xs
xsm
sm
md
lg

ทางเดียวที่จะป้องกันนองเลือดและฆาตกรรมการเมือง

เผยแพร่:   โดย: ปราโมทย์ นาครทรรพ

ท่านผู้อ่านที่เคารพ ในที่สุดวันที่ 7 ตุลาคม 2551 นี้ ก็เป็นบทพิสูจน์ว่า คนไทยจะต้องตายสังเวยการเมืองอีก และอนาคตต่อจากนี้ไป ไม่วันใดก็วันหนึ่ง ไม่ช้าก็เร็ว พวกเราจะต้องตายสังเวยกันอีกจนเลือดนองแผ่นดิน แรงกว่านั้น สงครามการเมืองระหว่างคนไทยยังไม่อาจปัดไปว่าจะไม่เกิดขึ้นได้

เหยื่อสังเวยการเมืองไทยที่น่าสงสารเหล่านี้เป็นใคร ก็เป็นคนอย่างน้องโบว์ อังคณา ระดับปัญญาวุฒิ แก้วตาของพ่อแม่ ซึ่งมีคู่หมั้นกำลังจะแต่งงาน สมเด็จพระบรมราชินีนาถ พร้อมกับสมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ฯ เสด็จพระราชทานเพลิงศพน้องโบว์ มีองคมนตรีพร้อมกับท่านผู้หญิงโดยเสด็จ 9 คู่

นี่มีนัยหรือความหมายที่จะเป็นบทเรียนอะไรให้กับสังคมไทยได้บ้าง

นอกจากการยืนยันที่จะเป็นกลางของทหาร และออกมาช่วยเพราะสงสารตำรวจในตอนค่ำ หลังจากที่สมเด็จพระนางเจ้าฯ ได้ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานเงินช่วยเหลือผู้บาดเจ็บแต่เช้า

อยากถามว่าน้องโบว์ที่ไปพร้อมกับคุณพ่อคุณแม่และพี่น้องโดนระเบิดเมื่อไหร่ ทางการยังมีหน้ามาแถลงว่าน้องโบว์พกระเบิดหนีบไว้ที่แขน เสมือนครอบครัวนี้เป็นผู้ก่อการร้ายพลีชีพทั้งครอบครัว

ท่านผู้อ่านที่เคารพ อมาตยา เซน ศาสตราจารย์รางวัลโนเบล ผู้โด่งดังเขียนหนังสือแสดงความแตกต่างระหว่างการปกครองระบอบประชาธิปไตยกับระบอบอื่นๆ ว่า ในระบอบประชาธิปไตย ไม่ว่าประเทศจะยากดีมีจน จะไม่มีประชาชนที่อดตาย จะไม่มีประชาชนที่ต้องตายเพราะโรคการเมืองเป็นพิษ ผมขอเติมอีกว่า จะไม่มีประชาชนตายโดยปราศจากการคุ้มครองตามกฎหมายหรือตายโดยน้ำมือผู้ใช้กฎหมาย

นิทานเรื่องนี้สอนให้รู้ว่า เมืองไทยของเราไม่เป็นประชาธิปไตย ในขณะนี้เกิดการต่อสู้กันโดยคนสองฝ่ายที่ต่างก็อ้างว่าตนต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย ฝ่ายหนึ่งโดยสงบอหิงสา และอารยะขัดขืน ฝ่ายหนึ่งด้วยอำนาจอาวุธและกลไกของกฎหมายพร้อมกับอันธพาลภายใต้อาณัติ

ทำอย่างไรเราจึงจะระงับการสูญเสีย และตั้งต้นเดินไปสู่ความเป็นประชาธิปไตยได้

ผมเห็นว่ามีเหลืออยู่ทางเดียวเท่านั้น คือคนที่ตั้งตนเป็นกลางวางเฉยอยู่ในระบบราชการทุกกระทรวงทบวงกรม หรือผู้ที่อยู่ในภาคเอกชนทั้งธุรกิจการค้า อุตสาหกรรม และธนาคาร ประชาชนทุกอาชีพ เช่น หมอ วิศวกร นักบิน เภสัชกร ครู ฯลฯ จะต้องพากันออกมาทำอารยะขัดขืนพร้อมๆ กัน ร่วมกันหรือแบบต่างคนต่างทำก็ได้ เพื่อขับไล่รัฐบาลที่ไม่ชอบธรรมและบริวารออกไปเสีย หาไม่จะนองเลือดและสูญเสียกันทั้งประเทศ กู้ไม่ขึ้น

มิฉะนั้น เมืองไทยจะยกระดับความโหดร้ายของการต่อสู้ทางการเมืองขึ้นไปอีก จนเมืองไทยจะกลายเป็นเมืองที่เราไม่เคยรู้จักอย่างนึกไม่ถึง

ข้างล่างนี้ ผมดัดแปลงมาจากบทความเก่าที่ผมเขียนในปี 2534 ตอนที่เมืองไทยตกอยู่ใต้การปกครองของ รสช.

