xs
xsm
sm
md
lg

รุมจวก"สมชาย"เปิดเกมเลือด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน - ชี้จับ 2 แกนนำพันธมิตรฯ สะท้อนความไม่จริงใจของนายกฯ ในการแก้ปัญหาวิกฤติการเมือง หวังล้มโต๊ะเจรจา หวั่นเหตุการณ์ลุกลามบานปลายซ้ำรอย 14 ตุลา16 และพฤษภาทมิฬ เชื่อมีใบสั่งให้ตำรวจจัดการแน่ อธิการบดีนิด้า แนะควรใช้หลักรัฐศาสตร์แก้ปัญหา ไม่ใช่ยึดหลักนิติศาสตร์ เพราะเป็นคดีเกี่ยวกับเกียรติยศ "อภิสิทธิ์" จี้นายกฯประกาศจุดยืนให้ชัดเจน จะเลือกทำเพื่อชาติ หรือเพื่อคนคนเดียว

วานนี้ (5 ต.ค.) นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมแกนนำพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย ทั้งพล.ต.จำลอง ศรีเมือง และนายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ ว่าเป็นการจุดไฟให้อุณหภูมิการเมืองร้อนแรงขึ้นอย่างแน่นอน ซึ่งตนไม่ทราบว่าจะเกิดอะไรขึ้น

ส่วนการเชิญตนให้ไปเป็นประธานสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร.3 นั้น ตนไม่เคยตอบรับ หรือปฏิเสธ เนื่องจากยังไม่มีอะไรเกิดขึ้น อีกทั้งยังไม่ได้พิจารณา อย่างไรก็ตาม สำหรับแนวทางของ ส.ส.ร.3 นั้น ตนเห็นว่ายังมีปัญหาอื่นอีกมาก ซึ่งต้องแก้เป็นกระบวนการ โดยเฉพาะปัญหาขณะนี้ที่มองว่าเป็นปัญหาของการเมืองไทยที่ควรแก้ทั้งกระบวนการเมืองทั้งหมด

อย่างไรก็ตาม นายอานันท์ ขอให้ผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกับศูนย์อำนาจได้ศึกษาถึงการแก้ไขปัญหาในขณะนี้ ซึ่งตนไม่มีอำนาจ รวมถึงไม่มีความรับผิดชอบ และไม่ได้ใช้เวลากับเรื่องดังกล่าวมาก

**ชี้รัฐบาลไม่จริงใจแก้ปัญหา
นายสมบัติ ธำรงธัญวงศ์ อธิการบดีสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เชื่อว่ามีความเป็นไปได้ที่จะทำให้สถานการณ์รุนแรงขึ้น ถ้ารัฐบาลจะใช้หลักนิติศาสตร์แก้ปัญหา ก็จะแก้ไม่ได้ เพราะในสถานการณ์ที่บ้านเมืองต้องการความปรองดองสามัคคีนั้น ต้องใช้หลักรัฐศาสตร์เข้าแก้ปัญหา ไม่ทำให้โอกาสของการเจรจาล้มเหลว แต่ที่รัฐบาลทำนั้น ทำให้คนที่จะเจรจาด้วยรู้สึกว่ารัฐบาลขาดความจริงใจ

"รัฐบาลกำลังจะแถลงนโยบายต่อรัฐสภาโดยมาตรการเร่งด่วนสำคัญลำดับแรกก็คือนโยบายสร้างความสามัคคีปรองดองของคนในชาติ แต่การจับกุม พล.ต.จำลอง มันสะท้อนว่านโยบายที่จะประกาศเป็นแค่ลมปาก และล้มเหลวตั้งแต่ยังไม่แถลง โอกาสในการเจรจาถูกพังไปเรียบร้อย ฝ่ายพันธมิตรฯ ก็จะไม่ไว้ใจ และจะยิ่งทำให้สถานการณ์รุนแรงมากขึ้น และไม่เป็นผลดีกับบ้านเมือง ซึ่งไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นหรือไม่ก็ตาม คนเป็นรัฐบาลจะต้องรับผิดชอบ"

