“อภิสิทธิ์” ชี้ปฏิรูปการเมืองจะต้องไม่ผูกขาดความคิดกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ค้านเลือกตั้งนายกฯโดยตรงอาจเจอพวกลุแก่อำนาจ ติง “สมชาย” อย่าใช้ป๋าสร้างภาพ อ้างสมานฉันท์เตือนให้พิสูจน์ด้วยการกระทำ
วันนี้ (2 ต.ค.) นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร และหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ในการหารือ 4 ฝ่าย ระหว่างนายกรัฐมนตรี ประธานสภา ประธานวุฒิสภา และผู้นำฝ่ายค้าน ในวันที่ 3 ตุลาคม จุดหลักที่สำคัญที่สุด คือ เรื่องของการปฏิรูปการเมือง ต้องทำความเข้าใจกันเสียก่อนว่าถ้าจะสนับสนุนแล้วใครจะทำอะไร ทำอย่างไร รายละเอียดค่อยไปคุยหลังจากนั้น ซึ่งจะต้องเป็นกระบวนการประชาชนมีสวนร่วม รับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายไม่ใช่แค่นักการเมืองที่มีส่วนร่วม
เมื่อถามว่า จะมีการพูดคุยเรื่องคณะกรรมการอิสระเพื่อปฏิรูปการเมืองที่เสนอโดย 24 อธิการบดีหรือไม่ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ก็จะต้องมีการคุยกันด้วย เพราะขณะนี้ไม่มีใครมาสามารถผูกขาดความคิดว่าจะปฏิรูปการเมืองหรือจะแก้ไขด้วยวิธีใด ไม่ว่าจะเป็นอธิการบดี สนนท. รัฐบาล ฝ่ายค้าน พันธมิตร นปก. หรือใครก็ตาม ไม่ควรมีใครผูกขาดควรจะมาแสวงจุดร่วมและทำงานอย่างตรงไปตรงมา ด้วยความจริงใจ อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ตนไม่ปฏิเสธแนวทางใดทั้งสิ้น แต่เป้าหมายสำคัญ คือ ทำอย่างไรให้เราหลุดพ้นจากความขัดแย้งและการเมืองดีขึ้น
ส่วนการก่อตั้ง ส.ส.ร.3 ก็ต้องช่วยกันดูอย่างรัดกุมว่าที่มา มาอย่างไร และกระบวนการจะโปร่งใสหรือไม่ เพราะข้อเสนอทั้งหมดที่จะให้มีการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ คือเพื่อปฏิรูปไม่มีการมาแก้ไขเพื่อตัวเอง ทั้งนี้ ในร่างนโยบายของรัฐบาล รายละเอียดทั้งหมดตนยังไม่ได้อ่าน แต่พบว่าในหน้า 33 มีพูดถึงเรื่อง ส.ส.ร.อยู่ด้วย
เมื่อถามว่า มองอย่างไรกับข้อเสนอให้มีการเลือกตั้งนายกฯ โดยตรง นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า เรื่องนี้ถือว่าไปไกลแล้ว เพราะรายละเอียดมีมากถ้าเราหยิบมาเป็นสาระสำคัญ แล้วคิดว่ามีเรื่องใดเรื่องหนึ่งแก้ไข มันไม่ใช่ และอยากตั้งข้อสังเกตไปด้วยว่า ระบบนี้มีปัญหาอยู่บ้าง แต่ปัญหาหลายอย่างที่เป็นที่มาของความขัดแย้งในขณะนี้ไม่ใช่ปัญหาระบบ เท่ากับปัญหาพฤติกรรม ฉะนั้น ถ้าเราแก้แต่ระบบ แต่พฤติกรรมไม่เปลี่ยน ตนก็ไม่คิดว่าจะแก้ปัญหาได้ในระยะยาว
