xs
xsm
sm
md
lg

นักวิชาการจวก ร่าง กม.คุมม็อบละเมิดสิทธิ-ดันทุรังต่อโดนฮือต้านแน่

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง
“ประภาส ปิ่นตบแต่ง” อาจารย์รัฐศาสตร์ จุฬาฯ เชื่อ พ.ร.บ.จัดระเบียบการชุมนุม คือการลิดรอนเสรีภาพ ปชช.เชื่อหากดันทุรังเดินหน้าต่อ คนออกมาค้านตรึมแน่ - ด้าน ส.ว.สรรหา “สมชาย แสวงการ” แนะ “พลังแม้ว” ถอนร่างออกมาก่อน ถ้าไม่อยากถูกครหาว่าทำเพื่อสกัดชุมนุมพันธมิตรฯ

วานนี้ (5 ส.ค.) ผศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้สัมภาษณ์ในรายการ คมชัดลึก ทางสถานีโทรทัศน์เนชั่นแชนนัล ถึงกรณีแนวคิดการแก้ไข รธน.มาตรา 63 ที่เกี่ยวกับการชุมนุม และการเสนอร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบการชุมนุมในที่สาธารณะที่ ส.ส.พรรคพลังประชาชนเสนอเข้าเป็นญัตติในสภาแล้ว ว่า ตนอยากถามว่ารัฐบาลยังยุ่งไม่พออีก หรือจึงคิดจะทำการแก้กฎหมายของการชุมนุมขึ้นมาอีก เพราะเรื่องสิทธิเสรีภาพของการชุมนุมนั้น กว่าประชาชนจะได้มาก็ต้องมีการต่อสู้กันมาอย่างยากลำบาก แล้วจู่ๆ จะมาล้มเลิกเอาง่ายๆ คงเป็นเรื่องที่ต่อไปจะมีมวลชนออกมาคัดค้านแล้วบ้านเมืองก็จะปั่นป่วนอีก

ดร.ประภาส กล่าวต่อไปว่า โดยส่วนตัวแล้วตนคิดว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวจะกระทบกับคนเล็กคนน้อยมากกว่าคนกลุ่มใหญ่ๆ อย่างเช่น หากกลุ่มพันธมิตรฯ จะออกมาชุมนุมแล้วไม่ได้รับการอนุญาตให้ชุมนุม กลุ่มพันธมิตรฯ ก็มีพลังมวลชนมากพอที่จะกดดันรัฐบาลได้ แต่หากเป็นกลุ่มผู้ชุมนุมตัวเล็กๆ อย่างเกษตรกร ชาวไร่ ชาวนา ก็คงแทบจะหมดสิทธิ์ที่จะมาชุมนุมเลย เพราะการจะมาชุมนุมต้องขออนุญาตต่อเจ้าหน้าที่รัฐ หรือข้าราชการ แล้วถามว่า ชาวไร่ ชาวนา ขัดแย้งกับใครก็ขัดแย้งกับเจ้าหน้าที่รัฐหรือข้าราชการทั้งนั้น แล้วจะแน่ใจได้อย่างไร ว่าเจ้าหน้าที่รัฐหรือข้าราชการเหล่านั้นจะยอมให้มีการชุมนุมเรียกร้องหรือขับไล่ตัวเอง

ดังนั้น ตนมองว่า สิทธิทางการชุมนุมนั้น เป็นกลไกหนึ่งที่นำมาใช้เรียกร้องความชอบธรรมตามสิทธิเสรีภาพในระบอบประชาธิปไตย เรื่องนี้จึงควรปล่อยให้เป็นไปตามกระบวนการทางสิทธิเสรีภาพ เพราะเพียงแค่มีกรอบกฎหมายที่เกี่ยวข้องเข้ามาควบคุมก็น่าจะเพียงพอแล้ว เช่น หากการชุมนุมมีการกล่าวหาพาดพิงกัน ฝ่ายที่เสียหายก็สามารถ ใช้ข้อกฎหมายในเรื่องของการหมิ่นประมาทมาเอาผิดได้ เป็นต้น

