กรรมการบริหาร ปชป.เรียกร้อง “รัฐบาลเขยแม้ว” รับผิดชอบด้วยการ “ยุบสภา” ก่อนชาติหายนะ ระบุประเทศเสี่ยงสูญเสียประชาธิปไตย และสูญเสียชีวิตเพราะความขัดแย้งของ ปชช. แทงใจดำอย่าอ้างจัดงานพระราชพิธีหวังยื้ออำนาจ จี้ “ชัย ชิดชอบ” รับผิดชอบ 7 ตุลาทมิฬ เตรียมบอยคอตไม่ร่วมพิธีบุญล้างบาปที่สภา
วันนี้ (19 ต.ค.) นายสาธิต ปิตุเตชะ กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงกรณีที่นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรียังยืนยันบริหารประเทศชาติต่อไปว่า ขณะนี้นายสมชายมีท่าทีเปลี่ยนแปลงไปจากที่เคยเป็นความหวังของประเทศ แต่วันนี้พฤติกรรมและสถานการณ์ซ้ำรอย พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และนายสมัคร สุนทรเวช โดยไม่ได้คิดแก้ปัญหาประเทศ และไม่รับผิดชอบต่อสถานการณ์บ้านเมือง
“วันนี้นายสมชายกำลังนำพาประเทศไปสู่หายนะบนความเสี่ยง 3 ปัจจัย คือ 1.เสี่ยงที่ประเทศกำลังสูญเสียประชาธิปไตย ทั้งที่รัฐบาลและ พปช.อ้างเสมอว่าเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้ง 2.เสี่ยงต่อภาวะเศรษฐกิจที่จะทำให้ประเทศล่มจม เพราะกำลังอยู่ในภาวะล่อแหลมของเศรษฐกิจโลก ทั้งตลาดทุนและสถาบันการเงิน 3.เสี่ยงต่อความสูญเสียชีวิตประชาชนท่ามกลางความขัดแย้งของคนสองกลุ่ม แทนที่ผู้บริหารประเทศจะลดความขัดแย้งนำประเทศไปสู่ความสงบ แต่วันนี้เห็นได้ชัดว่า นายสมชายไม่ได้ทำสิ่งเหล่านี้ให้เกิดขึ้น” นายสาธิตกล่าว
ส่วนที่นายกฯ ยืนยันจะรอผลการสอบของคณะกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณี 7 ต.ค.นั้น นายสาธิต กล่าวว่า ตนคิดว่าไม่มีผลอะไร เพราะคณะกรรมการเองก็บอกว่า มีอำนาจเพียงรวบรวมข้อเท็จจริง ส่งให้รัฐบาลเท่านั้น ไม่มีหน้าที่สรุปความถูกผิดในเหตุการณ์ 7 ตุลาคม 51 ส่วนข้ออ้างจัดงานใหญ่ 3 งาน เป็นข้ออ้างเก่าที่นายสมัครก็เคยอ้างมาก่อน และงานนี้ไม่ว่าใครก็สามารถดำเนินการได้ ที่สำคัญคือ ประเทศชาติกำลังไปสู่หายนะ แต่นายสมชายไม่ได้นำพาในการแก้ไขปัญหา พรรคขอเรียกร้องให้นายสมชายยุบสภาคืนอำนาจให้ประชาชน ปลดล็อกสถานการณ์เพื่อให้คลี่คลายไปสู่การเริ่มต้นใหม่ อย่างน้อยทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งและอึมครึมที่เกิดขึ้นมีความชัดเจนขึ้นมาในระดับหนึ่ง นักลงทุนและนักวิเคราะห์จะได้มีความชัดเจนที่จะประเมินความเสี่ยงในการลงทุน
ด้าน นายบุญยอด สุขถิ่นไทย รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ เรียกร้องให้นายสมชายสวมวิญญาณผู้พิพากษาเพื่อหาทางออกให้แก่ประเทศชาติในขณะนี้ โดยอยากเห็นนายสมชายรับฟังข้อเท็จจริงจากทุกกลุ่มอย่างแท้จริง
