xs
xsm
sm
md
lg

สภาทนายฯชี้ชัด “พ.ร.ก.ฉุกเฉิน-หมัก” ไม่ชอบ-หวังแค่รักษาเก้าอี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


พิจิตร – สภาทนายความออกแถลงการณ์ต้าน พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ชี้ “หมัก” ทำไม่ชอบด้วยกฎหมาย ประกาศใช้ พ.ร.ก.หวังรักษาเสถียรภาพรัฐบาลเท่านั้น ซึ่งไม่ผ่านมติ ครม.หรือการเห็นชอบจากเหล่าทัพ

วันนี้ (3 ก.ย.) นายกำยุทธ อารีรักษ์ ประธานสภาทนายความ จ.พิจิตร เปิดเผยว่า ขณะนี้สภาทนายความ โดย นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ ประธานสภาทนายความได้ออกแถลงการณ์เวียนไปยังสมาชิกสภาทนายความทั่วประเทศ ว่า ตามที่ได้มีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ในเขตกรุงเทพฯ นั้น สภาทนายความขอแจ้งให้ประชาชนทราบว่า สภาทนายความพิจารณาการประกาศดังกล่าว ว่า ไม่ชอบด้วยกฎหมาย ด้วยเหตุที่ว่า

การดำเนินการเพื่อให้มีการออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของนายกรัฐมนตรี ต้องตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริงที่สุจริต แต่จากการสรุปข้อเท็จจริงตามลำดับขั้นตอนของสถานการณ์จากสื่อมวลชน พบว่า การบาดเจ็บล้มตายที่เกิดขึ้นจากกลุ่ม นปช.ออกมาสร้างความรุนแรง โดยเดินขบวนพร้อมอาวุธไปเปิดฉากปะทะกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ทำให้มีผู้เสียชีวิตและได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายโดยชัดแจ้ง และตามสถานการณ์ ผบ.ตร.ก็ได้ชี้แจงว่ายันไม่ถึงขั้นใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏจึงมีข้อยุติที่รับฟังได้ว่า มีการสร้างสถานการณ์ขึ้น เพราะจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏกลุ่มบุคคล ซึ่งมีอาวุธครบมือที่ร่วมชุมนุมที่สนามหลวงได้เดินขบวนพร้อมอาวุธ มีระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร จากสนามหลวงมาตามถนนราชดำเนินถึงสะพานมัฆวาน โดยใช้เวลาถึง 1 ชั่วโมงเศษ

ตำรวจสามารถที่จะใช้กำลังกั้นได้อยู่แล้ว แต่กลับสามารถฝ่าด่านป้องกันของตำรวจเข้าไปทำร้ายกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ตั้งอยู่ ณ ถนนราชดำเนิน บริเวณสะพานมัฆวาน ตอนเช้ามืดของวันที่ 2 กันยายน 2551 (เวลาประมาณ 08.30 น.) เป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอย่างชัดเจนและกลุ่มบุคคลดังกล่าวก็มีแกนนำ ซึ่งนำอดีตผู้บริหารพรรคการเมืองที่ถูกยุบไปแล้ว รวมทั้งบุคคลที่มีเครือข่ายเกี่ยวข้องกับรัฐบาลทั้งโดยทางตรง-โดยอ้อม

ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่า สถานการณ์ฉุกเฉินที่นายกรัฐมนตรีอ้าง เป็นการทำให้เกิดขึ้นทั้งๆ ที่ไม่ได้มีอยู่จริง และการประกาศใช้อำนาจ ตามพระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉิน เมื่อเวลา 08.13 น.ของนายกรัฐมนตรีนั้นเหตุการณ์ได้สงบไปแล้ว ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็ได้รับทราบตั้งแต่เวลา 05.07 น.วันเดียวกัน

กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ทำการประท้วงเกี่ยวกับนโยบายและการทำงานของรัฐบาลมาโดยตลอดระยะเวลา 100 วัน ก็ยังไม่มีสถานการณ์ฉุกเฉินแต่อย่างใด มีการประทะกันบ้างกับเจ้าพนักงานตำรวจในบางจุด แต่ก็ไม่ถึงขนาดมีกรณีผู้เสียชีวิตหรือบาดเจ็บเป็นจำนวนมากเช่นในครั้งนี้ การกระทำที่ผิดกฎหมายอาญาโดยชัดเจน จึงเป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่จะต้องรีบดำเนินการหาตัวการผู้กระทำผิด ผู้ใช้ และผู้สนับสนุนเพื่อนำตัวมาลงโทษตามกฎหมายโดยเร็ว

คณะกรรมการสภาทนายความ ในการประชุมด่วน พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของนายกรัฐมนตรี เป็นการเลือกตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีแต่ผู้เดียวที่ต้องรับผิดชอบ เพราะยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และการเสนอแนะของคณะกรรมการบริหารสถานการณ์ฉุกเฉินตามกฎหมาย นายกรัฐมนตรีอาจจะเรียกประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อขอรับความเห็นชอบในวันนี้ก็ได้ แต่วิธีการเช่นนี้ทำให้เห็นถึงความไม่รอบคอบและไม่น่าเชื่อว่าได้กระทำโดยสุจริตตั้งแต่เริ่มต้น

คณะกรรมการสภาทนายความ เห็นว่า หลักการใช้กฎหมายไม่ว่าจะเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหาร หรือฝ่ายตุลาการ ต้องใช้โดยสุจริตและเที่ยงธรรม การออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินเพียงเพื่อป้องกันมิให้รัฐบาลต้องล่มสลายเ พราะดำเนินนโยบายผิดพลาด แม้จะได้มีการพิจารณาและเสนอแนะในการประชุมร่วมกันของงรัฐสภาเมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2551 ที่ผ่านมา แต่ก็ไม่มีผลประการใด

ดังนั้น การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน จึงเป็นการรองรับความตั้งใจของรัฐบาลที่จะอยู่บริหารประเทศต่อไป แต่เมื่อไม่มีสถานการณ์ฉุกเฉิน ที่เกิดขึ้นจริงตามกฎหมาย การใช้อำนาจหน้าที่ของนายกรัฐมนตรีในการออกประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินดังกล่าว จึงไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพราะที่มาและข้อเท็จจริงที่ใช้เป็นหลักฐานอ้างอิง เพื่อประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินนั้นเป็นเรื่องที่ทางรัฐบาลรู้และเห็นชอบ ทั้งโดยทางตรงและโดยทางอ้อมให้เกิดสถานการณ์ประจันหน้าโดยปล่อยให้มีการกระทบกระทั่งกันจนเสียเลือดเนื้อ และชีวิตดังกล่าว

ทั้งนี้ หากต่างฝ่ายชุมนุมโดยสงบไม่ฝ่าฝืนต่อกฎหมายรัฐธรรมนูญแล้ว ก็จะไม่เกิดเหตุการณ์รุนแรงขึ้น การที่รัฐบาลเห็นอยู่ชัดเจนว่าผู้ที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายมีอาวุธอยู่ในมือแต่ไม่ปราบปราม กลับปล่อยให้เกิดการทำร้ายร่างกาย และก่อให้เกิดความเสียหายกับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนนั้น รัฐบาลต้องรับผิดชอบในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น

กำลังโหลดความคิดเห็น