ด้าน นายสมชัย แสวงการ ส.ว.สรรหา กล่าวว่า แนวคิดในการควบคุม การชุมนุมมีมาตั้งแต่ตอนร่างรัฐธรรมนูญปี 50 แล้ว ซึ่งตอนนั้น ตนและสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญส่วนใหญ่ก็ไม่เห็นด้วย เพราะคิดว่าหากมีการออกกฎหมายที่ควบคุมการชุมนุม หรือร่าง พ.ร.บ.การจัดระเบียบการชุมนุมอย่างที่ ส.ส.พรรคพลังประชาชน กำลังเสนออยู่ในขณะนี้ จะเป็นการกำจัดม็อบ เป็นการลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน เพราะหากมี พ.ร.บ.ออกมาว่า การชุมนุมจะต้องขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่รัฐ ซึ่งมีคณะกรรมการฝ่ายความมั่นคงเป็นผู้อนุญาต ฝ่ายความมั่นคงจะยอมให้มีการชุมนุมกันง่ายๆ หรือ เพราะฝ่ายความมั่นคงและรัฐบาลก็คงไม่อยากให้มีการชุมนุมอยู่แล้ว นอกเสียจากจะเป็นการชุมนุม เพื่อสนับสนุนรัฐบาลเท่านั้นจึงจะได้รับอนุญาต

ดังนั้น ตนจึงไม่เห็นด้วยกับเรื่องนี้เป็นอย่างยิ่ง และคิดว่า ควรถอนร่าง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวออกมาจากสภาก่อน เพื่อจะได้ศึกษาให้ดีว่าส่งผลกระทบอย่างไรต่อสิทธิเสรีภาพของประชาชนบ้าง อีกทั้งยังเป็นการลบล้างข้อครหาที่ว่าทำเพื่อรับลูก ตามนโยบายของนายกฯ หรือทำเพื่อมุ่งนำไปควบคุมการชุมนุมของพันธมิตรฯ


ร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบการชุมนุมในที่สาธารณะ
พ.ศ. ....


มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติจัดระเบียบการชุมนุมในที่สาธารณะ พ.ศ. ....”
มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป
มาตรา 3 ในพระราชบัญญัตินี้
“การชุมนุม” หมายความว่า การที่กลุ่มคนมาอยู่ในอาณาบริเวณเดียวกัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงความคิดเห็นร่วมกันในลักษณะเป็นการเรียกร้อง การขอความเป็นธรรม การประท้วง การสนับสนุน การให้กำลังใจ การคัดค้าน การต่อต้าน หรือในลักษณะอื่นใด อันอาจจะส่งผลให้บุคคล คณะบุคคล องค์กร หน่วยงาน กระทำการหรือละเว้นการกระทำการใดๆ
“ที่สาธารณะ” หมายความว่า สถานที่ที่รัฐจัดไว้ให้ประชาชนโดยทั่วไปใช้ประโยชน์ร่วมกัน รวมถึงสถานที่ที่ประชาชนมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้
“ผู้จัดให้มีการชุมนุม” หมายความว่า ผู้ยื่นขอคำอนุญาตชุมนุมรวมถึงบุคคลที่ปราศรัย ผู้ให้คำปรึกษา ช่วยเหลือ ชักชวน ยุยง หรือผู้ร่วมเป็นตัวการหรือสนับสนุน
“ประธานกรรมการ” หมายความว่า ประธานกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตชุมนุมในที่สาธารณะ
“คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตชุมนุมในที่สาธารณะ
“หัวหน้าสถานีตำรวจ” หมายความว่า หัวหน้าสถานีตำรวจที่มีเขตพื้นที่รับผิดชอบสถานที่ที่มีการชุมนุม
มาตรา 4 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยปราศจากอาวุธ แต่การชุมนุมในที่สาธารณะจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นและความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ
มาตรา 5 ห้ามมิให้ดำเนินการชุมนุมในที่สาธารณะที่มีลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ดังต่อไปนี้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการมาตรา 8
(1) มีการใช้ช่องทางเดินรถหรือพื้นผิวการจราจร
(2) มีการตั้งเวทีปราศรัยในลักษณะกีดขวางการจราจรหรือทางสัญจรของประชาชน
(3) มีการใช้เครื่องขยายเสียง เครื่องฉายภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว หรือเครื่องมือใดๆ เพื่อถ่ายทอดการชุมนุม
(4) มีการใช้ยานพาหนะ
(5) มีการเคลื่อนย้ายสถานที่ชุมนุม

