xs
xsm
sm
md
lg

กรมทางหลวงเตรียมปัดฝุ่นมอเตอร์เวย์พัทยา-มาบตาพุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - กรมทางหลวงจัดการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อมทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายพัทยา-มาบตาพุด ปัดฝุ่นโครงการเมื่อ 10 ปีแล้ว เป็นแผนเร่งด่วนปี 2550-2560 นำร่องสายแรกที่ภาคตะวันออก งบประมาณกว่า 6 พันล้านบาท เผยหวังเป็นถนนสายแรกของภูมิภาคที่ช่วยเรื่องระบบการขนส่งและลอจิสติกส์ ก่อนดันทำ 5 ภูมิภาคทั่วประเทศ

เมื่อเร็วๆนี้ ที่โรงแรมพัทยาดิสคัฟเวอรี่บีช จ.ชลบุรี นายคมสัน เอกชัย รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี เดินทางมาเป็นประธานเปิดการประชุมปฐมนิเทศการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อมทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายพัทยา-มาบตาพุด ซึ่งจัดโดยกรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม

ทั้งนี้ ได้ระดมความคิดเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการเผยความเป็นมาของโครงการ และแนวทาง ขั้นตอน วิธีการดำเนินงานโครงการ เพื่อสร้างสัมพันธภาพที่ดีร่วมกัน รวมถึงสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในแนวทางการพัฒนาโครงการ โดยมีตัวแทนจากภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องรวมถึงผู้นำชุมชนจากเขตพื้นที่ที่ถนนสายดังกล่าวพาดผ่านทั้งจังหวัดชลบุรี ระยอง ร่วมกิจกรรม

นายสมศักดิ์ บุญประทานพร หัวหน้างานทางภาคกลาง กรมทางหลวง เผยว่า เมื่อปี พ.ศ.2540 รัฐบาลมีนโยบายการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) เพื่อกระจายปริมาณการจราจรจากกรุงเทพฯ และปริมณฑลออกไปสู่ภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ โดยได้อนุมัติแผนแม่บทการก่อสร้างระยะทางรวม 4,150 กิโลเมตร ใช้งบประมาณการก่อสร้างรวม 472,360 ล้านบาท กำหนดก่อสร้างแล้วเสร็จภายใน 20 ปี ซึ่งปัจจุบันแล้วเสร็จไปแล้ว 150 กว่ากิโลเมตร รวม 2 เส้นทาง ได้แก่ ทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 9 สายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันออกระยะทาง 64 กิโลเมตร และทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองหมายเลข 7 สายกรุงเทพฯ-ชลบุรี (สายใหม่) ระยะทาง 82 กิโลเมตร

ปัจจุบันติดปัญหาเรื่องต่างๆ ทั้งเรื่องของระบบปลีกย่อยในการดำเนินการ เรื่องของปัญหาสภาพเศรษฐกิจ และการเมือง ส่งผลให้การดำเนินแผนแม่บทดังกล่าวล่าช้ามากว่า 10 ปี ปัจจุบันกรมทางหลวงได้จัดทำแผนการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ระยะเร่งด่วน ปี พ.ศ.2550-2560 ซึ่งทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายชลบุรี-พัทยา-มาบตาพุด มีระยะทางรวม 89 กิโลเมตร และปัจจุบันมอเตอร์เวย์ ช่วงชลบุรี-พัทยา ระยะทาง 51 กิโลเมตร อยู่ในระหว่างการปรับปรุงขยายจาก 4 ช่องจราจรเป็น 6-8 ช่องจราจรโดยมีการควบคุมทางเข้าออก รวมถึงมีการก่อสร้างทางคู่ขนานทดแทนจากเดิม

นายสมศักดิ์ กล่าวต่อว่า ในการศึกษาความเหมาะสมทางด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อมทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) สายพัทยา-มาบตาพุด ครั้งนี้ เป็นเส้นทางต่อเนื่องแนวใหม่ระยะทางรวม 38 กิโลเมตร งบประมาณรวม 6,650 ล้านบาท ปัจจุบันดำเนินการทางสายร่วมไปแล้ว 8 กิโลเมตร และสายหลักที่จะมีการดำเนินการอีก 30 กิโลเมตร ผ่านทางแยกต่างระดับที่จุดตัดทางหลวงหมายเลข 311 ทางแยกต่างระดับบางละมุง ทางแยกต่างระดับอู่ตะเภา กินพื้นที่ อ.บางละมุง จ.ชลบุรี และ อ.บ้านฉาง จ.ระยอง

