xs
xsm
sm
md
lg

หลายจว.อีสานน้ำท่วมขั้นวิกฤติ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

สถานการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัดภาคอีสาน ส่อเค้ารุนแรงขึ้น โดยเฉพาะที่ จ.บุรีรัมย์ สะพานเชื่อมต่อระหว่าง อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ ถึงห้วยแถลง จ.นครราชสีมา ยังปิดเป็นวันที่ 3 หลังน้ำยังท่วมสูง และไหลเชี่ยว นอกจากนี้น้ำเหนือจากเขาใหญ่ ยังไหลทะลักเข้าท่วมบ้านเรือนในพื้นที่ อ.ประโคนชัย รวมถึงไร่องุ่นของเกษตรกร ได้รับความเสียหาย บางจุดน้ำท่วมสูงเกือบ 2 เมตร จนเกษตรกรไม่สามารถเข้าไปดูผลผลิตของตัวเองได้
นายประหัส ทาฟอง ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาพัฒนาชนบทผสมผสานลำปลายมาศ หรือศูนย์มีชัย ต.โคกกลาง อ.ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ เปิดเผยว่า น้ำยังคงล้นทะลักท่วมพื้นที่เพิ่มขึ้นสูงกว่า 1 เมตรแล้ว ซึ่งภายในศูนย์มี 3 บริษัท ตัดเย็บรองเท้า กระเป๋า และเครื่องนอนส่งออก ทำให้เครื่องจักรอุตสาหกรรม และอุปกรณ์ตัดเย็บที่ขนย้ายไม่ทันเสียหายร่วม 500 เครื่อง จากทั้งหมด 1,000 เครื่อง นอกจากนี้ น้ำยังท่วมบ่อปลานิลแปลงเทศ 5 บ่อ ที่มีปลาขนาดโตเต็มวัย เตรียมจับส่งขายอยู่กว่า 80,000 ตัว หายไปกับกระแสน้ำ และพนักงานกว่า 1,200 คน ไม่สามารถทำงานได้และต้องหยุดชั่วคราว 15 วัน หรือจนกว่าปริมาณจะลดลงเข้าสู่สภาวะปกติ ความเสียหายเบื้องต้นร่วม 20 ล้านบาท
**ชัยภูมิสั่งปิดสถานที่ราชการ 3วัน
ส่วนที่ จ.ชัยภูมิ นายถาวร พรหมมีชัย ผวจ.ชัยภูมิ ได้เรียกประชุมหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ที่ศาลากลางจังหวัดชัยภูมิ เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำท่วมภายในเขตเทศบาลเมืองชัยภูมิ ซึ่งประสบกับน้ำท่วมสูงต่อเนื่องเป็นวันที่ 4 ล่าสุด ปริมาณน้ำที่เอ่อล้นสปิลเวย์ เขื่อนลำปะทาว อ.แก้งคร้อ ลดลงวัดได้ 35 เซนติเมตร (ซม.) จากเดิมเอ่อล้นสูง 48 ซม.ทำให้ปริมาณน้ำท่วมขังภายในเขตเทศบาลเมืองชัยภูมิเฉลี่ยประมาณ 1 เมตร ลดลงประมาณ 10 ซม.ประชาชนเริ่มสัญจรไปมาภายในตัวเมืองได้บ้าง
ส่วนโรงเรียน สถาบันการศึกษา ในเขตเทศบาลเมืองชัยภูมิ ประกอบด้วย โรงเรียนมัธยม 3 แห่ง อาชีวะ 3 แห่ง โรงเรียนชั้นประถมอีก 9 แห่ง รวม 15 แห่ง ได้สั่งปิดการเรียนการสอนเป็นเวลา 3 วัน ไปจนถึงวันพุธที่ 24 ก.ย.นี้ ขณะที่สถานที่ราชการ อีกหลายแห่งรวมทั้งโรงพยาบาล ยังวิกฤติ
**ขอนแก่นห่วงเขื่อนอุบลรัตน์น้ำเต็ม
นายเจตน์ ธนวัฒน์ ผวจ.ขอนแก่น เปิดเผยว่า คณะทำงานแก้ปัญหาอุทกภัยที่จังหวัดตั้งขึ้น หลังปัญหาน้ำท่วมขยายวงกว้าง 13 อำเภอ 75 ตำบล 628 หมู่บ้าน และสร้างความเสียหายอย่างมาก โดยคณะทำงานฯ จะประชุมประเมินสถานการณ์ทุกวัน เพื่อวางแผนแก้ไข ล่าสุดยังมีพื้นที่วิกฤติน้ำสูงเกิน 1 เมตร ใน 5 อำเภอ คือ อ.เมือง อ.บ้านแฮด อ.ชนบท อ.บ้านไผ่ และ อ.ภูผาม่าน
