xs
xsm
sm
md
lg

“สุริยะใส” ชี้ พปช.โหมไฟแก้ กม.หวังสร้างเงื่อนไข “แม้ว” ลี้ภัยต่างประเทศ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย
ผู้ประสานพันธมิตรฯ จวกยับพลังแม้วจุดประเด็นแก้ไขรัฐธรรมนูญ หวังสร้างเงื่อนไขให้เกิดความขัดแย้งและความวุ่นวายในบ้านเมือง เปิดทาง “ทักษิณ” และครอบครัวลี้ภัยการเมืองไปต่างประเทศ ระบุ พันธมิตรฯ จะไม่ตกหลุมพราง พร้อมคัดค้านจนถึงที่สุด ยันอีกพันธมิตรฯใส่เสื้อ “ลูกจีนรักชาติ” ไม่ผิด

วันนี้ (5 ส.ค.) เวลา 18.45 น.นายสุริยะใส กตะศิลา ผู้ประสานงานกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย แถลงข่าวต่อสื่อมวลชน โดยระบุว่า ขณะนี้ทางพันธมิตรฯ พบว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญ อาจไม่ใช่ประเด็นที่พรรคพลังประชาชน คาดหวังว่า จะบรรลุผลสำเร็จ เพราะสถานการณ์ในขณะนี้มีกระแสคัดค้านอยู่มาก และยากที่จะใช้เสียงข้างมากในสภาผลักดันจนเป็นผลสำเร็จ แต่สิ่งที่พรรคพลังประชาชนใช้ในขณะนี้ คือ การใช้กระแสความขัดแย้งในบ้านเมืองมาเป็นเกมการเมือง เพื่อสร้างความแตกแยกในสังคม โดยเฉพาะการเสนอแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 63 และผลักดันพระราชบัญญัติจัดระเบียบการชุมนุมในที่สาธารณะ

“ทั้งๆ ที่รู้ว่าเป็นประเด็นระเอียดอ่อน และรู้ว่า นปก.ก็เคยยื่นคัดค้านร่าง กฎหมายฉบับนี้ในสมัยสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ทั้งหมดนี้ก็เพื่อให้เกิดความรุนแรงทางการเมือง นำพาสังคมเข้าสู้ทางตัน และภาวะไร้ระเบียบ ซึ่งสุดท้ายจำนำไปสู่เงื่อนไขของการรัฐประหาร ซึ่งยืนยันว่า การรัฐประหารไม่ว่าจะเกิดโดยฝ่ายใดก็ตาม ก็จะเป็นประโยชน์ต่อ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร และครอบครัวที่จะขอลี้ภัยต่างประเทศ” นายสุริยะใส กล่าว

นายสุริยะใส กล่าวด้วยว่า เท่าที่ทราบมา มีข้าราชการระดับสูงของกระทรวงต่างประเทศ ได้พยายามทำเรื่องติดต่อไปยังประเทศ แถบยุโรป เพื่อขอให้ พ.ต.ท.ทักษิณ และครอบครัว ลี้ภัย ซึ่งเป็นการดำเนินการก่อนที่จะมีคำพิพากษาคดีเลื่ยงภาษีหุ้นชินฯ ของคุณหญิงพจมาน ชินวัตร ด้วยซ้ำ แต่การดำเนินการดังกล่าวได้รับการปฏิเสธ เพราะรัฐบาลประเทศดังกล่าวเห็นว่า ยังไม่มีเหตุเพียงพอที่จะทำให้ พ.ต.ท.ทักษิณ และครอบครัว พำนักพักพิง อีกทั้งระบบศาลยุติธรรมยังน่าเชื่อถืออยู่

