xs
xsm
sm
md
lg

กลต.อุ้มบจ.ขาดสภาพคล่อง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ก.ล.ต. เกาะติดวิกฤติสถาบันการเงินสหรัฐฯ ใกล้ชิด หลังพบต่างชาติเตรียมทิ้งหุ้นไทยอีกรอบแน่นอนเพื่อนำเงินไปเสริมสภาพคล่อง แต่ยังเบาใจที่มีกองทุนในประเทศรอรับของถูกอยู่ พร้อมแก้ปัญหาสภาพคล่องหด หวั่นบริษัทจะทะเบียนระดมทุนยาก แก้หลักเกณฑ์เปิดทางออกหุ้นกู้-เพิ่มทุนได้สะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น แถมลดค่าธรรมเนียมให้ ระบุผลการตรวจสอบฐานะการเงินบล. –บลจ. ยังแข็งแกร่ง “ประเวช” ชี้พอร์ตบล.ทั้งระบบขนเงินไปลงทุนต่างประเทศแค่ 51.4 ล้านเหรียญสหรัฐ
นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยถึง ผลกระทบจากวิกฤตสถาบันการเงินในสหรัฐฯ ที่กำลังเกิดขึ้นในขณะนี้ ว่า สถานการณ์ในสหรัฐฯ ช่วงที่ผ่านมา มีธุรกิจในประเทศไทยได้รับผลกระทบโดยตรงไม่มากนัก ขณะที่ตลาดทุนได้รับผลทางอ้อมจากการขายหุ้นทิ้งของนักลงทุนต่างประเทศที่ต้องการบริหารสภาพคล่องของตน ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวลดลงมากซึ่งเป็นไปตามทิศทางตลาดหุ้นภูมิภาค
ทั้งนี้ จากการที่ตลาดหุ้นไทยมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นไม่มากในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านจากมีปัญหาทางการเมืองในประเทศ ขณะที่ตลาดหุ้นที่กำลังพัฒนานักลงทุนต่างชาติสนใจเข้ามาลงทุนจำนวนมากนั้น ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นมีการปรับตัวเพิ่มขึ้นมาก ขณะเดียวกันเมื่อนักลงทุนต่างประเทศถูกบังคับขายหุ้นออกมาคืนผู้ถือหน่วยลงทุนทำให้ตลาดหุ้นไทยมีการปรับตัวลดลงไม่มาก
“จากข้อมูลดังกล่าวพบว่า ตลาดหุ้นไทยมีความน่าสนใจมากกว่าตลาดหุ้นต่างประเทศ เมื่อนักลงทุนต่างประเทศมีการขายหุ้นออกมา แต่เชื่อว่านักลงทุนสถาบันที่มีการบริหารกองทุนสำรองเลี้ยงชีพเข้ามาซื้อหุ้น”
สำหรับจากการติดตามและรวบรวมข้อมูลการลงทุนของไทยไม่ว่าจะเป็นกองทุนรวมและการลงทุนตรง ทั้งในหุ้น หุ้นกู้ หรือตราสารอื่นของสถาบันการเงินต่างประเทศที่มีปัญหา พบว่ามีปริมาณน้อยมาก การไถ่ถอนหน่วยลงทุนอยู่ในระดับปกติ และฐานะการเงินของบริษัทหลักทรัพย์ทุกแห่งในขณะนี้มีความแข็งแกร่ง ไม่มีประเด็นที่ต้องเป็นห่วง และการทำshort selling ในไทยนั้นมีน้อยมากเพียง 0.6% ของมูลค่าซื้อขายหลักทรัพย์รวมและก.ล.ต.มีเกณฑ์ในการดูแลเข้มงวดอยู่แล้ว
นายธีระชัย กล่าวว่า จากการที่นักลงทุนมีความวิตกกังวลว่าปัญหาสถาบันการเงินของสหรัฐฯ จะลุกลามต่อไปและจะขยายวงกว้างออกไปอีกแค่ไหนนั้น ซึ่ง ก.ล.ต. ไม่ได้วางใจยังคงให้ความสำคัญโดยได้ประสานงานกับบริษัทหลักทรัพย์ ( บล.) และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน( บลจ.) และติดตามสถานการณ์ตลาดในมุมมองของผู้ที่อยู่ในวงการทั้งในและต่างประเทศอยู่ตลอดเวลา เพื่อที่จะได้ทราบความเคลื่อนไหวของทุกตลาดทั่วโลก รวมถึงความเสี่ยงของสถาบันการเงินชั้นนำทุกแห่งด้วย
