xs
xsm
sm
md
lg

4ฝ่ายถกปฏิรูปการเมืองปธ.สภานัดนายกฯ-วุฒิสภา-ฝ่ายค้านหารือวันนี้

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎรและหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าว วานนี้ (2 ต.ค.) ว่า ในวันนี้ (3 คซึซ) จะมีการหารือ 4 ฝ่าย ระหว่างนายกรัฐมนตรี ประธานสภาฯ ประธานวุฒิสภา และผู้นำฝ่ายค้าน เกี่ยวกับการปฏิรูปการเมือง โดยจะทำความเข้าใจกันว่า ถ้าจะสนับสนันใครจะทำอะไร ทำอย่างไร ส่วนรายละเอียดเกี่ยวกับการปฎิรูปการเมืองค่อยมาคุยกันหลังจากนั้น อย่างไรก็ตามการปฎิรูปการเมืองต้องเป็นกระบวนการของประชาชนที่มีส่วนร่วม และต้องรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่าย ไม่ใช่แค่นักการเมืองที่มีส่วนร่วม
ส่วนคณะกรรมการอิสระเพื่อปฏิรูปการเมืองที่ 24 อธิการบดีเสนอนั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า จะต้องมีการคุยกันด้วย เพราะขณะนี้ไม่มีใครมาสามารถผูกขาด ความคิดว่าจะปฏิรูปการเมืองหรือจะแก้ไขด้วยวิธีใด ไม่ว่าจะเป็นอธิการบดี สนนท. รัฐบาล ฝ่ายค้าน พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย นปก. หรือใครก็ตาม แต่จะต้องแสวงจุดร่วมและทำงานอย่าง ตรงไปตรงมา ด้วยความจริงใจ ไม่ควรปฏิเสธแนวทางใดทั้งสิ้น แต่เป้าหมายสำคัญคือ ทำอย่างไรให้เราหลุดพ้นจากความขัดแย้งและการเมืองดีขึ้น
การตั้งส.ส.ร. 3 จะต้องช่วยกันดูอย่างรัดกุมว่า ที่มามาอย่างไร และกระบวนการจะโปร่งใสหรือไม่ เพราะข้อเสนอทั้งหมดที่จะให้มีการแก้ไข เพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ คือเพื่อปฏิรูปไม่มีการมาแก้ไขเพื่อตัวเอง

ชี้แก้ที่พฤติกรรมสำคัญกว่าระบบ
ผู้สื่อข่าวถามว่ามองอย่างไรกับข้อเสนอให้มีการเลือกตั้งนายกรัฐมนตรีโดยตรง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ถือว่าไปไกลแล้ว เพราะรายละเอียดมีมากถ้าเราหยิบมา เป็นสาระสำคัญ แล้วคิดว่ามีเรื่องใดเรื่องหนึ่งที่จะแก้ไขมันไม่ใช่ และอยากตั้งข้อสังเกตไปด้วยว่า ระบบนี้มีปัญหาอยู่บ้าง แต่ปัญหาหลายอย่างที่เป็นที่มาของความขัดแย้งในขณะนี้ไม่ใช่ปัญหาของระบบ เท่ากับปัญหาพฤติกรรม ฉะนั้น ถ้าเราแก้แต่ระบบ แต่พฤติกรรมไม่เปลี่ยน ก็ไม่คิดว่าจะแก้ปัญหาได้ในระยะยาว
สมมุติบอกว่า เลือกนายกฯโดยตรง แล้วเกิดได้นายกฯที่ลุแก่อำนาจ เราจะทำอย่างไร ถ้าระบบเลือกตั้งบอกเปลี่ยน แต่คนที่ชนะการเลือกตั้ง มาโดยวิธีการ ไม่ถูกต้อง ก็ไม่ได้แก้อะไร จะแยกฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติหรือไม่ ถ้าฝ่ายบริหาร ไม่ยอมรับผิดชอบต่อประชาชนเลยไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามก็ไม่ได้แก้ปัญหาอีก ดังนั้นระบบจึงยังเป็นส่วนหนึ่งเท่านั้น ผมยังมองไม่เห็นว่ามีการแก้ที่ระบบจุดไหน แล้วเราจะสามารถมั่นใจได้ว่าปัญหาต่างๆ ที่เราเผชิญอยู่จะไม่เกิดขึ้นอีก ปัญหาพฤติกรรมก็ยังต้องแก้ต่อเนื่อง
ผู้สื่อข่าวถามว่ารู้สึกอย่างไรที่นายกฯ ออกมาระบุว่าการปฏิรูปการเมือง ไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนคิดว่าเรื่องการปฏิรูปเป็นความคาดหวังของคนจำนวนไม่น้อย แต่เรื่องเร่งด่วนสุดคือการคลี่คลายวิกฤตความขัดแย้ง ทางการเมืองหากการปฏิรูปการเมืองเป็นส่วนหนึ่งของการที่จะคลี่คลายความขัดแย้ง ก็ถือว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน แต่ถ้าคิดว่าสามารถคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมือง ได้โดยไม่ต้องปฏิรูปการเมือง ก็เป็นอีกเรื่อง ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีข้อเสนอใดที่เป็นรูปธรรม กับการที่จะหาจุดร่วมในการปฏิรูปการเมืองมาเป็นตัวเริ่มต้นในการคลี่คลายวิกฤต