นายบุญยอด กล่าวด้วยว่า การเดินทางไปที่อุบลราชธานี เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม อาจจะเห็นภาพมายาจากบางกลุ่มที่อยากให้สู้ต่อ การไปประชุมร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาลอาจจะมีคนอยากให้สู้ต่อ แต่ยังมีอีกหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นนักวิชาการ หรือกรรมการสิทธิมนุษยชน ที่เห็นว่ารัฐบาลต้องรับผิดชอบกับการสลายการชุมนุม ก็เป็นข้อเรียกร้องจากสังคมหลายกลุ่ม จึงอยากให้นายสมชายที่เคยเป็นผู้พิพากษากล้าตัดสินใจในเวลาที่เหมาะสม เพราะการให้ความยุติธรรมที่ล่าช้าถือว่าไม่ใช่ความยุติธรรม ซึ่งความยุติธรรมจะเกิดขึ้นได้ต้องอยู่ในระยะเวลาที่เหมาะสม
“จึงขอยืนยันว่า 15 วันนานเกินไปสำหรับการตัดสินใจเรื่องใหญ่ของชาติ อยากเห็นนายกฯ เสียสละ อย่านำเรื่องการเมืองหรือผลประโยชน์ส่วนตัวของครอบครัวมาเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ และขอให้ตัดสินใจอย่างเร่งด่วนที่สุด การที่บอกว่าจะอยู่เพื่อทำ 3 พิธีใหญ่ ทุกคนตอบได้ว่า ถ้าไม่ใช่นายกฯ สมชายคนอื่นก็ทำได้ คนไทยทั้งสังคมพร้อมทำราชพิธีเหล่านี้ โดยไม่ต้องมีนายสมชาย ถ้าอ้างว่าจำเป็นต้องทำทั้ง 3 พิธีแล้วต้องอยู่ต่อ”
“ผมขอว่ารัฐบาลนี้ซึ่งเป็นรัฐบาลที่เราไม่ยอมรับ เพราะมีปัญหาตั้งแต่การแถลงนโยบายที่ไม่ชอบ อย่าทำการเซ็นสัญญาหรือเจรจาอื่นๆ อย่าใช้งบประมาณแม้แต่บาทเดียวเข้าไปทำเมกะโปรเจกต์ในโครงการต่างๆ ให้ทำเฉพาะ 3 พิธีนี้แล้วออกไป ถ้าจะอ้างทำ 3 พิธีนี้ให้ได้ อย่าทำเรื่องอื่นเด็ดขาด เพราะเรื่องอื่นเป็นสิ่งที่ประชาชนไม่ยอมรับ” นายบุญยอดกล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่า นายกรัฐมนตรีควรรับผิดชอบอย่างไร ต่อกรณีที่ ป.ป.ช.มีมติว่านายสมชายทำวินัยร้ายแรงสมัยเป็นปลัดกระทรวงยุติธรรม นายบุญยอด กล่าวว่า ต้องถามนายกฯ ว่าคนเป็น ส.ส. กับคนเป็นรัฐมนตรี ใครต้องมีจริยธรรมสูงกว่ากัน ซึ่งรัฐมนตรีต้องมีจริยธรรมสูงกว่า ส.ส. นายกรัฐมนตรีต้องมีจริยธรรมสูงกว่าคนเป็นรัฐมนตรี และนายกฯ ที่มาจากผู้พิพากษายิ่งต้องมีจริยธรรมสูงที่สุด ถ้าโดนชี้มูลในคดีอย่างนี้แล้ว เราคงต้องถามหาจริยธรรมจากนายกฯว่าท่านยังสะกดคำว่าจริยธรรมเป็นหรือไม่ ทั้งนี้ เห็นว่าถ้าเป็นในประเทศอื่นเขาคงลาออกไปแล้ว ต้องรับผิดชอบแล้วเพราะโดนชี้มูลว่ามีความผิด
