xs
xsm
sm
md
lg

โพลชี้ประชาชนไม่พอใจสมชายจากกรณี7ตุลาฯ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วานนี้ (19 ต.ค.) ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการสำนักวิจัยเอแบคโพลล์ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลวิจัยเรื่องสำรวจฐานสนับสนุนของ กลุ่มคนคอการเมือง ต่อพรรคการเมืองและกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย หลังเกิดเหตุปะทะ 7 ต.ค. 51 กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนผู้ติดตามข่าวสารการเมืองใกล้ชิด (ทุกวัน/เกือบทุกวัน) ใน 18 จังหวัดของประเทศ ได้แก่ กรุงเทพมหานคร เชียงใหม่ ลำปาง แพร่ นครสวรรค์ สมุทรสาคร ระยอง ลพบุรี นครปฐม นนทบุรี ชลบุรี มหาสารคาม สุรินทร์ อุบลราชธานี นครราชสีมา พัทลุง สุราษฎร์ธานี และนครศรีธรรมราช จำนวนตัวอย่าง ทั้งสิ้น 3,667 ตัวอย่าง มีระยะเวลาการดำเนินโครงการระหว่างวันที่ 11-18 ต.ค.51

**คนส่วนใหญ่ไม่พอใจท่าทีนายกฯ
หลังเกิดเหตุปะทะวันที่ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา ผลสำรวจพบว่า กลุ่มคนคอการเมืองที่ติดตามข่าวการเมืองเป็นประจำทุกวัน หรือเกือบทุกวัน ให้คะแนนความสง่างาม และความชอบธรรมของรัฐบาลโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 4.37 จากคะแนนเต็ม 10 คะแนน มีความหมายว่า ค่อนข้างน้อย และความพอใจต่อท่าทีของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี เฉลี่ยอยู่ที่ 4.60 มีความหมายว่า ค่อนข้างน้อย และความขัดแย้งรุนแรงทางการเมืองจะเพิ่มขึ้นอีกเฉลี่ยอยู่ที่ 5.66 มีความหมายว่า ค่อนข้างมาก
นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบด้วยว่า ร้อยละ 43.8 ของผู้ที่ถูกศึกษาสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ รองลงมา คือร้อยละ 39.5 สนับสนุนพรรคพลังประชาชน และร้อยละ 16.7 สนับสนุนพรรคอื่นๆ เมื่อจำแนกออกตามเพศ พบว่า ผู้หญิงสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์มากกว่าผู้ชาย คือร้อยละ 47.6 ต่อร้อยละ 39.8 ในขณะที่กลุ่มผู้ชายสนับสนุนพรรคพลังประชาชนมากกว่าผู้หญิง คือร้อยละ 42.8 ต่อร้อยละ 36.4 ตามลำดับ แต่กลุ่มผู้ชายและกลุ่มผู้หญิงสนับสนุนพรรคอื่นๆไม่แตกต่างกันคือ ร้อยละ 17.4 ต่อร้อยละ 16.0 ตามลำดับ
เมื่อจำแนกออกตามช่วงอายุ พบว่า กลุ่มตัวอย่างที่สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ อยู่ในวัยทำงานระหว่าง 20-29 ปี และระหว่าง 30-39 ปี ร้อยละ 45.2 และร้อยละ 47.4 ตามลำดับ ในขณะที่พรรคพลังประชาชนมีผู้สนับสนุนมากในช่วงอายุ 50 ปีขึ้นไป คือร้อยละ 44.9 และในช่วงอายุระหว่าง 40-49 ปีมีอยู่ร้อยละ 41.9 ตามลำดับ
แต่เมื่อจำแนกตามระดับการศึกษา พบว่า พรรคประชาธิปัตย์ ได้รับการสนับสนุนเกินครึ่งจากกลุ่มผู้มีการศึกษาระดับปริญญาตรี คือ ร้อยละ 52.5 และจำนวนมากหรือร้อยละ 42.5 ของผู้มีการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรี ในขณะที่ผู้มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรีร้อยละ 40.1 สนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์
อย่างไรก็ตาม พรรคพลังประชาชนได้รับการสนับสนุนมากจากผู้มีการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี คือร้อยละ 44.0 ในขณะที่ปริญญาตรี ร้อยละ 30.1 และสูงกว่าปริญญาตรี ร้อยละ 31.0 สนับสนุนพรรคพลังประชาชน ที่เหลือสนับสนุนพรรคอื่นๆ

