xs
xsm
sm
md
lg

"การเมืองเก่า"สุมหัวแก้ม.291 ตั้งสสร.ขอ7เดือนยกร่างรธน.

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

เมื่อเวลา 14.00 น. วานนี้ (3 ต.ค.) ที่ห้องรับรอง 1 อาคารรัฐสภา มีการประชุม 4 ฝ่ายเพื่อหารือแนวทางแก้ไขปัญหาวิกฤติ โดยมีนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา และ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร เข้าร่วมประชุม โดยมีการจัดโต๊ะรูป 4 เหลี่ยมให้ทุกฝ่ายได้หันหน้าเข้าหากัน โดยนายสมชาย ตรงข้ามกับ นายชัย ขณะที่นายอภิสิทธิ์ นั่งตรงข้ามกับนายประสบสุข โดยใช้เวลาในการหารือประมาณ 2 ชั่วโมง ก่อนที่จะมอบหมาให้นายอภิสิทธิ์ เป็นผู้แถลงข่าว
นายอภิสิทธิ์ แถลงว่า ที่ประชุมมีความเห็นตรงกันว่า แนวทางหนึ่งที่จะช่วยแก้ไขคลี่คลายปัญหาวิกฤติทางการเมืองในขณะนี้ได้คือ การเริ่มต้นการปฏิรูปการเมือง โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญตาม มาตรา 291 เพื่อเปิดทางให้การเมืองภาคประชาชนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย โดยขั้นตอนต่อไปคือ ต้องมาแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันอีกครั้ง ในวันจันทร์ที่ 6 ต.ค. ซึ่งจะมีการเชิญหัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรค เพื่อหาข้อสรุปว่ารูปแบบ มาตรา 291 ควรจะเป็นอย่างไร โดยให้แต่ละพรรคช่วยคิดรูปแบบ เนื่องจากมีประเด็นเกี่ยวกับที่มาของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ ( ส.ส.ร.) ว่าควรจะมาอย่างไร และควรกำหนดกรอบเวลานานเท่าไร
นอกจากนี้ที่ประชุมยังมีการนำข้อมูลการตั้ง ส.ส.ร.ในปี 2538-2539 มาพิจารณาจุดอ่อน จุดแข็งว่าจะทำอย่างไรให้มีการยึดโยงถึงประชาชน และไม่สุ่มเสี่ยงต่อการถูกกล่าวว่า มีฝ่ายการเมืองเข้ามาครอบงำ ซึ่งเป็นโจทย์ที่ทุกคนต้องช่วยกันคิด เพื่อให้รูปแบบออกมาเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายอย่างแท้จริง ทั้งในแง่ของพื้นที่ กลุ่มอาชีพ ผู้เชี่ยวชาญ และผู้ชำนาญการ โดยต้องมีความยึดหยุ่น เพราะเป้าหมายคือ การปฏิรูปการเมืองทำให้การเมืองเดินหน้าต่อไปได้
ส่วนกรณีที่ นพ.เหวง โตจิราการ แกนนำคณะกรรมการประชาชนเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2550 (คปพร.) ที่เสนอร่างเข้ามา และนายชัย บรรจุระเบียบวาระเข้าเป็นวาระด่วนนั้น ที่ประชุมมีการมองว่าหากมีการตั้ง ส.ส.ร. ก็ไม่ผ่านร่างของนพ.เหวง เพราะจะทำให้การตั้ง ส.ส.ร.จะทำได้ลำบาก อย่างไรก็ตาม การเสนอเข้ามาเป็นการใช้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ แต่เมื่อนายกรัฐมนตรี เป็นหัวหน้ารัฐบาล และมีเสียงข้างมาก ก็ต้องกลับไปคุยพรรคร่วมรัฐบาลทั้ง 6 พรรค และสมาชิกพรรคพลังประชาชน ว่าจะทำอย่างไรกับกฎหมายฉบับดังกล่าว เพื่อให้สอดรับกับมติการตั้งส.ส.ร. ซึ่งต้องรอดูว่า 6 พรรคร่วม จะมีท่าทีอย่างไร
"เรื่องนี้จะเป็นการพิสูจน์ในการกระทำของรัฐบาล ถ้ารัฐบาลยอมรับที่จะสนับสนุนให้มีการตั้ง ส.ส.ร. และให้ผ่านร่างของนพ.เหวง ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็ต้องปล่อยให้เป็นหน้าที่ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ซึ่งถือเป็นเรื่องของ 6 พรรคร่วม ที่ต้องร่วมกันตัดสินใจ สำหรับพรรคประชาธิปัตย์ได้แสดงจุดยืนที่ชัดเจนแล้วว่าจะสนับสนุนให้มี ส.ส.ร. เพื่อช่วยให้ปัญหาคลี่คลาย" นายอภิสิทธิ์กล่าว
นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าว ถึงกรอบเวลา และรูปแบบการตั้ง ส.ส.ร.ว่า หลังจากนี้ประธานสภาฯจะส่งหนังสือถึงหัวหน้าพรรคการเมืองทุกพรรค เพื่อให้ไปศึกษารูปแบบของ ส.ส.ร.ก่อนที่เข้ามาประชุมกัน และเพื่อจะได้ให้ทุกพรรคการเมืองมีมติร่วมกัน เสนอร่างแก้ไข มาตรา 291 ซึ่งจะทำกระบวนการแก้ไขรัฐธรรมนูญเร็วขึ้น หากทุกฝ่ายเห็นตรงกัน เฉพาะการแก้ไข มาตรา 291 น่าจะใช้ระยะเวลาประมาณครึ่งเดือน เพื่อให้มี ส.ส.ร.ขึ้นมา โดยคาดว่ากระบวนแก้ไขรัฐธรรมนูญ ไม่น่าจะเกิน 7 เดือน ทั้งนี้ จะไม่ยึดโยงกับประเด็นทางการเมือง โดยเห็นว่า ควรจะให้ทันสมัยประชุมนี้ หากไม่ทันก็สามารถเปิดประชุมสมัยวิสามัญได้ อย่างไรก็ตาม หากมีการยุบสภาก่อนตั้ง ส.ส.ร. ก็เป็นเรื่องของรัฐบาลใหม่ที่จะดำเนินการต่อ
ผู้สื่อถามว่า หากพันธมิตรฯไม่เห็นด้วยกับข้อสรุปของที่ประชุมทั้ง 4 ฝ่าย จะมีทางออกอย่างไร นายอภิสิทธิ์กล่าวว่าไม่ได้ขึ้นอยู่กับพันธมิตรฯจะเอาด้วยหรือไม่ แม้แต่อธิการบดีที่เสนอแนวทางต่างๆ ก็ต้องรอดูก่อนว่า มาตรา 291 ที่เสนอมา หน้าตาจะเป็นอย่างไร เวลานี้จะบอกว่าเขาต้องยอมรับแนวทางนี้ยังไม่ได้ แต่การประชุมของทุกพรรคการเมืองต้องคำนึงถึงความเห็นของทุกกลุ่ม แต่ไม่มีทางที่ได้ข้อสรุปแล้วทุกฝ่ายจะพอใจ ซึ่งทุกอย่างต้องขึ้นอยู่ด้วยเหตุผล แต่การมี ส.ส.ร. จะทำให้การร่างรัฐธรรมนูญดีขึ้น เพราะการร่างรัฐธรรมนูญไม่มีการแบ่งฝักแบ่งฝ่าย เพื่อช่วยใคร อย่างไรก็ตาม ยังไม่ทราบว่าทางกลุ่มพันธมิตรฯ มีความคิดอย่างไร แต่ยืนยันว่า การจะได้การเมืองใหม่ จะต้องมีการแก้รัฐธรรมนูญเท่านั้น ซึ่งเป็นวิธีเดียวที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ ดังนั้น พันธมิตรฯ อย่าเพิ่งปิดประตูตาย ถ้าหากมีแล้วมีการหมกเม็ด หรือมีวาระซ่อนเร้นพันธมิตรฯ ก็มีสิทธิตรวจสอบ แล้วออกมาต่อต้านเราก็ยอมรับได้ แต่ถ้าไม่มีปัญหาอะไรซ่อนเร้น ก็ควรจะให้โอกาสคนทำงานเรื่องนี้
เมื่อถามว่า กระบวนการจะทำให้ประชาชนยอมรับได้อย่างไร เมื่อมีตัวแทนของฝ่ายการเมือง เข้ามา อาจมีข้อครหาว่ามีการฮั้วกัน นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ข้อเสนอของที่ประชุมทั้ง 4 ฝ่าย เพื่อต้องการหาทางออกให้บ้านเมือง โดยต้องอยู่บนเงื่อนไขเพื่อประโยชน์ของประชาชน ซึ่งการที่ฝ่ายค้านเห็นตรงกับรัฐบาล ไม่ได้เป็นการฮั้วกับรัฐบาล แต่ทางใดที่เป็นประโยชน์กับบ้านเมือง เราก็ร่วมมือกัน โดยมีเงื่อนไขว่า การปฏิรูปการเมืองด้วยการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องไม่มีแก้ไขเพื่อตัวเอง หรือพรรคการเมือง ซึ่งหากมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อคนบางกลุ่ม พรรคฝ่ายค้านก็ยอมรับไม่ได้
นายอภิสิทธิ์ กล่าว่าในที่ประชุมตนได้มีการหารือว่า ปมปัญหาความขัดแย้งของบ้านเมืองไม่มีเฉพาะเรื่องรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่ยังมีความขัดแย้งในเรื่องของกระบวนการยุติธรรม การเผชิญหน้ากับองค์กรอิสระ และการใช้สื่อของรัฐ แต่นายกรัฐมนตรี ไมได้แสดงความคิดเห็นอะไร

