“ชูศักดิ์” ตื่นแล้ว เพิ่งเห็นร่าง กม.ติดหนวดฉบับ “หมัก” โดดรับลูกสนองบันดาลโทสะ อ้างไม่ได้จำกัดสิทธิ แค่จัดระเบียบกลุ่มผู้ชุมนุมเพื่อความเรียบร้อย โวประเทศทั่วโลกมีกันหมดแล้ว ไขสือลูกสมุนเข้าชื่อยื่นญัตติเสนอเข้าสู่สภาใจตรงกับท่านผู้นำพอดีเป๊ะ
วันนี้ (5 ส.ค.) ที่ทำเนียบรัฐบาล นาย ชูศักดิ์ ศิรินิล รมต.ประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีที่นายจุมพฏ บุญใหญ่ ส.ส.สกลนคร พรรคพลังประชาชน และส.ส.ของพรรคจำนวนหนึ่ง เตรียมเสนอร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบการชุมนุมในที่สาธารณะเข้าสู่วาระการประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่า กฎหมายที่นายจุมพฏเสนอเป็นกฎหมายค้างในยุคของ สนช.ที่ไม่ผ่าน เนื่องจากองค์ประชุมไม่ครบ ดังนั้น เราจึงนำเอาถ้อยคำมาทั้งหมด เพียงแต่เปลี่ยนชื่อเรื่องเท่านั้น โดยหลักการการชุมนุมในที่สาธารณะโดยสงบปราศจากอาวุธเป็นหลักการที่เป็นเสรีภาพของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ
“รัฐธรรมนูญปี 40 กับ 50 เขียนเหมือนกันว่าการชุมนุมขัดต่อประโยชน์สาธารณะ การใช้ที่สาธารณะ การใช้ทางสาธารณะของประชาชน เช่น ไปกีดขวางถนนใช้ทางสาธารณะไม่ได้ โรงเรียนไม่สะดวก เขาจึงเขียนไว้ในวรรคสองว่า การจำกัดสิทธิ เสรีภาพ ตามวรรคหนึ่งให้กระทำได้เพื่อประโยชน์สาธารณะ นานาอารยะประเทศเขามีกฎหมายทำนองนี้ว่าถ้าจะจัดชุมนุมให้ดำเนินการอย่างไร ต้องมีสถานที่ มีระยะเวลา ต้องมีข้อจำกัดห้ามมีอาวุธ ห้ามดื่มสุรา เป็นต้น เป็นรายละเอียดที่ทุกประเทศเขาทำเหมือนกัน เพราะฉะนั้นที่วิจารณ์กันอยู่ประเด็นคือกฎหมายนี้ไม่ได้ไปจำกัดสิทธิ เสรีภาพของคนที่จัดการชุมนุม เพียงแต่เป็นกฎหมายที่ต้องการจัดระเบียบการชุมนุมให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อยไม่กระทบต่อประโยชน์สาธารณะของประชาชน” นายชูศักดิ์ กล่าว
รมต.ประจำสำนักนายรัฐมนตรี กล่าวต่อว่า ความจริงนายจุมพฏเสนอมานานแล้ว แต่ตนเห็นว่าเมื่อมีการพูดเรื่องมาตรา 63 ตนจึงบอกว่าบ้านเมืองควรจะมีกฎหมายนี้ โดยไม่ได้ไปตกลงอะไรกับนายจุมพฏและไม่รู้ว่านายจุมพฏได้เสนอไว้ เมื่อถามว่าแต่จังหวะมาสอดคล้องกับที่นายกรัฐมนตรีพูดเรื่องมาตรา 63 จึงดูเหมือนว่ารัฐบาลตั้งป้อมตอบโต้กลับทางกลุ่มพันธมิตรฯ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ไม่ใช่ เพียงแต่นายกรัฐมนตรีมองประเด็นของท่านและเชื่อว่าท่านไม่ได้ดูรายละเอียดกฎหมายที่ค้างอยู่ เพียงแต่เห็นว่าการชุมนุมควรจะมีข้อจำกัดบ้าง เพราะไปกระทบผลประโยชน์ของประชาชนโดยทั่วไป ท่านเป็นนักกฎหมายเก่าก็เขียนขึ้นมาแต่ท้ายที่สุดรายละเอียดก็จะไปมีอยู่ในกฎหมายประกอบที่ว่าการจัดการชุมนุมในที่สาธารณะของนายจุมพฏด้วย