ส่วนที่มีการมองกันว่า พล.ต.จำลอง ออกมาใช้สิทธิเลือกตั้งเป็นการตั้งใจให้ถูกจับกุมเพื่อที่พันธมิตรฯ จะสามารถปลุกระดมประชาชนได้อีกครั้ง นายสมบัติ กล่าวว่า เขาอยากให้จับ แต่ถ้าตำรวจไม่จับ มันก็ไม่สำเร็จ การจะทำอะไรต้องมองว่าทำแล้วเกิดผลดีกับชาติบ้านเมืองหรือไม่ ถ้าไม่เกิดผลดีก็ไม่ควรทำ ที่อ้างหลักนิติศาสตร์ ไม่มีใบสั่งจากรัฐบาล ตำรวจทำเอง พูดอย่างนี้ใครก็พูดได้ แต่ไม่มีใครเชื่อ เพราะตำรวจไทยรู้กันดีอยู่ว่า ถ้าไม่มีการส่งสัญญาณจากรัฐบาล เขาก็ไม่ทำ

"น่าเสียดายการจับกุม พล.ต.จำลอง มันไม่ควรเกิด คดีข้อหากบฏมันเป็นคดีการเมือง เรียกว่าเป็นคดีเกียรติยศ ที่ต้องใช้หลักรัฐศาสตร์แก้ เพราะถ้าจะใช้หลักนิติศาสตร์ มันต้องคดีทุจริตที่เป็นคดีอัปยศ ซึ่งมันเทียบกันไม่ได้เลย อีกทั้งช่วงก่อนหน้านี้ ปัญหามันเหมือนกำลังจะถูกแก้ มีภาพรัฐบาลไปนั่งโต๊ะเจรจา 4 ฝ่าย จะมีการตั้ง ส.ส.ร. แนวทางเหมือนจะไปได้ดี ซึ่งก็จะทำให้ความชอบธรรมของพันธมิตรฯ หมดลงไปเรื่อยๆ แต่อยู่ๆ ก็มาทำกันอย่างนี้เสียหายกับบ้านเมือง มันเหมือนนายกไม่ใช้ปัญญาเพื่อชาติบ้านเมือง" อธิการบดีนิด้า กล่าว

**จับ"จำลอง"ซ้ำรอยพฤษภาทมิฬ
นายลิขิต ธีรเวคิน อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อดีตหัวหน้าพรรคพลังแผ่นดินไทย
กล่าวว่า สถานการณ์ต่อไปนี้มีปัญหาแน่นอน เพราะเหตุการณ์จะบานปลายจนก่อให้เกิดความรุนแรงในที่สุด เพราะการที่ พล.ต.จำลอง ถูกจับลักษณะนี้คล้ายกับเหตุการณ์พฤษภาทมิฬ เพราะหลังจากพล.ต.จำลองถูกจับเหตุการณ์ก็รุนแรงขึ้น เมื่อเหตุการณ์เป็นเช่นนี้ คิดว่าพันธมิตรฯ ที่เหลือ เขาจะยอมหรือ เดี๋ยวไม่นานก็มีเหตุการณ์บานปลาย นอกจากปัญหาบานปลายแล้ว ก็จะแก้อะไรไม่ได้

นายลิขิต กล่าวอีกว่า อยากทราบว่าตอนที่ประกาศ พ.ร.บ.ฉุกเฉิน รัฐบาลทำไมไม่ให้ตำรวจใช้กำลังเข้าปราบปรามหรือจับกุม ซึ่งขณะนั้นโอกาสมันเอื้ออำนวยมากกว่า เพราะสามารถใช้ความรุนแรงได้ แต่ไม่ทำ แต่ทำไมมาจับกุมกันตอนนี้ คิดว่าต้องมีอะไร