**นักเรียน-นศ.หนุนปชป.
เมื่อจำแนกตามกลุ่มอาชีพ พบว่า พรรคประชาธิปัตย์ ได้รับการสนับสนุนมากจากนักเรียนนักศึกษา ร้อยละ 51.0 จากกลุ่มธุรกิจส่วนตัวและค้าขายร้อยละ 50.7 พนักงานบริษัทเอกชนร้อยละ 46.2 แม่บ้านเกษียณอายุร้อยละ 45.7 ที่น่าพิจารณา คือ พรรคประชาธิปัตย์ ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มใช้แรงงาน และเกษตรกรเพียงร้อยละ 26.9
ในขณะที่ พรรคพลังประชาชน ยังคงได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มอาชีพใช้แรงงานและเกษตรกรมากถึงร้อยละ 55.8 และกลุ่มว่างงานได้ร้อยละ 40.7 กลุ่มแม่บ้านเกษียณอายุร้อยละ 40.2 และกลุ่มข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจร้อยละ 40.1 หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง คือ พรรคพลังประชาชนได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มอาชีพใช้แรงงาน เกษตรกร กลุ่มคนว่างงาน และข้าราชการ พนักงานรัฐวิสาหกิจ ในขณะที่พรรคประชาธิปัตย์ได้รับการสนับสนุนมากกว่าในกลุ่มนักเรียน นักศึกษา พนักงานบริษัทเอกชน ธุรกิจส่วนตัวหรือค้าขาย กลุ่มแม่บ้านและเกษียณอายุ
เมื่อจำแนกตามภูมิภาค พบว่า พรรคประชาธิปัตย์ได้รับการสนับสนุนในภาคใต้เป็นส่วนใหญ่ คือร้อยละ 83.1 ตามด้วยภาคกลางได้ร้อยละ 47.6 กรุงเทพมหานคร ได้ร้อยละ 44.9 ในขณะที่พรรคพลังประชาชน ได้มากที่สุดในภาคเหนือ คือร้อยละ 58.2 รองลงมาคือภาคตะวันออกเฉียงเหนือได้ร้อยละ 48.3 และกรุงเทพมหานคร ได้ร้อยละ 40.0 ตามลำดับ ที่เหลือคือพรรคอื่นๆ

**ปชป.คะแนนนิยมเพิ่ม
ที่น่าพิจารณา คือ การจำแนกฐานสนับสนุนพรรคการเมือง ออกจากกลุ่มคนที่เคยตัดสินใจเลือกพรรคการเมืองในการเลือกตั้งครั้งก่อน พบว่า พรรคใหญ่สองพรรค ยังคงได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มคนนิยมศรัทธาเป็นส่วนใหญ่เหมือนเดิม คือ คนเคยเลือกพรรคประชาธิปัตย์ร้อยละ 86.8 ยังคงสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ คนเคยเลือกพรรคพลังประชาชนร้อยละ 84.3 ยังคงสนับสนุนพรรคพลังประชาชน แต่ที่น่าจับตามอง คือ คนเคยเลือกพรรคอื่นๆ หันมาสนับสนุนพรรคประชาธิปัตย์ เกือบ 1 ใน 3 หรือร้อยละ 30.5 และไปสนับสนุนพรรคพลังประชาชน ร้อยละ 23.3 ขณะที่ยังคงสนับสนุนพรรคอื่นๆ ร้อยละ 46.2 เท่านั้น เหตุผลส่วนหนึ่งมาจากคนที่เคยเลือกพรรคอื่นๆ กำลังเรียกร้องให้พรรคร่วมรัฐบาลแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ปะทะ 7 ต.ค.ที่ผ่านมา

