xs
xsm
sm
md
lg

เบอร์นันกีแบะท่าเฟดจะลดดอกเบี้ย แถมรับซื้อตราสารระยะสั้นภาคธุรกิจ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

รอยเตอร์ – ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ(เฟด) เบน เบอร์นันกีส่งสัญญาณว่าพร้อมที่จะลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ พร้อมกับเตือนด้วยว่าภาพรวมเศรษฐกิจอาจจะย่ำแย่ลงไปกว่าเดิม และวิกฤตการเงินโลกอาจลุกลามรุนแรงกว่าครั้งใด ๆในประวัติศาสตร์
ขณะเดียวกัน เฟดยังแถลงว่าจะเริ่มซื้อตราสารเพื่อการค้า (commercial paper) ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของตราสารหนี้ระยะสั้นที่หลายธุรกิจใช้ระดมเม็ดเงินเข้ามาเสริมสภาพคล่องในการดำเนินกิจการ โดยเฟดมุ่งหมายที่จะฟื้นฟูสภาพไหลเวียนของสินเชื่อให้กลับคืนมาดังเดิม
บันทึกการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงินของเฟด(เอฟโอเอ็มซี)ครั้งล่าสุด ที่ถูกนำเอามาเปิดเผยในวันอังคาร(7)ที่ผ่านมา แสดงให้เห็นว่าในการประชุมตอนกลางเดือนกันยายนครั้งนั้น มีสมาชิกคณะกรรมการบางคนเห็นว่ามีความจำเป็นที่จะต้องตัดลดดอกเบี้ย ขณะที่เสียงส่วนใหญ่งยังมองว่าการคงไว้ซึ่งอัตราดอกเบี้ยเดิมที่ 2.25% นั้นเป็นยุทธศาสตร์ที่ดีที่สุด เพราะมองว่าในที่สุดเศรษฐกิจก็จะแข็งแกร่งขึ้นที่ละน้อยในปี 2009
อย่างไรก็ตาม เมื่อวันอังคาร เบอร์นันกีกลับไปกล่าวสุนทรพจน์ต่อสมาคมเพื่อเศรษฐศาสตร์ธุรกิจแห่งชาติว่า ตัวเลขเศรษฐกิจเร็ว ๆนี้ รวมทั้งพัฒนาการทางการเงินแสดงให้เห็นว่าภาพรวมเศรษฐกิจย่ำแย่ลงกว่าที่คาดไว้ในเดือนกันยายนมาก แม้ว่าสถานการณ์ด้านเงินเฟ้อจะดีขึ้นบ้างจากราคาน้ำมันและสินค้าโภคภัณฑ์อื่น ๆเริ่มลดลง
“ภายใต้พัฒนาของการเงื่อนไขต่าง ๆเหล่านี้ ธนาคารกลางจำเป็นจะต้องพิจารณาว่าจุดยืนแห่งนโยบายที่ใช้อยู่ในขณะนี้ยังคงเหมาะสมอยู่หรือไม่” เบอร์นันกีกล่าว
นอกจากแย้มพรายว่าอาจมีการปรับลดดอกเบี้ยแล้ว เมื่อวันอังคารเฟดยังออกมาตรการเชิงรุกอีกขนานหนึ่ง โดยประกาศจะเข้าซื้อตราสารเพื่อการพาณิชย์ ที่บริษัทในสหรัฐฯเป็นจำนวนมากออกมา เพื่อระดมเม็ดเงินสำหรับการดำเนินธุรกิจประจำวัน ด้วยความมุ่งหมายที่จะฟื้นฟูสภาพคล่องในตลาดและปกป้องระบบเศรษฐกิจ
ทั้งนี้ธนาคารกลางสหรัฐฯตัดสินใจเปิดช่องทางสำหรับรับซื้อตราสารพาณิชย์ เพราะว่านักลงทุนส่วนมาก อย่างเช่น กองทุนรวมสำหรับตลาดเงินได้เริ่มเมินไม่ยอมซื้อตราสารหนี้ที่ออกโดยบริษัทต่าง ๆชนิดนี้แล้ว ซึ่งจะส่งผลร้ายต่อพัฒนาการของเศรษฐกิจประเทศ
