xs
xsm
sm
md
lg

การต่อรองตำแหน่งใน ครม. : ตัวอย่างอัปยศการเมืองเก่า

เผยแพร่:   โดย: สามารถ มังสัง

ในที่สุด ครม.ในรัฐบาลภายใต้การนำของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ก็ได้รับการโปรดเกล้าฯ ลงมาเรียบร้อยหลังจากที่มีการยื้อกันมาเป็นเวลานานพอสมควร และในระยะแรกที่มีข่าวว่าจะลงตัวได้ยาก ทั้งนี้เนื่องจากกลุ่มการเมืองในแต่ละพรรคมีการต่อรองตำแหน่งกันจ้าละหวั่นถึงกับทำให้ประชาชนคนที่เบื่อการเมืองอยู่แล้วมีอาการเบื่อยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการต่อรองตำแหน่งของกลุ่มการเมืองเพื่อนเนวินในพรรคพลังประชาชนที่ดูเหมือนว่าจะมีจำนวนมากและมีการเกาะกลุ่มอย่างเข้มแข็ง

แต่ในที่สุดกลุ่มนี้ก็มีอาการอ่อนปวกเปียก เมื่อมีข่าวออกมาว่าจะได้ตำแหน่งรัฐมนตรี 6 ตำแหน่งเพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีอยู่ 4 ตำแหน่ง โดยจะได้รับเพิ่มขึ้น 2 ตำแหน่ง ในจำนวน ส.ส. 73 คน เฉลี่ย 12 คนเท่ากับ 1 ตำแหน่ง

อย่างไรก็ตาม ข่าวที่ว่านี้กลายเป็นข่าวลวงทันทีที่ ครม.ใหม่ประกาศออกมา เพราะตำแหน่งที่เพื่อนกลุ่มเนวินได้รับเพียง 3 ตำแหน่ง ลดลงจากเดิม 1 ตำแหน่งด้วยซ้ำ และการที่เหตุการณ์กลับตาลปัตรเช่นนี้ ก็ด้วยเหตุที่จำนวนของ ส.ส.ในกลุ่มนี้ถูกดึงออกไปอยู่กลุ่มอื่นเหลืออยู่เพียง 20 กว่าคน

นอกจากกลุ่มเพื่อนเนวินในพรรคพลังประชาชนแล้ว การต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรีได้เกิดขึ้นในพรรคร่วมรัฐบาลอื่นๆ ด้วย และดูเหมือนว่าที่มีข่าวออกมาชัดเจนก็คือ พรรคเพื่อแผ่นดิน ที่มีบรรดา ส.ส.ของพรรคได้พากันสนับสนุนให้นายสุวิทย์ คุณกิตติ หัวหน้าพรรคได้รับตำแหน่งอีกครั้งหลังจากที่ได้หลุดออกไปจาก ครม.สมัคร 2 แต่ปรากฏว่าการผลักดันของ ส.ส.กลุ่มนี้ไร้ผล เพราะในที่สุดตำแหน่งรัฐมนตรีอุตสาหกรรมที่คาดว่าจะเป็นของนายสุวิทย์ คุณกิตติ ก็ตกไปเป็นของ พล.ต.อ.ประชา พรหมนอก แทน นี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งในการวิ่งเต้นต่อรองตำแหน่งและล้มเหลว เนื่องจากมีพลังแฝงเร้นจากภายนอกพรรคการเมืองเข้ามาบงการ