ผู้สื่อข่าวถามว่าการที่ พล.ต.จำลอง ถูกจับ มองว่าเป็นแผนของกลุ่มพันธมิตรฯหรือไม่ นายลิขิต กล่าวว่าไม่ทราบ แต่เท่าที่รู้ การจับกุมนายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ นั้นไม่ใช่แผนของพันธมิตรฯแน่นอน แต่ พล.ต.จำลอง นั้นไม่ทราบ ซึ่งเมื่อมีเหตุการณ์เช่นนี้ พันธมิตรฯ จะต้องออกมา แต่เท่าที่ตนดูทั้ง 2 ฝ่าย มีความชอบธรรมพอๆ กัน เพราะต่างฝ่ายต่างอ้างว่าตัวเองทำถูกต้อง แต่ขอร้องเถอะ อย่าเล่นเกมจนทำให้บ้านเมืองป่นปี้มากไปกว่านี้เลย อย่าให้บ้านเมืองต้องมาเสียหาย เพราะบุคคลคนเดียว หรือกลุ่มๆหนึ่งเลย

**เชื่อตำรวจรับใบสั่งนายกฯ
นายไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การจับกุม 2 แกนนำพันธมิตรฯ เหมือนเป็นการเติมเชื้อไฟ ทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งยากจะคลี่คลายไปได้ ท่ามกลางสถานการณ์ที่ทุกฝ่ายอยู่ในระหว่างการหาทางออกร่วมกัน ซึ่งเป็นที่น่าสังเกตว่า ในช่วงที่นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกฯ ได้มีท่าทีแข็งกร้าวต่อการปฏิบัติกับกลุ่มพันธมิตรฯ ถึงขนาดมีการประกาศใช้พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่เมื่อมีการเปลี่ยนนายกฯ เป็นนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่มีทาทีออมชอม และได้พยายามส่งคนกลางอย่าง พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกรัฐมนตรี เข้าไปเจรจา แต่กลับเกิดปฏิบัติการ จับกุมแกนนำ ทั้งที่ได้มีการออกหมายจับมานานร่วมเดือน และอยู่ระหว่างการพิจารณาอุทธรณ์การออกหมายจับของศาล เนื่องจากคดีกบฎ เป็นโทษที่รุนแรงขั้นประหารชีวิต จึงต้องมีการพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ แต่เจ้าหน้าที่ตำรวจกลับเร่งชิงจับตัวแกนนำอย่างไม่มีเหตุผล ถือว่าทำรุนแรงเกินเหตุ

"เชื่อว่าตำรวจต้องได้รับนโยบายจากผู้บังคับบัญชา โดยผู้บังคับบัญชาต้องได้รับนโยบายจากผู้ที่กำกับโดยตรงนั่นก็คือนายกฯ ดังนั้นนายกฯ ต้องออกมาชี้แจงเรื่องนี้กับสังคม และต้องแสดงความรับผิดชอบว่าเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นได้อย่างไร จะบอกว่าเป็นไปตามกระบวนการ คงไม่ใช่ เพราะหากไม่มีคำสั่ง เชื่อว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจจะไม่มีการปฏิบัติเช่นนี้อย่างแน่นอน"

นายไกรศักดิ์ กล่าวว่า การจับ 2 แกนนำพันธมิตรฯ จะยิ่งทำให้ประชาชนเข้ามาชุมนุมในทำเนียบฯ เพื่อกดดันรัฐบาลมากขึ้น ไม่เป็นผลดีอย่างแน่นอน เพราะเข้าใจว่าสาเหตุที่มีการจับ พล.ต.จำลอง เนื่องจากต้องการตัดกำลังของพันธมิตรฯ เพราะเป็นแกนนำคนสำคัญที่กุมยุทธศาสตร์และทิศทางการชุมนุมของพันธมิตรฯ แต่เชื่อว่าเมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไป พันธมิตรฯ จะเพิ่มการชุมนุมและกดดันมากขึ้น หลังจากนี้พันธมิตรฯ คงจะปรับตัวได้ และโอกาสที่จะเกิดความรุนแรงก็มีความเป็นไปได้สูง แต่เจ้าหน้าที่จะไม่สามารถสลายการชุมนุมได้ เพราะช่วงนี้จะมีประชาชนจำนวนมากจะแห่มาชุมนุมที่ทำเนียบฯ

