xs
xsm
sm
md
lg

จับตาดาวโจนส์ดิ่ง 1,000 จุด "บุช-พอลสัน" จนแต้มกู้ซากศก.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


นักวิเคราะห์บาร์เคลย์ สคาดดาวโจนส์ส่อเค้าดิ่ง 1,000 จุด หากแผนฟื้นฟูภาคการเงิน 7 แสนล้านดอลลาร์ ไม่ผ่านมติสภาสหรัฐฯ "บุช" บ่นผิดหวังหนัก "พอลสัน" ขอดิ้นสู้อีกรอบ ด้านนักวิเคราะห์ตลาดวอลล์สตรีท คาดว่า "เฟด" อาจต้องปรับมาใช้ยุทธวิธีของตนเองต่อไป หลังถูกสภาคองเกรสล้มกระดาน โดยมีความเป็นไปได้สูงที่จะใช้มาตรการปรับลดอัตราดอกเบี้ย โดยร่วมกับธนาคารกลางทั่วโลก

วันนี้ (30 ก.ย.) นายอาเจย์ ราชธยาชา หัวหน้านักยุทธศาสตร์ด้านการลงทุนจากธนาคารบาร์เคลย์ส คาดการณ์ว่า การที่สภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ (สภาคองเกรส) ไม่อนุมัติแผนฟื้นฟูภาคการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ ที่รัฐบาลสหรัฐยื่นเสนอนั้น อาจฉุดดัชนีดาวโจนส์ตลาดหุ้นนิวยอร์ก (NYMEX) ร่วงลงกว่า 1,000 จุด

"การไม่ผ่านแผนฟื้นฟูภาคการเงินก่อให้เกิดการกระหน่ำขายครั้งใหญ่ ผมคาดว่าการที่ดัชนีดาวโจนส์จะร่วงลงถึง 1,000 จุดจะเกิดขึ้นอย่างแน่นอน เพราะสถานการณ์การเงินในเวลานี้แย่ลงมาก และจะแย่ลงจนกว่าสภาคองเกรสจะยอมผ่านแผนการดังกล่าว และผมยังไม่เห็นทางเลือกอื่นๆในเวลานี้"

นักวิเคราะห์ของบราเคลย์ส ยังกล่าวด้วยว่า อัตราดอกเบี้ยมาตรฐาน Libor มีแนวโน้มสูงขึ้นอีกมาก ซึ่งจะยิ่งทำให้ต้นทุนการกู้ยืมทะยานขึ้น และมากจนถึงขนาดที่ไม่มีสถาบันการเงินแห่งใดกล้ากู้ยืม ผมบอกได้เลยว่าเรากำลังเผชิญกับวิกฤตการณ์ที่แท้จริงแล้ว ต้นทุนสินค้าทุกชนิดจะสูงขึ้น และจะส่งผลให้ประชาชนไม่กล้าลงทุน ไม่กล้าจับจ่ายใช้สอย ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ร้ายแรงจริงๆ

"อย่างไรก็ตาม ผมคิดว่าแผนฟื้นฟูภาคการเงินจะผ่านความเห็นชอบจากสภาสหรัฐ แต่ถ้าไม่ผ่าน ก็จะฉุดดาวโจนส์ร่วงลงกว่า 1,000 จุด ผมเห็นว่ายังไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากทางนี้ ถ้าใครคิดว่าแผนฟื้นฟูภาคการเงินมูลค่า 7 แสนล้านดอลลาร์ ไม่สำคัญ ก็ขอให้กลับไปศึกษาตรรกวิทยาเสียใหม่"

ทั้งนี้ สภาคองเกรสสหรัฐฯ มีมติด้วยคะแนนเสียง 228 ต่อ 205 เสียง ไม่รับแฟนฟื้นฟูภาคเงิน 7 แสนล้านดอลลาร์ ตามที่รัฐบาลสหรัฐยื่นเสนอ โดยให้เหตุผลว่า ยังไม่มั่นใจในแผนการดังกล่าว

