xs
xsm
sm
md
lg

“สุวิทย์”ค้านดันพ.ร.บ.ค้าปลีกฯ ชี้กระทบลงทุนคนซื้อของแพงขึ้น

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน –“สุวิทย์”ที่ปรึกษาสมาคมผู้ค้าปลีกไทยค้านเร่งคลอดพ.ร.บ.ค้าปลีกฯตอนนี้ไม่สอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจยันกระทบนักลงทุนไทยและต่างชาติ ย้ำกฎหมายค้าปลีกฯต้องมีความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายไม่ปิดกั้นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ขณะที่ผู้บริโภคต้องซื้อสินค้าแพงขึ้นเพราะไม่มีการแข่งขันเสรี

นายสุวิทย์ กิ่งแก้ว รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ซี.พี.ออลล์ และที่ปรึกษาสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวถึงกรณีที่กระทรวงพาณิชย์จะเสนอร่างกฎหมายการประกอบธุรกิจค้าปลีกค้าให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาในวันที่ 21ตุลาคมนี้ โดยนำร่างกฎหมายเดิมที่ยกร่างโดยกระทรวงพาณิชย์ สมัยนายเกริกไกร จีระแพทย์ เป็นรมว.พาณิชย์ และผ่านการพิจารณาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วาระ 1 ไปแล้วมาปรับปรุงใหม่เพื่อจะนำมาใช้กับห้างค้าปลีกขนาดใหญ่ในตอนนี้ว่าเป็นจังหวะที่ไม่เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจตอนนี้ เนื่องจากร่างพ.ร.บ.ค้าปลีกดังกล่าวนั้นรัฐบาลที่ผ่านมาและนักกฎหมายส่วนใหญ่ยังไม่เห็นด้วยในหลายประเด็น โดยเฉพาะเรื่องของการให้อำนาจหน่วยงานรัฐมากเกินไปในการที่จะพิจารณาให้เปิดปิดหรือการขยายสาขา ซึ่งไม่สอดคล้องกับยุคการเปิดการค้าเสรีในปัจจุบัน

“ถ้าจะมีการนำร่างใหม่เข้าไปเสนอให้ครม.พิจารณาก็ควรให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยเฉพาะผู้ที่อยู่ในระบบการค้าทั้งหมด ไม่ใช่จะเป็นการกีดกันเฉพาะห้างค้าปลีกรายใหญ่เท่านั้น และยังต้องเน้นการพัฒนาผู้ค้าปลีกรายย่อยให้มีการปรับตัวและอยู่ได้ซึ่งเป็นทางออกที่ดีไม่ใช่ปิดกั้นผู้ค้ารายใหญ่ในการเปิดหรือขยายสาขาได้”

นายสุวิทย์ กล่าวต่อไปว่าหากพ.ร.บ.ค้าปลีกฯดังกล่าวมีผลบังคับใช้จะส่งผลต่อภาพพจน์การลงทุนของประเทศซึ่งไม่เฉพาะต่างชาติเท่านั้นที่ขาดความน่าเชื่อถือในการลงทุน แต่ยังรวมถึงเอกชนในประเทศด้วยเพราะเป็นการจำกัดการขยายตัวของห้างค้าปลีก ทำให้ผู้ลงทุนของไทยเช่น กลุ่ม เอสเอ็มอี ที่ผลิตสินค้าออกมาจำหน่ายหมดช่องทางในการขยายตลาดและถูกจำกัดจึงทำให้มีการชะลอตัวในการลงทุน ซึ่งเป็นการทำลายระบบช่องทางการจัดจำหน่ายสมัยใหม่และหันกลับไปขายให้กับพ่อค้าส่งซึ่งเป็นระบบที่ล้าสมัยไปแล้วในยุคนี้

นอกจากนี้พ.ร.บ.ค้าปลีกฯจะส่งผลกระทบต่อผู้บริโภคในการซื่อสินค้า เพราะจะต้องซื้อในราคาแพงขึ้น จากร้านค้า เป็นระบบผูกขาดไม่มีการแข่งขันอย่างเสรี ซึ่งทำให้เกิดความได้เปรียบเสียเปรียบกัน นอกจากนี้ทำให้ผู้บริโภคขาดสวัสดิการทางสังคมในด้านความสะดวกสบายในการเลือกซื้อสินค้าได้น้อยลง ขณะที่การเจริญเติบโตของเมืองน่าจะมีห้างขนาดใหญ่เกิดขึ้นในพื้นที่ใหม่ ๆ แต่ไม่สามารถเปิดให้บริการได้ซี่งเป็นผลเสียกับผู้บริโภคโดยตรง

“ต้องยอมรับว่าตอนนี้มีขบวนการวิ่งเต้นที่เกิดจากกลุ่มผู้ผลิตสินค้าและซัพพลายเออร์สินค้ารายใหญ่ในการผลักดัน พ.ร.บ.ค้าปลีกดังกล่าว จึงอยากให้รัฐบาลและผู้เกี่ยวข้องควรพิจารณาให้รอบคอบเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อนักลงทุนและให้เกิดความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย “นายสุวิทย์ กล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น