นอกจากนี้ พ.ต.ท.ทักษิณ และครอบครัว ยังมีสิทธิในฐานะผู้ต้องหาและจำเลย ในการต่อสู้คดี แต่เงื่อนไขเดียวที่จะสามารถลี้ภัยได้ ก็คือ ภาวะหลังรัฐประหาร โดยจะใช้ประเด็นความขัดแย้งในสังคมขณะนี้เป็นเงื่อนไข และไม่จำเป็นว่าฝ่ายเดียวกันจะจัดตั้งรัฐบาลก็ได้ ตนขอเรียกแผนการเหล่านี้ ว่า แผนการเผาบ้านตนเอง คือ เอาตนเองให้รอด ส่วนบ้านจะถูกเผาก็เป็นเรื่องของบริษัทประกัน และประชาชนคนไทย ความพยายามของเจ้าหน้าที่กระทรวงต่างประเทศ จริงหรือไม่ รมต.คนใหม่ และปรัดกระทรวงจะต้องตอบต่อสังคม

นายสุริยะใส กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม แม้ว่าเป้าหมายการแก้ไขรัฐธรรมนูญของพรรรคพลังประชาชน จะใช้ยุทธวิธี ลับ ลาง พราง พันธมิตรฯ ยังยืนอยู่ที่จุดยืนเดิม คือ จะคัดค้านการแก้ไขรัฐธรรมนูญอย่างถึงที่สุด จนกว่าคดีความของ พ.ต.ท.ทักษิณ จะสิ้นสุด จะไม่ตกหลุมพรางและจะพยายามสื่อสารต่อสาธารณต่อความเป็นจริง

ส่วนกรณีที่ นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี ส่งสัญญาณที่จะจัดการกับคนที่ใส่เสื้อ ลูกจีนรักชาติ นายสุริยะใส กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีต้องการบิดเบือน และทำลายความชอบธรรม การชุมนุมของพันธมิตรฯ และไม่ใช่ประเด็นที่เราจะใส่ใจ การส่วมใส่เสื้อดังกล่าวเป็นการสะท้อนถึงพลังของประชาชนที่หลากหลาย ต้องยอมรับว่า คนจีนก็มาร่วมชุมนุมพันธมิตรฯ จำนวนมากและก็อยากเปิดเผย ถือเป็นกำลังสำคัญของพันธมิตรฯ เราไม่ได้ต้องการสร้างกระแสความเกลียดชังใดๆ เพราะที่ชุมนุมพันธมิตรฯ มีผู้คนมาร่วมอย่างหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นคนใต้ เหนือ อีสาน ซึ่งหลายคนก็ไม่ใช่คนที่มีเชื้อสายจีน


ร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบการชุมนุมในที่สาธารณะ
พ.ศ. ....


มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติจัดระเบียบการชุมนุมในที่สาธารณะ พ.ศ. ....”
มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
มาตรา 3 ในพระราชบัญญัตินี้
“การชุมนุม” หมายความว่า การที่กลุ่มคนมาอยู่ในอาณาบริเวณเดียวกันโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงความคิดเห็นร่วมกันในลักษณะเป็นการเรียกร้อง การขอความเป็นธรรม การประท้วง การสนับสนุน การให้กำลังใจ การคัดค้าน การต่อต้าน หรือในลักษณะอื่นใด อันอาจจะส่งผลให้บุคคล คณะบุคคล องค์กร หน่วยงาน กระทำการหรือละเว้นการกระทำการใดๆ
“ที่สาธารณะ” หมายความว่า สถานที่ที่รัฐจัดไว้ให้ประชาชนโดยทั่วไปใช้ประโยชน์ร่วมกัน รวมถึงสถานที่ที่ประชาชนมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้
“ผู้จัดให้มีการชุมนุม” หมายความว่า ผู้ยื่นขอคำอนุญาตชุมนุมรวมถึงบุคคลที่ปราศรัย ผู้ให้คำปรึกษา ช่วยเหลือ ชักชวน ยุยง หรือผู้ร่วมเป็นตัวการหรือสนับสนุน
“ประธานกรรมการ” หมายความว่า ประธานกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตชุมนุมในที่สาธารณะ
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตชุมนุมในที่สาธารณะ
“หัวหน้าสถานีตำรวจ” หมายความว่า หัวหน้าสถานีตำรวจที่มีเขตพื้นที่รับผิดชอบสถานที่ที่มีการชุมนุม
มาตรา 4 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยปราศจากอาวุธ แต่การชุมนุมในที่สาธารณะจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นและความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ
มาตรา 5 ห้ามมิให้ดำเนินการชุมนุมในที่สาธารณะที่มีลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ดังต่อไปนี้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการมาตรา 8
(1) มีการใช้ช่องทางเดินรถหรือพื้นผิวการจราจร
(2) มีการตั้งเวทีปราศรัยในลักษณะกีดขวางการจราจรหรือทางสัญจรของประชาชน
(3) มีการใช้เครื่องขยายเสียง เครื่องฉายภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว หรือเครื่องมือใดๆ เพื่อถ่ายทอดการชุมนุม
(4) มีการใช้ยานพาหนะ
(5) มีการเคลื่อนย้ายสถานที่ชุมนุม