อีกทั้งมีรายงานจากเขื่อนอุบลรัตน์ ว่ามีน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำมากกว่า 100 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน ขณะที่ปริมาณน้ำขณะนี้มีอยู่ 1,530 ล้านลูกบาศก์เมตร จากความจุ 2,263 ล้านลูกบาศก์เมตร หากเป็นเช่นนี้คาดว่าไม่เกิน 3-4 วัน น้ำจะเต็มเขื่อน และต้องระบายออกบางส่วน แต่ขณะนี้เขื่อนอุบลรัตน์ยังเก็บกักน้ำไว้ เพื่อไม่ให้ประชาชนท้ายเขื่อนเดือดร้อน และถ้ามีการปล่อยน้ำเพิ่มขึ้นจากปกติจะต้องผ่านการพิจารณาของที่ประชุมคณะทำงานฯ
**หลายจังหวัดภาคอีสานยังวิกฤต
ส่วนสถานการณ์น้ำท่วม จ.สุรินทร์ เจ้าหน้าที่เร่งระบายน้ำออกจากอ่างเก็บน้ำห้วยเสนง ทำให้น้ำไหลเข้าท่วม ต.นอกเมือง อ.เมืองสุรินทร์ เจ้าหน้าที่ต้องใช้เรือท้องแบนช่วยเหลือชาวบ้านและนักเรียนเช่นเดียวกับที่ จ.มหาสารคาม ชาวบ้านลุ่มน้ำชี อ.เมือง โกสุมพิสัย กันทรวิชัย และเชียงยืน เดือดร้อนอย่างหนัก บ้านเรือนจำนวนมากรวมทั้งพื้นที่การเกษตรเกือบ 1 แสนไร่ ถูกน้ำท่วมเสียหายรุนแรงที่สุดในรอบ 10 ปี
ด้านนายศักดิ์ประเสริฐ เจริญประสิทธิ์ นายอำเภอจังหาร จ.ร้อยเอ็ด กล่าวว่า พื้นที่ริมฝั่งลำน้ำชีถูกน้ำท่วมฉับพลันถึง 5 ตำบล มาตั้งแต่วันที่ 12 ก.ย.และวานนี้น้ำเพิ่มสูงขึ้นวันละ 10-30 ซม. ถนนหมู่บ้านดอนสวรรค์-บ้านโนนเชียงบัง ถูกตัดขาดการสัญจร เนื่องจากน้ำสูงกว่า 1 เมตร และน้ำยังขยายวงกว้างท่วมถนนอีกหลายสายไม่สามารถสัญจรได้เช่นกัน
นอกจากนี้พื้นที่การเกษตรและบ่อปลาเสียหายอย่างหนัก ซึ่งอำเภอจังหาร ได้เตรียมเบิกจ่ายงบช่วยเหลือ 500,000 บาท เพื่อดำเนินการทันที หลังจากเสนอให้จังหวัดประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน
**พิษณุโลกยังท่วมหนักอีก3อำเภอ
ที่ จ.พิษณุโลก นาวาอากาศเอกสรกฤต มังสิงห์ ผู้บังคับการกองบิน 46 จ.พิษณุโลก กองทัพอากาศ ได้นำเครื่องบินขึ้นบินตรวจสภาพน้ำท่วมในพื้นที่ จ.พิษณุโลก พบว่าหลายพื้นที่ยังคงมีน้ำท่วมสูง และมีฝนตกต่อเนื่อง ทำให้น้ำจากเขาเพชรบูรณ์ไหลหลากลงสู่แม่น้ำสายหลักเอ่อท่วมพื้นที่ 6 อำเภอ 35 ตำบล 185 หมู่บ้าน โดยเฉพาะ อ.เมือง และวังทอง แม่น้ำวังทองล้นตลิ่งอยู่ตลอด ทำให้บ้านเรือนและพื้นที่การเกษตรจมน้ำกว่า 1 เมตร ประชาชน 20 ตำบล กว่า 5,000 ครอบครัวเดือดร้อน
เช่นเดียวกับ อ.บางระกำ แม่น้ำยมมีน้ำเหนือไหลบ่ามาจาก จ.สุโขทัย ทำให้ล้นตลิ่งท่วมบ้านเรือนกว่า 500 ครอบครัว ใน 3 ตำบล คือ ต.คุยม่วง ชุมแสงสงคราม และท่านางงาม ขณะเดียวกันชลประทานจังหวัดพิษณุโลกเร่งระบายน้ำที่ท่วมขังลงสู่แม่น้ำน่าน หลังจากเขื่อนสิริกิติ์ จ.อุตรดิตถ์ ชะลอการระบายน้ำแล้วตั้งแต่วันที่ 21 ก.ย.ซึ่งช่วยให้การระบายน้ำท่วมขังเป็นไปอย่างรวดเร็ว