นายบุญยอด ยังเรียกร้องต่อสื่อมวลชนด้วยว่า เข้าใจว่าสื่อมวลชนทำงานด้วยความยากลำบาก แต่สื่อมวลชนก็ต้องตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลทุกกระทรวงว่าเขากำลังทำอะไรกันอยู่ การเจรจาไทย-กัมพูชาที่อ้างเรื่องความมั่นคง จะต้องยืนยันว่าไทยไม่ได้เสียพื้นที่รอบบริเวณปราสาทพระวิหาร 4.6 ตารางกิโลเมตร เพียงแต่เสียการใช้พื้นที่บริเวณดังกล่าว แต่ไม่ได้เสียเอกราช ซึ่งคนไทยทุกคนและสื่อต้องยืนยัน และอยากให้สื่อตรวจสอบว่ารัฐบาลต้องการอยู่ต่อเพื่ออะไรกันแน่ โดยเฉพาะการนำมวลชนปะทะมวลชนที่อาจมีความเห็นแตกต่างกัน สิ่งเหล่านี้กำลังทำให้ประเทศเดินเข้าสุ่กลียุคใช่หรือไม่ กำลังเดินไปสู่ 19 ก.ย.2549 ใช่หรือไม่ สื่อมวลชนต้องพยายามสกัดกั้นไม่ให้สองฝ่ายมาตีกัน เพราะคนไทยไม่ควรฆ่ากัน
นายบุญยอด ยังกล่าวถึงกรณีที่ นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร ขอให้สมาชิกรัฐสภาร่วมพิธีทำบุญที่อาคารรัฐสภาวันพรุ่งนี้ว่า พวกตนได้รับเพียงข้อความผ่านโทรศัพท์มือถือเท่านั้น โดยตนยังไม่ได้รับจดหมายเชิญ และมีข้อสงสัยด้วยว่า พิธีที่ว่านี้มีความพิเศษอย่างไร หากนายชัยอยากทำบุญถือเป็นเรื่องที่ดี แต่การทำบุญไม่ใช่การล้างความผิด สำหรับตนไม่ขอไปร่วมในพิธีทำบุญดังกล่าว เพราะไม่ได้รับเชิญอย่างเป็นทางการ โดยปกติพิธีการวางพานพุ่มต้องแต่งชุดขาวเต็มยศ แต่ข้อความที่ส่งมาบอกให้แต่งกายสุภาพ จึงไม่เข้าใจว่างานนี้คืองานอะไรกันแน่ เพราะไม่มีการบอกรายละเอียดเกี่ยวกับพิธีดังกล่าวว่า เป็นพิธีที่ทำกันตามปกติ หรือทำบุญเพื่อลบล้างความผิดต่อความรุนแรงที่เกิดขึ้น
“ผมขอเรียกร้องให้ประธานรัฐสภาแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์วันที่ 7 ต.ค. เพราะจนถึงวันนี้นายชัยยังไม่ได้แสงดความรับผิดชอบแต่อย่างใด จะหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบนี้ไม่ได้ เพราะเป็นคนที่สามารถสั่งให้เลื่อนการประชุมออกไปอีก 2 ยังได้ แต่กลับไม่ทำ และพยายามทำให้การประชุมเกิดขึ้นให้ได้ ทั้งที่มีความผิดปกติในการลงคะแนนรับมติ โดยคะแนนที่ให้อภิปรายไม่เกินครึ่ง และนายชัยสั่งพักการประชุมก่อนที่จะเดินหน้าต่อ ดังนั้นหากมีการสั่งให้ระงับระหว่างทางและจัดให้มีการประชุมใหม่ก็สามารถทำได้ แต่ก็ไม่ทำ ซึ่งจนถึงวันนี้นายชัยก็ยังไม่ได้แสดงความรับผิดชอบแม้แต่น้อย เราเรียกร้องต่อนายกฯแต่ยังไม่ได้เรียกร้องถึงประธานสภาฝ่ายนิติบัญญัติเลย” นายบุญยอดกล่าว
ด้าน นายสาธิต ปิตุเตชะ กรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคยังไม่มีมติว่าไม่ร่วมงานดังกล่าว แต่ตั้งข้อสังเกตว่าการไปแสดงความเคารพมักเป็นการวางพานพุ่มเพียงอย่างเดียว แต่ปีนี้เหมือนกับจะเอาการทำบุญสถานการณ์วันที่ 7 ตุลาคม มารวมด้วย สิ่งที่พรรคเรียกร้อง คือ นายชัยควรแสดงความรับผิดชอบ มากกว่าทำบุญเพื่อลบล้างความผิด