มาร์คยังไม่เห็นสัญญาณสมานฉันฑ์
นายอภิสิทธิ์ กล่าวถึงกรณีที่นายกฯเข้าพบกับ พล.อ. เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีว่า การเข้าหารือผู้ใหญ่ของบ้านเมืองถือเป็นสิ่งที่ดีและเชื่อว่าพล.อ.เปรม น่าจะมีคำแนะนำดีๆ ที่นายกฯพูด แต่สำคัญอยู่ที่ว่าทำตามที่พล.อ.เปรมแนะนำหรือไม่ เมื่อถามย้ำว่า เกรงหรือไม่ว่าอาจจะเป็นแค่การสร้างภาพเท่านั้น นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า ตนไม่อยากไปตัดสินอะไรล่วงหน้า แต่อย่างที่ได้เตือนนายกฯไว้ว่า ความยอมรับในตัวนายกฯในเรื่องของบุคลิกความอ่อนน้อมในภายนอกหรือการไปพบปะบุคคลต่างๆ ถือเป็นสิ่งที่ดี แต่ไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหา และนับวันตอนนี้ จะต้องพิสูจน์ด้วยการกระทำ
ผมก็ยังเป็นห่วงอยู่ ในขณะที่บุคลิกการแสดงออกเป็นเรื่องของการสมานฉันท์ แต่การกระทำที่จะช่วยลดเงื่อนไขความขัดแย้ง ยังไม่มีสัญญาณ ก็คงจะต้องพิสูจน์ จากเรื่อง การแก้รัฐธรรมนูญ ตกลงว่าจะเอา ส.ส.ร.หรือจะเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญ เพื่อหวังลดมาตรา 237 มาตรา 309 เรื่องสื่อของรัฐจะว่าอย่างไร ยังปล่อยให้เป็นที่ ปลุกระดมสร้างความเกลียดชัง ความแตกแยก ใส่ร้ายป้ายสีฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง อยู่หรือเปล่า ยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงตรงนี้
เมื่อถามถึงกรณีที่ พล.อ. ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกฯ จะเปิดโต๊ะเจรจากับพันธมิตร คิดว่าจะสามารถคลี่คลายปัญหาลงได้หรือไม่ นายอภิสิทธิ์กล่าวว่า พูดคุยกันดีกว่าเผชิญหน้ากัน และจะแก้ปัญหาได้หรือไม่ อยู่ทีสาเหตุของการชุมนุมมากว่า

