xs
xsm
sm
md
lg

“สภาทนายความ” เรียกร้อง “นายกฯ” รับผิดชอบประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน

เผยแพร่:   โดย: ทีมข่าวอาชญากรรม

นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความ
“สภาทนายความ” ออกแถลงการณ์ เรียกร้อง “นายก ฯ” รับผิดชอบประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ชี้ ยังไม่ผ่านความเห็นชอบจาก ครม.เชื่อน่าจะมีเจตนาไม่สุจริต ขณะที่ข้อเท็จจริงพบ มีการสร้างสถานการณ์ ผู้ชุมนุมกลุ่มสนามหลวง ก่อเหตุรุนแรง ขนอาวุธ ปะทะพันธมิตรฯ


วันนี้ (2 ก.ย.) ที่สภาทนายความ ถ.ราชดำเนิน นายเดชอุดม ไกรฤทธิ์ นายกสภาทนายความ แถลงการณ์ของสภาทนายความ เรื่อง การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ในเขตกรุงเทพมหานคร โดยระบุว่า ตามที่ได้มีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ในเขตกรุงเทพมหานคร โดย นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ในวันที่ 2 กันยายน 2551 พร้อมมีคำสั่งให้ผู้บัญชาการทหารบก รองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร เป็นหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ส่วนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และแม่ทัพภาคที่ 1 ให้เป็นรองหัวหน้าผู้รับผิดชอบในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน มีอำนาจในการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน นั้น สภาทนายความ เห็นว่า การบาดเจ็บล้มตายที่เกิดขึ้นจึงมาจากการที่ กลุ่ม นปช.ได้ออกมาสร้างความรุนแรง โดยเดินขบวนพร้อมอาวุธไปเปิดฉากปะทะกับกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ทำให้มีผู้เสียชีวิต และได้รับบาดเจ็บจำนวนมาก เป็นการกระทำผิดกฎหมายโดยชัดแจ้ง และตามสถานการณ์ ผบ.ตร.ก็ได้ ชี้แจงว่า ยังไม่ถึงขั้นใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน

จากข้อเท็จจริงที่ปรากฏ จึงมีข้อยุติที่รับฟังได้ว่า มีการสร้างสถานการณ์ขึ้น โดยปรากฏกลุ่มบุคคลซึ่งมีอาวุธครบมือที่ร่วมชุมนุมที่สนามหลวงได้เดินขบวนพร้อมอาวุธ มีระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร จากสนามหลวงมาตามถนนราชดำเนินถึงสะพานมัฆวาน โดยใช้เวลาถึง 1 ชั่วโมงเศษ ซึ่งตำรวจสามารถที่จะใช้กำลังสกัดกั้นได้อยู่แล้ว แต่กลับสามารถฝ่าด่านป้องกันของตำรวจเข้าไปทำร้ายกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยที่ตั้งอยู่ ถนนราชดำเนิน บริเวณเชิงสะพานมัฆวาน ตอนเช้ามืดของวันที่ 2 ก.ย.2551 เวลาประมาณ 01.00 น.เศษ ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายอย่างชัดเจน และกลุ่มบุคคลดังกล่าวก็มีแกนนำซึ่งนำโดยอดีตผู้บริหารพรรคการเมืองซึ่งถูกยุบไปแล้ว รวมทั้งบุคคลที่มีเครือข่ายเกี่ยวข้องกับรัฐบาลทั้งโดยทางตรงและโดยทางอ้อม ทำให้เห็นได้ชัดเจนว่าสถานการณ์ฉุกเฉินที่นายกรัฐมนตรีอ้างนั้นเป็นการทำให้เกิดขึ้นทั้งๆ ที่ไม่ได้มีอยู่จริง และการประกาศใช้อำนาจตามพระราชกำหนดสถานการณ์ฉุกเฉินเมื่อเวลา 08.03 น.ของนายกรัฐมนตรี นั้น เหตุการณ์ได้สงบไปแล้ว ซึ่งนายกรัฐมนตรีก็ได้รับทราบตั้งแต่เวลา 05.07 น.

โดยการที่กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ได้ทำการประท้วงก็เกี่ยวกับนโยบายและการทำงานของรัฐบาล ซึ่งตลอดระยะเวลา 100 วัน ก็ยังไม่มีสถานการณ์ฉุกเฉินแต่อย่างใด มีการปะทะกันบ้างกับเจ้าพนักงานตำรวจในบางจุด แต่ก็ไม่ถึงขนาดมีกรณีผู้เสียชีวิต หรือบาดเจ็บเป็นจำนวนมากเช่นในครั้งนี้ ดังนั้น การกระทำที่ผิดกฎหมายอาญาโดยชัดเจนจึงเป็นเรื่องที่เจ้าหน้าที่จะต้องรีบดำเนินการหาตัวการผู้กระทำผิด ผู้ใช้ และผู้สนับสนุนเพื่อนำตัวมาลงโทษตามกฎหมายโดยเร็ว

ทั้งนี้ ในการประชุมคณะกรรมการสภาทนายความ ที่ประชุมด่วนในวันนี้ (2 ก.ย.) พิเคราะห์แล้วเห็นว่า การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินของนายกรัฐมนตรี เป็นการเลือกตัดสินใจของ นายกรัฐมนตรีแต่ผู้เดียวที่ต้องรับผิดชอบ เพราะยังไม่ได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และการ เสนอแนะของคณะกรรมการบริหารสถานะการณ์ฉุกเฉินตามกฎหมาย นายกรัฐมนตรีอาจจะเรียกประชุม คณะรัฐมนตรีเพื่อขอรับความเห็นชอบในวันนี้ก็ได้ แต่วิธีการเช่นนี้ทำให้เห็นถึงความไม่รอบคอบ และไม่น่าเชื่อว่าได้กระทำโดยสุจริตตั้งแต่เริ่มต้น ดังนั้น การที่รัฐบาลเห็นอยู่ชัดเจนว่าผู้ที่ก่อให้เกิดความวุ่นวายมีอาวุธอยู่ในมือแต่ไม่ปราบปราม กลับปล่อยให้เกิดการทำร้ายร่างกาย และก่อให้เกิดความเสียหายกับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน นั้น รัฐบาลต้องรับผิดชอบในเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น
กำลังโหลดความคิดเห็น