส และเสียชีวิตดังกล่าว

ประเด็นที่ 2 การใช้กำลังเจ้าหน้าที่ตำรวจ และอาวุธแก๊สน้ำตาเข้าสลายฝูงชนในวันที่ 7 ต.ค. 51 นั้น เป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือไม่

เห็นว่า การปฏิบัติการของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการใช้กำลังและระเบิดแก๊สน้ำตาที่ส่วนใหญ่ผลิตจากประเทศจีน ซึ่งเป็นอาวุธร้ายแรงระดมยิงและขว้างใส่เป้าหมายประชาชน อีกทั้งเป็นการยิงและขว้างในระยะใกล้ รวมทั้งการลอบยิงระเบิดแก๊สน้ำตาออกมาจากภายในรัฐสภา และกองบัญชาการตำรวจนครบาลนั้น เหล่านี้ เป็นการกระทำอันไม่เป็นไปตามหลักการสากลในการสลายการชุมนุม และการใช้แก๊สน้ำตา และทั้งเป็นการปฏิบัติการเกินความจำเป็น เข้าข่ายเป็นการกระทำละเมิดต่อสิทธิมนุษยชน และต่อกฎหมาย

ประเด็นที่ 3 การกระทำเกินความจำเป็นของเจ้าหน้าที่ตำรวจในการใช้กำลังและระเบิดแก๊สน้ำตาเข้าสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 51 เข้าข่ายเป็นความผิดตามกฎหมายใดหรือไม่

เห็นว่า การระดมยิงระเบิดแก๊สน้ำตาเป็นจำนวนมากของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ด้วยการเล็งปืนเข้าสู่เป้าหมายคือ ประชาชนโดยตรง หรือเป็นการขว้างระเบิดแก๊สน้ำตาเข้าใส่ประชาชนโดยตรง รวมทั้งการลอบยิงออกมาจากกองบัญชาการตำรวจนครบาล ย่อมประสงค์ต่อผลหรือเล็งเห็นผลคือ อาจทำให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บสาหัส และอาจถึงแก่ชีวิตได้

ทั้งนี้โดยมีวัตถุพยานที่เป็นภาพนิ่งและภาพเคลื่อนไหวจำนวนมาก ซึ่งบรรดาสื่อมวลชนและประชาชนที่อยู่ในเหตุการณ์ได้บันทึกภาพการสลายการชุมนุมไว้เป็นหลักฐาน นับเป็นการกระทำที่เกินกว่าความจำเป็น และเป็นการปฏิบัติการที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม ทั้งหมดนี้จึงอาจเข้าข่ายเป็นการกระทำความผิด ฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติ หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ เพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ได้รับอันตรายสาหัสฆ่า และพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 , 295 , 297, 288, 289 , 83

ประเด็นสุดท้าย บุคคลใดจะต้องรับผิดชอบต่อการสลายการชุมนุม จนเป็นเหตุให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิต เมื่อวันที่ 7 ต.ค.51 บ้างหรือไม่ เพียงใด

เห็นว่า 1. นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้สั่งการให้มีการสลายการชุมนุมและ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี ที่ได้รับมอบให้รับผิดชอบในการสลายการชุมนุมและสั่งการให้มีการสลายการชุมนุม รวมทั้งรัฐมนตรีที่ร่วมอยู่ด้วยในการประชุมคณะรัฐมนตรี แต่มิได้คัดค้านการใช้กำลังและระเบิดแก๊สน้ำตาเข้าสลายการชุมนุม ต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นในการสลายชุมนุม ซึ่งถือเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิมนุษยชน และละเมิดต่อกฎหมาย เข้าข่ายเป็นความผิดฐานเป็นผู้ใช้ให้บุคคลอื่นกระทำความผิด ฐานทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กาย หรือจิตใจ เป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส ฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157,295, 297, 288,289, 84

2. เจ้าหน้าที่ตำรวจในฐานะผู้ปฏิบัติการ และผู้ควบคุมกำลังหน่วยที่มีระเบิดแก๊สน้ำตา ได้แก่หน่วยกองบังคับการตำรวจปฏิบัติการพิเศษ กองบัญชาการตำรวจตระเวนชายแดน และกองบังคับการปราบปราม

เจ้าหน้าที่ตำรวจที่เกี่ยวข้องเหล่านี้ ต้องรับผิดชอบในการละเมิดสิทธิมนุษยชนดังกล่าว รวมทั้งการละเมิดต่อกฎหมายที่อาจเข้าข่ายเป็นความผิดฐานเป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติและ/หรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเพื่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้หนึ่งผู้ใด ร่วมกันทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายแก่กายหรือจิตใจ ทำร้ายร่างกายผู้อื่นจนเป็นเหตุให้ได้รับอันตรายสาหัส ฆ่าและพยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157, 295,297,288, 289 , 83

ความรุนแรงที่เกิดขึ้นในระบอบประชาธิปไตยครั้งนี้ พึงต้องถือเป็นบทเรียนสำคัญที่จะนำไปสู่การสร้างบรรทัดฐาน และกลไกการบริหารจัดการ สลายการชุมนุมประท้วงให้มีประสิทธิภาพ ทั้งในภาครัฐ ในฐานะที่เป็นผู้คุ้มครองสิทธิเสรีภาพของประชาชน และภาคพลเมืองในฐานะที่เป็นผู้ใช้สิทธิชุมนุมโดยสงบและปราศจากอาวุธ

โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับสถาบันตำรวจ ซึ่งจะต้องมีบทบาทสำคัญในยามที่บ้านเมืองกำลังตกอยู่ในห้วงวิกฤตของการขัดแย้งแตกแยกอย่างกว้างขวาง และรุนแรงภายในสังคมเช่นทุกวันนี้ ดังนั้น คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ จึงมีข้อเสนอแนะและเรียกร้องต่อรัฐบาล เจ้าหน้าที่ผู้บังคับใช้กฎหมาย เพื่อป้องกันมิให้เกิดปัญหาในลักษณะเดียวกันขึ้นอีก

ทั้งนี้ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนเห็นว่าเพื่อประโยชน์แก่การคุ้มครองสิทธิมนุษยชน กรณีเรื่องนี้ควรได้รับการพิจารณาแก้ไข และดำเนินการตามกฎหมาย และกระบวนการยุติธรรมโดยส่งเรื่องให้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ในการดำเนินคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามมาตรา 25 แห่งพ.ร.บ.คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ.2542
กำลังโหลดความคิดเห็น