มาตรา 6 ภายใต้การบังคับตามมาตรา 5 มิให้ใช้บังคับแก่
(1) การชุมนุมที่มีกฎหมายอื่นบัญญัติให้กระทำได้
(2) การชุมนุมที่ทางราชการเป็นผู้จัด
มาตรา 7 การยื่นขออนุญาตชุมนุมในที่สาธารณะตามมาตรา 5 ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา 8 ให้มีคณะกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตชุมนุมในที่สาธารณะทุกจังหวัด ดังต่อไปนี้
(1) คณะกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตชุมนุมในที่สาธารณะในเขตกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเป็นประธาน ผู้แทนกระทรวงมหาดไทยเป็นรองประธานกรรมการ ผู้แทนสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ผู้แทนศูนย์รักษาความปลอดภัย กองบัญชาการกองทัพไทย ผู้แทนกองบัญชาการตำรวจสันติบาล ผู้บังคับการกองบังคับการตำรวจนครบาล ที่มีเขตพื้นที่รับผิดชอบสถานที่ชุมนุม ผู้บังคับการกองบังคับการตำรวจปฏิบัติการพิเศษ ผู้แทนกรุงเทพมหานครเป็นกรรมการ และผู้บังคับการกองบังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจนครบาลเป็นกรรมการและเลขานุการ
(2) คณะกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตชุมนุมในที่สาธารณะในจังหวัดอื่นๆ ยกเว้นกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกรรมการ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเป็นรองประธานกรรมการ นายกองค์การบริการส่วนจังหวัด อัยการจังหวัด นายอำเภอที่มีเขตพื้นที่รับผิดชอบสถานที่ชุมนุมเป็นกรรมการ และ ปลัดจังหวัดเป็นกรรมการและเลขานุการ
มาตรา 9 ให้คณะกรรมการตามมาตรา 8 มีอำนาจหน้าที่พิจารณาคำขออนุญาตชุมนุมตามมาตรา 5 ที่อยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง
มาตรา 10 การขออนุญาตชุมนุมในที่สาธารณะของคณะกรรมการตามมาตรา 8 จะมีผลเฉพาะภายในเขตจังหวัดนั้น หากมีการขยายหรือเคลื่อนย้ายการชุมนุมเข้าไปในเขตจังหวัดอื่น จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการตามมาตรา 8 (2)