ถ้ามองให้ลึกลงไปและกว้างออกไปถึงการวิ่งเต้น ในการวิ่งเต้นเพื่อให้มีตำแหน่งรัฐมนตรีในรัฐบาลภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรีที่มีชื่อว่า นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ผู้เคยมีตำแหน่งข้าราชการประจำในระดับปลัดกระทรวง และยังมีสถานภาพเป็นน้องเขยของอดีตนายกฯ ทักษิณ ผู้มากด้วยบารมีทางการเมืองเหนือ ส.ส.ทั้งหลายในพรรคพลังประชาชนชนิดที่ว่าสั่งหันซ้ายหันขวาได้ จึงถือได้ว่าเป็นจุดแข็งที่ผู้นำรัฐบาลชุดนี้มี แต่ดูเหมือนว่าความเป็นอดีตปลัดกระทรวง และความเป็นน้องเขยของผู้มีบารมีทางการเมืองเหนือ ส.ส.ในพรรคพลังประชาชนมิได้มีส่วนช่วยให้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ มีบารมีทางการเมืองเท่าที่ควรจะเป็น จะเห็นได้ชัดเจนจากการที่กลุ่มการเมืองต่างพากันต่อรองตำแหน่งจนทำให้การจัด ครม.เป็นไปด้วยความยากลำบาก และในที่สุดต้องพึ่งพาอำนาจแฝงเร้นเข้ามาช่วยแก้ นี่คือจุดเริ่มต้นของความอ่อนด้อยทางการเมืองที่ผู้นำรัฐบาลชุดนี้ปรากฏออกมา

จากจุดอ่อนการจัดตั้งรัฐบาลนี้เอง จะเป็นจุดอ่อนในเรื่องต่อๆ ไปทุกครั้ง เมื่อต้องการจะรวมพลัง ส.ส.ในการผลักดันทำกิจกรรมทางการเมืองให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการเสนอกฎหมายสำคัญเพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารประเทศ เช่น พ.ร.บ.งบประมาณแผ่นดิน เป็นต้น

ดังนั้น การที่รัฐบาลภายใต้การนำของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ จะดำเนินกิจกรรมทางการเมืองโดยเอกเทศคงคาดหวังได้ยาก เพราะเมื่อมีความขัดแย้งก็จะต้องพึ่งอดีตผู้นำเพื่อขอฉันทานุมัติ และส่งสัญญาณให้บรรดาผู้ขัดแย้งทั้งหลายร่วมมือกัน ถ้าปรากฏการณ์ทางการเมืองเกิดขึ้นและเป็นไปในลักษณะนี้ ก็เท่ากับว่ายอมรับการเป็นรัฐบาลหุ่นเชิดอย่างเต็มรูปแบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการพึ่งพาบารมีทางการเมืองจากภายนอกพรรคการเมืองให้เข้าขจัดความขัดแย้งในการวิ่งเต้นต่อรองตำแหน่งใน ครม.ที่ผ่านมา ถือได้ว่าเป็นสัญญาณอันตรายทางการเมืองในระบอบประชาธิปไตยที่ถูกครอบงำด้วยนายทุนทางการเมือง ทั้งนี้ด้วยเหตุปัจจัยดังต่อไปนี้

1. เมื่อผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีมิได้ขึ้นกับความรู้ ความสามารถ และการคัดเลือกมิได้มาจากผู้นำรัฐบาลโดยตรง แต่มาจากการต่อรองโดยอาศัยโควตา ผู้นำรัฐบาลจะบริหารจัดการกำกับดูแลรัฐมนตรีประเภทนี้ได้ยาก เพราะจะต้องสนองความต้องการของ ส.ส.ที่อยู่ในโควตาด้วย และจะยากยิ่งขึ้นถ้ารัฐมนตรีที่มาจากการชี้นำหรือบงการจากอำนาจแฝงเร้นของกลุ่มทุนทางการเมือง เพราะจะต้องทำทุกอย่างเพื่อรักษาน้ำใจ และรักษาผลประโยชน์ของกลุ่มทุนทางการเมืองด้วย

2. เมื่อรัฐบาลถือกำเนิดขึ้นมาจากการต่อรองตำแหน่งโดยใช้โควตา และการบงการของกลุ่มทุนทางการเมืองตามนัยแห่งข้อ 1 รัฐบาลภายใต้การนำของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ก็มีสภาพไม่แตกต่างไปจากรัฐบาลภายใต้การนำของนายสมัคร สุนทรเวช คือไม่สามารถทำอะไรได้อิสระ และที่สำคัญโอกาสที่จะทำงานแก้ไขปัญหาของประเทศทำได้ยาก เพราะนอกจากจะต้องคอยสนองความต้องการของ ส.ส.ในโควตารัฐมนตรีแต่ละคนแล้ว ยังต้องคอยสนองความต้องการของกลุ่มทุนทางการเมืองด้วย

