xs
xsm
sm
md
lg

SC Asset :เจ้าหน้าที่รัฐฯ ต้องไม่รับใช้จำเลยแผ่นดิน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เรียน    คุณชัยเกษม นิติสิริ - อัยการสูงสุด
           พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง – อธิบดี DSI
           คุณธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล – เลขาธิการก.ล.ต.


เมื่อวันที่ 15 ตุลาคม 2551 ที่ผ่านมา มีการแถลงข่าวกรณีอัยการมีความเห็นส่งไม่ฟ้องคดีปกปิดโครงสร้างผู้ถือหุ้นบริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่มีนางเพ็ญโสม ดามาพงศ์ กรรมการบริษัท, นางบุษบา ดามาพงศ์ อีดตกรรมการบริษัทฯ, พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี และคุณหญิง พจมาน ชินวัตร ภริยา เป็นผู้ต้องหาที่ 1-4 โดยได้อ้างถึงกระบวนการทำงานว่าเป็นไปตามเกณฑ์เข้าตลาดหลักทรัพยตามปกติ มีที่ปรึกษาทางการเงินดูแล อ้างว่าเป็นการปฏิบัติก่อนที่ประกาศ กจ.28/2546 ซึ่งประกาศใช้วันที่ 16พฤศจิกายน 2546 ซึ่งบริษัทได้ยื่นแบบ 63-1 และเสนอขายหุ้นเสร็จสิ้นไปตั้งแต่วันที่ 31ตุลาคม 2546 และยังพยายามอธิบายว่า กองทุน OGF และกองทุน ODF เป็นนิติบุคคลตามกฎหมายต่างประเทศ ผู้มีอำนาจกระทำการคือ ผู้จัดการกองทุนไม่ใช่ผู้ถือหน่วยลงทุน

เรื่องราวทั้งหมดนี้ ยากที่ประชาชนจะเข้าใจและมีความเห็นได้ แต่ผมขอเรียนว่าผมเป็นผู้ที่คุ้นเคยกับคดีนี้เป็นอย่างดี ผมเป็นผู้ที่ยื่นเรื่องร้องเรียนต่อ กลต.ในต้นปี 2549 และมีความคุ้นเคยกับ พรบ.หลักทรัพย์ จากประสพการณ์ การทำงานในวงการหลักทรัพย์มาร่วม 20ปี และในฐานะอดีตกรรมการตลาดหลักทรัพย์สองสมัย

ความผิดของ พ.ต.ท.ทักษิณ และครอบครัวในคดีนี้มีความชัดเจนในสายตาของผม ผมจึงมั่นใจแต่แรกว่าเส้นทางสู่ความยุติธรรมในเรื่องนี้จะต้องฝ่าด่านอุปสรรคของระบบทักษิณอย่างไม่เคยปรากฎมาก่อน และก็เป็นเช่นนั้นนับตั้งแต่การยุบสภาฯ หนีการอภิปรายเรื่องนี้ในปี 2549 รวมถึงการขาดความร่วมมือในการสอบสวนของหน่วยงานที่รับผิดชอบกฎหมายโดยครงคือ กลต. จนกระทั่งเกิดการัฐประหาร จึงได้มีการโอนหน้าที่การสอบสวนจาก กลต. ไปที่ DSI ภายใต้ อธิบดีสุนัย มโนมัยอุดม

สุดท้ายในวันที่ 19 มิถุนายน 2550 ทาง DSI ก็ได้ออกแถลงการณ์การชื้มูลความผิดไปที่สำนักงานอัยการเพื่อให้สำนักงานอัยการดำเนินการต่อไป แต่ก็ปรากฎว่ามีการถ่วงเวลาการพิจารณามาโดยตลอด จนมีการเลือกตั้งในวันที่ 23 ธันวาคม และการจัดตั้งรัฐบาล “Nominee” ภายใต้การนำของ นายกฯสมัคร สุนทรเวช และหนึ่งในเรื่องแรก ๆ ที่เป็น “ผลงาน” ของรัฐบาลนี้ก็คือการย้ายอธิบดีสุนัย ออกจากตำแหน่งและการแต่งตั้ง พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง เป็นอธิบดีแทน สำหรับผมเรื่องนี้ไม่ได้ทำให้ผมแปลกใจ เพราะตระหนักว่าต้องมีความพยายามทุกวิถีทางที่จะสกัดไม่ให้คดี “SC Asset” เข้าถึงชั้นศาล

