“จุมพฎ บุญใหญ่” อ้าง พ.ร.บ.จัดระเบียบการชุมนุมฯ ร่างขึ้นเพื่อให้ผู้ชุมนุมเคารพสิทธิคนอื่นมากขึ้น ปัดทำตามใบสั่ง “หมัก” ด้านอดีตแกนนำ นปก.“จรัล ดิษฐาอภิชัย” กลับลำหนุนสุดตัว อ้างจำเป็น เพราะคนไทยชอบชุมนุมยืดเยื้อ สร้างความเดือดร้อนให้สังคม ขณะเลขาฯ สมาคมสิทธิเสรีภาพ ปชช.“ไพโรจน์ พลเพชร” แย้ง เผย กม.ขณะนี้มีพอที่จะควบคุมการชุมนุมแล้ว เชื่อรัฐบาลทำตอนนี้ต้องถูกครหาหวังสกัดพันธมิตรฯ
วันที่ 5 ส.ค.นายจุมพฎ บุญใหญ่ ส.ส.สกลนคร พรรคพลังประชาชน ให้สัมภาษณ์ในรายการถามจริง-ตอบตรง ทางสถานีโทรทัศน์เอ็นบีที ถึงร่างพระราชบัญญัติจัดระเบียบการชุมนุมในที่สาธารณะ ที่ตนเสนอเข้าสู่การประชุมสภาผู้แทนราษฎรว่า พ.ร.บ.ฉบับนี้ก่อนที่นายสมัคร สุนทรเวช นายกรัฐมนตรี จะกล่าวถึงเรื่องต้องการแก้ไข รธน.มาตรา 63 ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการชุมนุม ซึ่ง พ.ร.บ.ดังกล่าวก็ได้รับบรรจุอยู่ในลำดับที่ 33 ของวาระการประชุมสภา ดังนั้นการที่มองว่าตนรับลูก หรือทำตามคำสั่งของนายกรัฐมนตรีจึงไม่เป็นความจริง
ส่วนมูลเหตุที่ตนคิดว่า ควรมี พ.ร.บ.ขึ้นมาเพื่อควบคุมการชุมนุมนั้น ก็เนื่องมาจากตนมองว่า การชุมนุมนั้นสามารถทำได้ แต่ต้องคำนึงถึงสิทธิเสรีภาพของประชาชนคนอื่นๆ ด้วย ไม่ใช่ว่าจะชุมนุมตามใจตัวเองโดยไม่สนใจว่าจะทำให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อน ส่วนแนวทางปฏิบัติคร่าวๆ ของร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ ก็คือ การชุมนุมจะต้องมีการขออนุญาตจากเจ้าหน้าที่รัฐก่อนจึงจะชุมนุมได้ และเมื่อชุมนุมแล้ว รัฐก็จะต้องมีหน้าที่ก็จะต้องดูแลผู้ชุมนุม
ขณะที่ ผศ.จรัล ดิษฐาอภิชัย ประธานมูลนิธิสถาบันประชาธิปไตย และแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยขับไล่เผด็จการ (นปก.) อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวสนับสนุนร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว โดยบอกว่า สิทธิการชุมนุมเป็นของประชาชนก็จริง แต่การที่จะได้รับการคุ้มครองจากรัฐตามกฎหมายก็ควรจะมีการบอกกล่าวกับรัฐ เพื่อให้รัฐดูแลได้อย่างเต็มที่ ทั้งนี้รัฐก็มีหน้าที่ที่จะต้องให้ชุมนุมและอำนวยความสะดวก แต่ก็อาจมีการไม่อนุญาตได้บ้างในบางกรณี เช่นความไม่สะดวกในเรื่องสถานที่ เช่น การชุมนุมจุดใดที่ส่งผลกระทบหรือทำให้ประชาชนเดือดร้อนมากก็อาจไม่ได้รับอนุญาตให้จัดการชุมนุม
นอกจากนี้ ตนยังมองว่า กฎหมายฉบับนี้จำเป็นกับประเทศไทยมาก เพราะเห็นได้ว่าการชุมนุมในต่างประเทศมักจะไม่ยืดเยื้อ แต่สำหรับในประเทศไทยแล้วการชุมนุมไม่ว่าจะเป็นของกลุ่มใด มักเป็นการชุมนุมแบบยืดเยื้อ ซึ่งสุดท้ายแล้วก็สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนส่วนอื่นๆ ในระยะยาว
ด้าน นายไพโรจน์ พลเพชร เลขาธิการสมาคมสิทธิเสรีภาพประชาชน กล่าวว่า ตนคิดว่ากฎหมายที่จะใช้ดูแลการชุมนุมที่มีอยู่ในขณะนี้ก็น่าจะเพียงพอแล้วที่จะสามารถควบคุมการชุมนุมให้เป็นไปตามกลไกทางประชาธิปไตยได้ อีกทั้งหากมีการนำข้อกฎหมายควบคุมการชุมนุมขึ้นมาในตอนนี้ก็ดูไม่เหมาะสมนัก เพราะสถานการบ้านเมืองในตอนนี้ก็เห็นได้อย่างชัดเจนว่ารัฐบาลยังมีความขัดแย้ง และหนักใจกับการชุมนุมของกลุ่มพันธมิตรฯ อยู่ ดังนั้น หากคิดจะเปลี่ยนแปลงหรือร่าง พ.ร.บ.ขึ้นมามาในตอนนี้จึงเปรียบเหมือน รัฐบาลทำการ ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้มาเพื่อหยุดยั้งการชุมนุมของพันธมิตรฯ เท่านั้น
