xs
xsm
sm
md
lg

ลงใต้ดิน

เผยแพร่:   โดย: ชัยอนันต์ สมุทวณิช

เหตุการณ์นองเลือด 7 ตุลาคม ที่ผ่านมา สะท้อนภาพการเมืองไทยที่มีการแบ่งขั้วกันอย่างเป็นปฏิปักษ์ ไม่อาจตกลงต่อรองกันได้ ทั้งๆ ที่ได้มีการแสดงความต้องการที่จะมีการเจรจากันก่อนหน้านั้น

ผมมีข้อสังเกตบางประการเกี่ยวกับเหตุการณ์ 7 ตุลา คือ

1. ฝ่ายพันธมิตรฯ ได้เคลื่อนกำลังเข้าปิดล้อมรัฐสภา แต่ก็ไม่ได้เข้าไปในบริเวณรัฐสภา เพียงแต่ล้อมอยู่ภายนอก ทั้งๆ ที่มีการประกาศไม่ยอมรับรัฐบาล ทำให้รัฐบาลสามารถแถลงนโยบายได้ แสดงว่าฝ่ายพันธมิตรฯ ยังไม่ต้องการดำเนินการอย่างแตกหัก

2. ฝ่ายรัฐบาลโดยเฉพาะตำรวจตัดสินใจสกัดกั้นประชาชนด้วยการยิงแก๊สน้ำตาผสมระเบิด และมีการยิงบ้าง การยิงแก๊สน้ำตามีความถี่มากกว่าที่จำเป็น การบาดเจ็บล้มตายของประชาชนน่าจะเกิดจากการใช้อาวุธร้ายแรงอย่างอื่นด้วย

3. ฝ่ายพันธมิตรฯ ได้ต่อสู้ด้วยการเคลื่อนกำลังเข้าปิดล้อมด้วยความเด็ดเดี่ยว โดยมีสตรีและเยาวชนเข้าร่วมจำนวนมาก

4. ในระหว่างเหตุการณ์ สมเด็จพระราชินีได้ทรงแสดงความห่วงใยพระราชทานเงิน และคณะแพทย์พยาบาลมาช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ แต่ตำรวจก็ยังยิงแก๊สน้ำตาใส่ประชาชน โดยไม่เกรงใจทำให้พระมหากรุณาธิคุณที่ทรงมีต่อประชาชนไม่มีความหมายเชิงสัญลักษณ์ที่จะทำให้รัฐบาล และตำรวจรู้สึกสำนึก และหยุดการปฏิบัติการ

ข้อสังเกตข้อสุดท้ายนี้เป็นเรื่องใหญ่ และทำให้คำกล่าวหาของพันธมิตรฯ ที่ว่าคนในรัฐบาล และตำรวจบางส่วนได้กลายเป็นคนรับใช้ของทักษิณไปแล้ว และคนเหล่านี้ไม่มีความจงรักภักดีต่อสถาบันพระมหากษัตริย์

การเคลื่อนไหวของพันธมิตรฯ มีแต่ประชาชนเท่านั้นที่สนับสนุนในส่วนกลไกอำนาจรัฐ ทหารวางเฉยต่อสถานการณ์นี้ แม้จะไม่มีการแทรกแซงทางการรัฐประหาร แต่ก็ไม่ได้มีการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ว่าอยู่ข้างประชาชน

ผลของการนองเลือดก็คือ ประชาชนจำนวนมากเกิดความเสื่อมศรัทธาในรัฐบาล ในรัฐสภา และในกลไกอำนาจรัฐ ในรัฐสภาภาพของ ส.ส.ชายที่รุมชี้หน้า รสนา โตสิตระกูล เป็นภาพที่น่าสังเวชที่สุด และแสดงให้เห็นถึงบารมีของทักษิณที่ยังคงมีอยู่มากในการเมืองไทย

เมื่อการเคลื่อนไหวอย่างอหิงสา สันติวิธีภายใต้กรอบของรัฐธรรมนูญบังเกิดผลเช่นนี้ ประชาชนอาจเคลื่อนไหวอย่างสันติเป็นครั้งสุดท้าย เป็นไปได้ว่าประชาชนจะเลือกทำการเคลื่อนไหวใต้ดินแบบปิดลับ นักการเมืองที่ฉ้อฉลอาจอยู่ในบัญชีดำ และการลอบสังหารทางการเมือง ตลอดจนการก่อความรุนแรงในรูปของการก่อวินาศกรรม อาจเกิดขึ้นเป็นระยะๆ

การเมืองไทยจึงกำลังเข้าสู่ยุคของความรุนแรง เพราะฝ่ายรัฐบาลเป็นผู้กระทำความรุนแรงนั้นก่อน ในอดีตแม้รัฐบาลทหารจะมีอำนาจมาก แต่อำนาจนั้นก็มิได้รวมเอาการใช้เงินเพื่อซื้อความภักดีของตำรวจและทหาร มีพฤติกรรมที่ส่อให้เห็นว่ามีคนบางส่วนในราชการที่รับฟังคำสั่งจากผู้ที่ตกจากอำนาจไปแล้ว การไม่กระตือรือร้นในการปิดเว็บไซต์ที่หมิ่นพระบรมเดชานุภาพก็ดี ความล่าช้าในการดำเนินคดีกับผู้หมิ่นสถาบันพระมหากษัตริย์ก็ดี แสดงให้เห็นว่า อำนาจเงินมีเหนือความจงรักภักดี

สังคมไทยเป็นสังคมพุทธ แม้จะมีความขัดแย้งกันทางการเมือง แต่ก็ยังดีกว่าอีกหลายประเทศที่มีการลอบสังหารผู้นำ และนักการเมือง แต่นี้ต่อไปนักการเมืองคงมีชีวิตอยู่อย่างไม่สงบ และต้องระมัดระวังตัวมากขึ้น เมื่อไม่มีการเคลื่อนไหวอย่างเปิดเผย ความเงียบจะเป็นสิ่งที่น่ากลัวที่สุด เมื่อประชาชนมีประสบการณ์ตรง และมีการชุมนุมกันนานนับหลายเดือน แต่ก็ไม่เป็นผล แล้วยังถูกปราบปรามอย่างเกินเหตุเช่นนี้ แนวโน้มในอนาคตก็คือ ประชาชนจะหันไปใช้วิธีการอื่นเพื่อขจัดนักการเมืองขี้โกงออกจากระบบการเมือง จะมีการตั้งกลุ่มที่หาข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับพฤติกรรมของนักการเมือง โดยไม่มีการออกมาต่อต้านอย่างเปิดเผย แต่จะมีขบวนการจัดการโดยใช้ความรุนแรงแทน

น่าเสียดายที่สังคมไทยจะเข้าสู่สภาพการณ์เช่นนี้ ประชาชนมีความตื่นตัวทางการเมืองสูง แต่ถูกปิดโอกาสที่จะเปลี่ยนแปลงอย่างสันติวิธี เมื่อไม่เห็นที่พึ่ง ประชาชนส่วนหนึ่งก็จะจัดการนักการเมืองเอง แต่นี้ต่อไปคนไทยก็จะอยู่ด้วยความกลัว ความหวาดระแวง และความรุนแรง
กำลังโหลดความคิดเห็น