xs
xsm
sm
md
lg

สรรพากรหนุนยืดเวลาถือRMF ครวญศก.ฉุดภาษีกลุ่มส่งออกวูบ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน – สรรพากรหนุนมาตรการกระตุ้นตลาดทุนยืดเวลาถือ RMF ออกไปช่วยเหลือผู้ถือหน่วยที่ขาดทุนจากภาวะตลาด พร้อมสางปมกฎหมายลดอุปสรรคด้านภาษีให้ บจ.ซื้อหุ้นตัวเองในตลาด ยอมรับหวั่นวิกฤตเศรษฐกิจฉุดยอดจัดเก็บภาษีโดยเฉพาะภาคการส่งออก

นายสาธิต รังคสิริ ที่ปรึกษาด้านยุทธศาสตร์การจัดเก็บภาษี กรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมสรรพากรเห็นด้วยกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ที่เข้ามาหารือเพื่อเพื่อสิทธิด้านภาษีจากการซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว (LTF) และกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เพื่อสนับสนุนให้มีการออมและการลงทุนผ่านสถาบัน และเห็นด้วยที่จะให้มีการขยายระยะเวลาการถือหน่วยลงทุนในกองทุนRMF โดยให้ถือได้โดยไม่มีกำหนดหลังเกษียณอายุทั้งนี้ เพื่อช่วยเหลือผู้ถือหน่วยลงทุนที่ขาดทุน จากภาวะตลาดซึ่งลดลงมามากจากเดิมที่กฎหมายกำหนดระยะเวลาไว้ ซึ่งหากถือพ้นระยะเวลาที่กำหนดก็อาจจะมีภาระภาษีเกิดขึ้น โดยให้เป็นแนวทางเดียวกับกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ (กบข.) และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ

สำหรับมาตรการที่รัฐบาลสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียน(บจ.) เข้าไปซื้อหุ้นในตลาดที่ราคาปรับลดลงต่ำกว่าความเป็นจริงเพื่อพยุงราคาหุ้นให้กลับมาอยู่ในภาวะปกตินั้น กรมสรรพากรอยู่ระหว่างการศึกษาแนวทางเพื่อลดอุปสรรคด้านภาษีที่เกี่ยวข้องกับการเข้าไปซื้อหุ้นดังกล่าว ซึ่งในเบื้องต้นกรมจะยึดหลักทางบัญชีในการจัดเก็บภาษีโดยหาก บจ.เข้าไปซื้อหุ้นและมีกำไรจากการขายในปีนี้ก็คิดเป็นรายได้ที่ต้องจ่ายภาษีตามปกติและหากขายแล้วขาดทุนก็สามารถนำไปหักเป็นรายจ่ายของบริษัทได้

“ภาวะตลาดตอนนี้มีความน่าสนใจเพราะราคาหุ้นที่ตกลงไปมากนั้นถือว่าต่ำกว่าราคาที่ควรจะเป็นและเป็นหุ้นขนาดใหญ่พื้นฐานดี ถือว่าเป็นของถูกและดีนานทีจะมีหนและเมื่อพิจารณาผลดำเนินการของบริษัทเหล่านี้ที่มีการจ่ายเงินปันผลเฉลี่ยที่ประมาณ 7-10% แล้วยิ่งทำให้มีความน่าสนใจเข้าไปซื้อเพราะเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่อยู่ในระดับ 3% แล้วน่าจะเป็นอีกทางเลือกที่น่าลงทุน” นายสาธิตกล่าว

หวั่นวิกฤตฉุดยอดจัดเก็บลด

นายสาธิตกล่าวว่า ปัญหาวิกฤตสถาบันการเงินที่เกิดขึ้นในสหรัฐและลุกลามไปทั่วโลกนั้นประเทศไทยหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่ได้รับผลกระทบ ซึ่งในเบื้องต้นแม้ยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนว่ากลุ่มใดได้รับผลกระทบหนักแต่เชื่อว่าผลที่เกิดขึ้นจะรุนแรงมากกว่าวิกฤตปี 2540 ที่สถานการณ์เกิดขึ้นในประเทศไทยก่อนที่จะลุกลามไปยังประเทศต่างๆ แต่ผลที่เกิดขึ้นในปัจจุบันคู่ค้าหลักของประเทศไทยประสบปัญหาวิกฤตโดยตรง ภาคการส่งออกจึงเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤตในครั้งนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

“เมื่อภาคส่งออกเกิดปัญหาขึ้นจะทำให้ผู้ประกอบการลดต้นทุนการดำเนินการให้มากที่สุดเพื่อลดความเสี่ยงและลูกจ้างของภาคการผลิตก็จะได้รับผลกระทบต่อเนื่อง ในที่สุดก็จะส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บภาษีบุคคลธรรมดาและกำลังซื้อที่ลดลงจะกระทบต่อการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มด้วย”

นายสาธิตกล่าวต่อว่า แนวคิดที่จะใช้นโยบายด้านภาษีเพื่อแก้ไขผลกระทบที่เกิดจากวิกฤตทางการเงินดังกล่าวจะต้องพิจารณาให้รอบคอบว่าจะช่วยอย่างไรให้ตรงจุด กรมสรรพากรคงไม่สามารถนำมาตรการต่างๆ ด้านภาษีมาช่วยเหลือทุกด้านได้เพราะจะกระทบต่อการจัดเก็บภาษีโดยรวม จะต้องพิจารณาช่วยเหลือภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบอย่างหนักก่อนเป็นอันดับแรก

ภาคส่งออกกระทบมากสุด

โดยจากการตรวจสอบข้อมูลในเบื้องต้นพบว่าภาคส่งออกได้รับผลกระทบมาเป็นอันดับหนึ่งตามมาด้วยภาคการท่องเที่ยวซึ่งมีแนวโน้มที่กระเตื้องขึ้น แต่เมื่อมีเหตุการณ์ที่ตำรวจใช้กำลังสลายการชุมนุมเมื่อวันที่ 7 ตุลาคม ที่ผ่านมากลับเป็นการซ้ำเติมสถานการณ์ให้เลวร้ายมากขึ้น ส่วนกลุ่มสินค้าเกษตรถือเป็นโอกาสที่ดีเนื่องจากสินค้าจากจีนมีการปนเปื้อนสารเมลามีนมากน่าจะทำให้ได้รับผลดีจากสถานการณ์นี้

“การใช้มาตรการภาษีต้องดูว่าจะช่วยได้ในจุดใดบ้างคงไม่สามารถทำได้ทั้งหมดเพราะเป็นเหมือนการถมทะเล อย่างไรก็ตามแม้ว่าเศรษฐกิจโดยรวมทั้งหมดจะได้รับผลกระทบจากวิกฤตของสหรัฐแต่กรมสรรพากรก็เชื่อมั่นว่าการจัดเก็บภาษีของกรมจะเติบโตได้ประมาณ 6% แม้ว่ารัฐบาลจะไม่ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใดๆ ออกมาเลยก็ตาม” นายสาธิตกล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น