สุดท้ายผมได้มีโอกาสพบกับคุณ ชัยเกษม นิติสิริ ในคณะกรรมาธิการงบประมาณ 2552 และได้เรียนกับ คุณชัยเกษม ว่า สำนักงานอัยการต้องเร่งพิจารณาเรื่องนี้ ผมเรียนกับคุณ ชัยเกษม ด้วยว่า ประวัติของสำนักอัยการสูงสุดในเรื่องของคดีฟ้องร้องคุณทักษิณนั้น สร้างความเคลือบแคลงใจให้กับสังคม เพราะ อสส ปฎิเสธยื่นฟ้องตามคำร้องของ คตส. หลายคดีด้วยกัน เช่น คดีกล้ายาง คดีหวยบนดิน และคดีเอ็กซิมแบงก์ เป็นต้น ซึ่งในทุกกรณี คตส.ได้ใช้อำนาจการฟ้องต่อศาลโดยตรง และในทุกกรณีศาลได้ประทับรับฟ้อง ทั้ง ๆ ที่ อสส ได้อ้างก่อนหน้านี้ว่า สำนวนของคตส. ยังไม่มีความสมบูรณ์

ผมได้เรียนกับ คุณชัยเกษม ไว้ด้วยว่า ผมมีความเป็นห่วงคดี SC Asset เป็นพิเศษ เพราะ DSI ไม่มีอำนาจฟ้องศาลโดยตรง ซึ่งต่างกับ คตส. และถึงมี ผมก็ไม่แน่ใจว่า DSI จะใช้อำนาจนั้นหรือไม่ หลังจากที่รัฐบาล “Nominee” ของคุณทักษิณได้ครอบงำ DSI กลับคืนไปเรียบร้อยแล้ว และแล้วทุกอย่างก็เป็นใไปตามที่ผมคาดการณ์ และคำแถลงการณ์เหตุผลของอัยการในการไม่ยื่นฟ้องนั้น ล้วนเป็นการอ้างหลักการทางกฎหมายที่คลาดเคลื่อน และไม่ตรงต่อคำร้องเดิมของ DSI สมัยคุณสุนัยที่ได้ยื่นฟ้องเอาไว้
 
ความผิดหลักต่อ พรบ.หลักทรัพย์ที่ทาง DSI โดยนายสุนัยได้ตั้งไว้คือการเปิดเผยข้อมูลในหนังสือชี้ชวนของ SC Asset ว่า "กลุ่มตระกูลชินวัตรถือหุ้นในบริษัทร้อยละ 76 และ 61 ของจำนวนหุ้นที่จำหน่ายไว้แล้วทั้งหมดของบริษัทก่อน และหลังการขายหุ้นสามัญในครั้งนี้” และสัดส่วน 61% นี้ให้อำนาจครอบครัวชินวัตรทั้งหมด “ยกเว้นเรื่องที่กฎหมายหรือข้อบังคับบริษัทกำหนดให้ต้องได้รับเสียง 3ใน 4 ของที่ประชุมผู้ถือหุ้น”

โดยการเปิดเผยครั้งนี้มิได้นำหุ้นที่ถือแทนโดย กองทุน OGF และ ODF มานับรวมกับการถือหุ้นของครอบครัว ซึ่งหากนับรวมแล้ว จะทำให้ครอบครัวชินวัตรถือหุ้นรวมทั้งหมดร้อยละ 79.87 คือ เกิน 3 ใน 4ของหุ้นทั้งหมด และจึงเป็นการจงใจปกปิดข้อมูล**ซึ่ง DSI และ กลต. ได้ชี้ความผิดไปแล้วต่ออัยการว่า เป็นความผิด พรบ.หลักทรัพย์ มาตรา 278 ซึ่งตราไว้ชัดอยู่แล้วว่า“ผู้ใดแสดงข้อความอันเป็นเท็จ หรือปกปิดข้อความจริงซึ่งควรบอกให้แจ้ง ในแบบแสดงรายการข้อมูลการเสนอขายหลักทรัพย์และร่างหนังสือชี้ชวนที่ยื่นตาม มาตรา 65 ในสาระสำคัญ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินห้าปี และปรับ ”