ขณะที่ประธานาธิบดี จอร์จ ดับเบิ้ลยู บุช กล่าวว่า ผมรู้สึกผิดหวังอย่างยิ่งที่สภาคองเกรสคว่ำแผนฟื้นฟูภาคการเงินฉบับนี้ และไม่เข้าใจว่าทำไมคองเกรสจึงไม่ให้ความสำคัญกับยุทธศาสตร์ของเราที่มุ่งจะแก้ไขสถานการณ์เศรษฐกิจให้ดีขึ้น

ขณะที่นายเฮนรี พอลสัน รมว.คลังสหรัฐฯ กล่าวภายหลังจากรู้ผลการโหวตว่า ฝ่ายนิติบัญญัติจำเป็นต้องดำเนินการให้เร็วที่สุดเพื่ออนุมัติแผนฟื้นฟู เพราะตลาดทั่วโลกตกอยู่ในภาวะตึงตัว เราจำเป็นต้องใช้แผนฟื้นฟูเพื่อคลี่คลายวิกฤตการณ์ ผมจะปรึกษากับเบน เบอร์นันกี ประธานเฟด และผู้นำคองเกรสบางคน รวมถึงท่านประธานาธิบดีบุช

นายเคธ เฮมบรี หัวหน้านักวิเคราะห์จาก FAF Advisors Inc กล่าวว่า มีความเป็นไปได้สูงมากที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) จะลดดอกเบี้ยประเภทระยะสั้นลงเหลือ (fed fund rate) 1.50% จากปัจจุบันที่ระดับ 2.00% การที่สภาคองเกรสไม่อนุมัติแผนฟื้นฟูภาคการเงินทำให้เราเชื่อว่าอัตราว่างงานสหรัฐจะพุ่งสูงขึ้นอีก และจะยิ่งทำให้ตลาดการเงินผันผวนมากขึ้น

ขณะที่นายไบรอัน เบธัน หัวหน้านักวิเคราะห์จาก Global Insight คาดว่า นอกเหนือจากการลดดอกเบี้ยแล้ว คาดว่าเฟดจะหาทางเลือกอื่นๆในการกอบกู้วิกฤตการณ์ในภาคการเงิน ด้วยการปล่อยวงเงินกู้ฉุกเฉิน โดยใช้เม็ดเงินจากงบประมาณของเฟดเอง

ก่อนหน้าที่สภาคองเกรสจะโหวตแผนฟื้นฟูภาคการเงินเมื่อคืนนี้ เฟดยืนยันว่าจะอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงินอีก 6.30 แสนล้านดอลลาร์ และจะใช้แผน Term Auction Facility เพื่อขยายวงเงินกู้ฉุกเฉินให้กับธนาคารพาณิช์ประมาณ 3-4.50 แสนล้านดอลลาร์

เมื่อไม่นานมานี้ เฟดได้อัดฉีดสภาพคล่องมูลค่า 3 หมื่นล้านดอลลาร์เข้าสู่ระบบการเงินทั่วโลก โดยการทำข้อตกลงสว็อปค่าเงินร่วมกับธนาคารกลาง 4 แห่ง คือ ธนาคารกลางออสเตรเลีย ธนาคารกลางเดนมาร์ก ธนาคารกลางนอร์เวย์ และธนาคารกลางสวีเดน โดยมีเป้าหมายที่จะบรรเทาภาวะขาดแคลนสกุลเงินดอลลาร์ในตลาดการเงินทั่วโลก นับตั้งแต่เลห์แมน บราเธอร์สล้มละลาย และบริษัท อเมริกัน อินเตอร์เนชันแนล กรุ๊ป (AIG) ขาดสภาพคล่องอย่างหนักจนเฟดต้องเข้ามาเทคโอเวอร์กิจการ

ทั้งนี้ การที่สภาคองเกรสมีมติคว่ำแผนฟื้นฟูภาคการเงิน ได้สร้างความตื่นตระหนกไปทั่วตลาดหุ้นนิวยอร์ก เมื่อคืนนี้ และฉุดดัชนีดาวโจนส์ร่วงลง 777.68 จุด หรือ 6.98% ปิดที่ 10,365.45 จุด ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 3 ปี
กำลังโหลดความคิดเห็น