เมื่อถามว่าพรรคพลังประชาชน ตั้งข้อสังเกตว่าการที่ พล.ต.จำลอง ยอมให้จับกุมตัวโดยง่ายดาย เพื่อต้องการะดมพลให้มาชุมนุมจำนวนมาก เพื่อนำไปสู่การโค่นรัฐบาลได้ นายไกรศักดิ์ กล่าวว่า คงไม่มีแกนนำคนไหนอยากจะถูกจับกุมแน่นอน เพราะเป็นข้อหาหนัก และก่อนหน้านี้แกนนำพันธมิตรฯ ก็เดินทางไปไหนมาไหนได้อย่างสะดวก ไม่เห็นมีใครมาจับ แต่เชื่อว่าต้องมีความผิดปกติบางอย่างเกิดขึ้น จึงทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจต้องใช้วิธีนี้

**จับ 2 แกนนำหวังล้มโต๊ะเจรจา
นายเมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อสิทธิมนุษยชน (ครส.) กล่าวว่าสถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองจะร้อนระอุขึ้นอีกครั้ง หลังจากมีนโยบายเปิดโต๊ะเจรจาจากรัฐบาลได้ไม่นาน เรื่องนี้สะท้อนว่ารัฐบาลไม่มีความจริงใจที่จะแก้ไขปัญหาทางการเมืองที่เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน หรือไม่ก็มีปัญหาเอกภาพทางอำนาจของรัฐ เพราะไม่สามารถควบคุมกลุ่มพลังการเมืองในรัฐบาลได้ โดยใช้นโยบายเดียวกัน จนมีการแก่งแย่งอำนาจกันขึ้น เพื่อช่วงชิงการนำ เพราะคดีอดีตนายกฯ ทักษิณ จะตัดสินวันที่ 21 ต.ค.นี้ รวมถึงคดียุบพรรคการเมืองหลายพรรค อาจมีการดำเนินการช่วงเวลาภายในปีนี้

ข้อสังเกตุสำคัญคือ ทำไมรัฐบาลเลือกจับช่วงนี้ เพราะแกนนำพันธมิตรฯ บางคนก็เดินทางออกจากทำเนียบฯ ไปไหนมาไหนอยู่แล้ว อาจเป็นไปได้ว่า รัฐบาลต้องการล้มโต๊ะเจรจาเพื่อสถาปนาอำนาจนำใหม่ ไม่ต้องการปฏิรูปการเมืองแท้จริง ดังนั้นการตั้ง ส.ส.ร.3 อาจเป็นเพียงเกมหลอกเพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญ ช่วยคดีอดีตนายกฯทักษิณ ไม่ได้ต้องการแก้ปัญหาทั้งกระบวนการ

**ชี้ตั้งข้อหากบฎ 9 แกนนำมิชอบ
กรณีการตั้งข้อหา 9 แกนนำนั้น ชัดเจนแต่แรกว่า การตั้งข้อหากบฎ เป็นการกลั่นแกล้งทางการเมือง ซึ่งรัฐอำนาจนิยมส่วนใหญ่มักจะใช้คดีประเภทนี้ เป็นเครื่องมือทางการเมืองของผู้มีอำนาจทางการเมืองตลอดมา คดีทางการเมืองเช่นนี้อาจเป็นน้ำผึ้งหยดเดียว เหมือนกรณีคดี 13 กบฎ ที่ส่วนหนึ่งถูกจับเมื่อวันที่ 6 ตุลา 16 ในข้อหาความผิดฐานกบฎต่อราชอาณาจักร จนเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา วิปโยคขึ้น คดีนี้เจ้าหน้าที่ตำรวจของรัฐบาล ควรให้ลงรับทราบข้อกล่าวหา และปล่อยตัวหรือไม่ก็ให้ประกันตัว เพื่อใช้สิทธิต่อสู้ข้อกล่าวหาดังกล่าว ซึ่งความจริงศาลจะต้องวินิจฉัยเรื่องนี้ด้วย เพื่อสร้างบรรทัดฐานในด้าน “สิทธิทางการเมือง” ต่อไป เพราะถือเป็นคดีทางการเมือง ที่วางบนฐานการใช้สิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ การตั้งข้อกล่าวหา มีความคาบเกี่ยวกับการใช้สิทธิทางการเมืองของประชาชน บนหลักการของรัฐธรรมนูญ ซึ่งศาลจะต้องมีบทบาทสำคัญ ในการตัดสินข้อกล่าวหาที่ร้ายแรง และมีภาวะคาบเกี่ยวนี้ศาลควรจะต้องพิจารณาให้ชัดเจน โดยเฉพาะหลักการสิทธิของประชาชนที่จะแสดงความคิดเห็นทางการเมือง เพราะไม่เช่นนั้นแล้ว คดีประเภทนี้จะกลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองของผู้มีอำนาจทางการเมืองต่อไปไม่สิ้นสุด