**ปลากระชังพิษณุโลกตายเกลื่อน
ด้านเกษตรกรผู้เลี้ยงปลากระชังบ้านหัวแหลม ต.บ้านไร่ อ.บางกระทุ่ม จ.พิษณุโลก ต้องช่วยกันนำปลาทับทิมซึ่งเลี้ยงไว้ริมแม่น้ำน่านขึ้นจากกระชัง หลังพบปลาจำนวนมากตายอย่างไม่ทราบสาเหตุ นอกจากนี้เกษตรกรกว่า 400 รายยังจับปลาซึ่งไม่ได้ขนาดออกจำหน่ายเนื่องจากเกรงว่าปลาจะตายเพิ่มอีก เกษตรกรบอกว่า สาเหตุที่ทำให้ปลาตายเกิดจากน้ำในแม่น้ำน่านเพิ่มระดับสูงขึ้น ปลาจึงปรับสภาพไม่ทัน ทำให้ขาดทุนหลาย 10 ล้านบาท
ส่วนที่ จ.พิจิตร สถานการณ์น้ำท่วมพื้นที่ ต.รังนก อ.สามง่าม ยังขยายวงกว้าง ถนนเข้าหมู่บ้านถูกน้ำท่วมสูง ชาวบ้านต้องใช้เรือเข้าออกหมู่บ้านและเร่งขนย้ายสิ่งของ รวมทั้งสัตว์เลี้ยงไปไว้ที่ปลอดภัย
**ปภ.รายงานสถานการณ์น้ำท่วม
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ มีพื้นที่ประสบภัยรวม 19 จังหวัด 78 อำเภอ 381 ตำบล 2,421 ห มู่บ้าน ผู้เสียชีวิต 9 ราย สูญหาย 1 คน ราษฎรเดือดร้อน 160,670 ครัวเรือน ขณะนี้สถานการณ์อุทกภัยคลี่คลายแล้ว 14 จังหวัด ยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยใน 5 จังหวัด ได้แก่ จ.พิษณุโลก ลพบุรี สระบุรี หนองบัวลำภู และขอนแก่น ในส่วนของจ.พิษณุโลก ยังมีน้ำท่วมขังใน 3 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองฯ วังทอง และเนินมะปราง, จ.ลพบุรี ยังมีน้ำท่วมในพื้นที่ 5 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองฯ โคกสำโรง ชัยบาดาล หนองม่วง และบ้านหมี่, จ.สระบุรี เกิดน้ำป่า ไหลหลากใน 5 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองฯ แก่งคอย มวกเหล็ก หนองแค และ เฉลิมพระเกียรติ, จ.หนองบัวลำภู ได้เกิดฝนตกหนัก และน้ำจากภูเขาในพื้นที่จังหวัดไหลลงคลองพะเนียงเข้าท่วมในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองฯ นาวัง นากลาง ศรีบุญเรือง และ ขอนแก่น เกิดฝนตกหนักต่อเนื่องทำให้น้ำเอ่อล้นท่วมในพื้นที่ตำบลบ้านเป็ด และอ.เมืองขอนแก่น
เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือสถานการณ์อุทกภัย อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลากและดินโคลนถล่ม กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้สั่งการให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในแต่ละจังหวัด และกำชับเจ้าหน้าที่ ทั้งอาสาสมัครแจ้งเตือนภัยดินถล่ม (มิสเตอร์เตือนภัย) สมาชิกอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) และทีมกู้ชีพกู้ภัย (OTOS) ติดตามเฝ้าระวัง ข้อมูลข่าวสารพยากรณ์อากาศ และการขึ้น-ลง ของน้ำ ในแม่น้ำอย่างใกล้ชิดตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งเตรียมวัสดุอุปกรณ์ไว้ให้พร้อม เพื่อสามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันต่อเหตุการณ์