เหวงจี้ชัยดันร่างรธน.ตัวเองเข้าสภา
ที่รัฐสภา เมื่อเวลา 13.20 น. คณะกรรมการประชาชนเพื่อแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ 2550 (คปพร.) นำโดยน.พ.เหวง โตจิราการ นายจรัล ดิษฐาอภิชัย นายสุนัย จุลพงษ์ศธร ส.ส.สัดส่วน พรรคพลังประชาชน เข้ายื่นหนังสือถึง นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎรเพื่อขอให้บรรจุร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยแก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ ...) พ.ศ.... เป็นวาระเร่งด่วน
นายชัย กล่าวว่า ไม่จำเป็นต้องยื่นหนังสือดังกล่าวแล้ว เพราะขณะนี้ตนได้บรรจ เรื่องดังกล่าว โดยใช้ร่างของคปพร.เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมสภาแล้ว โดยคาดว่า หลังจากที่สภารับทราบการแถลงนโยบายรัฐบาลในวันจันทร์ที่ 6 ต.ค.แล้ว ในสัปดาห์ต่อไป สภาจะสามารถพิจารณาเรื่องดังกล่าวตามวาระเร่งด่วนได้ สำหรับตนถือว่าได้ทำตามหน้าที่แล้ว แต่ไม่สามารถบอกได้ว่าผลจะเป็นอย่างไร ที่ประชุมสภาจะรับร่างหรือไม่
เพราะบางทีก็ขึ้นกับลมฟ้าอากาศ ซึ่งอาจจะมีฝนตกแดดออก หรืออยู่ที่ดวงเมืองด้วย ซึ่งขณะนี้ผมก็รู้สึกไม่สบายใจกับปัญหาบ้านเมืองในขณะนี้ เพราะมันหนักและรุนแรงมาก บางที่กฎหมายรัฐธรรมนูญฉบับของคปพร..อาจจะต้องชลอไปบ้าง ก็ต้องเข้าใจ แต่ใครจะมาดึงไว้ไม่ได้ ยกเว้นเกิดเหตุการณ์ยุบสภาซึ่งจะทำให้ร่างนี้ตกไป นายชัย กล่าว

เผยชัยนัดเองประชุม4ฝ่าย
ผู้สื่อข่าวรายงาน หลังจากนั้นผู้สื่อข่าวได้พยายามสอบถามถึงข่าวการเป็น แกนนำ นัดประชุม 4 ฝ่าย แต่นายชัย ปฏิเสธที่จะตอบคำถาม โดยพูดเพียงว่า เป็นเรื่องของนายชัย ชิดชอบ
ด้าน พ.อ.อภิวันท์ วิริยะชัย รองประธานสภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า นายชัย ชิดชอบ ประธานสภาผู้แทนราษฎร เป็นผู้นัดประชุม 4 ฝ่าย โดยคาดว่าจะเป็นการหารือถึงแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ และท่าทีการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ
อย่างไรก็ตามส่วนตัวเห็นว่า ในสมัยประชุมนี้สภาไม่น่าจะพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญได้ทัน เพราะมีวาระอื่นที่ต้องพิจารณาอีกหลายวาระ อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาทางส.ส.พรรคพลังประชาชนได้เคยยื่นร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญให้สภาพิจารณา แต่ได้ระงับไปแล้วหลังจากที่สภาได้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาแนวทาง การแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่มีนายกมล ทองธรรมชาติ เป็นประธานอยู่ โดยส.ส.ที่ยื่นร่าง เห็นว่าต้องการให้เป็นเรื่องของสภา จึงต้องระงับไปโดยปริยาย ทั้งนี้ตนอยากให้การ พิจารณาของคณะกรรมาธิการศึกษาแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ดำเนินไปตามหลักเกณฑ์ไม่มีอคติ ซึ่งถ้าจะขยายเวลาออกไปอีกตนก็เห็นด้วยเพื่อความรอบคอบ