ดังนั้น รัฐบาลของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ก็มีสภาพเหมือนรัฐบาลของนายสมัคร สุนทรเวช ในประเด็นดังต่อไปนี้

- ในฐานะผู้นำรัฐบาลโดยมีพรรคพลังประชาชนเป็นแกนนำ ทั้งนายสมัคร สุนทรเวช และนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ไม่สามารถปฏิเสธการเป็นตัวแทนอดีตผู้นำพรรคไทยรักไทยได้โดยที่ประชาชนสิ้นข้อกังขาใดๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเด็นที่ว่า ได้ดำเนินกิจกรรมทางการเมืองตามการชี้นำของอดีตนายกฯ ทักษิณ ผู้นำพรรคไทยรักไทย และที่สำคัญยิ่งกว่านี้ รัฐบาลภายใต้การนำของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ จะถูกมองว่าพยายามช่วยเหลือเกื้อกูลอดีตนายกฯ ทักษิณ และพวกพ้อง ในส่วนที่เกี่ยวกับคดีต่างๆ โดยอาศัยความสัมพันธ์ส่วนตัวในฐานะที่เคยเป็นข้าราชการตุลาการมาก่อน และจุดนี้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ จะถูกจับตายิ่งกว่านายสมัคร สุนทรเวช ด้วยระแวงในความเป็นญาติบวกกับความเป็นพรรคตัวแทน

3. ถึงแม้นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ไม่มีคดีติดตัวเหมือนนายสมัคร สุนทรเวช แต่คนในครอบครัวก็ถูกเพ่งเล็งว่าเข้าไปมีส่วนเกี่ยวข้องกับการแสวงหาประโยชน์จากโครงการต่างๆ ของรัฐ โดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ ที่กำลังจ่อคิวถูกฟ้องร้องในหลายๆ คดี และถ้าบังเอิญมีการนำเรื่องนี้ขึ้นสู่ศาล และผลปรากฏว่าคนในครอบครัวนายสมชายเข้าไปเกี่ยวข้องจริง ความมัวหมองจะเกิดขึ้นแก่ตำแหน่งผู้นำรัฐบาลของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ อย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น และเมื่อถึงวันนั้นประชาชนจะออกมาถามหาความมีจริยธรรมทางการเมืองจากผู้นำรัฐบาล และมรสุมการเมืองจะกระหน่ำรัฐบาลอีกครั้งเหมือนที่นายสมัครโดนมาแล้วเมื่อคราวที่ได้รับการเสนอชื่อให้เป็นนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง และโชคดีที่สภาฯ ล่มก่อนจึงทำให้มรสุมจบลงได้

ด้วยปัจจัย 3 ประการที่ว่ามานี้ เชื่อได้ว่ารัฐบาลภายใต้การนำของนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ จะอยู่ได้ไม่นาน และคาดว่าจะพบจุดจบในไม่ช้านี้

นอกจากเหตุ 3 ประการที่จะทำให้รัฐบาลชุดนี้ถึงจุดจบแล้ว ยังมีคดียุบพรรครออยู่ ทั้งพรรคพลังประชาชนเอง และพรรคร่วมรัฐบาลอีก 2 พรรค คือ พรรคชาติไทย และพรรคมัชฌิมาธิปไตย ถ้าบังเอิญมีการยุบพรรคตามคำวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ และกรรมการบริหารพรรคต้องเว้นวรรคทางการเมือง 5 ปีเหมือนกับที่พรรคไทยรักไทยได้รับโทษมาแล้ว รัฐบาลชุดนี้ก็ถึงจุดจบเช่นกัน

ประเด็นสุดท้าย ถ้ามองการเมืองโดยอาศัยโหราศาสตร์ก็จะพบว่า จากนี้ไปถึงปลายเดือนพฤศจิกายน 2551 ดาวพฤหัสบดีกำลังจะโคจรเข้าเป็นนิจในราศีมังกร จะทำให้มีการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองได้เช่นกัน และการเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้เกิดได้ทั้งในแง่ของคดีความ และการใช้อำนาจกองทัพผลักดันเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง
กำลังโหลดความคิดเห็น