xs
xsm
sm
md
lg

มูลค่าก.ย.ต่ำสุด1.15หมื่นล.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

วิกฤตการเงินสหรัฐฯ ถล่มตลาดหุ้นทั่วโลกร่วงระนาว ฉุดมูลค่าการซื้อขายหุ้นไทยเดือน ก.ย. 51 ต่ำสุดในรอบปี เหลือแค่ 1.15 หมื่นล้านบาทต่อวัน และไตรมาส 3 รวม 3 เดือนเฉลี่ย 1.22 หมื่นล้านต่อวัน วูบจากไตรมาสแรกที่ 1-2 ที่ 1.88 หมื่นล้าน 2.00 หมื่นล้านบาทตามลำดับ ขณะที่ตั้งแต่ต้นปีดัชนีวูบแล้ว 261 จุด หรือ 30% มาร์เกตแคปหาย 1.13 ล้านล้านบาท ด้านโบรกเกอร์ คาดสหรัฐฯ อนุมัติแผนกู้วิกฤตการเงิน หนุนดัชนีทะลุ 610 จุด พร้อมเตือนอย่าวางใจ เหตุวิกฤตไม่ยุติเร็ววัน ระบุมูลค่าความเสียหายซ่อนอยู่เพียบ หวั่น 7 แสนล้านเอาไม่อยู่
ตลอดเดือนกันยายน 51 ที่ผ่านมา วิกฤตสถาบันการเงินสหรัฐฯ ที่ก่อตัวขึ้นรอบใหม่ ได้ก่อให้เกิดความเสียหายต่อตลาดหุ้นทั่วโลก ซึ่งตลาดหุ้นไทยเองไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้เช่นกัน โดยเฉพาะการประกาศล้มละลายของเลห์แมน บราเธอร์ส วาณิชธนกิจยักษ์ใหญ่ อันดับ 4 ของสหรัฐฯ ขณะเดียวกันปัญหาดังกล่าวได้ขยายวงกว้างเข้าสู่ยุโรปทำให้ประสบปัญหาตามไปได้ จนทำให้ธนาคารกลางสหรัฐฯ และธนาคารกลางทั่วโลกต้องร่วมประกาศเจตนารมณ์เข้าช่วยเหลือสถาบันการเงินภายในประเทศของตนเอง
จากวิกฤตสถาบันการเงินสหรัฐฯ ข้างต้น ผสมโรงกับปัญหาด้านการเมืองในประเทศ ทำให้นักลงทุนต่างประเทศเทขายหุ้นไทยออกมาอย่างต่อเนื่อง คือมียอดขายสุทธิรวมกว่า 1.2 แสนล้านบาท ขณะที่ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวลดลงท่ามกลางบรรยากาศการซื้อขายที่เงียบเหงา
ผู้จัดการรายวัน ได้สำรวจดัชนีต่างๆ ของตลาดหุ้นไทยตั้งแต่สิ้นปี 50 เทียบกับสิ้นสุดไตรมาส 3 ณ วันที่ 30 กันยายน 51 พบว่า ดัชนีตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ปรับลดลงต่ำกว่า 600 จุด โดยปิดที่ 596.54 จุด (30 ก.ย.51) ลดลงจาก 858.10 จุด (31 ธ.ค. 50) หรือลดลงกว่า 261.56 จุด หรือคิดเป็น 30.48% ขณะที่มูลค่าตามราคาตลาด (มาร์เกตแคป) ลดลงจาก 6.54 ล้านล้านบาท เหลือ 5.41 ล้านล้านบาท ลดลงกว่า 1.13 ล้านล้านบาท คิดเป็น 17.28%
ขณะที่มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันได้ปรับตัวลดลงเช่นกัน โดยตลอดระยะเวลา 9 เดือนแรกของปี 51 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยวันละ 16,941.98 ล้านบาท ลดลงจากปี 50 ที่มูลค่าซื้อขายเฉลี่ยวันละ 17,097.05 ล้านบาท หากพิจารณาเป็นรายไตรมาส พบว่า มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวันในไตรมาส 3 ปรับตัวลดลงต่ำสุด คือมีมูลค่าการซื้อขายอยู่ที่ 12,211.95 ล้านบาทต่อวัน เทียบกับไตรมาส 1 – 2 ที่มีมูลค่าการซื้อขายอยู่ที่ 18,846.24 ล้านบาท และ 19,959.32 ล้านบาท รวมทั้งมูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยในเดือนกันยายน 51 ต่ำที่สุดแค่ 11,464.29 ล้านบาทเท่านั้น
นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ กล่าวให้ความเห็นว่า ตั้งแต่ต้นปี 51 ที่ผ่านมา ตลาดหุ้นไทยถูกปกคลุมด้วยปัจจัยลบทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะปัจจัยต่างประเทศ ทั้งเรื่องของราคาน้ำมันที่กดดันให้อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้น ทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้น รวมถึงปัญหาสินเชื่ออสังหาริมทรัพย์ด้อยคุณภาพ (ซับไพรม์) ที่เริ่มปะทุรอบใหม่ และขยายวงกว้างมากกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้จนส่งผลต่อสถาบันการเงินขนาดใหญ่ต้องประกาศล้มละลาย เป็นต้น
ขณะที่สถานการณ์การเมืองในประเทศ ที่มีการชุมนุมประท้วงของกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ที่คัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญ รวมถึงต้องการให้รัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช อดีตนายกรัฐมนตรีลาออก และคาดว่าจะยังคงมีการชุมนุมประท้วงรัฐบาลของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันต่อไป