2สภาถกนโยบายรัฐบาล7ตุลาฯ
นายประสพสุข บุญเดช ประธานวุฒิสภา กล่าวถึงการเปิดประชุมร่วม 2 สภา เพื่ออภิปรายนโยบายของรัฐบาลว่า ตนได้คุยกับนายชัย ชิดชอบ ประธานฯ แล้ว โดยมีความเห็นให้เปิดประชุมร่วมระหว่างวันที่ 6-8 ต.ค. โดยคาดว่าจะเริ่มประชุมเพื่อฟังคำแถลงนโยบายในวันที่ 7 ต.ค. นี้
สำหรับวุฒิสภาได้กำหนดแนวทางในการอภิปรายไว้แล้วโดยจะอภิปราย เป็นรายกระทรวง มีผู้อภิปรายประมาณ 30 คน คนละ 15 นาที โดยเป็นตัวแทนของ กรรมาธิการแต่ละคณะ อย่างไรก็ดีกรอบเวลาที่ชัดเจนจะมีการประชุมร่วมของวิป 3 ฝ่ายในช่วงบ่ายวันนี้
นายประสพสุข กล่าวว่า ส่วนการกำหนดนโยบายในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญพิจารณานั้น ตนเห็นด้วยกับการตั้ง ส.ส.ร. เพราะจะเป็นแนวทางในการแก้ในการแก้ไขปัญหาที่เป็นรูปธรรม ทั้งนี้เชื่อว่า การตั้งส.ส.ร.ไม่น่าจะมีวาระซ่อนเร้น เพราะการตั้งสสร.จะต้องมีระยะเวลาและกระบวนการซึ่งประชาชนจะสามารถติดตามและตรวจสอบได้
ด้าน นายวิทยา บุรณศิริ ส.ส.อยุธยา พรรคพลังประชาชน ในฐานะประธานวิปรัฐบาล กล่าวว่า การอภิปรายคำแถลงนโยบายของรัฐบาลนั้นจะมีการอภิปราย 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 7 -9 ต.ค. ตั้งแต่เวลา 09.30 น.ของวันที่ 7 ต.ค. โดยให้ส.ส.แต่ละพรรค อภิปรายแสดงความคิดเห็นอย่างเท่าเทียมกัน โดยจะให้แต่ละพรรคไปจัดสรรเวลาและพิจารณาจากจำนวนส.ส.ที่มีอยู่ของแต่ละพรรค เพื่อเน้นถึงความเสมอภาค
ผู้สื่อข่าวถามว่าการที่รัฐบาลกำหนดในคำแถลงนโยบายว่าจะมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 ให้มีสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) จะเป็นประเด็นที่มี ผู้อภิปรายจำนวนมากหรือไม่ นายวิทยา กล่าวว่า การอภิปรายคงเป็นการแสดงความ คิดเห็นในนโยบายแต่ละเรื่อง โดยยึดบรรทัดฐานของการอภิปรายนโยบายของรัฐบาลตามที่เคยทำกันมา ส่วนจะแสดงความคิดเห็นอย่างไรเป็นเอกสิทธิ์ของส.ส. ทั้งนี้หากมีการแสดงความคิดเห็นเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญซ้ำกันมากประธานคงไม่อนุญาตให้พูดดทั้งหมด ซึ่งวันเดียวกันนี้ ส.ส.แต่ละคนได้รับเอกสารคำแถลงนโยบายแล้ว

รัฐบาลวางนโยบายลดความแตกแยก
ผู้สื่อข่าวรายงานสำหรับคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ นายกรัฐมนตรี ที่จะแถลงต่อรัฐสภาในวันที่ 7-9 ต.ค.นี้นั้น มีเนื้อหาสำคัญที่ระบุในคำแถลงนโยบายว่า เศรษฐกิจไทยในครึ่งแรกของปีนี้ขยายตัวได้ดีถึงร้อยละ 5.7 โดยมีแรงสนับสนุนจากการส่งออกที่ยังขยายตัวในอัตราสูง ราคาสินค้าเกษตร ที่สูงเป็นประวัติการณ์และนักท่องเที่ยวที่มีจำนวนเพิ่มขึ้นมากจากปีที่ผ่านมา
สำหรับเศรษฐกิจไทยต้องเผชิญกับปัจจัยด้านลบภายนอกประเทศที่สำคัญสองประการ คือ 1.ราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วง 8 เดือนแรก ส่งผลให้เกิดภาวะเงินเฟ้อและสร้างความเดือดร้องให้กับประชาชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้มีรายได้น้อย 2.ปัญหาวิกฤติสถาบันการเงินในประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งนับเป็นความเสียหายรุนแรงครั้งหนึ่งในรอบศตวรรษ และคาดว่าจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจไทย
นอกเหนือจากปัจจัยภายนอกประเทศ สถานการณ์ในประเทศยังมีความขัดแย้งทางการเมือง ส่งผลให้กระบวนการบริหารประเทศไม่สามารถทำงานได้อย่าง เต็มศักยภาพ และส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และนักลงทุน ซึ่งรัฐบาล ให้ความสำคัญสูงสุดกับการแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองที่มีอยู่ในสังคมโดยยึดทางสายกลาง จึงมีความตั้งใจแน่วแน่ ในการแก้ไขปัญหาโดยการรับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน เพื่อลดความเห็นที่แตกต่าง และสร้างความเห็นร่วมกันในเรื่องแนวทางการแก้ไขปัญหา

