xs
xsm
sm
md
lg

คลังยอมถอยภาษีน้ำมัน นายกฯรับลูกดันเข้าสภา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

ASTVผู้จัดการรายวัน – คลังยอมถอย พ.ร.ก.เพิ่มเพดานภาษีน้ำมัน หลังถูกวุฒิสภาสอนมวย เตรียมเสนอลดภาษีเหลืออัตราเดิมหรือปรับลด 1-2 บาท ดึงกลับเข้ามาอยู่ในแผนเดิม 6 มาตรการ 6 เดือนช่วยค่าครองชีพรอบใหม่ซื้อใจประชาชน นายกฯ เผยพร้อมทบทวน ดัน พ.ร.ก.ภาษีน้ำมันเข้าสภาอีกรอบ 1 ส.ค.นี้

น.พ.พฤติชัย ดำรงรัตน์ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ขณะนี้รัฐบาลอยู่ระหว่างทบทวนการปรับขึ้นอัตราภาษีน้ำมันสรรพสามิตใหม่ หลังจากที่เห็นว่าแนวโน้มราคาในตลาดโลกปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากก่อนหน้านี้ที่อยู่ในระดับ 40 เหรียญต่อบาร์เรลเป็น 70 เหรียญต่อบาร์เรล หรือแค่เดือนเดียวปรับขึ้นถึง 10-20 เหรียญต่อบาร์เรล ดังนั้นราคาน้ำมันที่ยังขยับสูงขึ้นเรื่อยๆ ก็จำเป็นต้องนำมาตรการน้ำมันกลับมาใช้เหมือนเดิม จากที่ก่อนหน้านี้ตัดออกไปจาก "6 มาตรการ 6 เดือน เพื่อช่วยค่าครองชีพของประชาชน"
ประกอบกับ 5 มาตรการ 6 จะสิ้นสุดเดือนก.ค.นี้ จึงน่าจะเป็นช่วงเวลาที่เหมาสมในการทบทวนมาตรการดังกล่าว โดยมีความเป็นไปได้ที่จะปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตกลับมาที่ 5 บาทต่อลิตรเหมือนเดิม จากที่ก่อนหน้านี้มีการออกพ.ร.ก.ขยายเพดานภาษีขึ้นไปที่ 10 บาทต่อลิตรและมีการปรับขึ้นภาษีน้ำมัน 2 บาทและมีผลบังคับใช้แล้วแม้ว่าพ.ร.ก.ขยายเพดานภาษีจะไม่ผ่านการพิจารณาจากวุฒิสภาก็ตาม
“การทบวนอัตราภาษีสรรพสามิตเป็นคนละส่วนกับการเสนอกฎหมายขยายเพดานภาษีที่ยังไม่ผ่านสภา โดยจากการหารือกับนายกฯ และรมว.คลังเห็นว่าสถานการณ์ราคาน้ำมันมีแนวโน้มน่าเป็นห่วงจึงอาจจำเป็นต้องเข้าไปปช่วยเหลือประชาชนและผู้ประกอบการ โดยอาจจะปรับลดลอัตราลงมาเท่าเดิมที่ 5 บาทหรือ ปรับลดลงจาก 7 บาทเหลือ 6 บาทก็ได้ขึ้นอยู่กับราคาน้ำมันในระยะเวลาอันใกล้นี้” นพ.พฤติชัย กล่าวและว่าจะเป็นช่วงเวลาใดขึ้นอยู่กับตัดสินใจของรัฐบาลแต่น่าจะก่อนมาตรการหมดอายุ
ส่วน พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2552 หลังจากไม่ผ่านการพิจารณาของวุฒิสภาก็จะนำเสนอกลับเข้าสู่ที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎรอีกครั้งในการประชุมสภาสมัยหน้าเดือนสิงหาคมนี้และหากมีเสียงสนับสนุนเกินครึ่งหนึ่งก็ถือว่ากฎหมายมีผลบังคับใช้ ส่วนระหว่างนี้ยังถือว่ากฎหมายมีผลบังคับใช้
โดยกรมสรรพสามิตยังมีรายได้จากการปรับขึ้นภาษีเหมือนเดิมจากการสนับสนุนของกองทุนน้ำมัน ซึ่งจะไม่กระทบกับราคาขายปลีกให้ขยับขึ้นอย่างแน่นอน โดยราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นถือว่าเป็นไปตามกลไกลตลาดโลก โดยที่ผ่านมาในช่วงที่มีการประกาศขึ้นอัตราภาษีน้ำมันของกรมสรรพสามิตมีรายได้จากการปรับขึ้นภาษีน้ำมันแล้วประมาณ 3 พันล้านบาท
อย่างไรก็ตามการทบทวนมาตรการดังกล่าวยืนยันว่าไม่ใช่เป็นเพราะรัฐบาลประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจและราคาน้ำมันผิดพลาด เพราะถือว่าเป็นเรื่องที่อยู่นอกเหนือการควบคุม และรัฐบาลติดตามราคาน้ำมันที่เปลี่ยนแปลงอย่างใกล้ชิด เพื่อดูแลไม่ให้มีผลกระทบกับประชาชน แต่การอุดหนุนก็ต้องพิจารณาถึงความเหมาะสมของการให้กองทุนน้ำมันเข้ามารับภาระด้วย

****นายกฯเผย พ.ร.ก.เข้าสภา 1 ส.ค.นี้
นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ที่ประชุมวุฒิสภาไม่เห็นชอบ พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ.2527 (ฉบับที่ 5) พ.ศ.2552 เพื่อรองรับการขยายเพดานการจัดเก็บภาษีน้ำมัน ว่า รัฐบาลจะเสนอเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมสภาสมัยนิติบัญญัติอีกครั้งในวันที่ 1 ส.ค. นี้ โดยเรื่องดังกล่าวจะกลับไปทบทวนใหม่และยืนยันว่าพร้อมที่จะชี้แจงอีกครั้ง ทั้งนี้รัฐบาลจะมีการทบทวนเกี่ยวกับมาตรการน้ำมันต่างๆ ด้วยเพื่อไม่ให้ประชาชนได้รับผลกระทบ
เมื่อวันที่ 22 มิ.ย.มีการประชุมวุฒิสภา เพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.ก.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.พิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต พ.ศ. 2527 (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2552 (พ.ร.ก.เพิ่มภาษีน้ำมัน) ส.ว.หลายคนไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลขึ้นภาษีน้ำมัน เพราะส่งผลกระทบต่อประชาชน โดยน้ำมันในประเทศราคา 30 บาทต่อลิตร ทั้งที่ราคาที่ควรจะเป็น 15 บาทต่อลิตร เนื่องจากเมื่อเปรียบเทียบกับราคาน้ำมันตลาดโลกเมื่อปีที่แล้วพุ่งสูงถึง 140 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ราคาประเทศไทยาอยู่ที่ลิตรละ 40 บาท แต่ปัจจุบันราคาตลาดโลกเหลือเพียง 70 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล แต่ราคาน้ำมันในประเทศสูงถึงลิตรละ 30 บาท และยังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้เห็นว่ามาตรการดังกล่าวซ้ำเติมการลงทุนและการบริโภค ทำให้การจัดเก็บภาษีลดลง สวนทางกับวัตถุประสงค์การอุดช่องโหว่ภาษี.
กำลังโหลดความคิดเห็น