อย่างไรก็ตาม ประชาชนในพื้นที่ใดได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์อุทกภัย ขอรับการช่วยเหลือได้ที่สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย หรือ สายด่วนสาธารณภัยโทร. 1784

**ส่งขบวนรถให้ความช่วยเหลือ
นางอนงค์วรรณ เทพสุทิน รมว.ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานปล่อยขบวนรถเพื่อช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่ประสบอุทกภัย ประกอบด้วยรถบรรทุกน้ำดื่มขนาด 5 ลิตร รถผลิตน้ำดื่ม รถบรรทุกแท็งก์น้ำ รถเป่าล้างบ่อน้ำบาดาล รถโมบายตรวจคุณภาพน้ำ และรถประสานงานช่วยเหลือ เฮลิคอปเตอร์ เพื่อบินตรวจสภาพน้ำท่วม และติดตามผลปฏิบัติงาน รวมทั้งเจ้าหน้าที่อีกกว่า 300 ราย โดยขบวนรถแยกออกเป็น 3 เส้นทาง คือ ภาคกลาง ที่จ.พระนครศรีอยุธยา อ่างทอง ลพบุรี และชัยนาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จ.สระบุรี นครราชสีมา ขอนแก่น และมหาสารคาม และ ภาคเหนือ ที่จ.พิจิตร พิษณุโลก และสุโขทัย
นอกจากนี้ได้สั่งการให้มีการติดตามผลการปฏิบัติการจากเจ้าหน้าที่ และประเมินสถานการณ์ และเตรียมความพร้อมหากเกิดกรณีอุทกภัยในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป

**จันทบุรีน้ำเริ่มลดใกล้ปกติ
ส่วนที่ จ.จันทบุรี ล่าสุด (20 ก.ย.) ปริมาณน้ำฝนที่ตกหนักเมื่อวันที่ 18 ก.ย.ที่ผ่านมา ได้ไหลลงสู่แม่น้ำจันทบุรี ส่งผลให้ระดับในแม่น้ำจันทบุรีที่ไหลผ่าน อ.เมืองฯ มีระดับสูงขึ้นเอ่อล้นตลิ่งเข้าท่วมพื้นที่ชุมชนบริเวณ ต.คลองนารายณ์ ต.แสลง ต.ท่าช้าง เทศบาลตำบลจันทนิมิต และ เทศบาลเมืองจันทบุรี ระดับน้ำท่วมสูงประมาณ 30-50 ซ.ม.
ส่วนระดับน้ำในแม่น้ำจันทบุรีที่บริเวณสะพานจันทารามในเขตเทศบาลเมืองจันทบุรี วัดได้ 3.76 เมตร ซึ่งสูงกว่าตลิ่ง 26 เซนติเมตร ปัจจุบัน จันทบุรีฝนตกน้อยลงทำให้ระดับในแม่น้ำจันทบุรีตอนบนและตอนกลางลดลงตามไปด้วย คาดว่าหากไม่มีฝนตกหนักลงมาเพิ่มเติม ระดับน้ำจะเข้าสู่ภาวะปกติภายใน 1-2 วันนี้ สำหรับความช่วยเหลือกรมชลประทาน ได้เตรียมเครื่องสูบน้ำเพื่อระบายน้ำที่ท่วมขังในเขตจันทบุรีแล้ว จำนวน 7 เครื่อง

**กทม.น้ำท่วม 1พันครอบครัว

นายพงศ์ศักติฐ์ เสมสันต์ ปลัดกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในพื้นที่ กทม.ว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำไหลผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาในพื้นที่ กทม.อยู่ที่ 2,280 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งอยู่ในระดับปรกติ จากระดับเขื่อนกั้นน้ำที่สูง 2.20-2.50 เมตร อย่างไรก็ตาม จะมีปัญหากับบ้านเรือนประชาชนที่อยู่นอกเขื่อนกั้นน้ำซึ่งจะได้รับผลกระทบจากอิทธิพลน้ำทะเลหนุนสูง