เรื่องนี้น่าห่วงว่าสถานการณ์จะไม่จบลงบนโต๊ะเจรจา เพราะเกมรุกของทั้งสองฝ่าย อาจถูกงัดมาใช้ อาจนำมาสู่สถานการณ์ความรุนแรงทางสังคม เหมือนดังเหตุการณ์อาชญากรรมโดยรัฐเมื่อวันที่ 6 ตุลา 19 ซึ่งทุกฝ่ายจะต้องพึงสังวรณ์ไว้ ไม่ให้เปิดทางนำไปสู่วิกฤติเดือนตุลารอบใหม่ โดยเด็ดขาด ไม่ว่าจะเพื่อนำไปสู่การรัฐประหาร ของชนชั้นปกครองใด ไม่ว่าจะเป็นการกอบกู้ระบอบทักษิณคืน หรือหยิบยื่นการรัฐประหารให้ พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ก็ตาม

**เค้น"สมชาย"แสดงจุยืนที่ชัดเจน
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เป็นห่วงสถานการณ์บ้านเมืองขณะนี้ ซึ่งรัฐบาลต้องมีท่าทีที่ชัดเจนโดยเร็วที่สุด เพราะวันนี้ (6 ต.ค.) จะเป็นวันที่ นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาฯ นัดหารือหัวหน้าพรรคการเมือง ซึ่งนายกรัฐมนตรี ก็รับปากที่จะมาร่วมหารือด้วย ตนคิดว่าจะมีการพูดคุยในเรื่องการจับกุมแกนนำพันธมิตรฯ ด้วย เพราะตนได้บอกไปแล้วว่าปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ได้มีเฉพาะเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดังนั้น ท่าที่ที่ชัดเจน จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ต้องมีการสอบถามกัน

"ผมจะถามนายกฯว่าจะทำอย่างไรต่อไป ในขณะที่เราก็ให้ความร่วมมือเต็มที่ เวลาที่รัฐบาลพยายามที่จะหาทางสร้างความปรองดอง แต่เมื่อมีเงื่อนไขใหม่ๆ เกิดขึ้นมา เราก็เห็นว่ารัฐบาลยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจน"

ต่อข้อถามว่า สภาพที่เกิดขึ้นเหมือนกับนายกฯ คุมเหตุการณ์ไม่ได้ แต่คนที่คุมอำนาจที่แท้จริงอาจไม่ใช่นายกฯ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า คงเป็นไปไม่ได้ ถ้านายกฯจะบอกว่าคุมสภาพอะไรไม่ได้ ถ้าอย่างนั้นก็คงยากที่จะทำอะไรสำเร็จ ดังนั้นนายกฯ ต้องรับผิดชอบในเรื่องทั้งหมดที่เกิดขึ้น อย่างที่เรียนแล้วว่า การจับกุมเจ้าหน้าที่ต้องทำตามกฎหมาย แต่ความชัดเจนว่าท่าที่ของรัฐบาลกับเรื่องทั้งหมดเป็นอย่างไร ก็เป็นอีกประเด็นหนึ่ง