มาตรา 6 ภายใต้การบังคับตามมาตรา 5 มิให้ใช้บังคับแก่
(1) การชุมนุมที่มีกฎหมายอื่นบัญญัติให้กระทำได้
(2) การชุมนุมที่ทางราชการเป็นผู้จัด
มาตรา 7 การยื่นขออนุญาตชุมนุมในที่สาธารณะตามมาตรา 5 ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา 8 ให้มีคณะกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตชุมนุมในที่สาธารณะทุกจังหวัด ดังต่อไปนี้
(1) คณะกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตชุมนุมในที่สาธารณะในเขตกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเป็นประธาน ผู้แทนกระทรวงมหาดไทยเป็นรองประธานกรรมการ ผู้แทนสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ผู้แทนศูนย์รักษาความปลอดภัย กองบัญชาการกองทัพไทย ผู้แทนกองบัญชาการตำรวจสันติบาล ผู้บังคับการกองบังคับการตำรวจนครบาล ที่มีเขตพื้นที่รับผิดชอบสถานที่ชุมนุม ผู้บังคับการกองบังคับการตำรวจปฏิบัติการพิเศษ ผู้แทนกรุงเทพมหานครเป็นกรรมการ และผู้บังคับการกองบังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจนครบาลเป็นกรรมการและเลขานุการ
(2) คณะกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตชุมนุมในที่สาธารณะในจังหวัดอื่นๆ ยกเว้นกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกรรมการ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเป็นรองประธานกรรมการ นายกองค์การบริการส่วนจังหวัด อัยการจังหวัด นายอำเภอที่มีเขตพื้นที่รับผิดชอบสถานที่ชุมนุมเป็นกรรมการ และ ปลัดจังหวัดเป็นกรรมการและเลขานุการ
มาตรา 9 ให้คณะกรรมการตามมาตรา 8 มีอำนาจหน้าที่พิจารณาคำขออนุญาตชุมนุมตามมาตรา 5 ที่อยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา 10 การขออนุญาตชุมนุมในที่สาธารณะของคณะกรรมการตามมาตรา 8 จะมีผลเฉพาะภายในเขตจังหวัดนั้น หากมีการขยายหรือเคลื่อนย้ายการชุมนุมเข้าไปในเขตจังหวัดอื่น จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการตามมาตรา 8 (2)