ทั้งนี้ ในวันที่ 28 ก.ย.นี้ คาดว่าน้ำทะเลจะหนุนสูงสุดที่ 1.60 เมตร ดังนั้น จึงขอให้เรือด่วนเจ้าพระยา ชะลอความเร็วลงเพื่อลดผลกระทบคลื่นซัดเข้าบ้านเรือนประชาชนเพราะขณะนี้มี 30 ชุมชน ที่อยู่นอกเขื่อนกั้นน้ำเจ้าพระยาประสบปัญหาน้ำเอ่อท้นเข้าท่วมบ้านเรือนกว่า 1,000 ครัวเรือนแล้ว โดยเบื้องต้น กทม.ได้จัดส่งทีมแพทย์ พยาบาล เข้าไปดูแลสุขภาพให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบดังกล่าว พร้อมกับแจกยารักษาโรคให้อีกด้วย ส่วนพื้นที่เกษตรกรรมทางด้านตะวันออกยังไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างใด

**สธ.เพิ่มกำลังผลิตยารักษาน้ำกัดเท้า
วานนี้(22 ก.ย.) นพ.ปราชญ์ บุณยวงศ์วิโรจน์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข พร้อมคณะได้เดินทางไปตรวจเยี่ยมน้ำท่วมที่ จ.ฉะเชิงเทรา นครนายก และปราจีนบุรี โดย นพ.ปราชญ์ กล่าวว่า จากการประเมินสถานการณ์น้ำท่วมที่จ.ฉะเชิงเทรา สถานการณ์ขณะนี้ไม่รุนแรง ลักษณะเป็นน้ำท่วมขัง โดยเฉพาะที่ อ.พนมสารคาม คาดว่าจะอยู่ประมาณ 1 เดือน ได้จัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่บริการทุกวัน พบผู้ป่วยประมาณ 2,000 ราย อาการไม่รุนแรง ส่วนใหญ่เป็นโรคน้ำกัดเท้า ไม่มีโรคระบาด ส่วนที่ จ.ปราจีนบุรี ระดับน้ำท่วมสูงที่ อ.ศรีมหาโพธิ์ เฉพาะสถานีอนามัยท่าตูมระดับน้ำสูงประมาณ 1 เมตร ได้เน้นย้ำให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขให้การดูแลผู้ประสบภัยทุกคนอย่างเต็มที่ และทั่วถึง โดยไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย เพื่อไม่ให้ผู้ประสบภัยถูกซ้ำเติมจากการเจ็บป่วย
สำหรับปัญหาที่จะต้องรับมือช่วงหลังจากนี้ไป คือเรื่องของน้ำกัดเท้า เพราะน้ำเน่าเสียมากขึ้น รวมทั้งปัญหาไข้หวัด จากน้ำท่วมขังเป็นเวลานาน คาดประชาชนจะเจ็บป่วยเพิ่มมากขึ้น ได้สั่งการให้โรงพยาบาลพระนั่งเกล้า ผลิตยารักษาโรคน้ำกัดเท้าเพิ่มจากวันละ 20,000 ตลับเป็น 40,000 ตลับ และให้องค์การเภสัชกรรมผลิตยาสามัญประจำบ้าน ยาชุดช่วยเหลือผู้ประสบภัยสำรองไว้อีก 2 แสนชุด และสำรองรองเท้าบู้ทป้องกันโรคฉี่หนู รวมทั้งป้องกันบาดแผลจากการเดินย่ำน้ำ จำนวน 40,000 คู่ พร้อมจัดส่งสนับสนุนจังหวัดต่างๆ ทันที
ส่วนการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในพื้นที่น้ำท่วม ขณะนี้ให้บริการทั้งจังหวัดที่สถานการณ์คลี่คลายแล้ว 13 จังหวัด เพื่อฟื้นฟูสภาพแวดล้อม ป้องกันโรคระบาด และบริการในพื้นที่กำลังประสบภัยหนักใน 8 จังหวัด คือ พิษณุโลก ลพบุรี สระบุรี หนองบัวลำภู ชัยภูมิ อุบลราชธานี และจันทบุรี จัดหน่วยแพทย์พระราชทานเคลื่อนที่ในสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมารบริการวันละกว่า 150 ทีม