นอกจากนั้น ความเป็นเจ้าของกองทุนทั้งสองโดยครอบครัวชินวัตรนั้น DSI และ กลต. ก็ได้ยื่นหลักฐานชัดเจนให้กับสำนักงานอัยการ ซึ่งรวมถึงทั้งพฤติกรรมการโอนหุ้นและเส้นทางเงินที่ใช้ในการชำระหุ้น และหลักฐานการจดทะเบียนจัดตั้งทั้งสองกองทุนโดยคุณทักษิณและคุณหญิงพจมาน

ดังนั้น การอ้างโดยอัยการว่า ผู้มีอำนาจกระทำการทั้งสองกองทุนนั้นคือผู้จัดการกองทุน ไม่ใช่ผู้ถือหน่วยลงทุน จึงเป็นการเบี่ยงเบนประเด็น เพราะไม่ว่าใครมีอำนาจกระทำการก็ตาม การปกปิดความเป็นเจ้าของนั้นก็ถือว่า เป็นการแจ้งเท็จอยู่ดี และยิ่งกว่านั้น อัยการเองก็มีหลักฐานในมือว่ามีการใช้อำนาจกระทำการให้สองกองทุนในหลายกรณี โดยผู้อื่นที่ไม่ใช่ผู้จัดการกองทุน

ส่วนการอ้างประกาศ กจ.28/2546 ว่ามีผลบังคับใช้หลังจากการยื่นข้อมูลโดยผู้บริหารและผู้ถือหุ้นของ SC Asset นั้น ก็ฟังไม่ขึ้น เพราะอย่างไรก็แล้วแต่ ประกาศย่อมมีน้ำหนักด้อยกว่า บทกฎหมายอยู่แล้ว และ กลต. ก็ทราบดีว่าเรื่องการแจ้งข้อมูลเท็จโดยครอบครัวชินวัตร ไม่ได้จบลงที่การยื่นข้อมูลในปี 2546 แต่ คุณยิ่งลักษณ์ ชินวัตรก็ยังได้ยืนยัน (เท็จ) อีกครั้งในวันที่ 24 มีนาคม 2549 ว่าทั้งสองกองทุนไม่มีความเกี่ยวข้องใด ๆ กับครอบครัวชินวัตร
 
ผมต้องขอเรียนกับทั้งสามท่านว่า ความจริงก็คือความจริง และผมในฐานะสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และตัวแทนของพี่น้องประชาชนคนไทย จะไม่ยอมให้ท่านทำร้ายประเทศด้วยการละเว้นต่อการปฎิบัติหน้าที่โดยความซื่อสัตย์ เพราะมิเช่นนั้นก็เท่ากับเป็นการปล่อยให้ท่านทำลายสามองค์กรที่มีความสำคัญยิ่งต่อกระบวนการยุติธรรมของประเทศ

ผมอยากจะวิงวอนขอให้ท่านทบทวนบทบาทหน้าที่ของท่าน และทำในสิ่งที่ถูกต้องเพื่อประโยชน์ของประเทศ ไม่ใช่เพื่อพยายามปกป้องประโยชน์ของอดีตผู้มีอำนาจ แต่เนื่องจากประสบการณ์ที่มีเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของท่าน ทำให้ผมไม่สามารถที่จะมีความไว้วางใจในความซื่อสัตย์สุจริตของท่านได้อีกต่อไป ผมจึงจะยื่นร้องเรียนต่อสำนักงาน ปปช. เพื่อฟ้องร้องการละเว้นการปฎิบัติหน้าที่ของสำนักอัยการ และถ้า DSI และ ก.ล.ต. ไม่ออกมาหักล้างคำวินิจฉัยของอัยการที่สวนทางกับการฟ้องร้องเดิมของท่าน ผมก็จะดำเนินการร้องเรียนต่อ ปปช. ให้สอบสวนท่านเช่นเดียวกัน

จึงขอเรียนมาเพื่อให้ท่านได้รับทราบ ณ ที่นี้

กรณ์ จาติกวณิช
ในฐานะผู้แทนของประชาชน

กำลังโหลดความคิดเห็น