มาตรา 11 ผลการพิจารณาของคณะกรรมการตามมาตรา 8 ให้ถือเป็นที่สุด
มาตรา 12 การชุมนุมในที่สาธารณะ ซึ่งอยู่ในบังคับที่จะต้องปฏิบัติตามมาตรา 5 แต่มิได้ดำเนินการขออนุญาตให้สันนิษฐานว่าบุคคลที่ปราศรัย รวมถึงผู้ให้คำปรึกษา ช่วยเหลือ ชักชวน ยุยง หรือสนับสนุน เป็นผู้จัดให้มีการชุมนุม
มาตรา 13 การชุมนุมในที่สาธารณะ ซึ่งอยู่ในบังคับที่จะต้องปฏิบัติตามมาตรา 5 ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ได้ขออนุญาตหรือมิได้ขออนุญาตก็ตาม ถ้าการชุมนุมไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ได้รับอนุญาต หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อผู้อื่นหรือสาธารณชน หรือมีเหตุอันอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยให้ผู้จัดให้มีการชุมนุมหรือผู้ที่สันนิษฐานว่าเป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมแล้วแต่กรณี ประกาศยุติการชุมนุมแล้วรีบแจ้งหัวหน้าสถานีตำรวจที่มีเขตพื้นที่รับผิดชอบสถานที่ชุมนุม และให้ผู้จัดให้มีการชุมนุมหรือผู้ที่สันนิษฐานว่าเป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมดังกล่าวให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบทุกฝ่าย เพื่อยุติการชุมนุมโดยเร็วที่สุด
เมื่อหัวหน้าสถานีตำรวจได้รับแจ้งตามวรรค 1 ให้รีบรายงานประธานกรรมการพิจารณาสั่งตามมาตรา 14
มาตรา 14 ประธานกรรมการมีอำนาจสั่งยุติการชุมนุมในที่สาธารณะในกรณีดังต่อไปนี้
(1) ไม่มีผู้จัดให้มีการชุมนุมอยู่ดูแลการชุมนุมนั้น
(2) การชุมนุมนั้นก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อผู้อื่นหรือสาธารณชน หรือมีเหตุอันอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย
(3) การชุมนุมที่ฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้
การประกาศยุติการชุมนุมให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยแจ้งด้วยวาจา หรือใช้การสื่อสารด้วยวิธีการอื่นใดให้ผู้ชุมนุมสามารถรับทราบได้ ณ บริเวณสถานที่ชุมนุม
เมื่อประธานกรรมการสั่งยุติการชุมนุมแล้วให้ถือว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่ได้รับอนุญาตและผู้ฝ่าฝืนต้องรับโทษตามมาตรา 18
มาตรา 15 หากการชุมนุมในที่สาธารณะที่ได้มีการประกาศให้ยุติตามมาตรา 13 แล้วผู้ชุมนุมยังคงฝ่าฝืน ประธานกรรมการมีอำนาจสั่งให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยในการชุมนุมสลายการชุมนุมได้

มาตรา 16 เจ้าหน้าที่หรือผู้ใช้อำนาจสลายการชุมนุมตามมาตรา 15 ไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง อาญา เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในการสลายการชุมนุม หากเป็นการกระทำโดยสุจริต ไม่เกินกว่าเหตุหรือไม่เกินความจำเป็น แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหาย ที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่
มาตรา 17 ผู้ใดจัดให้มีการชุมนุมในที่สาธารณะ ซึ่งอยู่ภายใต้ข้อบังคับของมาตรา 5 แต่มิได้ดำเนินการขออนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้ใดจัดให้มีการชุมนุมตามวรรคหนึ่ง และเกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือมีเหตุอันอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย แม้จะได้ ปฏิบัติตามมาตรา 13 แล้วก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้ใดจัดให้มีการชุมนุมตามวรรคหนึ่ง และเกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือมีเหตุอันอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หากไม่ได้ ปฏิบัติตามมาตรา 13 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 18 ผู้ใดฝ่าฝืนจัดให้มีการชุมนุมในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ แม้การชุมนุมจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้ใดฝ่าฝืนจัดชุมนุมโดยฝ่าฝืนวรรคหนึ่ง และเกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือมีเหตุอันอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย แม้จะได้ ปฏิบัติตามมาตรา 13 แล้วก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้ใดจัดให้มีการชุมนุมโดยฝ่าฝืนวรรคหนึ่ง และเกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือมีเหตุอันอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หากไม่ได้ ปฏิบัติตามมาตรา 13 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

มาตรา 19 การชุมนุมในที่สาธารณะภายใต้บังคับมาตรา 5 กรณีที่ขออนุญาตหรือไม่ขออนุญาตก็ตาม หากผู้จัดให้มีการชุมนุมไม่ควบคุมดูแลการชุมนุมให้อยู่ในความสงบเรียบร้อย หรือปล่อยปละจนเป็นเหตุให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมกระทำผิดทางแพ่งหรืออาญาตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ผู้จัดให้มีการชุมนุม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
มาตรา 20 นายกฯเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้
กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้

นายสมชาย แสวงการ
กำลังโหลดความคิดเห็น