หลังจากนี้ต้องทำการศึกษาด้านเศรษฐกิจและสังคม, ด้านจราจรและขนส่ง, ด้านวิศวกรรม, ด้านสิ่งแวดล้อม และศึกษาการมีส่วนร่วมของประชาชน ตลอดจนผลตอบแทนด้านการเงินของโครงการ เพื่อประกอบการพิจารณาให้เอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการลงทุนภายใต้เงื่อนไขที่เหมาะสม เพื่อพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งให้สามารถแบ่งเบาภาระต้นทุนของรัฐบาล เพื่อนำงบประมาณที่เหลือไปใช้ในการพัฒนาด้านอื่นๆ ที่มีความจำเป็นเร่งด่วน

จากนั้น จะได้มีการลงพื้นที่สัมมนากลุ่มย่อยตามพื้นที่ต่างๆ ที่ถนนดังกล่าวพาดผ่าน เพื่อรวบรวมข้อเสนอแนะและความคิดเห็น โดยจะใช้เวลารวม 12 เดือน และเสนอเพื่อดำเนินการโครงการ ทั้งเรื่องของการออกแบบและก่อสร้างรวมระยะเวลาประมาณ 4 ปี โครงการนี้จึงจะแล้วเสร็จสมบูรณ์

"หลังจากโครงการดังกล่าวแล้วเสร็จอย่างสมบูรณ์ ทางกรมทางหลวงหวังผลักดันให้เกิดทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ตามแผนเร่งด่วนดังกล่าวทั้งประเทศ ทั้ง 5 ภูมิภาค ประกอบด้วย เส้นทางสายเหนือ บางปะอิน-นครสวรรค์, เส้นทางสายตะวันตก นครปฐม-กาญจนบุรี, เส้นทางสายตะวันออกเฉียงเหนือ บางปะอิน-นครราชสีมา, เส้นทางสายตะวันออก ชลบุรี – มาบตาพุด (กำลังดำเนินการ) และเส้นทางสายใต้ นครปฐม-ชะอำ ที่ผ่านมา ประเทศอื่นๆ ต่างพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองไปแล้วอย่างมากมาย เช่น สาธารณรัฐประชาชนจีนที่มีการพัฒนาปีละกว่า 1,000 กิโลเมตร แต่ประเทศไทยกลับมีการพัฒนาทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาแค่ 150 กว่ากิโลเมตรเท่านั้น" นายสมศักดิ์ กล่าว

นางพรรณอำไพ ถาวรตระการ ตัวแทนชุมชนพูตาหลวง อ.สัตหีบ จ.ชลบุรี หนึ่งในผู้เข้าร่วมกิจกรรม แสดงความคิดเห็นว่า โครงการดังกล่าวนับเป็นเรื่องที่ดี แต่ต้องมีการประชาสัมพันธ์โครงการ โดยเน้นการทำความเข้าใจกับชุมชนจนเป็นที่รับรู้ถึงวัตถุประสงค์และผลประโยชน์ให้ชัดเจน เพื่อให้ประชาชนมีความเข้าใจที่แท้จริง จะได้ไม่มีปัญหาใดๆ เกิดขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรู้สึกของประชาชน ภาครัฐต้องให้ความสำคัญตรงจุดนี้เป็นอย่างมาก

ด้านนายอิทธิพล คุณปลื้ม นายกเมืองพัทยา เผย ว่า โครงการดังกล่าวนับว่ามีประโยชน์อย่างยิ่ง ซึ่งเมืองพัทยาเป็นเมืองท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ รวมถึงเมืองระยอง ที่เป็นเมืองอุตสาหกรรมหลักในภาคตะวันออก จะได้ประโยชน์เรื่องดังกล่าวเป็นอย่างมาก ทั้งเรื่องของการขนส่ง การเดินทาง จะได้มูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ เมืองพัทยาจะได้ความเป็นชุมชน เพราะในอนาคตหากเส้นทางดังกล่าวแล้วเสร็จ ผู้บริหารในนิคมอุตสาหกรรมเขตเมืองระยอง จะเดินทางมาพักอาศัยในเมืองพัทยาอีกเป็นจำนวนมาก เพราะมีความครบวงจรหลากหลายด้าน
กำลังโหลดความคิดเห็น