“ปริมาณการซื้อขายตราสารเพื่อการพาณิชย์ได้ลดต่ำลงอย่างมากในช่วงเร็ว ๆนี้ อัตราดอกเบี้ยสำหรับตราสารเพื่อการพาณิชย์ระยะยาว ก็เพิ่มสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้จำนวนของตราสารที่ซื้อขายเปลี่ยนมือกันเหล่านั้นที่จะต้องรีไฟแนนซ์กันใหม่ ก็เพิ่มขึ้นทุก ๆวัน” เฟดกล่าวในการประกาศโครงการนี้ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการคลัง
เห็นได้ชัดเจนว่าตอนนี้เบอร์นันกีเริ่มเปลี่ยนมุมมองไปจากเดิม ก่อนหน้านี้เขาและผู้บริหารเฟดคนอื่น ๆมองว่าการลดอัตราดอกเบี้ยไม่น่าจะมีผลมากนักในการกระตุ้นกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้ เพราะว่าตลาดการเงินยังคงขาดสภาพคล่องอย่างรุนแรง
แต่ความเคลื่อนไหวของทางการที่ทยอยประกาศออกมา ยังไม่สามารถที่จะสร้างความมั่นใจให้กับตลาดหุ้นได้ ดัชนีดาวโจนส์ร่วงลงมากกว่า 1,400 จุดในห้าวันทำการที่ผ่านมา หรือคิดเป็น 13% ของมูลค่ารวมของหุ้นที่ประกอบกันขึ้นเป็นดัชนีตัวนี้ รวมทั้งเป็นการร่วงลงติดกันครั้งรุนแรงที่สุดในประวัติศาสตรของดัชนีหุ้นพื้นฐานดีตัวนี้
เฟดได้ประกาศลดอัตราดอกเบี้ยลงมาแล้ว 7 ครั้งเพื่อกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ ตั้งแต่กลางเดือนกันยายนปีที่แล้วเป็นต้นมาจนถึงสิ้นเดือนเมษายน อัตราปัจจุบันนั้นอยู่ที่ 2% แต่ต่อมาธนาคารกลางได้หันไปเน้นการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบโดยใช้หน้าต่างประมูลรวมทั้งให้สินเชื่อแก่ผู้ที่เอาพันธบัตรกระทรวงการคลังมาค้ำประกันโดยหวังว่าจะทำให้ตลาดสินเชื่อที่ตึงตึวผ่อนคลายลงได้
หลังจากนั้นเฟดก็ได้ออกมามาตรการฉุกเฉินหลายประการที่จะอัดฉีดเงินเข้าไปในตลาดให้สภาพคล่องกลับคืนมา ซึ่งก็มีเพิ่มจำนวนเงินในหน้าต่างประมูล, เปิดช่องทางการสว็อปเงินตราต่างประเทศกับธนาคารกลางประเทศอื่นๆ และเปิดกว้างให้สถาบันการเงินหลากประเภทมากขึ้นเข้ามากู้เงินฉุกเฉินในหน้าต่างดิสเคาต์ได้
“คำพูดของเบอร์นันกีส่งสัญญาณชัดแจ้งว่าเฟดเปลี่ยนแนวทางในการดำเนินนโยบาย” ไมเคิล แฮนสัน จาก บาร์เคลย์ส แคปิตอล โกลบอล อีโคโนมิกส์ในนิวยอร์กกล่าว
ในขณะเดียวกัน กระทรวงการคลังของสหรัฐฯก็เริ่มซื้อตราสารสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่มีปัญหารวมทั้งตราสารหนี้อื่น ๆเข้ามาภายใต้กฏหมายกอบกู้ภาคการเงินมูลค่า 700,000 ล้านที่เพิ่งประกาศใช้เมื่อไม่นานนี้
“การดำเนินงานเหล่านี้เป็นไปที่ละขั้น และจะถูกนำออกมาใช้เพื่อแก้ไขปัญหาที่กินลึกลงไปในระบบอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน” เบอร์นันกีกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น