สำหรับ ผลการออกหน่วยแพทย์พระราชทานเคลื่อนที่ฯ ตลอด 10 วัน ตั้งแต่วันที่ 11-21 ก.ย. มีผู้เจ็บป่วยมารับบริการรวม 130,503 ราย โรคที่พบมากที่สุดได้แก่ น้ำกัดเท้าร้อยละ 35 รองลงมาเป็นไข้หวัดร้อยละ 32 และผื่นคันร้อยละ 12 มีผู้เสียชีวิต 14 ราย

**ร.ร.จม176 แห่ง-เสียหาย 20 ล้าน
นายบุญลือ ประเสริฐโสภา รักษาการ รมช.ศึกษาธิการ กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) สรุปภาพรวมโรงเรียนที่ประสบอุทกภัย พบว่ามีโรงเรียนที่ได้รับความเสียหาย 176 แห่งจาก 14 จังหวัด ในจำนวนนี้ต้องประกาศปิดเรียน 85 โรง ที่เหลือ 91 โรง ไม่ปิดการเรียน หรือปิดเป็นบางวันที่น้ำขึ้น
สำหรับ จ.ลพบุรี ได้รับความเสียหายทั้งหมด 73 โรง ปิดการเรียน 38 โรง จ.ฉะเชิงเทรา ได้รับความเสียหาย 2 โรง ปิดการเรียน 2 โรง จ.สระบุรี ได้รับความเสียหาย 11 โรง ปิดการเรียน 11 โรง จ.ปราจีนบุรี ได้รับความเสียหาย 16 โรง ปิดการเรียน 14 โรง จ.เพชรบูรณ์ ได้รับความเสียหายและปิดการเรียน 1 โรง จ.นครสวรรค์ ได้รับความเสียหาย 3 โรง ปิดการเรียน 1 โรง จ.สุรินทร์ ได้รับความเสียหาย 11 โรง ปิดการเรียน 13 โรง จ.บุรีรัมย์ ได้รับความเสียหาย 3 โรง ปิดการเรียน 2 โรง จ.ตาก ได้รับความเสียหายและปิดการเรียน 1 โรง จ.พิจิตร ได้รับความเสียหาย 6 โรง ปิดการเรียน 2 โรง จ.พระนครศรีอยุธยา ได้รัยความเสียหาย 19 โรง ปิดการเรียน 2 โรง จ.ชัยภูมิ ได้รับความเสียหาย 24 โรง ปิด 4 โรง จ.พิษณุโลก ได้รับความเสียหายและปิดการเรียน 4 โรง และจ.อุดรธานี ได้รับความเสียหาย 2 โรง แต่ไม่ปิดการเรียน
"จากการรายงานได้ประเมินคร่าวๆ ถึงความเสียหายน่าจะไม่ต่ำกว่า 20 ล้านบาท ส่วนใหญ่ที่เสียหายจะเป็นอุปกรณ์การเรียน สนามกีฬา หรืออาคารต่างๆ เช่น โรงอาหาร อย่างไรก็ตาม คงต้องรอให้น้ำลดก่อนจึงจะประเมินความเสียหายที่แน่นอน ส่วนการช่วยเหลือเฉพาะหน้า สพฐ. ให้เงินช่วยเหลือ สพท.ที่ประสบภัย เขตละ 3 แสนบาท จัดหาเครื่องอุปโภค บริโภคส่งไปช่วยเหลือ พร้อมสื่อการเรียนในรูปแบบ IT เพื่อให้เด็กที่มีคอมพิวเตอร์ หรือโน้ตบุคส์อยู่ที่บ้านนำไปเรียนได้ที่บ้าน ซึ่งขณะนี้ระดับน้ำเริ่มลดลงแล้ว ยังเหลือจ.ลพบุรี และพระนครศรีอยุธยาเท่านั้นที่ยังท่วมหนักอยู่”
นายบุญลือ กล่าวว่า น้ำท่วมตรงกับช่วงสอบของนักเรียน จะให้ย้ายนักเรียนไปสอบที่โรงเรียนที่จัดให้ บางแห่งสอบเสร็จและปิดภาคเรียนแล้ว ซึ่งน่าจะเหลื่อมกันไม่เกิน 2 สัปดาห์ แต่มั่นใจว่าจะไม่กระทบการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นพื้นฐาน (โอเน็ต) และการทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติขั้นสูง (เอเน็ต) ซึ่งจะให้สำนักทดสอบทางการศึกษาแห่งชาติ (สทศ.) ที่จะสอบในเดือนก.พ. 52 หากมีสถานการณ์น้ำท่วมช่วงนั้น ก็จะประเมินสถานการณ์อีกครั้งว่าจำเป็นต้องการมีการเลื่อนหรือไม่
กำลังโหลดความคิดเห็น