มาตรา 11 ผลการพิจารณาของคณะกรรมการตามมาตรา 8 ให้ถือเป็นที่สุด
มาตรา 12 การชุมนุมในที่สาธารณะ ซึ่งอยู่ในบังคับที่จะต้องปฏิบัติตามมาตรา 5 แต่มิได้ดำเนินการขออนุญาตให้สันนิษฐานว่าบุคคลที่ปราศรัย รวมถึงผู้ให้คำปรึกษา ช่วยเหลือ ชักชวน ยุยง หรือสนับสนุน เป็นผู้จัดให้มีการชุมนุม
มาตรา 13 การชุมนุมในที่สาธารณะ ซึ่งอยู่ในบังคับที่จะต้องปฏิบัติตามมาตรา 5 ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ได้ขออนุญาตหรือมิได้ขออนุญาตก็ตาม ถ้าการชุมนุมไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ได้รับอนุญาต หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อผู้อื่นหรือสาธารณชน หรือมีเหตุอันอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยให้ผู้จัดให้มีการชุมนุมหรือผู้ที่สันนิษฐานว่าเป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมแล้วแต่กรณี ประกาศยุติการชุมนุมแล้วรีบแจ้งหัวหน้าสถานีตำรวจที่มีเขตพื้นที่รับผิดชอบสถานที่ชุมนุม และให้ผู้จัดให้มีการชุมนุมหรือผู้ที่สันนิษฐานว่าเป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมดังกล่าวให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบทุกฝ่าย เพื่อยุติการชุมนุมโดยเร็วที่สุด
เมื่อหัวหน้าสถานีตำรวจได้รับแจ้งตามวรรค 1 ให้รีบรายงานประธานกรรมการพิจารณาสั่งตามมาตรา 14
มาตรา 14 ประธานกรรมการมีอำนาจสั่งยุติการชุมนุมในที่สาธารณะในกรณีดังต่อไปนี้
(1) ไม่มีผู้จัดให้มีการชุมนุมอยู่ดูแลการชุมนุมนั้น
(2) การชุมนุมนั้นก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อผู้อื่นหรือสาธารณชน หรือมีเหตุอันอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย
(3) การชุมนุมที่ฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้
การประกาศยุติการชุมนุมให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยแจ้งด้วยวาจา หรือใช้การสื่อสารด้วยวิธีการอื่นใดให้ผู้ชุมนุมสามารถรับทราบได้ ณ บริเวณสถานที่ชุมนุม
เมื่อประธานกรรมการสั่งยุติการชุมนุมแล้วให้ถือว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่ได้รับอนุญาตและผู้ฝ่าฝืนต้องรับโทษตามมาตรา 18
มาตรา 15 หากการชุมนุมในที่สาธารณะที่ได้มีการประกาศให้ยุติตามมาตรา 13 แล้วผู้ชุมนุมยังคงฝ่าฝืน ประธานกรรมการมีอำนาจสั่งให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยในการชุมนุมสลายการชุมนุมได้

มาตรา 16 เจ้าหน้าที่หรือผู้ใช้อำนาจสลายการชุมนุมตามมาตรา 15 ไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง อาญา เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในการสลายการชุมนุม หากเป็นการกระทำโดยสุจริต ไม่เกินกว่าเหตุหรือไม่เกินความจำเป็น แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหาย ที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
มาตรา 17 ผู้ใดจัดให้มีการชุมนุมในที่สาธารณะ ซึ่งอยู่ภายใต้ข้อบังคับของมาตรา 5 แต่มิได้ดำเนินการขออนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้ใดจัดให้มีการชุมนุมตามวรรคหนึ่ง และเกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือมีเหตุอันอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย แม้จะได้ ปฏิบัติตามมาตรา 13 แล้วก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้ใดจัดให้มีการชุมนุมตามวรรคหนึ่ง และเกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือมีเหตุอันอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หากไม่ได้ ปฏิบัติตามมาตรา 13 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 18 ผู้ใดฝ่าฝืนจัดให้มีการชุมนุมในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ แม้การชุมนุมจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้ใดฝ่าฝืนจัดชุมนุมโดยฝ่าฝืนวรรคหนึ่ง และเกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือมีเหตุอันอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย แม้จะได้ ปฏิบัติตามมาตรา 13 แล้วก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้ใดจัดให้มีการชุมนุมโดยฝ่าฝืนวรรคหนึ่ง และเกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือมีเหตุอันอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หากไม่ได้ ปฏิบัติตามมาตรา 13 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 19 การชุมนุมในที่สาธารณะภายใต้บังคับมาตรา 5 กรณีที่ขออนุญาตหรือไม่ขออนุญาตก็ตาม หากผู้จัดให้มีการชุมนุมไม่ควบคุมดูแลการชุมนุมให้อยู่ในความสงบเรียบร้อย หรือปล่อยปละจนเป็นเหตุให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมกระทำผิดทางแพ่งหรืออาญาตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ผู้จัดให้มีการชุมนุม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 20 นายกฯเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

กำลังโหลดความคิดเห็น