นายบุญยอด กล่าวถึง กรณีที่คณะกรรมการเยียวยาเหตุการณ์ 7 ตุลาคม ที่มีนายชวรัตน์ ชาญวีรกุล เป็นประธาน ที่มีการรวมสามเหตุการณ์เข้าด้วยกัน ตั้งแต่กรณีที่ตำรวจสลายการชุมนุมสะพานมัฆวานรังสรรค์วันที่ 29 ส.ค. และกรณีที่ นปช.บุกพันธมิตรฯ วันที่ 2 กันยายน ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 ราย เข้ากับเหตุการณ์ 7 ตุลาคม ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 612 คน และเสียชีวิต 3 คน ตนไม่เห็นด้วยที่จะรวมเหตุการณ์เหล่านั้นเข้ามารับการเยียวยา อาจจะยกเว้นกรณีผู้เสียชีวิต 1 ราย เพียงคนเดียว เพราะเสียชีวิตด้วยความบริสุทธิ์ แต่หากจะเยียวยาให้คนที่ได้รับบาดเจ็บควรเรียกร้องกับ ส.ส.พรรคพลังประชาชน มากกว่า เพราะมี ส.ส.พลังประชาชนหลายคนไปควบคุมการชุมนุมของ นปช.แล้วให้เคลื่อนไปตีพันธมิตรฯ การบาดเจ็บเกิดขึ้นจากการควบคุมชี้นำของ ส.ส.พลังประชาชนและรัฐมนตรีบางคน ดังนั้น การจะใช้ภาษีประชาชนไปเยียวยาบุคคลเหล่านั้นตนไม่เห็นด้วย
“กรุณาไปเรียกเก็บเงินกับ ส.ส.พรรคพลังประชาชนจะดีกว่า ถ้าจะรวบรวมเหตุการณ์ทั้งหมด ต้องรวมเอาเหตุการณ์ที่ นปช.บุกตีพันธมิตรฯ ที่อุดรธานีด้วย เพราะมีผู้บาดเจ็บหลายคน ทำไมไม่รวมด้วย ซึ่งไม่ใช่การปะทะกันระหว่างสองกลุ่ม แต่เป็นการไล่ตีพันธมิตรฯโดยตำรวจปล่อยให้คนกลุ่มหนึ่งเข้าไปไล่ตีคนกลุ่มหนึ่งโดยไม่ยับยั้ง” นายบุญยอด กล่าว
นายบุญยอด ในฐานะโฆษกกรรมาธิการพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชนและการมีส่วนร่วมของประชาชน กล่าวถึงกรณีที่ บริษัทการบินไทย สั่งลดชั้นกัปตันจักรี จงศิริ ซึ่งไล่ ส.ส.พลังประชาชนลงจากเครื่องบิน ไปเป็นผู้ช่วยนักบิน ขณะที่ผลการสอบสวนข้อเท็จจริงยังไม่แล้วเสร็จว่า ตนได้ข้อมูลจากเว็บไซต์ของการบินไทย มีการพูดถึงเหตุการณ์ในวันดังกล่าว โดยระบุว่า ในวันนั้น ส.ส.พรรคพลังประชาชนขึ้นเครื่อง และมีกลุ่มพันธมิตรฯหลายคนเป็นผู้โดยสารและเริ่มประท้วงในเครื่องบินเพราะไม่พอใจ ส.ส.พรรคพลังประชาชน กัปตันจักรีจึงออกมาควบคุมสถานการณ์ที่เกิดขึ้น ขณะที้อีกข้อมูลบอกว่า กัปตันจักรีเห็นชื่อผู้โดยสารมีส.ส.พรรคพลังประชาชน จึงไปเชิญออกจากเครื่องโดยไม่ให้เหตุผล ดังนั้น บอร์ดการบินไทยต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงก่อน โดยควรนำเทปวงจรปิดมาตรวจสอบข้อเท็จจริงเพื่อหาข้อยุติก่อน และบอร์ดการบินไทยไม่ควรกลัวกรรมาธิการคมนาคม ที่มี 1 ใน 3 ส.ส.ซึ่งถูกไล่ลงจากเครื่องบินเป็นรองประธานฯอยู่ โดยบอร์ดต้องทำตัวเป็นมืออาชีพมากกว่านี้ ก่อนที่จะนำไปสู่บทสรุปในการลงโทษบุคคลหนึ่งบุคคลใด