**คนใต้-ภาคกลางหนุนพันธมิตรฯ
ดร.นพดล กล่าวว่า สำหรับมิติการเคลื่อนไหวของการเมืองภาคประชาชน คือ ฐานสนับสนุนต่อกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ผลสำรวจพบว่า ประชาชนผู้ถูกศึกษาแยกกลุ่มออกเป็นกลุ่มสนับสนุนกลุ่มพันธมิตรฯ กลุ่มไม่สนับสนุนกลุ่มพันธมิตรฯ และกลุ่มขออยู่ตรงกลางหรือพลังเงียบในสัดส่วนเท่าๆ กัน คือ ร้อยละ 34.0 สนับสนุนกลุ่มพันธมิตรฯ ร้อยละ 34.8 ไม่สนับสนุน และร้อยละ 31.2 ขออยู่ตรงกลาง ซึ่งสภาวะเช่นนี้เป็นสภาวะที่ทุกๆ ฝ่ายต้องให้ความสำคัญต่อปรากฏการณ์ของการแบ่งกลุ่มเป็นสามก๊ก สามฝ่ายแบบที่ไม่ค่อยจะปรากฏให้เห็นในการสำรวจที่ผ่าน ๆ มา
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อจำแนกออกตามภูมิภาค พบว่า กลุ่มพันธมิตรฯ ได้รับการสนับสนุนมากที่สุดในภาคใต้ คือร้อยละ 61.9 ในภาคกลาง ร้อยละ 35.6 และในกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 34.9 ขณะที่กลุ่มไม่สนับสนุนพันธมิตรฯ มีมากที่สุดในภาคเหนือ ร้อยละ 46.6 ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ หรืออีสานร้อยละ 39.1 ส่วนในภาคกลางมีอยู่ร้อยละ 33.3 และกรุงเทพฯ มีอยู่ร้อยละ 33.0 ที่ไม่สนับสนุนกลุ่มพันธมิตรฯ ที่เหลือขออยู่ตรงกลาง คือไม่เลือกฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดอีกประมาณร้อยละ 30 ซึ่งถือว่ามีสัดส่วนไม่แตกต่างกันกระจายตัวอยู่ในทุกภูมิภาคของประเทศ

**เผย10 พฤติกรรม ที่คนไทยเปลี่ยนไป
จากเหตุการณ์สลายม็อบพันธมิตรของตำรวจ เมื่อวันที่ 7 ต.ค.51 ได้เกิดความขัดแย้ง บานปลาย จนทำให้ทุกฝ่ายต้องพยายามหาแนวทางแก้ไข เพื่อศึกษาข้อมูลพื้นฐานโดยเฉพาะพฤติกรรมของ คนไทยที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ดังกล่าว ซึ่งจะเป็นข้อมูลประกอบการแก้ไข ฟื้นฟู เพื่อให้ประเทศชาติสงบเรียบร้อยโดยเร็ว
สวนดุสิตโพล มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนดุสิต จึงได้สำรวจความคิดเห็นของประชาชน ทุกสาขาอาชีพทั่วประเทศ จากการสุ่มตัวอย่างจากจังหวัดต่างๆที่เป็นตัวแทนภูมิภาค 19 จังหวัดทั่วประเทศ จำนวน 3,481 คน (กรุงเทพฯ 1,312 คน 37.69% ต่างจังหวัด 2,169 คน 62.31%) ระหว่างวันที่ 13-19 ต.ค. 51 พบ 10 พฤติกรรม ของคนไทยที่เปลี่ยนแปลงไป จากผลกระทบเหตุการณ์ 7 ตุลาคม 51 ดังนี้
1. มีความสนใจข่าวการเมือง /ความขัดแย้งระหว่างพันธมิตรกับรัฐบาลมากขึ้น 21.49%
2. สนใจข่าวเศรษฐกิจ/ราคาสินค้า/น้ำมัน/หุ้น มากขึ้น 21.14%
3. มีความหนักใจเรื่องปัญหาบ้านเมืองหาทางออกยาก 11.84%
4. เครียดจากปัญหาบ้านเมือง เศรษฐกิจ เพิ่มมากขึ้น 11.12%
5. ต้องระมัดระวังคำพูด /การแสดงออกทางการเมือง เพราะไม่รู้ฝ่ายใดเป็นฝ่ายใด8.62%
กำลังโหลดความคิดเห็น