“ปัจจัยทั้งในประเทศ และต่างประเทศ ล้วนเป็นแรงกดดันให้ดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวลดลงต่อเนื่อง โดยเฉพาะปัจจัยต่างประเทศที่คาดการณ์ว่าจะทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้น แม้ธนาคารกลางของประเทศต่างๆ ทั่วโลกประกาศพร้อมที่จะให้ความช่วยเหลือสถาบันการเงินของตนเอง แต่คาดว่าปัญหาที่เกิดขึ้นยังต้องใช้เวลาอีกนานกว่าที่จะสามารถยุติปัญหาดังกล่าวได้”
นักวิเคราะห์กล่าวเพิ่มเติมว่า แม้ว่าทางการสหรัฐฯ จะอนุมัติแผนกู้วิกฤตสถาบันการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ทุกฝ่ายยังกังวลว่าเม็ดเงินจำนวนดังกล่าวจะเพียงพอหรือไม่ เพราะตลาดได้คาดการณ์ว่า ความเสียหายที่เกิดขึ้นจริงจะมีมูลค่าสูงกว่าจำนวนเงินที่ได้รับการอนุมัติ ดังนั้นอาจจะมีการอนุมัติเพิ่มวงเงินช่วยเหลือกันอีกระลอก
"นักลงทุนในตอนนี้ไม่มีความมั่นใจในการลงทุน และต้องการเทขายหุ้นออกมา โดยเฉพาะนักลงทุนต่างชาติที่ต้องการเก็บไว้เสริมสภาพคล่องของตน จึงเป็นแรงกดดันดัชนีตลาดหุ้นปรับตัวขึ้นได้ บวกกับช่วงนี้นักลงทุนต้องจับตาดูทิศทางดอกเบี้ย หลังจากสภาพคล่องทั่วโลกตึงตัว อาจจะส่งผลให้ดอกเบี้ยปรับตัวเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลต่อการลงทุนในตลาดหุ้นด้วย”
แนวโน้มการลงทุนในสัปดาห์หน้า นายคมสันต์ กล่าวว่า คงจะต้องรอดูแผนฟื้นฟูวิกฤตการเงินในสหรัฐฯก่อนว่าจะผ่านมติที่ประชุมหรือไม่ แล้วตลาดสหรัฐฯมีการเคลื่อนไหวอย่างไรบ้าง พร้อมให้กรอบการแกว่งไว้ที่ 575-620 จุด
นายวิวัฒน์ เตชะพูนผล หัวหน้าฝ่ายวิเคราะห์ทางเทคนิค บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า จากกรณีที่สภาคองเกรส สหรัฐฯ อนุมัติแผนบรรเทาวิกฤตสถาบันการเงิน มูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ จะต้องพิจารณารายละเอียดของมาตรการอีกครั้ง และอาจจะทำให้มีแรงเทขายหุ้นทำกำไรออกมาในระยะสั้นๆ ขณะที่ตลาดหุ้นไทยและภูมิภาคเอเชียจะได้รับผลดี ส่งผลให้ดัชนีปรับตัวเพิ่มขึ้น
อย่างไรก็ตาม หากสภาคองเกรสไม่อนุมัติแผนแก้วิกฤตสถาบันการเงิน จะส่งให้ดัชนีดาวโจนส์ปรับตัวดลงอย่างรุนแรง และต่ำกว่าระดับ 10,000 จุด และดัชนีตลาดหุ้นไทยร่วงลงกว่า 70 จุด รวมถึงตลาดหุ้นในภูมิภาคเอเชียด้วย
“ตลาดหุ้นไทยจะขึ้นอยู่กับผลการพิจารณาแผนฟื้นฟูวิกฤตสถาบันการเงิน สหรัฐฯ โดยมีแนวรับที่ 580-585 จุด และแนวต้าน 595-600 จุด”
นายรณกฤต สารินวงศ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์  บล. แอ๊ดคินซัน จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า สภาคองเกรส สหรัฐฯ อนุมัติแผนแก้ไขวิกฤตสถาบันการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ จะส่งผลให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวเพิ่มขึ้นได้ 5–7% โดยประเมินแนวรับไว้ที่ระดับ 580 จุด และแนวต้านที่ 620 จุด โดยแนะนำให้นักลงทุนชะลอการลงทุนออกไปก่อน
นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ กล่าวเพิ่มเติมว่า แผนกู้วิกฤตสถาบันของสหรัฐฯ จะเป็นปัจจัยบวกที่กระตุ้นจิตวิทยาการลงทุนทั่วโลกได้ในช่วงสั้นๆ โดยอาจส่งเสริมให้มีแรงซื้อเก็งกำไรเข้ามาผลักดันให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับขึ้นไปถึงแนวต้านที่ 610 จุด ขณะที่แนวรับอยู่ที่ระดับ 560 จุด
อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลกยังไม่หมดไปในทันที เพราะยังไม่มีความชัดเจนว่าความเสียหานที่แท้จริงจากวิกฤตสถาบันการเงินเป็นจำนวนเท่าใดและแผนวงเงิน 7 แสนล้านจะเพียงพอต่อการยับยั้งความเสียหายอันใหญ่หลวงหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น