**"สมชาย"รับประกันไม่มีหมกเม็ด
ด้านนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า การหารือเป็นไปได้ด้วยดี ทุกฝ่ายมีความเห็นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อให้มีการตั้งส.ส.ร. ขึ้นมาพิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดที่ประชาชนยอมรับได้ ซึ่งทุกฝ่ายเห็นด้วยหมด โดยเฉพาะรัฐบาล ซึ่งตนได้เสนอเจตนารมณ์ชัดเจนว่า รัฐบาลไม่มีหมกเม็ด ไม่มีซ่อนเร้นที่จะเอาคนของรัฐบาลเข้ามา ซึ่งทุกฝ่ายก็เข้าใจ เราต้องการหาทางออกให้บ้านเมืองเพื่อนำไปสู่แนวทางสมานฉันท์อย่างแท้จริง
ผู้สื่อข่าวถามว่า แนวทางนี้ คิดว่าพันธมิตรฯ จะเห็นด้วยหรือไม่ นายสมชาย กล่าวว่า ไม่ทราบว่าใครจะเห็นด้วยหรือไม่ แต่เห็นว่าประชาชนส่วนใหญ่น่าจะรับได้ แต่อาจจะมีบางท่านที่ไม่เห็นด้วย แต่เมื่อเราอยู่ในระบอบประชาธิปไตย ก็ขอให้เอาตามคนส่วนใหญ่ก็แล้วกัน อย่างน้อย ส.ส. 480 คน ก็มีความเห็นไปในแนวทางเดียวกันแล้ว

**นายกฯทำไขสือไม่เคยเห็นร่าง นปก.
ทั้งนี้ นายสมชาย ได้ให้สัมภาษณ์ก่อนเข้าร่วมประชุม 4 ฝ่าย ถึงกรณีที่มีการตั้งข้อสังเกตว่านายชัย ชิดชอบ ประธานสภา นำร่างรัฐธรรมนูญ ของ คณะกรรมการประชาชนเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2550 (คปพร.) ที่นำโดย นพ. เหวง โตจิราการ เสนอเข้าที่ประชุมสภา ซึ่งเกรงว่าจะเป็นการสวนทางกันกับแนวทาง แก้มาตรา 2941 เพื่อตั้ง ส.ส.ร.3 ว่า เป็นคนเรื่องละเรื่องกัน เรื่องนี้คงต้องแยก ไม่เกี่ยวกับการที่เอารัฐธรรมนูญมาเข้าก่อน ส่วนจะดำเนินการอย่างไร เป็นเรื่องของประธานสภา และ สภาผู้แทนราษฎร
เมื่อถามว่า เป็นไปได้หรือไม่ ที่จะคุยกับ นพ.เหวง ให้ถอนเรื่องไปก่อน นายสมชาย กล่าวว่า รัฐบาลก้าวก่ายไม่ได้ เพราะเป็นสิทธิตามกฎหมาย เมื่อถามว่า การกระทำดังกล่าวถือว่า นายชัย ตบหน้านายกฯ หรือไม่ หลังกลุ่มเพื่อนเนวิน ไม่พอใจการจัดตั้ง ครม.ที่ผ่านมา นายสมชาย กล่าวพร้อมหัวเราะว่า " ท่านจะตบหน้าผมทำไม ดีกันอยู่ ไม่มีอะไร ไม่ใช่เรื่องตบหน้า หรือไม่ตบหน้า ทุกอย่างผมยืนยันว่า การทำตามกฎหมายเป็นเรื่องปกติธรรมดา ไม่มีใครไปมีความรู้สึกอะไรต่ออะไรทั้งสิ้น ผมเองบอกแล้วว่าเคารพการทำตามกฎหมาย ไม่มีปัญหาอะไร" นายสมชาย กล่าว
ต่อข้อถามว่า ในฐานะที่คุมเสียงข้างมากในสภา เป็นไปได้หรือไม่ ที่จะคุยกับ ส.ส.ของพรรค เพื่อที่จะรับหลักการหรือไม่รับ เพื่อไม่ให้เกิดการขัดขากันเอง นายกฯ กล่าวว่า เวลาประชุมพรรคเราก็หารือกัน แต่อย่าลืมว่า รัฐธรรมนูญปี 50 ระบุว่า ส.ส.มีอิสระในการที่จะทำอะไร เราพูดได้ แต่จะพูดในทางที่ไปกำหนดกฎเกณฑ์ โดยที่ทำให้เขาไม่มีอิสระนั้นไม่ได้
เมื่อถามว่า หากปล่อยค้างไว้ รัฐบาลจะโดนข้อครหา เพราะร่างของ คปพร. เป็นประโยชน์สำหรับอดีตนายกฯ นายสมชายตอบว่า ยังไม่เคยเห็นร่างอะไรทั้งสิ้น และคิดว่าเมื่อเข้ามาก็เป็นเรื่องของสภาโดยแท้ ไม่ได้ผ่าน รัฐบาล และรัฐบาลก็ไม่ได้มีส่วนในการช่วยเขียน ตรงนี้ไม่เกี่ยวเลย เมื่อถามว่า จะกำชับส.ส.ในการพิจารณากฎหมายฉบับนี้ เพื่อให้ชะลอ หรือไม่รับหลักการหรือไม่ นายสมชาย กล่าวว่า พูดถึงขั้นนั้นไม่ได้ เพราะยังไม่เคยเห็นร่าง และไม่อยากก้าวก่ายสภา