ขณะเดียวกัน ก.ล.ต. จะร่วมประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อประเมินผลกระทบและแนวทางรับมือกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นต่อไป โดยผลของวิกฤตการณ์ดังกล่าวยังส่งผลให้เกิดภาวการณ์ตึงตัวในตลาดการเงินของโลก ซึ่งอาจเป็นอุปสรรคต่อการหาแหล่งเงินทุนของภาคธุรกิจ โดยอาจทำให้ต้นทุนในการกู้ยืมสูงขึ้น ก.ล.ต. จึงสนับสนุนให้ภาคเอกชนมีการระดมทุนเงินทุนเพื่อใช้ในการขยายการลงทุนผ่านตลาดทุนโดยชูมาตรการ “ง่ายขึ้น เร็วขึ้น ถูกลง” ทั้งการเสนอขายทั้งตราสารหนี้และตราสารทุน
นายชาลี จันทนยิ่งยง ผู้ช่วยเลขาธิการอาวุโส สำนักงาน ก.ล.ต. กล่าวว่า ก.ล.ต. จะมีลดเวลาในกระบวนการที่บริษัทจดทะเบียนที่ต้องการที่จะเสนอขายหุ้นกู้แก่สถาบัน จะใช้เวลาในการจัดทำแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) เพียง 1 วัน จากเดิมที่ใช้เวลา 1 เดือน และลดค่าใช้จ่ายในการออกหุ้นกู้เหลือเพียง 50,000 บาท จากเดิมที่มีค่าใช้จ่าย 1 ล้านบาท ขณะที่เป็นบริษัทจำกัด จะมีค่าใช้จ่ายจำนวน 2 ล้านบาท
ทั้งนี้ ส่วนการเสนอขายใบสำคัญแสดงสิทธิให้แก่ผู้ถือหุ้นเดิม (Right warrant) สามารถทำได้ทันที โดยไม่ต้องยื่นขออนุญาตและยื่น filing จากเดิมที่จะต้องใช้เวลา 4 เดือน ส่วนการออกและเสนอขายหุ้นสามัญจะมีการแก้ไขเกณฑ์ปลีกย่อยที่เป็นภาระต่อผู้เสนอขายหลักทรัพย์ โดยคาดว่าเกณฑ์เรื่องการสนับสนุนให้บริษัทมีการระดมทุนได้ง่ายขึ้น เร็วขึ้น ถูกลง นั้นจะทยอยประกาศออกมาในช่วงเดือนพฤศจิกายนนี้
“จากการที่ก.ล.ต.มีการลดขั้นตอนในการระดมทุนให้ง่ายขึ้น รวดเร็วขึ้น และค่าใช้จ่ายถูกลง นั้นเพื่อสนับสนุนให้บริษัทจดทะเบียนมีการระดมเงินทุนได้ทันที ซึ่งและจะช่วยผ่อนคลายภาระจากภาวะการเงินตึงตัวได้ และทำให้คนสบายใจ และแสดงให้เห็นว่าระบบตลาดทุนไทยมีความเข้มแข็ง และ ”นายชาลี กล่าว
นายประเวช องอาจสิทธิกุล ผู้ช่วยเลขาธิการอาวุโส สำนักงาน ก.ล.ต. กล่าวว่า ก.ล.ต.ได้มีการติดตามการลงทุนในต่างประเทศของบลจ.อย่างใกล้ชิดและฐานะทางการเงินของบริษัทหลักทรัพย์ทั้ง 40 แห่ง และบลจ.21 แห่ง จำนวนกองทุน 927 กองทุน มูลค่า 2 ล้านล้านบาท พบว่ายังแข็งแกร่ง
ส่วนการลงทุนในต่างประเทศของพอร์ตบล.ทั้งระบบ ณ สิ้นเดือนสิงหาคมนี้ ได้มีการนำเงินออกไปลงทุนเพียง 51.4 ล้านเหรียญสหรัฐ จากที่ก.ล.ต.อนุมัติให้แต่ละบล.สามารถนำเงินไปลงทุนต่างประเทศได้ 50 ล้านเหรียญสหรัฐ
กำลังโหลดความคิดเห็น