ส่วนที่มีการจับกุมแกนนำพันธมิตรฯในระหว่างที่รัฐบาลพยายามที่จะเจรจานั้น หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า เป็นจุดที่เราตั้งข้อสังเกต และสอบถามไปเหมือนกับเรื่องรัฐธรรมนูญ ประเด็นเกี่ยวกับร่าง ของนพ. เหวง โตจิราการ และคณะ ก็ยังไม่จบ และยังไม่มีท่าทีที่ชัดเจนจากพรรครัฐบาลเช่นเดียวกัน

ดังนั้น จึงอยากให้นายกฯ ทำความชัดเเจนว่า ทิศทางในการจัดการเรื่องนี้จะเป็นอย่างไร ประชาชนจะได้ทราบ ไม่อย่างนั้นจะเกิดความสับสน และที่สำคัญถ้าเรื่องจะใช้วิธีการเจรจาต้องเป็นการเจรจาบนพื้นฐานของการเชื่อถือซึ่งกันและกัน ถ้ามีเหตุการณ์ที่ทำให้ฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดไม่เชื่อถือ ก็ไม่มีทางเจรจาสำเร็จ

"ถ้าท่านจะไม่เจรจาก็ต้องพูดให้ชัดว่าไม่เจรจา จะใช้แนวทางการจับกุมไปตามกฎหมายหรือ อะไรก็พูดให้ชัดไปเลย ดีกว่าไปสร้างเงื่อนไขใหม่ เช่น ไปทำทีทำท่าว่าเจรจา แต่จริงๆ แล้วไม่ได้มีเจตนาอย่างนั้น" นายอภิสิทธิ์กล่าว

**จะทำเพื่อทักษิณหรือเพื่อบ้านเมือง
เมื่อถามว่า มองว่าเหตุการณ์ทั้งหมดเกิดขึ้นประจวบเหมาะกับการพิจารณาคดีของ พ.ต.ท. ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ คิดว่ามีความพยายามที่จะช่วยเรื่องคดีหรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนได้ยินมาตลอด และเชื่อว่ามีบางคนอยากให้เรื่องปั่นป่วนวุ่นวาย เพราะกลัวเรื่องคดี ของพ.ต.ท.ทักษิณ แต่คนที่เป็นรัฐบาล มีหน้าที่ที่จะรักษาความสงบเรียบร้อยให้มากที่สุด ไม่มีสิทธิ์ไปคิดอย่างนั้นเลย

ต่อข้อถามว่าการที่นายกฯ ยืนยันว่า จะรักษาความยุติธรรม คิดว่าควรจะทำอย่างไรกับสิ่งที่เกิดขึ้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เรื่องของคดีต้องว่าตรงไปตรงมา แต่เหตุการณ์อะไรก็ตาม จะนำไปสู่การล้มคดี คิดว่านายกฯ ต้องดูแลไม่ให้เกิดขึ้น และเชื่อว่าคดียังต้องเดินต่อไป เพราะถ้าคดีต่างๆ ไม่เดินต่อ บ้านเมืองก็เหมือนไม่มีกฎหมาย ในที่สุดก็จะยิ่งวุ่นวายสับสนไปอีก

อย่างไรก็ตาม ก็คงจะมีคนที่มีความพยายามอยู่ตลอดเวลาที่จะทำให้เกิดความปั่นป่วนวุ่นวาย เพราะบางคนเขาไม่ยอมให้คดีเดินต่อ ดังนั้น เราก็ต้องช่วยกันว่าจะเอาบ้านเมืองหรือจะเอาผลประโยชน์ของคนๆเดียว