ผมอยากเห็นคนไทย โดยเฉพาะคนชั้นนำที่เกี่ยวข้องหรือมีความหมายต่อการเมืองไทย ไม่ว่าจะเป็นทหาร ข้าราชการ นักสมัครผู้แทน นักวิชาการ สื่อมวลชน อย่าพากันเอาความเท็จมาหลอกกันเองเสียจนกระทั่งตนเองหลงเชื่อไปด้วย จะต้องมองปัญหาการเมืองไทยให้ถูกที่ คือที่ตัวปัญหา อันได้โครงสร้าง ระบบ หรือพฤติกรรม มิใช่ที่ตัวบุคคล และอย่ามัวแต่ประณามหรือเชียร์ตัวบุคคลแต่อย่างเดียว เพราะนั่นจะเป็นการเพิ่มปัญหา ในขณะเดียวกันอย่ามองข้ามความดีของเมืองไทย

เมืองไทยนี้ดี เพราะคนไทยนี้ดี ถึงเวลาเอาจริงแล้ว คนไทยนี้กล้า คนไทยนี้เสียสละ คนไทยนี้พูดกันรู้เรื่อง

เมืองไทยนี้ดี เพราะดินก็ดี น้ำก็ดี อากาศก็ดี ทรัพยากรก็ดี พระเจ้าแผ่นดินก็แสนประเสริฐ

ในขณะเดียวกัน อย่ามองข้ามจุดอ่อนของเมืองไทย

เรามักจะหลอกตัวเอง หลงตัวเอง สังคมไทยเป็นสังคมที่ซ่อนเร้นความจริง

ยอมรับเสียเถิด บ้านเมืองของเราอาจจะมีดีสารพัดอย่าง แต่เราขาด และยังไม่เคยมีการเมืองที่ดี

76 ปีที่ผ่านมา เรายังเป็นประชาธิปไตยไม่สำเร็จ แปลว่าเรายังไม่เคยมีประชาธิปไตย แปลว่าสังคมไทยและคนไทยทุกคน-ทหาร ข้าราชการ ประชาชน ผู้นำ และผู้ตามขาดโอกาสและไม่เคยอยู่ในสังคมที่เป็นประชาธิปไตยอย่างแท้จริง รัฐบาลก็มิใช่ข้อยกเว้น พรรคการเมืองก็มิใช่ข้อยกเว้น หนังสือพิมพ์ก็มิใช่ข้อยกเว้น นักวิชาการก็มิใช่ข้อยกเว้น เพราะฉะนั้นอย่าได้หมายเลยว่าใครจะสามารถเลิศลอย ถึงกับจะผูกขาดแก้ปัญหาประชาธิปไตยให้ชาติได้ ต่อให้สิบส.ส.ร 1, 2, 3, 4 ก็ตาม อย่ามัวฝันหวานคอย ส.ส.ร.กันอยู่เลย…

เราโฆษณากับชาวโลกได้ว่า การปฏิวัติรัฐประหารในเมืองไทยก็เหมือนกับการเปลี่ยนผู้บริหารธรรมดาๆ เท่านั้น ราบรื่น ไม่เจ็บปวด ไม่เสียเลือดเนื้อ แต่เราไม่ควรหลอกตัวเอง และไม่ควรจะลืมความจริงว่าในประวัติศาสตร์อันยาวนานของชาติไทย และของเมืองพุทธ เมื่อการเมืองถึงทางตัน เมื่อการเมืองกลายเป็นเพียงเรื่องของอำนาจและผลประโยชน์ของกลุ่มบุคคล การต่อสู้ก็ดุเดือด โหดร้าย สูญเสียไม่แพ้ชาติใดๆ เลือดไทยไหลนอง คนไทยเคยตายเป็นเบือด้วยน้ำมือคนไทยกันเอง น่าเศร้าเสียดาย

การต่อสู้ในสมัยอยุธยานั้น กษัตริย์ถูกปลงพระชนม์หลายพระองค์ การกบฏปฏิวัติรัฐประหารตั้งแต่ปี 2475 เป็นต้นมา การสูญเสียจริง โอกาสหวุดหวิดที่จะสูญเสียและผลพวงตามมา คิดแล้วขนหัวลุกด้วยความสยดสยองบวรเดชกี่ศพ 14 ตุลา กี่ศพ 6 ตุลากี่ศพ ฉลาด-อรุณกี่ศพ และในยุคพล.อ.เปรมนั้น หากมิได้บารมีปกเกล้าจะเป็นการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ที่สุด และครั้ง 23 กุมภานี้ อย่าเหลิงหรือภูมิใจเลย บังเอิญผู้นำเหล่าทัพรวมกันติด สนิทกันมานาน ทำการบ้านกันมาดี รัฐบาลชาติชายน่าเบื่อหน่ายและราษฎรตอนนั้นเชื่อความจริงใจทหาร แต่บัดนี้ กาลเวลาและเหตุปัจจัยได้เปลี่ยนไปเป็นอย่างอื่น