อนึ่ง สำหรับ ร่าง พ.ร.บ.จัดระเบียบการชุมนุมในที่สาธารณะนั้น เคยมีการเสนอต่อสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เมื่อปี 2550 แต่ถูกสมาชิกอภิปรายไม่เห็นด้วย ขณะเดียวกันกลุ่ม นปก.นำโดยนางประทีป อึ๊งทรงธรรม ได้ไปยื่นคัดค้านต่อประธาน สนช.ด้วย จนผู้เสนอต้องถอนร่างออกไป และมาในสมัยรัฐบาลนี้ ส.ส.พรรคพลังประชาชนได้นำ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าวเสนอเข้าวาระการประชุมสภาฯ อีกครั้ง เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมา หลังจากพันธมิตรฯ จัดการชุมนุมยืดเยื้อจนเกือบครบ 1 เดือน
พ.ศ. .... มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติจัดระเบียบการชุมนุมในที่สาธารณะ พ.ศ. ....” มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนดสามสิบวันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป มาตรา 3 ในพระราชบัญญัตินี้ “การชุมนุม” หมายความว่า การที่กลุ่มคนมาอยู่ในอาณาบริเวณเดียวกันโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อแสดงความคิดเห็นร่วมกันในลักษณะเป็นการเรียกร้อง การขอความเป็นธรรม การประท้วง การสนับสนุน การให้กำลังใจ การคัดค้าน การต่อต้าน หรือในลักษณะอื่นใด อันอาจจะส่งผลให้บุคคล คณะบุคคล องค์กร หน่วยงาน กระทำการหรือละเว้นการกระทำการใดๆ “ที่สาธารณะ” หมายความว่า สถานที่ที่รัฐจัดไว้ให้ประชาชนโดยทั่วไปใช้ประโยชน์ร่วมกัน รวมถึงสถานที่ที่ประชาชนมีความชอบธรรมที่จะเข้าไปได้ “ผู้จัดให้มีการชุมนุม” หมายความว่า ผู้ยื่นขอคำอนุญาตชุมนุมรวมถึงบุคคลที่ปราศรัย ผู้ให้คำปรึกษา ช่วยเหลือ ชักชวน ยุยง หรือผู้ร่วมเป็นตัวการหรือสนับสนุน “ประธานกรรมการ” หมายความว่า ประธานกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตชุมนุมในที่สาธารณะ “คณะกรรมการ” หมายความว่า คณะกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตชุมนุมในที่สาธารณะ “หัวหน้าสถานีตำรวจ” หมายความว่า หัวหน้าสถานีตำรวจที่มีเขตพื้นที่รับผิดชอบสถานที่ที่มีการชุมนุม มาตรา 4 บุคคลย่อมมีเสรีภาพในการชุมนุมโดยปราศจากอาวุธ แต่การชุมนุมในที่สาธารณะจะต้องไม่ส่งผลกระทบต่อสิทธิเสรีภาพของผู้อื่นและความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ มาตรา 5 ห้ามมิให้ดำเนินการชุมนุมในที่สาธารณะที่มีลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ดังต่อไปนี้ เว้นแต่จะได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการมาตรา 8 (1) มีการใช้ช่องทางเดินรถหรือพื้นผิวการจราจร (2) มีการตั้งเวทีปราศรัยในลักษณะกีดขวางการจราจรหรือทางสัญจรของประชาชน (3) มีการใช้เครื่องขยายเสียง เครื่องฉายภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว หรือเครื่องมือใดๆ เพื่อถ่ายทอดการชุมนุม (4) มีการใช้ยานพาหนะ (5) มีการเคลื่อนย้ายสถานที่ชุมนุม มาตรา 6 ภายใต้การบังคับตามมาตรา 5 มิให้ใช้บังคับแก่ (1) การชุมนุมที่มีกฎหมายอื่นบัญญัติให้กระทำได้ (2) การชุมนุมที่ทางราชการเป็นผู้จัด มาตรา 7 การยื่นขออนุญาตชุมนุมในที่สาธารณะตามมาตรา 5 ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์วิธีการและเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา 8 ให้มีคณะกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตชุมนุมในที่สาธารณะทุกจังหวัด ดังต่อไปนี้ (1) คณะกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตชุมนุมในที่สาธารณะในเขตกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย ผู้บัญชาการตำรวจนครบาลเป็นประธาน ผู้แทนกระทรวงมหาดไทยเป็นรองประธานกรรมการ ผู้แทนสำนักข่าวกรองแห่งชาติ ผู้แทนศูนย์รักษาความปลอดภัย กองบัญชาการกองทัพไทย ผู้แทนกองบัญชาการตำรวจสันติบาล ผู้บังคับการกองบังคับการตำรวจนครบาล ที่มีเขตพื้นที่รับผิดชอบสถานที่ชุมนุม ผู้บังคับการกองบังคับการตำรวจปฏิบัติการพิเศษ ผู้แทนกรุงเทพมหานครเป็นกรรมการ และผู้บังคับการกองบังคับการอำนวยการ กองบัญชาการตำรวจนครบาลเป็นกรรมการและเลขานุการ (2) คณะกรรมการพิจารณาคำขออนุญาตชุมนุมในที่สาธารณะในจังหวัดอื่นๆ ยกเว้นกรุงเทพมหานคร ประกอบด้วย ผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานกรรมการ ผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดเป็นรองประธานกรรมการ นายกองค์การบริการส่วนจังหวัด อัยการจังหวัด นายอำเภอที่มีเขตพื้นที่รับผิดชอบสถานที่ชุมนุมเป็นกรรมการ และ ปลัดจังหวัดเป็นกรรมการและเลขานุการ มาตรา 9 ให้คณะกรรมการตามมาตรา 8 มีอำนาจหน้าที่พิจารณาคำขออนุญาตชุมนุมตามมาตรา 5 ที่อยู่ในเขตพื้นที่รับผิดชอบ ทั้งนี้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง มาตรา 10 การขออนุญาตชุมนุมในที่สาธารณะของคณะกรรมการตามมาตรา 8 จะมีผลเฉพาะภายในเขตจังหวัดนั้น หากมีการขยายหรือเคลื่อนย้ายการชุมนุมเข้าไปในเขตจังหวัดอื่น จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการตามมาตรา 8 (2) มาตรา 11 ผลการพิจารณาของคณะกรรมการตามมาตรา 8 ให้ถือเป็นที่สุด มาตรา 12 การชุมนุมในที่สาธารณะ ซึ่งอยู่ในบังคับที่จะต้องปฏิบัติตามมาตรา 5 แต่มิได้ดำเนินการขออนุญาตให้สันนิษฐานว่าบุคคลที่ปราศรัย รวมถึงผู้ให้คำปรึกษา ช่วยเหลือ ชักชวน ยุยง หรือสนับสนุน เป็นผู้จัดให้มีการชุมนุม มาตรา 13 การชุมนุมในที่สาธารณะ ซึ่งอยู่ในบังคับที่จะต้องปฏิบัติตามมาตรา 5 ไม่ว่าจะเป็นกรณีที่ได้ขออนุญาตหรือมิได้ขออนุญาตก็ตาม ถ้าการชุมนุมไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่ได้รับอนุญาต หรือก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อผู้อื่นหรือสาธารณชน หรือมีเหตุอันอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อยให้ผู้จัดให้มีการชุมนุมหรือผู้ที่สันนิษฐานว่าเป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมแล้วแต่กรณี ประกาศยุติการชุมนุมแล้วรีบแจ้งหัวหน้าสถานีตำรวจที่มีเขตพื้นที่รับผิดชอบสถานที่ชุมนุม และให้ผู้จัดให้มีการชุมนุมหรือผู้ที่สันนิษฐานว่าเป็นผู้จัดให้มีการชุมนุมดังกล่าวให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ผู้รับผิดชอบทุกฝ่าย เพื่อยุติการชุมนุมโดยเร็วที่สุด เมื่อหัวหน้าสถานีตำรวจได้รับแจ้งตามวรรค 1 ให้รีบรายงานประธานกรรมการพิจารณาสั่งตามมาตรา 14 มาตรา 14 ประธานกรรมการมีอำนาจสั่งยุติการชุมนุมในที่สาธารณะในกรณีดังต่อไปนี้ (1) ไม่มีผู้จัดให้มีการชุมนุมอยู่ดูแลการชุมนุมนั้น (2) การชุมนุมนั้นก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อผู้อื่นหรือสาธารณชน หรือมีเหตุอันอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย (3) การชุมนุมที่ฝ่าฝืนพระราชบัญญัตินี้ การประกาศยุติการชุมนุมให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยแจ้งด้วยวาจา หรือใช้การสื่อสารด้วยวิธีการอื่นใดให้ผู้ชุมนุมสามารถรับทราบได้ ณ บริเวณสถานที่ชุมนุม เมื่อประธานกรรมการสั่งยุติการชุมนุมแล้วให้ถือว่าเป็นการชุมนุมที่ไม่ได้รับอนุญาตและผู้ฝ่าฝืนต้องรับโทษตามมาตรา 18 มาตรา 15 หากการชุมนุมในที่สาธารณะที่ได้มีการประกาศให้ยุติตามมาตรา 13 แล้วผู้ชุมนุมยังคงฝ่าฝืน ประธานกรรมการมีอำนาจสั่งให้เจ้าหน้าที่ผู้ทำหน้าที่รักษาความสงบเรียบร้อยในการชุมนุมสลายการชุมนุมได้ มาตรา 16 เจ้าหน้าที่หรือผู้ใช้อำนาจสลายการชุมนุมตามมาตรา 15 ไม่ต้องรับผิดทางแพ่ง อาญา เนื่องจากการปฏิบัติหน้าที่ในการสลายการชุมนุม หากเป็นการกระทำโดยสุจริต ไม่เกินกว่าเหตุหรือไม่เกินความจำเป็น แต่ไม่ตัดสิทธิผู้ได้รับความเสียหาย ที่จะเรียกร้องค่าเสียหายจากราชการตามกฎหมายว่าด้วยความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ มาตรา 17 ผู้ใดจัดให้มีการชุมนุมในที่สาธารณะ ซึ่งอยู่ภายใต้ข้อบังคับของมาตรา 5 แต่มิได้ดำเนินการขออนุญาต ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ผู้ใดจัดให้มีการชุมนุมตามวรรคหนึ่ง และเกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือมีเหตุอันอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย แม้จะได้ ปฏิบัติตามมาตรา 13 แล้วก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ผู้ใดจัดให้มีการชุมนุมตามวรรคหนึ่ง และเกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือมีเหตุอันอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หากไม่ได้ ปฏิบัติตามมาตรา 13 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา 18 ผู้ใดฝ่าฝืนจัดให้มีการชุมนุมในที่สาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการ แม้การชุมนุมจะเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ผู้ใดฝ่าฝืนจัดชุมนุมโดยฝ่าฝืนวรรคหนึ่ง และเกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือมีเหตุอันอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย แม้จะได้ ปฏิบัติตามมาตรา 13 แล้วก็ตาม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ผู้ใดจัดให้มีการชุมนุมโดยฝ่าฝืนวรรคหนึ่ง และเกิดความไม่สงบเรียบร้อย หรือมีเหตุอันอาจก่อให้เกิดความไม่สงบเรียบร้อย หากไม่ได้ ปฏิบัติตามมาตรา 13 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา 19 การชุมนุมในที่สาธารณะภายใต้บังคับมาตรา 5 กรณีที่ขออนุญาตหรือไม่ขออนุญาตก็ตาม หากผู้จัดให้มีการชุมนุมไม่ควบคุมดูแลการชุมนุมให้อยู่ในความสงบเรียบร้อย หรือปล่อยปละจนเป็นเหตุให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมกระทำผิดทางแพ่งหรืออาญาตามที่กฎหมายบัญญัติไว้ ผู้จัดให้มีการชุมนุม ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ มาตรา 20 นายกฯเป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้และให้มีอำนาจออกกฎกระทรวงเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ กฎกระทรวงนั้น เมื่อได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้วให้ใช้บังคับได้ |