**นายกฯล้มละลายในความเชื่อถือ
นพ.บุรณัชย์ สมุทรักษ์ โฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า พรรคประชาธิปัตย์มีความห่วงใยต่อการประทำของรัฐบาล และนายกรัฐมนตรี ที่มีการจับกุมแกนนำพันธมิตรฯ ซึ่งเป็นการทำลายความชอบธรรมของตัวเองในการใช้วิธีเจรจา เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งที่นายกรัฐมนตรีได้พูดมาโดยตลอด แต่กลับมีพฤติกรรมจงใจที่จะสร้างเงื่อนไขความขัดแย้งเพิ่มเติม และพฤติกรรมแบบเดียวกันนี้ ได้เกิดขึ้นในสมัยพ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร จนนำไปสู่การทำปฏิวัติรัฐประหาร เนื่องจากพูดอย่างหนึ่ง ทำอีกอย่างหนึ่ง

อย่างไรก็ตาม ขณะที่การประชุม 4 ฝ่าย อยู่ระหว่างเดินหน้า แต่นายกรัฐมนตรี ซึ่งมีอำนาจสูงสุด กลับเป็นฝ่ายแรกที่กลับคำพูดตัวเอง ทั้งที่ได้ให้ความหวังกับประชาชนว่า จะทำให้สังคมดีขึ้นด้วยการเจรจา ดังนั้นรัฐบาลและนายกรัฐมนตรี จึงตกอยู่ในสภาพหมดความน่าเชื่อถือโดยสิ้นเชิง

**กกต.ระบุรัฐบาลต้องรักษากม.
นายอภิชาต สุขัคคานนท์ ประธาน กกต.
กล่าวถึงการจับกุม 2 แกนนำพันธมิตรฯว่า เชื่อว่าสถานการณ์การเมืองจะไม่ร้อนแรงขึ้นอีก เพราะที่ผ่านมาถือว่าร้อนแรงมากที่สุดแล้ว และน่าจะเห็นแนวทางที่ดีของสถานการณ์การเมืองในอนาคต หากทุกฝ่ายเข้าใจ และคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติ ทุกอย่างจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย

นายสมชัย จึงประเสริฐ กกต.ด้านการสืบสวนสอบสวน กล่าวถึงการแจ้งข้อกล่าวหากบฎ ต่อพันธมิตรฯ เป็นการกล่าวหาที่รุนแรงเกินไปหรือไม่ว่า ต้องเข้าใจว่า การแจ้งข้อหามีหลายระดับตั้งแต่กล่าวหาเรื่องเล็ก ไปจนถึงการแจ้งข้อกล่าวหาระดับสูงสุดคือกบฎ ตนเชื่อว่าพนักงานต้องแจ้งข้อกล่าวหาไปตามหน้าที่ พล.ต.จำลอง ต้องต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรม ตามขั้นตอนของกฎหมาย ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของศาลที่จะพิจารณา ซึ่งแกนนำพันธมิตรฯ อาจจะมีความผิดเพียงบุกรุกสถานที่ราชการก็ได้

"เชื่อว่าหลังจากนี้สถานการณ์ในประเทศจะเป็นปกติ เพราะบ้านเมืองมีการบังคับใช้กฎหมาย การจะรักษาบ้านเมืองให้คงไว้ ต้องยึดหลักการ และรักษาไว้ซึ่งกฎหมายไม่ให้ถูกทำลายหรือละเมิด รัฐบาลก็ดีมีหน้าที่รักษากฎหมาย ไม่ให้ใครมาละเมิดกฎหมายของบ้านเมือง การที่มีคนมาละเมิดกฎหมายแล้วรัฐบาลไม่ดำเนินการ กับคนละเมิดกฎหมายก็เท่ากับไม่รักษาบ้านเมือง ถือเป็นการละเว้นต่อหน้าที่ เหตุการณ์ต่างๆ ต้องดำเนินการให้เป็นไปตามกฎหมายบ้านเมืองทุกคนต้องได้รับการปฏิบัติและบังคับใช้อย่างจริงจัง ไม่ใช่ใครๆ ก็สามารถละเมิดกฎหมายของบ้านเมือง ไม่เช่นนั้นบ้านเมืองจะสงบสุขได้อย่างไร เราทุกคนต้องเคารพอยู่ภายใต้ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมาย" นายสมชัยกล่าว
กำลังโหลดความคิดเห็น