วาง16มาตรการเร่งด่วน
สำหรับนโยบายเร่งด่วนที่รัฐบาลจะเริ่มดำเนินการในปีแรกมีกำหนดไว้ 16 ข้อคือ 1.การสร้างความปรองดองสมานฉันท์ของคนในชาติและฟื้นฟูประชาธิปไตย 2. การแก้ไขปัญหาความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ 3.การส่งเสริมความร่วมมือ ในการพัฒนาและสร้างสัมพันธไมตรีที่ดีในภูมิภาค 4.สร้างกลไกในการบริหารจัดการความเสี่ยงที่เกิดจากวิกฤตการเงินของโลกที่ส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายเงินทุนทั้งระยะสั้นและระยะยาว
5.เร่งสร้างความเชื่อมั่นของนักลงทุนและนักท่องเที่ยวทั้งในประเทศและนอกประเทศ 6.เร่งรัดการลงทุนที่สำคัญของประเทศ 7. แก้ไขปัญหาความเดือดร้อน ของประชาชนและผู้ประกอบการเนื่องจากภาวะภัยธรรมชาติ ภาวะเงินเฟ้อ และราคา น้ำมัน 8.จัดตั้งสภาเกษตรกรและสร้างระบบประกันความเสี่ยง 9.สนับสนุนการเข้าถึง แหล่งทุนของชุมชน 10.สนับสนุนสินเชื่อรายย่อยให้แก่ประชาชนต่อผู้มีรายได้น้อย และวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม
11.เพื่อประสิทธิภาพการบริหารจัดการโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ 12 .เร่งรัดปราบปรามการค้ายาเสพติด ปราบปรามผู้มีอิทธิพล อบายมุขและสิ่งยั่วยุเยาวชน 13 .เร่งรัดปรับปรุงระบบสาธารณสุข 14.เร่งรัดการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและเพิ่มประสิทธิภาพระบบกระจายน้ำทั้งในและนอกเขตชลประทาน 15.เร่งรัดมาตรการและโครงการเพื่อบรรเทาผลกระทบรวมทั้งการปรับตัวเพื่อพร้อมรับวิกฤตโลกร้อน 16.จัดทำแผนแม่บทรองรับการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศของโลกและการผันผวนของราคาพลังงานและวิกฤตอาหารของโลก

ดันแก้รธน.ตั้งส.ส.ร.ปฎิรูปการเมือง
ทั้งนี้ในช่วงท้ายของคำแถลงนโยบายของรัฐบาลยังระบุว่า รัฐบาลนี้จะยึดมั่นในการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข โดยถือว่ารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรเป็นรากฐานสำคัญในการวางระบบการบริหารประเทศ ให้เกิดความมั่นคงและสร้างเสริมหลักประชาธิปไตยที่ถูกต้องและเหมาะสมเป็นที่ยอมรับของชนในชาติ แต่เนื่องจากระยะเวลาที่ผ่านมาได้มีการเสนอความคิดเห็นที่แตกต่างกันอย่างหลากหลายในการบังคับใช้รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันและมีข้อเรียกร้องจาก หลายฝ่ายให้มีการปรับปรุงรัฐธรรมนูญด้วยวิธีการต่างๆ เพื่อปฏิรูปการเมืองให้มีความ เหมาะสมและแก้ไขปัญหาของประเทศชาติได้ดียิ่งขึ้น รัฐบาลตะหนักดีว่ารัฐธรรมนูญ สมควรเกิดขึ้นจากบรรยากาศการมีส่วนร่วมของประชาชนทั่งประเทศที่จะกำหนด แนวทางให้เหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพสังคมไทยและเป็นไปตามความต้องการของประชาชน
ดังนั้นเพื่อให้การดำเนินการศึกษาทบทวนรัฐธรรมนูญ เป็นไปตามหลักประชาธิปไตยอย่างแท้จริง รัฐบาลนี้จึงสนับสนุนแนวทางการปฏิรูปการเมืองโดยกระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วนมีสิทธิเลือกตัวแทนของประชาชนในรูปแบบสภาร่างรัฐธรรมนูญ โดยการสนับสนุนการแก้ไขมาตรา 291 ของรัฐธรรมนูญเพื่อให้มีการเลือกสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ(ส.ส.ร.) เป็นผู้ทำ หน้าที่อิสระในการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั้งประเทศและนำมาพิจารณา เสนอเสนอแนะการแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อการปฏิรูปการเมืองโดยภาคประชาชน และเป็นการจัดทำรัฐธรรมนูญด้วยความเห็นชอบของประชาชนโดยตรงต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น