**"ชัย"ท้าพันธมิตรฯเสนอร่าง ประกบ
นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฏร กล่าวหลังการประชุมร่วม 4 ฝ่ายว่า ในวันที่ 6 ต.ค.นี้ จะมีการหารือกันอีกครั้ง โดยจะเชิญหัวหน้าทุกพรรคการเมืองเข้าร่วมหารือ ถึงแนวทางการแก้วิกฤติชาติ ขณะนี้ขอวอนให้ทุกฝ่ายช่วยกันทำให้บ้านเมืองสงบ รวมทั้งสื่อมวลชนด้วย ยืนยันว่าทั้ง 4 ฝ่าย คือ ตน ประธานวุฒิสภา ผู้นำฝ่ายค้าน และนายกรัฐมนตรี จับมือกันแน่น เพื่อแก้วิกฤติของบ้านเมือง ส่วนกลุ่มพันธมิตรฯ รัฐบาลก็ส่งตัวแทนเข้าไปพูดคุยแล้ว
เมื่อถามว่า จะมีการขอให้ น.พ.เหวง โตจิราการ แกนนำ คพปร. ถอนร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ปี 50 ออกไปก่อนหรือไม่ เพราะเกรงจะเป็นต้นเหตุความขัดแย้ง นายชัย กล่าวว่า น.พ.เหวง ได้เสนอร่างกฎหมายเข้ามาตามขั้นตอนรัฐธรรมนูญ หากตนไม่บรรจุเข้าสู่วาระ ก็จะถูกยื่นถอดถอนออกจากตำแหน่งได้ ส่วนที่ประชุมสภาจะว่าอย่างไรก็ขึ้นกับที่ประชุม หากไม่รับหลักการ ก็ต้องตกไป แต่ถ้ารับหลักการ ก็ต้องตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นมาพิจารณา ซึ่งอาจจะมีการตัดบางมาตราออกไปก็ได้
ผู้สื่อข่าวถามว่า การสร้างความสมานฉันท์ต้องดูท่าทีของกลุ่มพันธมิตรฯด้วย นายชัย กล่าวว่า สำหรับตนไม่มีทั้งกลุ่มพันธมิตรฯ และนปก. แต่หากกลุ่มพันธมิตรฯ จะเสนอร่างเข้ามาประกบ ตนก็พร้อมที่จะบรรจุเข้าสู่วาระการประชุมสภาเช่นเดียวกัน

**"สุรยุทธ์"โผล่หนุนตั้ง ส.ส.ร.3
พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ องคมนตรี และอดีตนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงแนวทางในการแก้ไขปัญหาทางการเมืองของรัฐบาล นายสมชาย โดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เพื่อเปิดทางให้ตั้ง ส.ส.ร.3 ว่า อะไรที่จะทำให้เกิดความสามัคคี และช่วยแก้ไขปัญหาบ้านเมือง ก็คิดว่าเป็นสิ่งที่ทุกคนควรสนับสนุน เพราะเป็นทางที่จะแก้ไข โดยไม่ให้เกิดความรุนแรง และทำให้ความรักความสามัคคีเกิดขึ้นในบ้านเมือง
ส่วนท่าทีของพันธมิตรฯที่ยืนยันจะไม่เจรจา เพราะเห็นว่ารัฐบาลชุดนี้มาจากพรรคพลังประชาชน พล.อ.สุรยุทธ์ กล่าวว่า ทุกฝ่ายควรจะหาทางพูดจากันให้ได้ เพราะจะเป็นวิธีแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในบ้านเมือง
กำลังโหลดความคิดเห็น