“สมมติบอกว่า เลือกนายกฯ โดยตรง แล้วเกิดได้นายกฯ ที่ลุแก่อำนาจ เราจะทำอย่างไร ถ้าระบบเลือกตั้งบอกเปลี่ยน แต่คนที่ชนะการเลือกตั้ง มาโดยวิธีการไม่ถูกต้อง ก็ไม่ได้แก้อะไร จะแยกฝ่ายบริหาร ฝ่ายนิติบัญญัติหรือไม่ ถ้าฝ่ายบริหารไม่ยอมรับผิดชอบต่อประชาชนเลยไม่ว่าจะทำอะไรก็ตามก็ไม่ได้แก้ปัญหาอีก ดังนั้นระบบจึงเป็นยังส่วนหนึ่งเท่านั้น ผมยังมองไม่เห็นว่ามีการแก้ที่ระบบจุดไหน แล้วเราจะสามารถมั่นใจได้ว่าปัญหาต่างๆ ที่เราเผชิญอยู่จะไม่เกิดขึ้นอีก ปัญหาพฤติกรรมก็ยังต้องแก้ต่อเนื่อง”
เมื่อถามว่า รู้สึกอย่างไรที่นายกฯ ออกมาระบุว่าการปฏิรูปการเมืองไม่ใช่เรื่องเร่งด่วน นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนคิดว่าเรื่องการปฏิรูปเป็นความคาดหวังของคนจำนวนไม่น้อย แต่เรื่องเร่งด่วนสุด คือ การคลี่คลายวิกฤตความขัดแย้งทางการเมือง หากการปฏิรูปการเมืองเป็นส่วนหนึ่งของการที่จะคลี่คลายความขัดแย้งก็ถือว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน แต่ถ้าคิดว่าสามารถคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมืองได้โดยไม่ต้องปฏิรูปการเมืองก็เป็นอีกเรื่อง ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีข้อเสนอใดที่เป็นรูปธรรมกับการที่จะหาจุดร่วมในการปฏิรูปการเมืองมาเป็นตัวเริ่มต้นในการคลี่คลายวิกฤต
นายอภิสิทธิ์ ยังกล่าวถึงกรณีที่นายกฯ เข้าพบกับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีว่า การเข้าหารือผู้ใหญ่ของบ้านเมืองถือเป็นสิ่งที่ดี และเชื่อว่า พล.อ.เปรมน่าจะมีคำแนะนำดีๆ ที่นายกฯ พูด แต่สำคัญอยู่ที่ว่าทำตามที่ พล.อ.เปรมแนะนำหรือไม่ เมื่อถามย้ำว่า เกรงหรือไม่ว่าอาจจะเป็นแค่การสร้างภาพเท่านั้น นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า ตนไม่อยากไปตัดสินอะไรล่วงหน้า แต่อย่างที่ได้เตือนนายกฯ ไว้ว่า ความยอมรับในตัวนายกฯ ในเรื่องของบุคลิกความอ่อนน้อมในภายนอก หรือการไปพบปะบุคคลต่างๆ ถือเป็นสิ่งที่ดี แต่ไม่เพียงพอต่อการแก้ปัญหา และนับวันตอนนี้จะต้องพิสูจน์ด้วยการกระทำ
“ผมก็ยังเป็นห่วงอยู่ ในขณะที่บุคลิกการแสดงออกเป็นเรื่องของการสมานฉันท์ แต่การกระทำที่จะช่วยลดเงื่อนไขความขัดแย้ง ยังไม่มีสัญญาณ ก็คงจะต้องพิสูจน์จากเรื่อง การแก้รัฐธรรมนูญ ตกลงว่าจะเอา ส.ส.ร.หรือจะเดินหน้าแก้รัฐธรรมนูญเพื่อหวังลดมาตรา 237 มาตรา 309 เรื่องสื่อของรัฐจะว่าอย่างไร ยังปล่อยให้เป็นที่ปลุกระดมสร้างความเกลียดชัง ความแตกแยก ใส่ร้ายป้ายสีฝ่ายตรงข้ามทางการเมืองอยู่หรือเปล่า ยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงตรงนี้” นายอภิสิทธิ์กล่าว
เมื่อถามถึงกรณีที่ พล.อ.ชวลิต ยงใจยุทธ รองนายกฯ จะเปิดโต๊ะเจรจากับพันธมิตรฯ คิดว่าจะสามารถคลี่คลายปัญหาลงได้หรือไม่ นายอภิสิทธิ์ กล่าวว่า พูดคุยกันดีกว่าเผชิญหน้ากัน และจะแก้ปัญหาได้หรือไม่ อยู่ที่สาเหตุของการชุมนุมมากว่า