เห็นหรือไม่ รสช.กับพฤษภาทมิฬ สร้างความวิบัติสูญเสียให้กับสังคมไทยปานใด และรัฐบาลทักษิณกับผู้สืบสันดานซึ่งอดีตผู้นำ รสช.เฝ้าแต่สรรเสริญและปกป้องนั้น จะยิ่งน่ากลัวมากกว่าสักเพียงใด

เมื่อเดิมพันและผลประโยชน์ในการต่อสู้ทางการเมืองดุเดือดมากขึ้น เมื่อการสื่อสารรวดเร็วสะดวกต่อการปลุกระดมมากขึ้น เมื่ออาวุธที่ใช้เพื่อการพิฆาตฟาดฟันหาง่ายขึ้น และทรงฤทธิ์อำมหิตโหดเหี้ยมยิ่งขึ้น

ถึงผมจะเป็นพุทธปฏิบัติ แต่ผมเคยได้เห็นและศึกษาเรื่องความโหดร้ายของการต่อสู้ทางการเมืองมา ผมมีข้อสังเกตดังนี้

หนึ่ง ในสังคมต่างๆ ถึงแม้สังคมนั้นๆ จะไม่เหมือนกัน แต่การต่อสู้ ความสูญเสีย และความโหดร้ายทารุณของการต่อสู้ทางการเมืองมักจะมีแบบฉบับ วิธีการ ขนาด สัดส่วนและทิศทางในแนวเดียวกันทั้งสิ้น นั่นก็คือ รูปแบบจากการใช้กำลังไปสู่การใช้ความอดทน ไปสู่การใช้ปัญญา เริ่มต้นจากฝูงชนปราบกันเองเพื่อชิงความเป็นใหญ่ ผู้นำปราบฝูงชนเพื่อรักษาอำนาจ ผู้นำฆ่ากันเองเพื่อแย่งอำนาจ ประชาชนสู้กับผู้นำ และประชาชนสู้กับประชาชน วิธีการต่อสู้และความสูญเสียก็ขึ้นกับความเจริญในสังคม วิวัฒนาการและประเภทของอาวุธ ประเภทของการต่อสู้เริ่มจากใครมีกำลังกว่า ใครมีอาวุธดีกว่า การจัดองค์กรปราบปรามและต่อสู้ กองทัพสู้กองทัพ กองโจรสู้กองทัพ การจับตัว การก่อวินาศกรรม การลอบสังหาร และสงครามกลางเมือง

สอง ความโหดร้ายทารุณ และความยืดเยื้อยาวนานมักจะขึ้นกับปัจจัย คือ ความเหมือนกันหรือแตกต่างกันขององค์ประกอบที่เกี่ยวข้อง เช่น เชื้อชาติ ศาสนา ความเชื่อ จำนวนของผู้ที่ใช้อำนาจ และประชาชนพลเมืองกับทางเลือกของสังคมนั้นว่ามีมากหรือน้อยต่างกันอย่างไร ถ้าสังคมใดมีความยืดหยุ่นน้อยก็เจ็บตัวมาก ถ้ามีเสรีภาพมาก มีทางเลือกมาก ก็เจ็บตัวน้อย

ทั้งนี้ มิได้นับปัจจัยต่างประเทศหรือความแตกต่างทางเชื้อชาติศาสนา ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ น้ำมัน ก๊าซ และสินค้าอาวุธของมหาอำนาจ ฯลฯ

ในท่ามกลางความปรวนแปรเช่นนี้ หากรัฐบาลและพรรคพลังประชาชนยืนยันการเลือกตั้งและวิถีทางเลือกที่ปรากฎอย่างแจ้งชัดแล้ว และพันธมิตรฯ ก็หัวชนฝาเพราะว่าไม่มีทางเลือกอื่น

การต่อสู้หากจะมิใช่การต่อสู้ระหว่างการเมืองใหม่กับการเมืองเก่า แต่เป็นการต่อสู้ระหว่างความเป็นกับความตาย

ทางรอดของประเทศอยู่ที่ฝ่ายที่สาม คือ ทหาร ข้าราชการ ประชาชนทุกหมู่เหล่าและอาชีพจะต้องกระทำอารยะขัดขืนอย่างยิ่งใหญ่และพร้อมเพรียงกันโดยไม่ชักช้า

อย่างนี้เท่านั้นที่จะป้องกันการนองเลือดและประเทศชาติที่เรารู้จักและรักหวงแหนเอาไว้ได้
กำลังโหลดความคิดเห็น