“ผมย้ำว่าเราไม่ได้เอากฎหมายนี้ไปจำกัดสิทธิ เสรีภาพในการชุมนุม หรือปราบปรามการชุมนุมอย่างที่สื่อเสนอข่าวไป เป็นการจัดระเบียบการชุมนุมให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย ไม่กระทบใคร ไม่กระทบประโยชน์สาธารณะของประชาชน กฎหมายเขียนไว้ชัดเจนในวรรคสอง การจำกัดจะกระทำได้เพื่อประโยชน์ของประชาชนในการใช้ทางสาธารณะ ซึ่งกฎหมายนี้มีเหมือนกันทั่วโลก อย่างบางประเทศเขาชุมนุมถือป้ายประท้วงกันอย่างสงบ” นายชูศักดิ์ กล่าว
เมื่อถามว่า กลุ่มพันธมิตรฯ และผู้คัดค้านขู่ว่าจะไปยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความที่อาจจะเป็นกฎหมายที่ขัดต่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ยังไม่มีกฎหมายออกมาจะไปตีความได้อย่างไร และขณะนี้ไม่รู้ว่าสภาจะหยิบยกขึ้นมาหรือไม่ รัฐบาล สำนักงานตำรวจฯ จะเสนอกฎหมายหรือไม่เพื่อนำไปประกบในร่างของรัฐบาล หรือจะไปหยิบยกกฎหมายของ ส.ส.ขึ้นมา ในหลักการแล้วถ้าจะนำกฎหมายของ ส.ส.มาพิจารณา ทางรัฐบาลจะรับมาพิจารณาก่อนมารับหลักการว่าสมควรหรือไม่ ฉะนั้นจึงไม่ใช่เรื่องที่จะไปตีความ
ผู้สื่อข่าวถามว่า แนวทางน่าจะเป็นการออก พ.ร.บ.ขึ้นมารองรับเป็นการเฉพาะมากกว่าที่จะเขียนเป็นบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ นายชูศักดิ์ กล่าวว่า ยังไม่ได้พูคุยชัดเจน เพียงแต่ถ้าเปรียบเทียบรัฐธรรมนูญปี 40 กับ 50 แนวทางสมควรที่จะมีกฎหมายการชุมนุมในที่สาธารณะแล้วหรือยังสำหรับบ้านเมืองเรา โดยสื่อนำข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นทุกวันนี้ไปดูก็แล้วกันว่าสมควรหรือไม่ เช่น ผู้สื่อข่าวอยากจะจัดการชุมนุมต้องขออนุญาตว่าจะไปชุมนุมที่ไหน ใช้เวลากี่วัน วิธีการทำอย่างไร เป็นเรื่องธรรมดา
เมื่อถามว่าหลายฝ่ายออกมาบอกว่าถ้ารัฐบาลยังเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญจะทำให้ปัญหาบานปลายและใช้ช่องทางนี้เป็นข้ออ้างเดินหน้า ชุมนุมขับรัฐบาล นายชูศักดิ์ กล่าวว่า เป็นคำถามซ้ำทุกวัน ขอถามว่ามีความจำเป็นหรือไม่ ถ้ามีก็ทำและอธิบายให้ประชาชนรับรู้แต่คงไม่ใช่วิธีการใช้โทรศัพท์ไปขู่กันที่บ้าน ตี 2 ตี 3 คงไม่ใช่อย่างนั้น