xs
xsm
sm
md
lg

สรรพากรลั่นทะลุเป้า 6 หมื่นล้าน จี้รัฐเลิกมาตรการลดภาษีน้ำมัน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ผู้จัดการรายวัน – “ศานิต ร่างน้อย” มั่นใจปี 51 กรมสรรพากรเก็บภาษีทะลุเป้า 6 หมื่นล้านบาทแน่นอน รับอานิสงส์นำเข้า – ส่งออกขยายตัวดี ด้านกรมสรรพสามิตจี้รัฐบาลใหม่ยกเลิกมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันสูญรายได้กว่า 3 หมื่นล้านบาท ระบุคนใช้น้ำมันถูกกว่าต้นทุนจะไม่ใส่ใจกับการประหยัดในระยะยาว ระบุเงินชดเชยกองทุนน้ำมันที่รัฐบาลอ้างใช้กับนโยบายพลังงานเท่านั้นหากเปลี่ยนเป็นภาษีจะสามารถพัฒนาประเทศได้ทุกด้าน

นายศานิต ร่างน้อย อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า การเก็บภาษีทั้งปีงบประมาณ 2551 คาดว่าจะเกินเป้าถึง 6 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่คาดว่าจะเกินเป้า 4 หมื่นล้านบาท เนื่องจากการนำเข้ามีปริมาณมาก ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลง ทำให้กรมเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการนำเข้ามาก นอกจากนี้การส่งออกที่ขยายตัวได้ดี ทำให้กรมเก็บภาษีธุรกรรมการค้าขายได้มาก รวมถึงภาษีนิติบุคคลที่ยังมีผู้ประกอบการมีกำไรเสียภาษีให้กรมได้ ส่วนการเก็บภาษีปีหน้าคาดว่าจะได้ตามเป้าที่ตั้งไว้

แหล่งข่าวกรมสรรพสามิต กล่าวว่า ต้องการให้กระทรวงการคลังเสนอรัฐบาลใหม่ยกเลิกการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ที่เป็น 1 ใน 6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤตเพื่อคนไทยทุกคน เนื่องจากไม่มีความจำเป็นต่อไปเพราะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกได้ลดลงมากแล้วจากที่คาดว่าราคาน้ำมันดิบจะอยู่เกิน 150 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่ตอนนี้ลดลงมาอยู่ที่ 90 กว่าเหรียญสหรัฐต่อบาร์เรลเท่านั้น ลดลงเกือบ 50% ซึ่งหากยังใช้มาตรการนี้ต่อไปจะทำให้กรมสรรพสามิตเสียรายได้ภาษี 3 หมื่นกว่าล้านบาทไปโดยเปล่าประโยชน์ เพราะคนใช้น้ำมันราคาถูกกว่าความเป็นจริงไม่เกิดการประหยัด

"มาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันถือเป็นความผิดพลาดของรัฐบาลเก่า เมื่อมีรัฐบาลใหม่แล้วกระทรวงการคลังก็ควรเสนอให้ยกเลิกเรื่องดังกล่าว เพื่อหยุดความเสียหายเก็บเงินไว้ไปใช้อย่างอื่นที่มีประโยชน์มากกว่า ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และกระทรวงพลังงาน ต้องยอมรับความผิดพลาดและแก้ไขในเรื่องนี้" แหล่งข่าวกล่าว

สำหรับการเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเพิ่มเพื่อนำมาใช้เป็นข้ออ้างในการยังไม่ปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมันเป็นเรื่องที่ไม่เป็นเหตุเป็นผล เนื่องจากการเก็บเงินเข้ากองทุนนำไปใช้เรื่องพลังงานโดยเฉพาะ แต่เงินภาษีเป็นการไปใช้ประโยชน์ให้กับคนทั้งประเทศและในหลากหลายโครงการ การที่ไม่ยกเลิกการลดภาษีน้ำมันยังทำให้รายได้ของประเทศมีปัญหา เพราะจะกระทบกับการจัดเก็บภาษีของกรมสรรพสามิตในปีงบประมาณ 2551 กว่า 2 หมื่นล้านบาท และในปีงบประมาณ 2552 อีก 1 หมื่นกว่าล้านบาท

นอกจากนี้ กรมสรรพสามิตยังได้รับผลกระทบจากการลดภาษีรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน E20 ที่เริ่มไปใช้ตั้งแต่เดือน ก.พ. 2551 ที่ผ่านมา เป็นเงินภาษีที่หายไป 6-7 พันล้านบาท โดยมาตรการนี้ก็มีปัญหากระทบกับโครงสร้างภาษีสรรพสามิตโดยรวมของรถยนต์ เพราะรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน E20 จะมีอัตราภาษีต่ำกว่ารถยนต์ปกติ 5% ซึ่งไม่ได้มีการกำหนดกรอบเวลาการลดภาษีเป็นเวลาเท่าไร

ทั้งนี้ การเก็บภาษีของกรมสรรพสามิตในรอบ 11 เดือน ของปีงบประมาณ 2551 ที่ผ่านมา 2.6 แสนล้านบาท ต่ำกว่าเป้า 8 .7 พันล้านบาท ซึ่งหากไม่มีมาตรการลดภาษีน้ำมัน และการการลดภาษีรถยนต์ที่ใช้น้ำมัน E20 กรมสรรพสามิตจะเก็บภาษีได้เกิน 1-2 หมื่นล้านบาท

น.พ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รักษาการรองนายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง กล่าวว่าการพิจารณายกเลิกมาตรการลดภาษีน้ำมันสรรพสามิตดีเซล และก๊าซโซฮอลล์ คงต้องรอดูไปอีกระยะหนึ่ง เพราะราคาน้ำมันในตลาดโลกยังไม่นิ่ง แม้ราคาจะลดต่ำกว่า 100 เหรียญต่อบาร์เรลแล้วก็ตาม หากรีบยกเลิกมาตรการอาจส่งผลกระทบต่อนโยบายโดยรวม

“การดำเนินนโยบายจะต้องไม่กลับไปกลับมา ถ้าจะยกเลิกก็ต้องแน่ใจว่าราคาน้ำมันลงจริงๆ ไม่ใช่พอปรับขึ้นมาอีก จะกลับมาใช้มาตรการเดิมใหม่” น.พ.สุรพงษ์กล่าว.
กำลังโหลดความคิดเห็น